2552-12-18

การรวมกองทุนสุขภาพ

การรวมกองทุนสุขภาพ

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแห่งประเทศไทย

ในรอบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนปลายปีนี้คงไม่มีข่าวอะไร ที่โด่งดังที่สุดเกี่ยวกับสิทธิการรักษาพยาบาลของ ประชาชน 3 กลุ่ม มากไป กว่าข่าวที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนายกรัฐมนตรี ออกมาให้ข่าวว่าข้าราชการใช้เงินในการรักษา พยาบาล มากขึ้นทุกปและใช้เงินมากกว่ากองทุนอื่นอีก2กองทุนคือ กองทุนปะกันสังคมและกองทุนหลัก ประกันสุขภาพแห่งชาติ (1,2)

มีข่าวว่าคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช)และสำนักวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส) ได้ประชุมร่วมกันเพื่อหา ข้อสรุปและผลดีผลเสียของการรวมกองทุนทั้ง 3 ระบบ(3)โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อาจารย์ อัมมาร์ สยามวาลา กรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ให้ความเห็นว่า “ผมไม่มีความเห็นรวมกองทุน แต่ถามว่า การให้สิทธิ์ แบบเสรีนิยมในการรับบริการในระบบสวัสดิการข้าราชการเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะความเหลื่อมล้ำของ สิทธิการรักษาของ ประชาชนทั้ง 3 กลุ่มมาจากสวัสดิการข้าราชการ และหากปล่อยไว้ จะทำให้ต้นทุนรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น”(3)ในฐานะที่ผู้เขียนเป็น ผู้หนึ่งที่ได้รับสิทธิ์สวัสดิการข้าราชการและยังทำงานเกี่ยวข้องกับการบริการทางการแพทย์ที่ให้บริการประชาชนทั้ง 3 กลุ่ม ขอแสดงความคิดเห็นเรื่องค่าใช้จ่ายของแต่ละกองทุน รวมทั้งความเหลื่อมล้ำหรือไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมของประชาชนทั้ง 3 กลุ่ม รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาประชาชนทั้ง 3 กลุ่มนี้ แตกต่างกันเนื่องจากสาเหตุอะไร
ถ้ามาดูว่า กองทุนทั้ง 3นี้แตกต่างและมีที่มาที่ไปอย่างไร ก็จะขอสรุปให้พอเข้าใจดังนี้

1.กองทุนสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัว ถือเป็นสวัสดิการกองทุนแรกในประเทศไทย กองทุนนี้ ได้รับงบประมาณมาจากกรมบัญชีกลาง เป็นกองทุนปลายเปิด คือตั้งงบประมาณไว้รอการเบิกจ่าย โดยข้าราชการ และครอบครัว (สามี/ภรรยา บุตร พ่อแม่) สามารถเบิกเงินจากกรมบัญชีกลางกลับคืนมาเต็มราคาที่ได้จ่ายไปในการรักษาพยาบาล รวมทั้งจ่ายค่าห้องพิเศษ(ถ้าต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล)
ในปัจจุบันนี้ ข้าราชการสามารถไปทำสัญญาจ่ายตรงกับโรงพยาบาลได้ โดยที่ข้าราชการสามารถไปใ้ช้ ้บริการตรวจรักษา ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงิน โดยทางโรงพยาบาลจะไปเรียกเก็บเงินจากกรมบัญชีกลางโดยตรง
แต่กองทุนสวัสดิการข้าราชการนี้ ไม่ได้ให้สิทธิครอบคลุมการตรวจสุขภาพและการป้องกันโรค ซึ่งถือเป็นข้อผิดพลาดของ “วิธีคิด” ในการดูแลรักษาสุขภาพ เพราะตรวจสุขภาพและการป้องกันโรค ย่อมมีราคาถูกกว่าการรักษาเมื่อเกิดโรคแล้ว

กองทุนสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการนี้ ถือเป็นแรงจูงใจอันหนึ่งที่ทำให้คนทั่วไปยอมสมัครเข้ารับราชการทั้งๆ ที่ให้เงินเดือนต่ำกว่าไปทำงานเอกชน(ในขณะที่มีคุณวุฒิเท่าเทียมกัน) และเป็นเหมือนข้อสัญญาที่ผู้จะเข้ามารับราชการได้รับรู้ว่า ตนเองจะได้รับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง จากรัฐบาล เมื่อเข้ารับราชการแล้ว

2.กองทุนประกันสังคม (4)มีที่มาตามพ.ร.บ. ประกันสังคมพ.ศ.2533 กองทุนนี้ตั้งขึ้นเพื่อ ให้สวัสดิการแก่ ลูกจ้างภาคเอกชนที่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือนๆละ 5 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน สมทบกับนายจ้าง ส่วนรัฐบาลจะช่วย สมทบเพียง 2.75เปอร์เซ็นต์ โดยลูกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งหมด 7 อย่าง ตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 รวมทั้งการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยทั้งที่เกิดจากการทำงานหรือไม่ก็ได้

ต่อมาได้มีพ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทนพ.ศ. 2537 โดยให้นายจ้างเป็นผู้ออกเงินสมทบเข้าสู่กองทุนนี้ เพื่อใช้ใน การรักษาพยาบาลลูกจ้างที่ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการงาน

จึงทำให้กองทุนประกันสังคมนั้นจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนในกรณีเจ็บป่วยที่ ไม่ใช่เกิดจากการเกี่ยวเนื่อง จากการทำงาน และสิทธิอื่นๆรวมทั้งหมด 7 อย่าง

แต่สิทธิในการดูแลสุขภาพจากกองทุนประกันสังคมนั้น มีข้อจำกัดมากมาย ในการเลือกสถานพยาบาลและการส่งผู้ป่วยไปยัง โรงพยาบาลอื่น เพื่อจะได้รับการรักษาในระดับสูง(ป่วยหนักและโรคซับซ้อน) รวมทั้งข้อจำกัดในการเข้ารับการรักษา ทั้งใน กรณีผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในได้อย่างละไม่เกินปีละ 2 ครั้ง เบิกค่าทำฟันได้ในวงเงินจำกัด ไม่มีสิทธิได้รับยาบางอย่างตาม ข้อกำหนดของคณะกรรมการแพทย์ ของสำนักงานประกันสังคม ถ้าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้ยาเหล่านั้นมารักษา ผู้ป่วยและญาต ิต้องจ่ายเงินเองเท่านั้น

กองทุนนี้ เป็นกองทุนระบบปลายปิด คือเหมาจ่ายรายหัวปีละ 1,900 บาทต่อคน ให้โรงพยาบาลรับเงินไปหมด แล้วรักษาผู้ประกันตน เมื่อเจ็บป่วยอันมิใช่เกิดจากการทำงาน และไม่รวมการตรวจสุขภาพ(เมื่อยังไม่ป่วย) หรือการป้องกันโรค เช่นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ
ฉะนั้นถึงแม้ ผู้ประกันตนจะต้องมีส่วนร่วมจ่ายเงินของตนเองด้วย แต่ก็มีสิทธิได้รับบริการด้านสุขภาพเฉพาะบางอย่างเท่านั้น ตามที่มีกำหนดไว้ใน “หลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์”กรณีประสบอันตรายและเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ของสำนักงานประกันสังคม(5)

3. กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนนี้จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545(6) เป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นมาหลังจากมีกองทุนทั้ง2 ที่กล่าวมาแล้ว กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ มีแนวคิดว่า จะให้ประชาชนที่ ยังไม่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลจากกองทุนอื่นๆ สามารถมี “หลักประกัน” ในการที่จะได้รับการดูแลรักษาสุขภาพอย่างครบวงจร คือเริ่มตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจสุขภาพก่อนเจ็บป่วย การตรวจรักษาเมื่อเจ็บป่วย และการฟื้นฟู สุขภาพหลังการเจ็บป่วย

โดยกองทุนนี้ได้รับเงินงบประมาณค่ารักษาประชาชนเป็นเงินเหมาจ่ายรายหัวเริ่มต้นคนละ 1,200 บาทต่อคนต่อปี โดยให้ประชาชนร่วมจ่ายสมทบครั้งละ 30 บาทต่อครั้งในการไปรับการรักษาพยาบาล โดยให้ความคุ้มครองประชาชน 47 ล้านคน โดยมีประชาชนประมาณ 20 ล้านคนที่ยากจน ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ(ได้ฟรีหมด) โดยรัฐบาลจ่ายเงิน งบประมาณให้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช)ที่จะเป็นผู้จ่ายเงินเหมาจ่ายรายหัวนี้ให้แก่โรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญากับสปสช. โดยรัฐบาลและสปสช.ได้มีการประชาสัมพันธ์ว่า 30 บาทรักษาทุกโรค และในระยะหลังก็เรียกสั้นๆว่า “30บาท” และประชาชนได้รับแจกบัตรทองแสดงว่ามีสิทธิในกองทุนนี้ ฉะนั้นบางทีก็จะเรียกประชาชนกลุ่มนี้ว่า กลุ่มบัตรทอง

ถึงแม้ว่าต่อมาในยุคหลังการปฏิรูปการปกครอง นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะยกเลิกการจ่ายเงินสมทบของประชาชนครั้งละ 30 บาท ก็ยังมีการเรียกว่าเป็นโครงการ 30 บาทตามเดิม

แต่การเลิกเก็บเงินครั้งละ 30บาท นี้เอง ส่งผลให้ประชาชนกลุ่มที่มีสิทธิในกองทุนนี้ เป็นผู้ได้รับ “อภิสิทธิ์” เหนือประชาชนกลุ่มอื่นๆที่ใช้สิทธิ์สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ และสิทธิของผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม กล่าวคือ ไม่ต้องมีหน้าที่ร่วมรับผิดชอบจ่ายเงิน หรือดูแลรักษาสุขภาพของตนเองเลยแต่มีสิทธิในการได้รับบริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจร (6)ดังกล่าวแล้ว โดยประชาชนกลุ่มนี้ สามารถไปรับบริการทางการแพทย์ได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งทั้งผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในและ ประชาชนบัตรทองนี้ยังมีสิทธิเหนือประชาชนในกลุ่มอื่นอีกอย่างหนึ่งก็คือเมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลแล้วและเกิดผลร้ายหรือไม่พึงพอใจ ก็สามารถที่จะไปร้องเรียนขอเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ครั้งละไม่เกิน 200,000 บาท ตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุข ภาพฯ และเมื่อได้รับเงินช่วยเหลือแล้ว ก็ยังไม่ได้จำกัดสิทธิในการนำเรื่องไปฟ้องศาลอีก
สรุปแล้ว ประชาชนในกลุ่มบัตรทองทั้งหมด 47 ล้านคน ทั้งคนยากจน และไม่ยากจนต่างก็ได้รับสิทธิในการรักษา พยาบาลอย่างครบวงจร ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่ต้องจ่ายเงินสมทบใดๆ รักษาได้ทุกโรคตามที่กำหนดไว้ ในพ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 เป็นประชาชนที่มีสิทธิในการรับบริการด้านสุขภาพมากกว่าประชาชน ที่ใช้สิทธิ ิประกันสังคมและสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ และยังได้รับสิทธิในการได้รับค่าชดเชยเบื้องต้นจาก “ผลเสียหายจากการรักษาด้วย”

แต่การจัดสรรงบประมาณค่ารักษาประชาชนบัตรทองในแบบเหมาจ่ายรายหัวในระบบ 30บาทนี้ เป็นงบประมาณที่ขาดดุล เนื่องจากไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และยังต้องหักส่วนหนึ่งเป็นเงินเดือนข้าราชการอีกด้วย จึงส่งผลให้ โรงพยาบาลที่ ต้องรับรักษาประชาชนในระบบบัตรทอง ซึ่งส่วนมากคือโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขต้องประสบปัญหา การขาดสภาพ คล่องทางการเงิน(7) ต้องเอาเงินเก่าเก็บมาใช้จ่ายเพื่อจะยังสามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ และในปีพ.ศ. 2547 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกระเบียบใหม่ในการปรับขึ้นราคาค่าบริการทางการแพทย์ทุกประเภท เพื่อที่จะ “เพิ่มรายได้ของโรงพยาบาล”(8,9)เพื่อที่โรงพยาบาลจะยังมีรายได้เพียงพอในการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนทั่วไป

แต่ “เงินค่าบริการ” ที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้ โรงพยาบาลจะเรียกเก็บเอาจากที่ไหนได้ ในเมื่อกองทุนหลักประกันสุขภาพ ก็ไม่จ่ายเงินให้โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นตามอัตราที่รัฐบาลจ่ายมาให้ แต่สปสช.กลับมาบริหาร “เงิน”เหมาจ่ายรายหัวเอง ทำให้โรงพยาบาลได้รับเงินไม่คุ้มค่าใช้จ่ายในการให้บริหารประชาชนจริงๆ ทั้งๆที่ได้รับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นทุกปี(10)
ิิ ฉะนั้นอัตราค่าบริการของโรงพยาบาลที่ปรับขึ้นราคานี้ ก็จะเก็บได้จากกองทุนประกันสังคมและเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ของข้าราชการ จนทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึง 2 คน คือนายสมภพ สุสังกร์กาญจน์ และนายกรณ์ จาติกวณิช ได้ออกมาโวยวายว่าข้าราชการใช้เงินค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาลกว่ากองทุนอื่นๆ( 2,11)

อนึ่งการขึ้นราคาค่าบริการของกระทรวงสาธารณสุขนี้ ขึ้นราคาจากเดิมหลายเท่าตัว เพราะเมื่อก่อนที่จะมีกองทุนหลักประ กันสุขภาพ การให้บริการของโรงพยาบาลของรัฐ ถือว่าเป็นบริการสาธารณะที่รัฐบาลจะจัดให้ประชาชนในราคาถูก ถือว่าเป็น สวัสดิการที่รัฐบาลให้แก่ประชาชน แต่เมื่อประชาชนได้รับสวัสดิการผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว กองทุนฯควรจะต้อง จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของประชาชนให้แก่โรงพยาบาลตามต้นทุนค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลแต่เมื่อกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่ง
ชาติจ่ายเงินให้โรงพยาบาลต่ำกว่าราคาต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำงาน โรงพยาบาล( โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลของกระทรวง สาธารณสุข) ก็ต้องแก้ปัญหา “การขาดดุลรายรับและรายจ่าย”ของโรงพยาบาลโดยการปรับขึ้นราคาค่าบริการทุกชนิดและค่ายา ไม่เช่นนั้นโรงพยาบาลก็คงไม่มีเงินทุนมาให้บริการประชาชน หรือไม่มีเงินพอในการบริหารงาน และพัฒนาวิชาการรวมทั้งเทคโนโลย ีทางการแพทย์ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในทุกๆด้าน ดังจะเห็นได้จากการที่มีโรคอุบัติใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคเอดส์ ไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู ซึ่งต้องการใช้ยาที่พัฒนาใหม่ จึงทำให้ต้นทุนค่ายามีราคาแพงตามไปด้วย

นอกจากโรคใหม่ๆแล้ว โรคเก่าที่เคยเป็นปัญหาเรื้อรังไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือด แดงแข็งตัวอันจะนำไปสู่การเป็นอัมพฤกษ์/อัมพาต มะเร็งในอวัยวะต่างๆ ก็มีค่าใช้จ่ายในการรักษาแพงขึ้น เนื่องจากมีการผลิต และพัฒนายาใหม่ๆเพิ่มขึ้นมากมาย ทำให้ค่ายาแพงขึ้นมาก และเมื่อมียาที่มีสรรพคุณดีขึ้น ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยให้มีชีวิต ยืนยาวมากขึ้น ค่ารักษาพยาบาลและค่าบริการที่ผู้ป่วยต้องจ่ายก็ย่อมต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และไม่ต้องสงสัยว่า ค่ายาและ บริการต่างๆที่โรงพยาบาลของกระทรวงสธารณสุขปรับราคาเพิ่มขึ้นนี้ ต้องไปเก็บจากสวัสดิการข้าราชการ มากขึ้นเป็นเงาตามตัว อีกเช่นกัน เพราะเป็นกองทุนปลายเปิดและเงินที่เก็บได้จากสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการนี้ ก็ไปช่วยลดการขาดทุน ในการรักษาประชาชนบัตรทอง

เหมือนกับว่าโรงพยาบาลได้เงินค่ารักษาประชาชนบัตรทองไม่คุ้มทุน โรงพยาบาลก็ต้องไปหา “กำไร” มาจากกองทุนสวัสดิการ รักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อมาทำให้งบประมาณของโรงพยาบาลสมดุล
อนึ่งข้าราชการและครอบครัวยังมีสิทธิที่จะเข้านอนพักรักษาตัวในห้องพิเศษได้อีกด้วย ค่าห้องพิเศษของโรงพยาบาลของ กระทรวงสาธารณสุขก็เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว (และค่าห้องพิเศษนี้ เป็นรายได้ที่โรงพยาบาลเอามา เฉลี่ยใช้กับผู้ป่วยในโครงการ อื่นที่ได้รับงบประมาณขาดดุล)

จะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลของรัฐบาล พยายามที่จะหาเงินบริจาคมาสร้างตึกพิเศษเพื่อเป็นแหล่งเพิ่มพูน รายได้ของโรงพยาบาล ที่สำคัญอีกทางหนึ่งและค่าบริการต่างๆของโรงพยาบาลเหล่านี้ ก็สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้อีก ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการ บริหารโรงพยาบาลรวมทั้งโรงพยาบาลยังคิดค่าดำเนินการของโรงพยาบาลทุกอย่างที่เมื่อก่อนอาจจะไม่เคยคิดราคาเลย เช่นค่าทำบัตร ค่าธรรมเนียมวิชาชีพ ค่าบริการทันตกรรม ค่าบริการวิสัญญี ค่าบริการศัลยกรรมฯลฯ คือคิดราคาทุกรายการเหมือนกับ โรงพยาบาล เอกชน

การขึ้นราคาค่าบริการของโรงพยาบาลจึงเป็นสาเหตุให้งบประมาณสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการเพิ่มสูงขึ้นจนเห็น ได้ อย่างเด่นชัด ทำให้รัฐบาลโดยกรมบัญชีกลางมองเห็นว่า ข้าราชการและครอบครัวจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลแพงเกินประชาชน ในกองทุนอื่นๆ แต่ที่จริงแล้ว โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขทำตัวเหมือโรบินฮู้ด คือเอางบประมาณสวัสดิการรักษาพยาบาล ข้าราชการ(ไม่จำกัดค่าใช้จ่าย) มาช่วยลบการขาดทุนในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เหมือนโรบินฮุ้ด ที่ปล้นคนรวย ไปช่วยคนจน

ฉะนั้น ผู้เขียนจะขอสรุปสั้นๆว่า ค่ารักษาของข้าราชการเพิ่มมากขึ้นเพราะสาเหตุดังต่อไปนี้คือ

1.กระทรวงสาธารณสุขปรับขึ้นราคาค่าบริการของโรงพยาบาลทุกประเภท

2. เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้แพทย์สามารถใช้เทคโนโลยี ใหม่ๆที่มีราคาแพง ได้มากขึ้น เพื่อการตรวจรักษาโรคที่ครบถ้วนเหมาะสม เพื่อช่วยให้ประชาชนปลอดภัย เช่นสามารถทำ CT scan MRI ultrasoud mammogram และการตรวจพิเศษอื่นๆอีกมากมาย เช่นการส่องกล้องเพื่อตรวจอวัยวะภายใน รวมทั้งเทคโนโลยีใน การรักษาและผ่าตัดที่พัฒนามากขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่การทำศัลยกรรมโดยการใช้เลเซอร์และใช้กล้อง การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ต่างๆ รวมทั้งการรักษาโรคไตวายด้วยการล้างไต เพื่อรอคอยการเปลี่ยนไต เป็นต้น จึงทำให้ค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาผู้ป่วยสูง มากขึ้น
3. การพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์รวมทั้งยาและเวชภัณฑ์อื่นๆ รวมทั้งการผลิตอวัยวะเทียม ทำให้ต้นทุนค่ารักษาแพงขึ้น ถึงแม้จะมีการไปทำ CL ยามาเพื่อไปซื้อยาเลียนแบบมาบังคับใช้ให้แต่ละกองทุนต้องใช้ยาเหล่านั้น แต่ยาเหล่านั้นก็ยังมีราคา แพงพอๆกับยาต้นแบบ
นอกจากนั้น การที่กระทรวงสาธารณสุขบังคับให้โรงพยาบาลต้องสั่งยาจากองค์การเภสัชกรรม ที่ไม่ได้ผลิตยาเองทุกชนิด ทำให้โรงพยาบาลต้องซื้อยาราคาแพง เพราะต้องซื้อผ่านคนกลาง(องค์การเภสัช)อีกต่อหนึ่ง ทำให้ราคายาของโรงพยาบาลต้อง เพิ่มขึ้นอีกโดยไม่จำเป็น
4. เมื่อเทคโนโลยี เครื่องมือ เวชภัณฑ์ ดีขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ย่อมสามารถให้การรักษาพยาบาลดีขึ้นมาก ทำให้ สามารถรักษาชีวิตประชาชนให้ยืนยาวขึ้น เป็นภาวการณ์เจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องการการรักษาอย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น เป็นผลให้มี ีผู้สูงอายุมากขึ้น และผู้สูงอายุจะมีการเจ็บป่วยตามการเสื่อมของสังขาร จึงทำให้มีจำนวนประชาชน ไปใช้บริการทางการแพทย์ ์มากขึ้นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกองทุนใด จึงทำให้ค่ารักษาพยาบาลของประชาชนแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว

5. โรงพยาบาลไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าบริการรักษาพยาบาลเพิ่มจากกองทุนหลักประกันสุขภาพและกองทุนประกันสังคม (ที่อาจจะมีคนชราน้อยกว่ากองทุนอื่นเพราะเป็นผู้อยู่ในวัยทำงาน) แต่โรงพยาบาลก็ต้องให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเหล่านั้น ตามจริยธรรมวิชาชีพ ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนจากการรักษาผู้ป่วยเหล่านั้น

แต่โรงพยาบาลสามารถเรียกเก็บเงินเพิ่มได้จากประชาชนที่จ่ายเงินเองและกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ จึงเป็นการแสดงผลค่าใช้จ่ายที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่ดำรงอยู่
6. จากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้น ทำให้ผู้ควบคุมการใช้จ่ายเงินงบประมาณคือนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี มีความเข้าใจสาเหตุของปัญหาค่าใช้จ่ายกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการผิดไปจากสาเหตุที่แท้จริง

จึงคิดแก้ไขปัญหาไม่ตรงตามสาเหตุที่แท้จริง แต่พยายามจะมา “ตัดรอนสิทธิประโยชน์ของข้าราชการ” และเริ่มทำแล้ว เช่น ห้ามใช้ยาบางตัว หรือห้ามครอบครัวข้าราชการที่ทำงานเป็นลูกจ้างมาใช้สิทธิ์ครอบครัวข้าราชการด้วย(8)

การที่มีการกล่าวอ้างว่า ข้าราชการทุจริตเบิกยาไปขาย หรือแพทย์สั่งยาพิเศษหรือมากเกินไปนั้น ก็ควรไปดูแลแก้ไข ให้ตรงประเด็นของสาเหตุนั้นๆ
นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงสาธารณสุข ควรไปปรึกษาผู้รู้ให้ครบทุกด้าน ว่าปัญหาค่าใช้จ่ายในกองทุนสุขภาพใด ที่เป็นต้นเหตุแห่งค่าใช้จ่ายที่ตกเป็นภาระของโรงพยาบาล ก็ควรไปแก้ที่ตรงนั้น ไม่ใช่คลำไปทีละจุดเหมือนตาบอดคลำช้าง ต้องหาสาเหตุแห่งปัญหาในภาพรวมทั้งหมด แล้วจึงมาหาวิธีแก้ปัญหาให้ตรงจุด คือ “ดับที่สาเหตุแห่งปัญหา” จึงจะทำให้ปัญหาหมดไป เพื่อจะสามารถแก้ปัญหาในสิทธิด้านการรับบริการสุขภาพของประชาชนทุกคน ให้ได้รับความเสมอภาค และเป็นธรรม เช่นเดียวกัน
ถ้านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งสองกระทรวงไม่เชื่อว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพ(30 บาท) ให้เงินโรงพยาบาลไม่คุ้มทุน ก็โปรดสังเกตว่าโรงพยาบาลรัฐบาลหลายๆแห่งนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะทยอยเลิกรับรักษาประชาชน 30 บาท แม้แต่โรงพยาบาลเอกชนที่ได้เงินเหมาจ่ายรายหัว 30บาทเต็มราคา (ไม่ถูกหักเป็นเงินเดือนบุคลากรเหมือนโรงพยาบาล กระทรวงสธ.) ก็ยังไม่อยากรับผู้ป่วย 3 0 บาท
แต่ทำไมทั้งโรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชน ต่างก็อยากรับผู้ป่วยประกันตน ทั้งนี้ก็เพราะว่าค่าเหมาจ่ายราหัวของผู้ประกันตนนั้น ส่งให้โรงพยาบาลครบถ้วน ไม่ต้องถูกหักกันไว้ส่วนกลางเหมือนงบ 30 บาท และกลุ่มผู้ประกันตนอยู่ในวัยที่ไม่ป่วย บ่อยๆเพราะ ยังอยู่ในวัยฉกรรจ์(ทำงานอยู่) รวมทั้งมีข้อจำกัดมากมายในการรักษาพยาบาลผู้ประกันตน ทำให้โรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ประ กันตน ยังมีรายได้พอ “คุ้มทุน” หรือมีกำไรจากการรับรักษาผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคม

ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอเสนอให้นายกรัฐมนตรี แก้ปัญหา ความไม่เสมอภาค ไม่เป็นธรรม สำหรับประชาชนโดยการปฏิรูประบบ การบริการทางการ แพทย์แบบ “การแพทย์พอเพียง”(12) ตามปรัชญาและแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว เพื่อให้ประชาชนทุกคน มีสิทธิในการรับบริการด้านสุขภาพที่เสมอภาค เท่าเทียม เป็นธรรม ตามมาตรฐานทางการแพทย์ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อให้งบประมาณด้านการดูแลสุขภาพที่มาจากเงินภาษีของประชาชน ได้มีเพียงพอครอบคลุมประชาชนทุกหมู่เหล่า ทำให้โรงพยาบาลต่างๆสามารถให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนอย่าง มีประสิทธิ ภาพ ตามมาตรฐานการแพทย์ที่ดี ไม่ฟุ่มเฟือย แต่ก็ไม่ขาดแคลน รวมทั้งยังไม่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาวิชาการและ เทคโนโลยีทางการแพทย์ด้วย
และสิ่งที่สำคัญที่สุด โรงพยาบาลไม่ต้องแอบเอาเงินกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ไปแก้ปัญหาการขาดทุนจากกองทุน 30 บาทดังกล่าวแล้ว




เอกสารอ้างอิง

1. ---อดุลย์ วิริยเวชกุล, ช่องว่างด้านการได้รับบริการด้านสุขภาพของประชาชนไทยกลุ่มต่างๆ. บทบรรณาธิการวารสารวงการแพทย์ 2552; 11(.301) : 1

--- http://www.thaiclinic.com/doctorroom/ ความเห็นที่15 เรื่อง ระบบบริการด้านสุขภาพ 3 ระบบในประเทศไทย

2. ‘กรณ์'ถกนายกฯรื้อระบบสวัสดิการข้าราชการ

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/finance/20090903/74446/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%96%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%AF%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3.html



3. ดีเดย์ปีใหม่คุมค่ารักษาขรก. แนะปรับ 3 กองทุนสุขภาพ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 11 ธันวาคม 2552 : 14
4. เชิดชู อริยศรีวัฒนา. การประกันสุขภาพและการประกันสังคม.วารสารวงการแพทย์ : 2552 ; 11 (294) : 30-31
5. “หลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์”กรณีประสบอันตรายและเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ของสำนักงานประกันสังคม
6. พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น