2552-12-18

ความหวังในปีใหม่ 2553

ความหวังในปีใหม่ 2553
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ในวันปีใหม่เป็นธรรมเนียมที่เราจะกล่าวคำอวยพรให้แก่คนอื่น และในขณะเดียวกันก็คงตั้งความหวังว่าตนเองจะได้พบสิ่งที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ในกรณีของการทำงาน หลายๆคนก็คงจะเริ่มตั้งเป้าหมายว่าในปีใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นนี้ จะตั้งเป้าหมายในการทำงานอย่างไร เพื่อให้ตนเองสามารถทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายนั้นๆ แต่ในขณะเดียวกันในการทำงานต่างๆนั้นอาจจะมีอุปสรรคหรือข้อจำกัดที่อยู่นอกเหนือการควบคุมหรือศักยภาพท
ี่คนเราจะสามารถเอาชนะได้ คนเราจึงต้องตั้งความหวังหรือความต้องการที่จะทำให้สามารถเอาชนะอุปสรรคหรือข้อจำกัด ที่ตนเองไม่สามารถจะควบคุมหรือเอาชนะเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการได้
พรปีใหม่ที่ทุกๆคนอยากได้ก็คงจะไม่มีอะไรมากไปกว่า ความสุขสันติ บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขสงบ ให้รัฐบาล(ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม) สามารถบริหารบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟู มีเงินทอง พอใช้จ่ายใน
การพัฒนาและ ขับเคลื่อนประเทศ นักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างก็ร่วมมือกันทำงาน โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนมาก่อนผลประโยชน์ของ ใครคนใดคนหนึ่งหรือเฉพา
ะพรรคพวก ของตนเองเท่านั้น ถ้าใครได้ฟังพระราชดำรัสที่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส
ต่อพระบรมวงศานุวงศ์และ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และผู้นำประเทศ ที่ได้เข้าเฝ้าฯถวายพระพรเนื่องใน
วันเฉลิมพระชนมพรรษา แล้ว ก็คงจะตระหนักได้ดีว่าความสุขของพระองค์ท่านก็คือ ได้เห็นประชาชนมีความ สามัคคีและบ้านเมืองสงบสุขส่วนประชาชนทั่วไป ก็คงจะรักความสุขและเกลียดความทุกข์กันทั้งนั้น และผู้ที่จะช่วยทำให้ประชาชนมีความสุขได้ ก็คือคณะรัฐมนตรี และนักการเมือง ที่เป็นผู้นำในการบริหารบ้าน
เมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข มีความก้าวหน้าทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมืองและปากท้องของประชาชนได้กินอิ่ม ได้รับการสนับสนุนการดำรงชีวิตทั้งในทางสาธารณูปโภคและสวัสดิการสาธารณะที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีงานทำ มีรายได้จากค่าจ้างแรงงานตอบแทนอย่างเป็นธรรม คุ้มค่า
กับแรงงานที่ได้ทำ และมีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคในการดำรงชีวิตที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

คำอวยพรที่เราจะชอบยกขึ้นมาอวยพรให้แก่ญาติสนิทมิตรสหายนั้น ก็คงจะมีมากมายหลายแบบ แต่ก็มักจะประกอบไปด้วยพรอันประเสริฐ 4 ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ และในปัจจุบันก็อาจจะต่อด้วยคำว่า
ปฏิภาณ และธนสารสมบัติ ซึ่งเป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ ที่อยากจะมีความสุข ความสมหวัง ร่างกายแข็งแรง และมีเงินใช้ไม่ขาดมือ ซึ่งการที่จะมีเงินใช้ไม่ขาดมือนั้น ก็คงจะต้องเกิดจากการทำงานที่สะดวกสบายพอสมควรและ ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมตามความรู้ความสามารถ และความชำนาญในงานที่ทำ(เรียกว่ามีประสบการณ์ในการทำงานสูง) ซึ่งผู้ที่ทำงานในวิชาชีพอิสระหรือมีกิจการของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า ผู้ประกอบการรายใหญ่รายเล็กไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร ก็คงจะคาดหวังความสำเร็จของงาน และรายได้หรือผลประโยชน์ที่ดีจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง
แต่คงต้องยกเว้นชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนและเกษตรกร ที่แม้จะทำงานอาชีพของตนโดยอิสระ
ไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร แต่ก็ไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าของตนเองให้เหมาะสมกับน้ำพักน้ำแรงของตนได้
เพราะพ่อค้า หรือตลาดกลายเป็นผู้กำหนดราคาสินค้าและผลิตผลการเกษตรเสียเอง ทำให้เกษตรกรก็ยังยากจนอยู่ต่อไป

รัฐบาลต้องดูแลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ให้สมกับที่เป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งประเทศ
แต่สำหรับผู้ที่รับจ้างทำงานโดยมีรายได้เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างแบบที่เรียกว่า “มนุษย์เงินเดือน”นั้น ในแต่ละปีที่ผ่านไป ก็คงอยากจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น ยิ่งมีโบนัสพิเศษก็ยิ่งจะมีความสุขมาก ในแต่ละปี พอถึงปลายปีก็จะมีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำสำหรับลูกจ้าง(ที่ไม่มีฝีมือพิเศษ) รวมทั้งกำหนดว่าค่าแรงขั้นต่ำควรจะเพิ่มขึ้นเท่าไร โดยฝ่ายนายจ้างก็อยากจะจ่ายเพิ่มน้อยๆ(เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ของตน) ส่วนฝ่ายลูกจ้างก็อยากจะได้มากขึ้นให้พอมีเงินเลี้ยงตนเองและครอบครัวชนิดที่ว่ามี “สภาพคล่องทางการเงิน” ทั้งลูกจ้างและนายจ้าง ทั้งนี้ฝ่ายราชการหรือผู้บริหารประเทศก็ต้องทำหน้าที่เป็นคนกลางในการตกลงปรับเพิ่มค่าจ้าง ซึ่งปีนี้จะเพิ่มค่าจ้างเพียง 1- 9 บาทต่อวัน ซึ่งผู้เขียนไม่รู้เหมือนกันว่าเขาคิดกันอย่างไร
แต่ในสายตาผู้เขียนแล้ว รู้สึกว่าเงินเพิ่มวันละ 1- 9 บาทนี้ต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับภาวะเงินเฟ้อที่สินค้าอุปโภคบริโภคต่างก็ทยอยขึ้นราคาไม่มีวันหยุดนิ่งตลอดปี แต่ค่าแรงเพิ่มเพียงเล็กน้อยเพียงปีละไม่เกินสองครั้งเท่านั้น
และฝ่ายลุกจ้างก็ได้ออกมาโวยวายว่า เงินค่าจ้างที่ตกลงจะจ่ายพิ่มเพียงวันละ 1-9 บาทนี้
ผู้เขียนก็คิดว่า รัฐบาลควรลงมาบริหารจัดการให้ลูกจ้างมีรายได้อย่างเหมาะสมกับค่าครองชีพปัจจุบันด้วย

สำหรับข้าราชการ(รวมทั้งข้าราชการบำนาญ) ก็คงมีความหวังเหมือนประชาชนคนอื่นๆเหมือนกันว่า ในปีใหม่ที่จะถึงนี้ รัฐบาลจะปรับขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการและลูกจ้างราชการหรือไม่(รวมทั้งเงินบำนาญจะได้เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อหรือไม่)
ในขณะที่สวัสดิการต่างๆที่ทางรัฐบาลได้สัญญาว่าจะให้กับข้าราชการนั้น รัฐบาลก็แสดงท่าทีว่าจะลด “สิทธิสวัสดิการต่างๆของข้าราชการลงจากเดิม” และบางอย่างก็ถูกลดลงแล้วด้วย เช่นสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัวก็ถูกกรมบัญชีกลางสั่งให้โรงพยาบาล “งดสั่งยาบางชนิด”
ให้ข้าราชาร เงินค่าเล่าเรียนบุตรก็เบิกไม่ได้ โดยรัฐบาลอ้างว่า ให้เรียนฟรีแล้ว แต่เมื่อโรงเรียนเรียกเก็บเงินจากนักเรียนเพิ่ม พ่อแม่ก็ต้องควักเงินจ่ายให้โรงเรียนไปตามการเรียกร้องของโรงเรียน (ไม่เช่นนั้นลูกก็จะถูกครูทวงตลอด) แต่ไม่สามารถเอาใบเสร็จนี้ไปเบิกคืนได้ รวมทั้งเงินบำเหน็จบำนาญก็ลดลง เพราะรัฐบาลบังคับให้ข้าราชการต้องสะสมเงินเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งไปลงทุนแต่กลับขาดทุน เงินที่สะสมก็ลดลงและบำนาญก็ลดลงจากอัตราเดิม

การที่คนยังสมัครเข้ารับราชการทั้งๆที่ได้รับเงินเดือนน้อย ก็เพราะหลงเชื่อคำสัญญา (ระเบียบและสิทธิประโยชน/สวัสดิการข้าราชการ) แต่พอเป็นข้าราชการแล้ว รัฐบาลก็จะเลิก/ลด จ่ายสวัสดิการข้าราชการไปเลย โดยไม่คำนึงถึงว่า เมื่อตอนที่ข้าราชการเข้ามาเริ่มต้นรับราชการนั้น มีระเบียบไว้ว่าอย่างไร ฉะนั้นถ้ารัฐบาล “ลดสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการลงไปจากเดิม” ก็น่าที่ข้าราชการทั้งหลาย ควรจะต้องนำคดีไปฟ้องศาลปกครองให้ช่วยพิจารณาตัดสินให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการด้วย โดยเฉพาะข้าราชการแก่ๆทั้งหลายที่ต้องพึ่งพาอาศัยสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเมื่ออายุมากขึ้น

ในประเทศไทยเรานี้ มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชานสูงมาก คือคนรวยกระจุกอยู่เพียงไม่กี่ตระกูล แต่คนจนกระจายไปทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก มีคนเพียง 20เปอร์เซ็นต์ที่มีทรัพย์สมบัติถึง 69 เปอร์เซ็นต์ทั้งประเทศ ในขณะที่ประชาชนจนสุดอีก 20 เปอร์เซ็นต์มีทรัพย์สมบัติรวมกันแค่ 1เปอร์เซ็นต์รายได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้มวลรวมของชาติ นักเศรษฐศาสตร์สรุปว่าเนื่องจากระบบภาษีที่ไม่เป็นธรรม(1) คือภาษีทั่วไปสูง (ภาษีสินค้าอุปโภคและบริโภค) ซึ่งคนจนต้องใช้รายได้ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดของตน ในการจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค จึงทำให้คนจน ยิ่งจนเท่าไรก็ยิ่งต้องจ่ายภาษีเหล่านี้ในอัตราส่วนรายได้มากกว่าคนรวย นับได้ว่าเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างหนึ่ง


สำหรับข้าราชการและลูกจ้างในกระทรวงสาธารณสุขนั้น ส่วนหนึ่งถูกบังคับมาเป็นข้าราชการ เพราะถูกบังคับให้ทำสัญญาว่าได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาล( ทั้งๆที่ไม่ได้รับทุนการศึกษาเลยตามความหมายของกพ. เพราะฉะนั้นเมื่อเรียนสำเร็จการศึกษา ก็ต้องไปเป็นข้าราการตามสัญญา(ที่ไม่เป็นธรรมนั้น)
แต่บางวิชาชีพเช่นพยาบาล กลับไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ต้องเป็นลูกจ้าง โดยได้รับเงินเดือนน้อยเหมือนข้าราชการแต่ไม่ได้รับสวัสดิการเหมือนข้าราชการเลย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า รัฐบาลที่บริหารประเทศมีความพยายามที่จะลดจำนวนข้าราการลง เพื่อประหยัดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล โดยที่ไม่ศึกษาวิเคราะห์ให้ถ่องแท้ว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขนั้น นับวันจะต้องเพิ่มมากขึ้น มิใช่จะต้องลดลง ทั้งนี้ก็เพราะว่า การแพทย์เจริญขึ้น สามารถตรวจรักษาและผลิตยารักษาโรคยากๆที่แต่ก่อนไม่สามารถรักษาได้ ทำให้คนป่วยหาย/ทุเลาจากการเจ็บป่วยและมีอายุยืนนานขึ้น ทำให้มีโรคเรื้อรังมากขึ้น ต้องการการรักษาต่อเนื่องยาวนานขึ้น จึงต้องการบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น ไม่ใช่ลดลง
และยาที่ผลิตใหม่ๆก็ย่อมมีราคาแพงขึ้น แต่รัฐบาลจะต้องการลดราคาค่าสวัสดิการข้าราชการ ก็คงจะเป็นความต้องการที่สวนกระแสกับความเป็นจริงซึ่งดำรงอยู่
ฉะนั้น ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่มีมากกว่าข้าราชการกระทรวงอื่นๆนั้น มิได้มากจนเกินไป แต่ยังมีจำนวนไม่เพียงพอกับภาระงานที่ต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรแพทย์ ที่มีภาระในการตรวจรักษาผู้ป่วยตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ทุกวันตลอดปี จนทำให้บุคลากรแพทย์ต้องทำงานราชการถึง 120 ชั่วโมงต่อ 1 สัปดาห์ นับเวลาทำงานเป็น 3 เท่าของข้าราชการอื่นๆ และเป็นมาอย่างยาวนานแล้ว และก็จะเป็นอีกต่อไปถ้ายังไม่ได้รับการแก้ไข(2)

บุคลากรด้านการพยาบาลนั้นก็มีไม่เพียงพอที่จะให้การพยาบาลผู้ป่วยอย่างเพียงพอ พยาบาล 1 คนมีภาระดูแลให้การพยาบาลผู้ป่วยครั้งละหลายสิบคน บุคลากรอื่นๆที่มีความสำคัญในการทำงานให้บริการประชาชนในด้านสุขภาพ ก็ต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันเช่นเดียวกัน แต่เมื่อแพทย์/บุคลากรทางการแพทย์/หรือพยาบาลเกษียณอายุราชการ กพ.กลับยุบตำแหน่งนั้นไปตามตัวผู้เกษียณ พยาบาลจบใหม่มีพันธะต้องทำงานชดใช้ทุน กลับไม่มีอัตราบรรจุให้เป็นข้าราชการ ต้องทำงานเหมือนกันกับข้าราชการพยาบาลอื่นๆ แต่มีตำแหน่งเป็นเพียงลูกจ้าง ได้เงินค่าจ้างเท่ากันแต่ไม่มีสวัสดิการใดๆเหมือนข้าราชการ จึงทำให้พยาบาลลาออกจากการเป็นลูกจ้าง และไปทำงานเอกชน หรือไปทำงานต่างประเทศมากขึ้น
หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขนั้น เป็นหน่วยงานที่ต้องจัดบริการสาธารณะด้านสุขภาพแก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ มีทั้งศูนย์สุขภาพชุมชน สถานีอนามัย และโรงพยาบาลระดับต้น ระดับกลางและระดับสูง เพื่อรับรักษาโรคทั่วไป โรคที่ต้องการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์รวมทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นกลางและชั้นสูง ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ตามลำดับ
จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขเองพบว่า ประชาชนไปใช้บริการสาธารณะนี้ปีละ 170 ล้านครั้ง แต่มีแพทย์ทำหน้าที่อยู่เพียง 8,000 คนเท่านั้น(3)
จึงเห็นได้อย่าชัดเจนว่า จำนวนแพทย์ขาดแคลน เป็นอย่างมาก จนทำให้แพทย์มีเวลาตรวจผู้ป่วยเพียงคนละ 2-4 นาที ในขณะที่แพทย์มีเวลาทำงานถึงสัปดาห์ละ 120ชั่วโมง(2)
แพทย์ที่ทนงานหนักเรื้อรังไม่ไหว ก็ลาออก ไปแสวงหาสิ่งที่ดีในชีวิตสำหรับตนเองและครอบครัว ส่วนแพทย์ที่เสียสละตัวเองทำงานบริการสาธารณะอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข นั้นก็คงขาดขวัญและกำลังใจที่จะทำงานต่อไป เพราะนอกจากงานหนัก และต้องรีบเร่งทำงานแล้ว แต่แพทย์ยังต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดหรือประชาชนไม่พึงพอใจ เพราะจะทำให้ตนเองถูกฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้อีก(4)

ฉะนั้น บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างในระดับใด ก็คงมีความหวังอย่างแรงกล้าที่จะให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มองเห็นสาเหตุแห่งปัญหาที่ทำให้บุคลากรในกระทรวงต้องทำงานหนัก เงินเดือนน้อย และมีความอึดอัดคับข้องใจ ในเรื่องค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม จนต้องเดินขบวนกันทั้งพยาบาล แพทย์ และลูกจ้างทั่วไป(5)
และอยากให้ผู้บริหารประเทศ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงและอธิบดีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรแพทย์ การขยายตำแหน่งข้าราชการให้เพียงพอต่อภาระงานในการให้บริการสาธารณะ และการพิจารณากำหนดตำแหน่งและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม แก่บุคลากรทุกระดับ เริ่มจากบุคลากรระดับคนงาน ไปจนถึงบุคลากรระดับเชี่ยวชาญทุกสาขาวิชาชีพ

สำหรับผู้เขียนเอง ก็อดทนทำงานในกระทรวงสาธารณสุขมาจนเกษียณอายุราชการ เหมือนกับข้าราชการส่วนใหญ่ และผู้เขียนได้เฝ้าสังเกตถึงอัตราเงินเดือนข้าราชการ เปรียบเทียบ กับค่าครองชีพของประชาชนในแต่ละยุค (ราคาข้าวแกง 1 จาน)
พบว่าในปีพ.ศ. 2502 ผู้ที่เรียนสำเร็จปริญญาตรี เมื่อเริ่มเข้ารับราชการครั้งแรก ได้รับเงินเดือน 900 บาท ราคาข้าวแกงจานละ 1.50 บาท เงินเดือน 1 เดือนจะซื้อข้าวแกงได้ 600 จาน
ในปีพ.ศ. 2512ข้าราชการที่เรียนจบปริญญาตรี จะได้เงินเดือนเริ่มต้น 1,150 บาท ข้าวแกงราคาจานละ 2 บาทจะเห็นได้ว่า เงินเดือนข้าราชการ 1 เดือนจะซื้อข้าวแกงได้ 500 จาน
ในปีพ.ศ. 2540 ข้าราชการที่จบปริญญาตรีจะได้เงินเดือนเริ่มต้น 3,600 บาทในขณะที่ข้าวแกงราคาจานละ 15 บาท เงินเดือนข้าราชการ 1 เดือนจะซื้อข้าวแกงได้ เพียง 240 จาน
ส่วนในปีพ.ศ. 2550เงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรี เริ่มเดือนละ 7,600 บาทข้าวแกงราคาจานละ 30 บาท เงินเดือนข้าราชการ 1 เดือนจะซื้อข้าวแกงได้ 253 จาน(6)

จะเห็นว่า เงินเดือนข้าราชการถ้าคิดตามอัตราค่าครองชีพขั้นต่ำ (คือเทียบกับราคาข้าวแกงในสำนักงาน ที่อาจจะมีราคาถูกกว่าหรือเท่ากับราคาในท้องตลาด) จะพบว่ายิ่งนับวันที่บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้นเท่าใด แต่เงินเดือนของข้าราชการเมื่อเทียบกับราคาค่าครองชีพพื้นฐาน (ค่าอาหารกลางวัน 1 จาน) จะมีอัตราลดลงจากเดิมไปเรื่อยๆ และนับวันจะทิ้งห่างอัตราค่าครองชีพออกไปทุกวัน ถ้าคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ชาวบ้าน( ไม่ใช่นักวิชาการเศรษฐศาสตร์)

แล้วทำไมคนเรายังยอมรับราชการล่ะ ในเมื่อเงินเดือนก็แทบจะไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องให้กินอิ่ม และมีบ้านพักอาศัย? เพราะในแต่ละเดือนก็ต้องกินข้าวอย่างน้อยวันละ 3 มื้อ และยังต้องซื้อเสื้อผ้า เช่าบ้าน (อาศัยพ่อแม่อยู่ไปก่อน) ค่ายานพาหนะ หรือบางทีก็ต้องอุดหนุนจุนเจือพ่อแม่ผู้มีพระคุณ
จนทำให้ข้าราชการต้องไปหางานเป็นลำไพ่พิเศษ เพื่อหาเงินมาจุนเจือตนเองและครอบครัว เช่นเป็นครูก็ต้องไปรับจ้างสอนพิเศษ เป็นหมอหรือพยาบาลก็ต้องไปเปิดคลินิกหรือไปรับจ้างทำงานในโรงพยาบาลเอกชน เป็นทหาร ตำรวจก็อาจไปทำงานรักษาความปลอดภัยเอกชน หรืออาชีพอื่นก็อาจจะไปขับรถรับจ้าง ทำสวน ค้าขาย ฯลฯ
คำตอบจากข้าราชการส่วนมากว่า ทำไมจึงสมัครเข้ารับราชการ ก็คงจะได้รับคำตอบจากข้าราชการส่วนใหญ่ว่า อาชีพข้าราชการนั้น มีความมั่นคง มีสวัสดิการ และมีเกียรติ (ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์) และเมื่อแก่ตัวลง ก็ยังได้รับเงินบำเหน็จบำนาญพอประทังชีวิต และได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลเมื่อสังขารเสื่อมโทรมและเจ็บป่วย
ถึงเวลาลาโลกไป ก็ยังจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทางเพลิงศพ
คือข้าราชการยอมทำงานเงินเดือนน้อย เพราะหวังว่าจะได้รับผลประโยชน์อย่างอื่นมาชดเชย

แต่บัดนี้ รัฐบาลกำลังมองเห็นว่า จำนวนข้าราชการ รวมทั้งเงินเดือนและเงินที่ต้องจ่ายเป็นสวัสดิการข้าราชการและ
ครอบครัวนั้น เป็นภาระเพิ่มขึ้นมากต่องบประมาณแผ่นดิน จึงทำให้รัฐบาลพยายามจะลดจำนวนข้าราชการลง โดยตัดอัตราเดิมเมื่อข้าราชการเกษียณอายุราชการ และมีความพยายามที่จะลดเงินสวัสดิการบำนาญ (ตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ) ลดเงินสวัสดิการการรักษาพยาบาล(7) ซึ่งจะทำให้ข้าราชการที่ได้เข้ามาทำ ราชการแล้วยอมรับเงินเดือนน้อย แต่พอแก่ตัวลง รัฐบาลก็จะปัดความรับผิดชอบ ไม่ให้เงินสวัสดิการต่างๆเหมือนเดิม ทั้งๆที่ไม่ใช่ความผิดของข้าราชการ
ฉะนั้น ความหวังของข้าราชการในปีใหม่นี้ ก็คงจะหวังว่า รัฐบาลจะไม่ลิดรอนสิทธิ์สวัสดิการข้าราชการลงไป ในขณะที่ข้าราชการส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่เป็นผู้มีความรับผิดชอบ ในหน้าที่ ทำงานผลักดันนโยบาย ต่างๆ ของรัฐบาลให้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ทำให้รัฐบาลมีผลงานไปสรุปอวดผลงานต่อประชาชน และมีความหวังว่า รัฐบาลจะปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราการชั้นผู้น้อย ให้ได้รับเงินเดือนให้เหมาะสมกับอัตราเงินเฟ้อ เพื่อให้ข้าราชการมีเงินเดือนพียงพอที่จะเลี้ยงปากท้องตนเองและครอบครัว ให้เหมือนคำพังเพยในสมัยโบราณที่ว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง”
เพี้ยง! ขอให้ความหวังในการได้รับสิ่งดีๆในชีวิตของประชาชนทุกหมู่เหล่า จงสัมฤทธิ์ผลในปี2553 นี้ด้วยเทอญ

เอกสารอ้างอิง
1.ผาสุกชี้มาตรการคลัง-ปชต.ถูกทิศแก้ปัญหาสังคมไทยได้
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 16:06
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/policy/20091106/85190/%E0%B8%9C%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87-%E0%B8%9B%E0%B8%8A%E0%B8%95.%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89.html
2.ฉันทนา ผดุงทศและคณะ. ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข. วารสารวิชาการสาธารณสุข 2550: 16 (4) ; 493-502
3.ข่าวสารการแพทย์.วารสารวงการแพทย์: 2552 : 11 (302) : 6
4.สถิติการฟ้องร้องแพทย์ แพทยสภา
5.หมอ-พยาบาลครึ่งพันบุกสธ.สัญญาค่าตอบแทนhttp://www.komchadluek.net/detail/20090701/19040/%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B6%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%98.%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B8%99.html
6.ข้อมูลจริง สอบถามจากผู้สำเร็จปริญญาตรีที่สมัครเข้ารับราชการในแต่ละปีพ.ศ.ที่อ้างถึง
7. ‘กรณ์'ถกนายกฯรื้อระบบสวัสดิการข้าราชการ
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/finance/20090903/74446/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%96%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%AF%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น