2552-12-12

-ข่าวเด่นในรอบปี 2552 ของวงการแพทย์และสาธารณสุข

http://www.thaiclinic.com/cgi-bin/wb_xp/YaBB.pl?board=doctorroom;action=display;num=1260324818

ข่าวเด่นในวงการแพทย์และสาธารณสุขในรอบปี 2552
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
churdchoo@gmail.com

ใกล้จะสิ้นปี 2552 แล้ว มาดูว่าในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย มีข่าวเด่นที่เกี่ยวข้องกับวงการแพทย์และสาธารณสุขในรอบปี 2552 ที่ผ่านมา ข่าวเด่นในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าเป็น “ข่าวดี หรือข่าวร้าย” แต่หมายถึงข่าวที่มีคนรับทราบและพูดถึงกันมากๆในสื่อมวลชนหรือในแวดวงของผู้ที่ทำงานหรือเกี่ยวข้องในวงการแพทย์และสาธารณสุข
1.ข่าวแรกก็คงจะเป็นข่าวการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือที่เรียกกันในตอนแรกว่าไข้หวัดหมูหรือ swine flu ที่เริ่มต้นจากประเทศเม็กซิโกและระบาดไปทั่วโลก โดยในประเทศไทย ก็มีประชาชน เสียชีวิต 187 คน(1) โดยผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็คือผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหมือนผู้ป่วยในต่างประเทศคือผู้ที่มีโรคเรื้อรัง อ้วน หญิงมีครรภ์ สูงอายุและเด็กทารก สำหรับทั่วโลกนั้น องค์การอนามัยโลกได้สรุปว่ามีจำนวนผู้ป่วยมากถึงกว่า 526.060 คน เสียชีวิตอย่างน้อย 6,770 คน และมีรายงานการดื้อยา(2)Tamiflu ด้วย โดยการระบาดเริ่มจากเม็กซิโกในเดือนมีนาคม 2552 โดยในเดือนเมษายน ก็มีรายงานผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกา วันที่ 26 เมษายน สหรัฐได้ประกาศว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เป็น Public Health Emergency ในเดือนพฤษภาคมองค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าไข้หวัดใหญ๋สายพันธุ์ใหม่เป็นการระบาดระดับโลก (global epidemic)
ในเดือนมิถุนายน ดร. Dr. Margaret Chan, Director General of the World Health Organization (WHO), ประกาศว่าไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 นี้ได้ ในเดือนตุลาคม(วันที่ 24) ประธานาธิบดีโอบามาแห่งสหรัฐได้ประกาศว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็น National Emergency
ในเดือนกันยายน มีรายงานผู้ป่วยที่มีอัตราป่วยสูงสุดจากการconfirm lab.test ได้แก่ในสหรัฐ43,771 คนออสเตรเลีย 34,467 คน เม็กซิโก 19,634 คน เยอรมัน 15,219 คน อังกฤษ 13,019 คน ประเทศไทย 13,019 คน(2)
ส่วนประเทศที่มีอัตราส่วนผู้ป่วยต่อจำนวนประชากกรมากสุด 6 ประเทศแรกได้แก่ออสเตรเลีย 1 ใน 634 นิวซีแลนด์ 1 ใน1,080 ชิลี 1 ใน 1,391 แคนาดา 1 ใน 3,319 อังกฤษ 1 ใน4,705 ประเทศไทย 1 ใน 4,869
ส่วนประเทศที่มีอัตราผู้ป่วยตายสูงสุด(case fatality rate) 6 ประเทศแรกได้แก่ บราซิล 10.7% อาร์เจนตินา 6.4 % มาเลเซีย 4.6 % เวเนซูเอล่า 2.7% อินเดีย 2.5 % โบลิเวีย 1.5%
ในขณะที่อัตราตายโดยเฉลี่ยทั่วโลกคือ 0.3-0.5 % ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีอัตราตาย 1.2% เป็นอัตราตายที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลก
สำหรับในประเทศไทยนั้นมีข่าวในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2552 (1)นพ.ไพจิตร วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับสาธาณสุขจังหวัดทั่วประเทศเร่งรัดเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการแพร่ ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ระลอกใหม่ โดยตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตให้ได้น้อยกว่า 1 ใน 3 ของระลอกแรก
เนื่องจากในเป็นช่วงหน้าหนาว ทำให้ประเทศไทยเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ระลอก 2 เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย.นี้ไปจนถึงเดือน มี.ค.53 เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศหนาวเย็น อาจทำให้เกิดการระบาดซ้ำและกระจายเป็นวงกว้าง
สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทั่วโลก ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ โดยเป็นหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 6-9 เดือนประมาณ 7-10% องค์การอนามัยโลกรายงานล่าสุดเมื่อ 20 พ.ย. 2552 ทั่วโลกมีผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 526.060 ราย เสียชีวิตอย่างน้อย 6,770 ราย ส่วนไทยมีผู้เสียชีวิตสะสมทั้งสิ้น 187 ราย และอัตราป่วยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดแนวทาง (guidelines) ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ทั้งสายพันธุ์ใหม่และ seasonal flu(3) และมีการupdate การรักษาใหม่จการติดตามการรายงานโรคอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งได้มีคำแนะนำในการให้ประชาชนไปรับวัคซีนป้องกันทั้งseasonal flu และ swine flu โดยหลายๆประเทศได้เร่งรัดในการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่2009 รวมทั้งประเทศไทยเองด้วย

2. ข่าวประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้ออกมาเปิดโปงว่ามีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข(4) จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการจากภายนอกกระทรวงสาธารณสุขที่มีนพ.บรรลุ ศิริพาณิชเป็นประธานกรรมการ ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีผลการสอบสวนออกมาว่าอย่างไร
3.ข่าว “ม็อบเสื้อขาว” (5) หรือการชุมนุมของกลุ่มแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ จากโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาลทั่วไป ในนามกลุ่มสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ที่ได้นัดกันมาชุมนุมกันที่หน้ากระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 เพื่อเรียกร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้พิจารณาจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแก่แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปด้วย หลังจากที่นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เซ็นต์คำสั่งให้มีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแก่แพทย์โรงพยาบาลชุมชนในอัตราสูงสุดเดือนละ 70,000 บาท
ในกรณีนี้ปลัดกระทรวงได้พยายาม “สลายม็อบ” ทุกวิถีทาง โดยส่งผู้แทนมาเจรจากับพญ.พจนา กองเงินประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งได้สั่งยกเลิกการชุมนุมถึงสองครั้ง ทำให้สมาชิกไม่แน่ใจว่าจะมีการชุมนุมหรือเปล่า แต่ในที่สุดด้วยการยืนยันจากพญ.สุธัญญา บรรจงภาค ประชาสัมพันธ์ของสมาพันธ์และคณะบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆจากโรงพยาบาลนครปฐมและอีกหลายๆโรงพยาบาล ประมาณเกือบ 500 คน ก็มาชุมนุมเรียกร้องเพื่อขอความเป็นธรรมจากผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข
แต่ม็อบก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐมนตรีและปลัดกระทรวง แต่ได้ส่งผู้ตรวจราชการ โฆษกกระทรวงและประธานชมรมแพทย์ชนบทมาเจรจากับผู้นำม็อบแทน และตกลงว่าจะจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงให้แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ฯและโรงพยาบาลทั่วไป เพียงเดือนละ 10,000 -15,000 บาท ส่วนพยาบาลและบุคลากรอื่นก็จะจ่ายเพียงเท่ากับโรงพยาบาลชุมชนระดับ 1 เท่านั้น ทั้งๆที่เคยมี “ม็อบ” พยาบาลโรงพยาบาลชุมชนมาเรียกร้องกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสธ.แล้ว แต่ก็ไม่เพิ่มให้ตามที่กลุ่มวิชาชีพพยาบาลเรียกร้อง
ตอนนี้ได้ข่าวว่า กระทรวงสธ.สั่งให้งดจ่ายเงินนี้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในรพศ/รพท. เพราะกำลังถูกสตง.ทักท้วง/ตรวจสอบ
4.ข่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะพัฒนาสถานีอนามัย ให้เป็นโรงพยาบาลตำบล (6)โดยจะให้พยาบาลวิชาชีพเป็นหัวหน้า(ผู้อำนวยการโรงพยาบาล)ทำหน้าที่หลักคือ “ส่งเสริมสุขภาพ” แต่ตรวจรักษาผู้ป่วยได้ โดยการส่งเป็นinternet link ไปปรึกษาแพทย์ที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน ให้วินิจฉัยโรคโดยการดูรูปผู้ป่วยและฟังรายงานจากพยาบาลหรือซักประวัติผู้ป่วยทางไกล แล้วสั่งการรักษาจากทางไกล (Tele-medicine)
ข่าวนี้ก็น่ากลัวอยู่ไม่น้อย เนื่องจากการตรวจรักษาทางไกลคงจะทำให้หมอเสี่ยงต่อความผิดพลาดและการฟ้องร้อง หรือเสี่ยงต่อการถูกลงโทษทั้งทางแพ่ง(จ่ายค่าเสียหาย)และอาญา (ถูกจำคุก)

5.ข่าวการจ่ายเงินเดือนให้อาสาสมัครสาธารณสุขคนละ 500 บาทต่อเดือน(7) เพื่อต้องการให้อสม.ทำงานในเชิงรุกในการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน โดยมอบนโยบายเรื่องการส่งเสริมอนามัยแม่และเด็ก โดยให้ติดตามดูแลหญิงตั้งครรภ์และส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการให้อสม.ดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรังในชนบท
ข้อสังเกตของผู้เขียน ที่จริงแล้วความคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการจะส่งเสริมสุขภาพประชาชนและป้องกันการเจ็บป่วยนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมและควรทำให้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องมานานแล้ว
โดยพัฒนาให้อสม.ทุกคนมีความรู้ความสามารถในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและอุบัติเหตุ การเฝ้าระวังโรค การรักษาเบื้องต้น(ปฐมพยาบาล)อย่างถูกต้องเหมาะสมรวมทั้ง การรายงานโรคและการให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีความสามารถรับผิดชอบดูแลตนเองและครอบครัวได้ในกิจกรรมทั้งหมดข้างต้นดังกล่าว ก็จะช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพดี ไม่ต้องพึ่งพาบริการของสถานบริการสาธารณสุขมาก จนทำให้การบริการของบุคลากรทางการแพทย์ต้องล่าช้า เสี่ยงต่อความผิดพลาดและเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน เนื่องจากผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล(8)
รัฐมนตรีควรมอบนโยบายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ จัดการอบรมอสม.และ เจ้าหน้าที่อนามัย(หมออนามัย) เพื่อให้สามารถทำงานในเชิงรุก ในการดูแลรักษาสุขภาพประชาชน โดยเน้นที่การส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคและอุบัติเหตุการเฝ้าระวังโรค การรักษาเบื้องต้น(ปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องเหมาะสม)การรายงานโรคและการให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีความสามารถรับผิดชอบดูแลตนเองและครอบครัวได้ในกิจกรรมทั้งหมดข้างต้นดังกล่าว ก็จะช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพดี ไม่ต้องพึ่งพาบริการของสถานบริการสาธารณสุขมากมายเหมือนในปัจจุบันที่(9)มีผู้ป่วยไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลปีละ 140 ล้านครั้งในแผนกผู้ป่วยนอก และแผนกผู้ป่วยใน 9.4 ล้านครั้ง (ซึ่งถ้านอนในโรงพยาบาลเฉลี่ยคนละ 3 วัน ก็จะทำให้แพทย์ไปตรวจผู้ป่วยในถึง28.2 ล้านครั้งทำให้แพทย์ต้องตรวจผู้ป่วยปีละ 168 ล้านครั้งในปีพ.ศ. 2551) ในขณะที่มีแพทย์ทำการตรวจรักษาผู้ป่วยเพียง 8,000 คนในกระทรวงสาธารณสุข

6.ข่าวที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสธ.จะให้ประชาชนถือบัตรประชาชนใบเดียวแต่ไปรักษาโรคได้ทุกโรงพยาบาลแทนบัตรทอง (10)โดยไม่ต้องมีการส่งตัว(ใบ refer) ผู้ป่วยจากแต่ละโรงพยาบาลแต่อย่างใด ข่าวนี้ท่านวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต้องการให้ประชาชนมีความสะดวกสบาย อยากจะไปโรงพยาบาลไหนก็ได้ แต่ท่านไม่ทราบว่าข้อมูลการเจ็บป่วยของผู้ป่วยแต่ละโรงพยาบาลนั้น มันไม่ได้ online ทั่วประเทศ การที่ประชาชนเลือกไปโรงพยาบาลได้ตามใจชอบ จึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องเสียเวลาในการตรวจรักษาผู้ป่วยซ้ำซ้อนกันโดยไม่จำเป็น ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลนอยู่แล้ว (10)ยิ่งทำงานไม่ทันยิ่งขึ้น จนมีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล(9)
7.ข่าวโรงพยาบาลวชิรพยาบาลออกมาโวยวายว่า สปสช.จ่ายเงินให้โรงพยาบาลไม่พอใช้(11) ถึงแม้ว่าสปสช.จะของบประมาณค่ารักษาพยาบาลประชาชนเหมาจ่ายรายหัวได้เพิ่มขึ้นเป็น 2,002 ต่อคนต่อปี แต่สปสช.ก็ยังจ่ายเงินให้โรงพยาบาล(หรือหน่วยบริการสาธารณสุข)ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาประชาชนเหมือนเดิม โดยสปสช. “กันเงิน”งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวนี้ไว้ในสำนักงานของตนเองเรียกว่างบส่วนกลางและบริหารจัดการเอง ไม่ได้ให้ค่ารักษานี้แก่โรงพยาบาลตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545
8.ข่าวนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องการที่จะให้กระทรวงการคลังทบทวนเงิน(12)สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว ว่าทำไมจึงใช้งบประมาณมากขึ้นทุกปี ในขณะที่มีจำนวนคนน้อยกว่าประชาชนบัตรทอง(30 บาท)มาก แต่ค่าใช้จ่ายในการรักษาข้าราชการและครอบครัวเพิ่มขึ้นมากๆจนจะมากกว่าค่าใช้จ่ายในระบบ 30 บาทแล้ว
ในขณะเดียวกันก็มีข่าวว่ารัฐบาลจะให้โอนคู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตน ที่ปัจจุบันใช้สิทธิบัตรทอง โอนมาใช้สิทธิค่ารักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม(13) เพื่อลดจำนวนประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทอง
แต่ผู้บริหารกองทุนประกันสังคมก็บอกว่า จะโอนครอบครัวผู้ประกันตนมาก็ได้ แต่ต้องโอนเงินเหมาจ่ายรายหัวจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช)มาให้ด้วย ซึ่งนพ.วินัย สวัสดิวรเลขาธิการสปสช.รีบออกมาบอกว่าจะให้เงินค่าหัวมาเพียงคนละ 800 กว่าบาท(ในขณะที่รัฐบาลจ่ายค่าหัวให้คนละ 2,002 บาท) ทั้งนี้เลขาสปสช.อ้างว่าเพราะคู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตนนั้นอยู่ในวัยเด็กและหนุ่มสาว จึงไม่ควรได้ค่าหัวเท่ากับกลุ่มประชาชนบัตรทองที่มีคนแก่เป็นจำนวนมาก

สรุปแล้วในประเทศไทยนี้ มีประชาชนถูกแบ่งแยกสิทธิในการได้รับการบริการด้านสุขภาพ 3 ระบบ (14) คือข้าราชการและครอบครัว ประชาชนบัตรทอง 47 ล้านคน และลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน ที่ต้องจ่ายเงินของตนเองสมทบกับนายจ้างและรัฐบาลช่วยเพียง 2.75% ผู้ประกันตนจึงจะได้รับการรักษาพยาบาลที่มีสิทธิ์น้อยกว่าประชาชนบัตรทองที่ไม่ต้องจ่ายเงินเลย
ส่วนข้าราชการนั้นยอมทำงานเงินเดือนน้อยก็เพราะหวังในสวัสดิการการรักษาเมื่อเจ็บป่วย แต่ในปัจจุบันรัฐบาลกำลังลิดรอนสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลของข้าราชการ (15)เช่นไม่ให้จ่ายวิตามิน ทั้งๆที่วิตามินนั้นราคาถูกและสามารถป้องกันโรคได้ และรัฐบาลไม่ยอมให้ป้องกันโรคโดยการฉีดวัคซีน แต่รัฐบาลจะยอมรักษาอาการโรคที่ร้ายแรงจากการป่วยเพราะไม่ได้รับสิทธิในการฉีดวัคซีนเหล่านั้น
ส่วนประชาชนบัตรทอง 47 ล้านคน มีสิทธิทุกอย่างในการไปโรงพยาบาล โดยไม่ต้องจ่ายเงินหรือมีหน้าที่รับผิดชอบในพฤติกรรมที่ทำให้ตัวเองมีสุขภาพดีเลย( health promoting behavior) รวมทั้งยังไปใช้บริการที่โรงพยาบาลได้โดยไม่มีขอบเขตจำกัด โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น

นอกจากนั้น ยังมีข่าวอีกว่าจะมีการให้หลักประกันสุขภาแก่ สส.และสว. โดยให้ค่าเหมาจ่ายรายหัวคนละ 50,000 และ 20,000 บาทต่อคนต่อปีตามลำดับ (14)

สรุปแล้ว ประชาชนไทยไม่ได้รับสิทธิในการรับบริการทางด้านสุขภาพ อย่างเสมอภาค เท่าเทียม และเป็นธรรม เหมือนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 51
9. ข่าวใหญ่ปลายปีคือมีข่าวว่ากพร.(คณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ) ได้เสนอคณะรัฐมนตรี ให้ย้ายโรงพยาบาลศูนย์ไปอยู่กับโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย (16)โดยอ้างอิงจากการศึกษาวิจัย โดยที่รัฐมนตรี/ปลัดกระทรวง และข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขไม่ระแคะระคายเลยว่า มีคนจ้องจะเจาะยางกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็โชคดีที่นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกพร. และได้ข่าวว่า นายกฯมีความเห็นว่าควรจะยุบกพร.แทน (17)
แต่ข่าวที่กพร.เสนอครม.นี้ ก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาในวงกว้างในหมู่ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ว่าควรจะยุบกพร.มากกว่าจะย้ายโรงพยาบาลศูนย์ และเกิดความคิดเห็นว่า ควรจะแยกกระทรวงสาธารณสุขออกจากกพ. เนื่องจากกพ.ไม่สามารถจัดสรรตำแหน่งข้าราชการแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆให้เพียงพอกับการทำงานที่มีคุณภาพ และยังกำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือนไม่เหมาะสมกับภาระงานและความรับผิดชอบ ทำให้โรงพยาบาลต้อง “จ้าง” บุคลากรเพิ่มจากอัตราข้าราชการและ ข้าราชการลาออกมากๆทุกปี เพราะได้รับค่าจ้างในภาคเอกชนสูงกว่าการทำงานในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข และเมื่อข้าราชการเกษียณแล้วก็ยุบตำแหน่งนั้นไปตามตัว ทำให้ขาดแคลนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เป็นจำนวนมากทุกสาขา (18,19)

10. ข่าวตอนปลายปีก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข “ตาสว่าง” แล้ว จากการไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลชุมชน และได้พบเห็นว่าแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ ต้องรับภาระงาน “หนักเกินกำลัง” อย่างไร(16,17)
11. ข่าวเรื่องโรคที่ยังเป็นปัญหาในประเทศไทยได้แก่
11.1 ข่าวโรค พยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบของท่อน้ำดีทั้งชนิดฉับพลันและเรื้อรัง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีและตับ โดยมีสถิติจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดีปีละ 28,000 คน (มากกว่าการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 2009นำ โดยผู้เสียชีวิตมากที่สุดอยู่ใน 10 จังหวัดนั้น อยู่ในภาคอีสาน 9 จังหวัด ได้แก่สกลนคร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุดรธานี ยโสธร นครพนม อำนาจเจริญ และอีกจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือคือจังหวัดแพร่ (20)
โดยมีอัตราป่วย 80 คนต่อประชากร 100,000 คน ในเพศชาย และ 40 คนต่อประชากร 100,000 คน ในเพศหญิง แต่ละปีจะพบผู้ป่วยใหม่ปีละ 6,000 คน(20)
สำหรับมะเร็งตับชนิดเซลท่อน้ำดีนี้ พบมากที่สุดในภาคอีสานและมากที่สุดในโลกด้วย(20)
11.2 ข่าวการระบาดของโรคชิกุนกุนยาในปลายปีพ.ศ. 2551 ต่อเนื่องมาถึงปี 2552 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัด นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และ สงขลา โดยในเดือนมกราคม 2552มีรายงานผู้ป่วยใหม่ 5,534 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง(21)
11.3 คนไทยมีปัญหาโรคเครียด ร้อยละ 13 จากการสำรวจของกรมสุขภาพจิตในเดือนเมษายน

โดยสาเหตุความเครียดมาจาก ปัญหาการเงิน ครอบครัว การเจ็บป่วยของตนเอง และปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยวิธีที่ประชาชนส่วนหนึ่งเลือกใช้วิธีจัดการกับปัญหาโดย การดื่มสุราร้อยละ 8 สูบบุหรี่ร้อยละ6 เล่นการพนันร้อยละ 1 (22)
ประชาชนอีกส่วนหนึ่งใช้วิธีจัดการความเครียดโดยการดูทีวีหรือภาพยนตร์ ขอคำปรึกษาผู้รู้หรือผู้ใกล้ชิด ฟังเพลง ออกกำลังกาย และอยู่กับครอบครัว
ข่าวคนไทยป่วยเป็นโรคทางจิตและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลปีละ 1,300,000 ราย มากที่สุดคือโรคจิต โรควิตกกังวลอย่างละกว่า 360,000 ราย โรคซึมเศร้า 120,000 ราย(22)
ข้อสังเกตจากผู้เขียน คงจะมีผู้ป่วยทางจิตและผู้ที่มีปัญหาความเครียดอีกมากมาย ที่ไม่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลหรือได้รับการสำรวจ ตัวเลขที่อ้างนั้นคงเป็นเพียง “ยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำให้มองเห็นเท่านั้น”

11.4ตอนปลายปีมีข่าวว่านายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนประชาชนให้ระวังโรคในฤดูหนาว 6 โรค ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ หัด หัดเยอรมัน อีสุกอีใส และท้องร่วง โดยในปีที่ผ่านมาคือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 ถึงเดือนกุมภาพันธุ์ 2552 มีผู้ป่วยจาก 6 โรคนี้ทั่วประเทศถึง 545,980 ราย เสียชีวิต 353 ราย มากที่สุดร้อยละ 83 เป็นโรคท้องร่วง 455,010รายเสียชีวิต 32 ราย รองลงมาคือปอดบวม ป่วย 43,247 ราย เสียชีวิต 321 ราย อีก 4 โรคไม่มีผู้เสียชีวิต ได้แก่อีสุกอีใส 39,021 ราย ไข้หวัดใหญ่ 6.113 ราย โรคหัด 2,383 ราย และหัดเยอรมัน 215 ราย(23)
ข้อสังเกตจากผู้เขียน
โรคที่กล่าวถึง 6 โรคนี้ ที่ในปีนี้ต้องเพิ่มแน่ๆคือไข้หวัดใหญ่ทั้งพันธุ์ใหม่ พันธุ์เก่า ซึ่งหลายโรคที่รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวเตือนให้ประชาชนระวังโรคนั้น หลายโรคมีวัคซีนป้องกันได้แล้ว เช่น ไข้หวัดใหญ่ (ตามฤดูกาล ) ปอดบวม จากเชื้อ Hemohilus influenza b หรือวัคซีนป้องกัน invasive pneumococcal diseases ที่เป็นสาเหตุของโรคปอดบวม วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส วัคซีนป้องกันหัด หัดเยอรมัน คางทูม วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันท้องร่วงจากโรค โรต้าไวรัส ส่วนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย
วัคซีนป้องรวมกันหัด หัดเยอรมัน คางทูม นั้น กระทรวงสาธารณสุขให้แก่เด็กตอนอายุ 6 ขวบเท่านั้น ให้เฉพาะวัคซีนหัดตอนอายุ 9 เดือน การที่ยังมีรายงานผู้ป่วยหัด และหัดเยอรมัน แสดงถึงการที่ประชาชนได้รับวัคซีนไม่ทั่วถึง น่าที่กระทรวงจะต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนนำบุตรหลานไปฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง
และกระทรวงสาธารณสุขควรเริ่มให้วัคซีนรวมหัด หัดเยอรมัน และคางทูมเป็น 2 ครั้งคือ เมื่ออายุ 9 เดือนและ 6 ปี(ในขณะนี้ให้แค่วัคซีนป้องกันหัดอย่างเดียวเมื่ออายุ 9 เดือน)

ส่วนวัคซีนอื่นๆนั้น ประชาชนทั่วไปไม่สามารถรับบริการฟรีได้ เพราะเป็นวัคซีนราคาแพง แต่ต้นทุนวัคซีนก็ยังมีราคาถูกกว่าค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ยังไม่เพิ่มวัคซีนเหล่านี้เข้าไปในบัญชียาหลักแห่งชาติ ส่งผลให้ประชาชนยากจนไม่สามารถได้รับวัคซีนนี้ และเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยต่อไป ส่วนประชาชนที่มีเงินและมีความรู้เท่าทันโรค ก็สามารถ “ซื้อวัคซีน” เพื่อป้องกันโรคให้ตนเองและครอบครัวได้

รัฐบาลควรเพิ่มมาตรการในการป้องกันโรคให้ประชาชนมากขึ้น โดยสนับสนุนวัคซีนให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงให้มากขึ้น งบประมาณในการป้องกันโรคน่าจะถูกกว่างบประมาณในการรรักษาโรคแน่นอน

11.5 ข่าวการระบาดของโรค “ฉี่หนู” หรือ leptospirosis (24) ในฤดูฝน ที่มีผู้ป่วย(สถิติตั้งแต่มกราคมถึงกลางเดือนสิงหาคม 2552) มีผู้ป่วยโรคนี้แล้ว 1,835 ราย เสียชีวิต 3ราย โดยมีสถิติย้อนหลังในปี 2551 มีผู้ป่วยโรคนี้ ตลอดปี 4,210 รายและสียชีวิต 73 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 1.7

11.6 โรคเอดส์ มีอัตราการติดเชื้อรายใหม่ลดลง จากที่เคยมีปีละ 140,000 ราย เหลือปีละ 18,000 ราย โดยมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเพิ่มขึ้น(25)
โดยมีรายงานทั่วโลกว่ามีผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอดส์ทั่วโลกในปี 2550 33.2 ล้านคน เสียชีวิต 2.1 ล้านคน และคาดว่าจะมีวัยรุ่นอายุ 15-25 ปีจะมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 (26)
ในประเทศไทย มีผู้ป่วยเอดส์สะสม 345, 196 ราย เสียชีวิตแล้ว 93,034 ราย (26)

12. ข่าวความสำเร็จในวงการแพทย์ไทย
12.1 ข่าวนักวิจัยศิริราชพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างสำเร็จแห่งแรกในไทย (27)
12.2 ข่าวความสำเร็จในการทดลองวัคซีนโรคเอดส์ (28) ไทม์จัดอันดับวิจัยวัคซีนเอดส์ไทยติดอันดับทอปไฟว์โลก
นพ.ศุภชัย ฤกษ์งาม ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลองระยะที่ 3 ซึ่งผลการทลองวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ 31.2% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้คือไม่น้อยกว่า 50% กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการทดลองฯ ว่า ขณะนี้ถือว่าโครงการทดลองฯ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100% โดยจะต้องมีการศึกษาวิจัยต่อยอดเพิ่มอีก 2 โครงการย่อย คือ 1.ทดสอบหาความแตกต่างของภูมิคุ้มกันของกลุ่มอาสาสมัครที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ มีจำนวน 125 คน(ที่ทั้งได้รับวัคซีนจริงและสร้างเลียนแบบ) ว่ามีความแตกต่างที่เป็นผลจากวัคซีน โดยตรวจสอบจากตัวอย่างเลือดของอาสาสมัครที่ได้เจาะเก็บไว้ ซึ่งได้ตั้งคณะทำงานย่อย 4 กลุ่ม เพื่อตรวจสอบด้านต่างๆ ประกอบด้วย 1.ตรวจภูมิคุ้มกันจากเซลล์เม็ดเลือด 2.ตรวจจากน้ำเหลือง 3.ตรวจจากพันธุกรรม และ4.ตรวจสอบย้อนกลับไปในการทดลองในสัตว์ทดลอง โดยอยู่ระหว่างการร่างโครงงานวิจัย คาดว่าจะเริ่มทดลองได้ภายในกลางปีหน้า ใช้เวลาศึกษานาน 6 เดือนจึงจะแล้วเสร็จ

13.ข่าวเรื้อรังที่มีอยู่อย่างยาวนาน เป็นข่าวที่เป็นปัญหาคู่กับการประกาศใช้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พศ.2545 คือปัญหาเรื้อรังของกระทรวงสาธารณสุข(29)จากผลพวงของพ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่ก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างต่อเนื่องและกำลังรอการแก้ไขจากผู้บริหารประเทศที่มีวิสัยทัศน์ และความกล้าหาญที่จะพํฒนาระบบการบริการด้านสุขภาพและหลักประกันสุขภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน สามารถใช้งบประมาณจากเงินภาษีอากรของประชาชนให้มีประสิทธิผลสูงสุด เกิดความเสมอภาค เท่าเทียม เป็นธรรม มีมาตรฐานและประชาชนปลอดภัยและมีสุขภาพดี
14. ข่าวที่ขาดไม่ได้ในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย( เหมือนกินอาหารไทยแล้วต้องมีแกงเขียวหวานหรือน้ำพริกปลาทู) คือข่าวการฟ้องร้องแพทย์และข่าวประชาชนที่อยากจะให้มีการออกพ.ร.บ.คุ้มคองผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์/สาธารณสุขพ.ศ. .... มีการเสนอให้มีการแยกคดีทางการแพทย์ออกกมาเพื่อพิจารณาในศาลพิเศษ เช่นศาลสาธารณสุข(30) ทั้งนี้ เพื่อให้แพทย์ได้รับการพิจารณาคดีจากศาลอย่างเข้าใจ “ข้อเท็จจริงทางการแพทย์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าความเสียหายต่อประชาชนนั้น มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือจงใจกระทำผิดแล้ว แพทย์ก็ไม่สมควรจะถูกลงโทษทางอาญา
ส่วนการฟ้องร้องทางแพ่งนั้น ก็ควรจะกำหนดเพดานการชดใช้ค่าเสียหายต่อประชาชนตามสมควรแก่ความเสียหายเท่านั้น ไม่ใช่ต้องจ่ายค่าเสียหายกันจนแพทย์ล้มละลายไปเลย ทั้งๆที่เวลาแพทย์ทำงานก็คิดค่ารักษาไม่มากมายอะไร หรือแพทย์ได้ค่าจ้าง(เงินเดือน) เป็นหลักหมื่น แต่ต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นหลัก 100 ล้าน
ถ้าแพทย์ยังเสี่ยงต่อการถูกตัดสินจำคุกและเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง ในขณะที่อดทนทำงานเงินเดือนน้อยในภาคราชการและถูกบังคับชดใช้ทุนอย่างนี้ ก็คงจะทำให้เยาวชนไม่อยากเรียนแพทย์ และพ่อแม่ที่เป็นแพทย์เองบางคนนอกจากจะไม่ส่งเสริมให้ลูกเรียนแพทย์แล้ว ยังห้ามลูกไม่ให้สมัครเรียนแพทย์อีกด้วย แม้แต่อาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ก็ยังสังเกตว่า คะแนนของนักเรียนที่สอบเข้าเรียนแพทย์ตกต่ำลงกว่าเดิม หรือถ้าสังเกตข่าวการประกาศผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัย คะแนนสอบสูงสุดก็ย้ายไปอยู่ภาควิชาอื่น ไม่ใช่วิชาแพทย์
วงการแพทย์ก็คงจะหาคนดี คนเก่งมาทำงานยากขึ้น ประชาชนย่อมเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
15. ข่าวที่ศาลปกครองสูงสุด ได้อ่านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวคดีมาบตาพุด ที่สมาคมต่อต้านภาวะโรคร้อนและประชาชนชาวมาบตาพุด 43 คนได้ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ขอให้ศาลเพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเพิกถอนใบอนุญาตโครงการที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและพวกได้ให้ความเห็นชอบอนุมัติ อนุญาต จำนวน 76 โครงการ
ดังนั้น ศาลปกครองกลาง จึงได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 โดยสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรม จำนวน 76 โครงการ ที่กำลังดำเนินการในพื้นที่ตำบลมาบตาพุด อำเภอบ้านฉาง และบริเวณใกล้เคียงจังหวัดระยองไว้เป็นการชั่วคราวก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีและเจ้าของโครงการได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด
และศาลปกครองสูงสุดได้สั่งระงับการดำเนินการของ 65 โครงการ โดยให้ไปปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 มาตรา 67 ที่บัญญัติไว้ ก่อนการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชน จึงต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้(31)
ข้อสังเกตจากผู้เขียน ปัญหามลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรมที่จะส่งผลไปยังสุขภาพของประชาชน เป็นสิ่งที่มีมายาวนานคู่กับจังหวัดที่ม๊โรงงานอุตสาหกรรม เพราะรัฐบาลไม่ได้ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีการจำกัดกากหรือขยะจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เหมาะสม ก่อให้เกิดมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน
การตัดสินของศาลปกครองสูงสุดครั้งนี้ เป็นนิมิตหมายอันดีที่รัฐบาลจะต้องควบคุมมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เหมาะสม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน มิใช่คิดแต่เฉพาะด้านเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว
16. ข่าวสุดท้าย ปลายปี เป็นข่าวดีที่สุด ที่ทำให้ผลสำรวจของสำนักวิจัยเอแบคโพล แห่งมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (32)ได้เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,147 ครัวเรือน เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พบว่า ภายหลังรับชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว พบว่าประชาชนถึงร้อยละ 81.91 ระบุว่าตนเองมีพลังในการต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคต่างๆในชีวิตเพิ่มมากขึ้น
ผลสำรวจยังพบว่า จากการวัดความสุขของคนไทยด้วยคะแนนเต็ม 10 พบว่าระดับความสุขของคนไทยในวันที่ 5 ธันวาคม 2552 มีคะแนนสูงถึง 9.86 ซึ่งเป็นคะแนเกือบเต็ม
ขอถวายพระพร ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ
หมายเหตุ บทความนี้เขียนเสร็จในวันที่ 9 ธันวาคม 2552
เอกสารอ้างอิง :
http://www.ryt9.com/s/iq01/758530
http://www.informationisbeautiful.net/2009/swine-flu-latest-visualized/#more-503
http://cme.medscape.com/viewarticle/708032?src=top10&uac=113980PV
4.http://www.posttoday.com/breakingnews.php?id=70506 แฉคนปชป.-ภท.เอี่ยวทุจริตสธ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น