2552-12-18

ธรรมาภิบาล'ยา'

ธรรมาภิบาล'ยา'
By thaipost
Created 13 Dec 2552 - 00:00
ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี

มันไม่ใช่แค่เรื่องของราคาแพง ไม่ใช่เรื่องของการใช้ไม่ถูกต้อง มันเป็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นแพทย์ด้วยว่าความไว้วางใจ ความเชื่อถือจะลดลงถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะฉะนั้นเรื่องของส่งเสริมการขาย เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราเรียกว่าธรรมาภิบาลระบบยา
วิธีส่งเสริมการขายของบริษัทยา ทั้งพาหมอทัวร์ต่างประเทศ หรือ ผู้แทนยา (detail) แต่งตัวใกล้เคียงพริตตีเข้าพบหมอในโรงพยาบาล เป็นที่รับรู้ของสังคมจนเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่มันได้กัดกร่อนระบบสาธารณสุขในเมืองไทยอย่างคาดไม่ถึง นอกจากทำให้เกิดการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม และสร้างความไม่เป็นธรรมในระบบสุขภาพแล้ว ผลกระเทือนที่สำคัญที่สุดคือ การสั่นคลอน 'จริยธรรม' ของวงการแพทย์ เพราะก่อให้เกิดการ 'ต่อรองผลประโยชน์' และปรากฏการณ์ที่เรียกว่า 'ยิงยา'

ในฐานะผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.นิยดา ได้นำเสนอประเด็นนี้สู่สาธารณะอยู่เนืองๆ แต่ด้วยผลประโยชน์มหาศาลระหว่างธุรกิจยากับบุคลากรทางการแพทย์ ความพยายามจึงยังไม่ค่อยเป็นผล

ครั้งนี้ ดร.นิยดา เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในกำหนดแนวทางการยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม หนึ่งประเด็นหลักที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะผลักดันสู่คณะรัฐมนตรี ดังนั้นจึงหวังว่าน่าจะได้เห็น 'เกณฑ์จริยธรรม' ในไม่ช้านี้
ศักดิ์ศรีถูกลดทอน

"การส่งเสริมการขายแบบขาดจริยธรรมมันทำให้การใช้ยามากขึ้น ใช้ไม่จำเป็น ใช้ไม่เหมาะสม คุณหมอมงคล ณ สงขลา ที่เป็นประธานคณะทำงานชุดนี้ ที่เราเสนอเรื่องเข้าไปประมาณเดือน พ.ค. ฟอร์มทีมกัน 6-7 หน่วยงาน เสนอ agenda ไปที่สมัชชาสุขภาพ วุ่นๆ อยู่ ก็เชิญหมอมงคลมา ท่านน่ารักมาก บอกเลยว่าเรื่องนี้ต้องจัดการ และมันไม่ใช่แค่เรื่องของราคาแพง ไม่ใช่เรื่องของใช้ไม่ถูกต้อง มันเป็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นแพทย์ด้วย ว่าความไว้ใจความเชื่อถือจะลดลงถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ และคุณหมอบอกถึงขั้นว่ามันมีคอรัปชั่นในเรื่องของการจัดซื้อด้วย เพราะฉะนั้น เรื่องส่งเสริมการขายมันเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราเรียกว่า 'ธรรมาภิบาลของระบบยา' ซึ่งธรรมาภิบาลของระบบยามันต้องดูหลายมิติ ตั้งแต่ส่งเสริมการขาย เรื่องของการวิจัย R&D เรื่องของการคัดเลือกบัญชียาหลัก เรื่องของการจัดหายา ส่งเสริมการขาย มันเป็นมิติหนึ่งของธรรมาภิบาลระบบยา"

"ที่จริงเราติดตามเรื่องนี้มานานแล้วตั้งแต่ปี 2531 อ.สำลี (ใจดี) เป็นผู้เชี่ยวชาญ ไปประชุมที่ไนโรบี ทำเรื่องเกณฑ์จริยธรรม องค์การอนามัยโลกเขาทำคู่มือเสร็จ เขาก็ไปเข้าที่ประชุมสมัชชาอมามัยโลก เขาก็รับรองเรื่องนี้มา พวกเราก็ตามขับเคลื่อนมาตลอด องค์การอนามัยโลกเองเขาก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ มีการติดตามมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงล่าสุดเขาเสนอถึงขั้นว่า เรื่องของส่งเสริมการขายควรจะต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายด้วย อันนี้คือล่าสุดที่เขาเสนอกันมา ถ้าจะว่าไปแล้วในสหรัฐอเมริกาก็มีความพยายามเยอะของการควบคุมเรื่องพวกนี้ โดยโรงพยาบาลและโดยกลุ่มแพทย์ออกกฎหมายมาหลายฉบับ ล่าสุดก็คือ Sunshine Act กำลังจะออก ก็จะควบคุมในเรื่องการให้รางวัลแพทย์ พาแพทย์ไปเที่ยว แจกของขวัญ เลี้ยงอาหาร ให้มีการควบคุมกันมากขึ้น ให้มีการเปิดเผยกันมากขึ้น"

หมายความว่าสามารถทำได้ แต่ว่าต้องรายงานอย่างโปร่งใส

"มันมีหลายแบบ เนื่องจากอเมริกามีกฎหมายแต่ละรัฐ บางรัฐบอกห้ามส่งเสริมการขายเลย บางรัฐบอกว่าคุณต้องแจ้ง ขณะที่บางประเทศอย่างอังกฤษเอง เขาก็เข้มงวดนะ พาไปเลี้ยงใหญ่โตไม่ได้เลย อย่างมากก็แค่ปากกา ขณะที่บ้านเราบอกว่าโดยจรรยาแพทย์ได้รับของหรือเงินไม่เกิน 3,000 บาท เดิมคุณหมอธีรวัฒน์เคยเสนอไว้ 500 บาท ถูกกลุ่มแพทย์ด่ากระเจิง ในที่สุดก็อยู่ที่ 3,000 เท่ากับข้าราชการ (การแก้ไขข้อบังคับจริยธรรมวิชาชีพของแพทยสภาในปี 2549 โดยระบุให้แพทย์รับของขวัญจากบริษัทยาได้เฉพาะเมื่อมีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท)"

"ประเด็นก็คือมันมีอยู่ 2 ส่วน คือส่วนที่ผู้บริโภคถูก convince เอง กับสอง-คือส่วนที่แพทย์ถูกกระตุ้น ส่วนผู้บริโภคก็แน่นอนที่เขาจะใส่ความเชื่อว่ายานอกดีกว่ายาใน ยาแพงดีกว่ายาถูก หรือรวมทั้งในต่างประเทศเองเขาก็จะ convince ว่าคุณต้องไปเอายาตัวนี้สิ สมมติยารักษาโรคนี้มันมีตัวยาหลายรูปแบบ หลายกลไกการออกฤทธิ์ เขาก็จะ convince ว่าตัวนี้ดีกว่าตัวโน้น ก็ทำให้ที่สหรัฐอเมริกาเองเขาก็โฆษณากับประชาชนได้เลย โรคหัวใจต้องกินตัวโน้นตัวนี้ เพราะฉะนั้นผู้บริโภคก็จะไปเรียกร้องกับหมอ หรือสอง-ในเมืองไทยยาหลายๆ ตัวซื้อเองได้ นั่นก็คือการไปกระตุ้นกับผู้บริโภค"

"ส่วนการไปกระตุ้นกับแพทย์ หลายคนมีการพูดว่ามันต้องมีสองมือประกบกัน ก็คือผู้เสนอ-บริษัทยา กับผู้สนองก็คือแพทย์ หรือเภสัชกร หรือคนที่จ่ายยาก็แล้วกัน เพราะว่ามันจะมีคนที่มีอำนาจจ่ายยาแตกต่างกัน แพทย์จะจ่ายได้ทุกอย่าง ถัดไปก็คือเภสัชกรจ่ายได้ในยาอันตรายต่างๆ ยาสามัญประจำบ้าน ยาควบคุมพิเศษต้องมีใบสั่งแพทย์ ยาอันตรายนี่ก็เยอะแล้ว พยาบาลก็มีสิทธิ์จ่ายยาได้จำนวนหนึ่ง ที่ร้านยาขอ ย.2 หรือ สอ.ที่โรงพยาบาลเขาก็มีสิทธิ์ที่จะแจกจ่ายได้จำนวนหนึ่ง ถัดไปก็คือเจ้าของร้านยา ซึ่งไม่ได้เป็นอะไรเลยแต่ก็ยังจ่ายได้ ซึ่งผิดกฎหมาย และบ้านเรายังมีร้านขายของชำต่างๆ นานา ก็ยังมีจ่ายได้อยู่ การส่งเสริมการขายก็ไปมุ่งพวกนี้แหละ ที่จริงมีมากกว่านั้นอีก แพทย์ ทันตแพทย์ด้วย ทันตแพทย์ก็จ่ายยาด้วย หรือสัตวแพทย์ ตอนนี้ส่งเสริมการกับสัตวแพทย์ด้วยนะ เยอะด้วย วันก่อนเดินทางไปเจอที่สุวรรณภูมิ เจอบอร์ดเลย pfizer animal's product แสดงว่าพาคนจำนวนหนึ่งไปประชุมหรือไปเที่ยว"

การพาทัวร์ดูเหมือนจะมีมานานแล้ว

"น่าจะมีมานานพอสมควร ซึ่งคำว่าพาทัวร์เขาจะใช้ไม่ได้ในปัจจุบัน แต่ว่าเขาก็ยังมีการทำอยู่ภายใต้ชื่อว่าไปประชุมวิชาการ วันนี้คุณหมอพิสนธิ์ (จงตระกูล) ก็บอกว่าไปประชุม 1 วัน เที่ยว 3 วัน ไป 1 คนก็พาผู้ติดตามไปได้อีกจำนวนหนึ่ง เดี๋ยวนี้บริษัทต่างๆ เข้มงวดขึ้น แต่ถ้าบริษัทไม่อยากทำ มันไม่มีบังคับ ซึ่งบ้านเราก็ไม่มีอะไรบังคับ เราเคยถึงขั้นถามบริษัทว่าคุณแถลงได้ไหมว่าคุณใช้จ่ายเงินไปเท่าไหร่ ถามว่าขนาดมูลค่ามันใหญ่ขนาดไหน ตอบไม่ได้ เพราะว่าหนึ่ง-ไม่ได้บังคับให้เขาต้องรายงาน สอง-เราเคยให้เขาแถลงมา เขาบอกว่าอย่างไรรู้ไหม มันยุ่งยากมาก คอมพิวเตอร์ทำไม่ได้หรอกว่าหมอคนไหนใช้อะไรไปเท่าไหร่ เป็นไปได้อย่างไรบริษัทใหญ่ขนาดนั้นทำแค่นี้ไม่ได้ แล้วจะไปคิดค้นอะไรได้ เขาก็ไม่ยอมแถลงมาให้เรารู้"

"นั่นคือแบบผิวเผินคือไปประชุมวิชาการ แต่ว่าถ้า serious ขึ้นมาอีกก็คือยิงยา คือถ้าหมอจ่ายได้ถึงเป้าก็จะพาไปโน่นไปนี่ มันไม่ใช่แค่หมออย่างเดียว องค์การเภสัชฯ ก็เป็น หรือบริษัทอื่นๆ ก็เป็น เช่น ร้านยา ถ้าซื้อยาถึงเป้าจะพาไปเที่ยวโน่นเที่ยวนี่ ร้านยามีแพทย์ก็ต้องมีแน่ๆ อาจจะเป็นการเชิญประชุมวิชาการ หรือถึงขั้นเขา offer โรงพยาบาลเลยถ้าโรงพยาบาลซื้อ 6 จะแถม 1 นะ แต่ว่าไม่ลดราคา หรืออาจจะแถมไปในรูปสวัสดิการ สมัยก่อนจะบวกเพิ่มไปในสวัสดิการ เพราะเงินสวัสดิการคือเงินที่โรงพยาบาลจะใช้ได้ค่อนข้างอิสระหน่อย"

จำได้ว่าหลายเดือนก่อน อ.นิยดา เคยจุดประเด็นเรื่อง detail แต่งตัวล่อแหลม เลยสงสัยว่าเดี๋ยวนี้ยังมีอยู่ไหม

"เดี๋ยวนี้ได้ข่าวว่าเขาเริ่มเข้มงวดกันมากขึ้น เริ่มจะมียูนิฟอร์ม เท่าที่รู้จดหมายที่เชิญพาไป หรือ offer อะไรต่างๆ เขาจะไม่มีหัวชื่อบริษัท เพื่อที่จะไม่ต้องมีหลักฐาน"

องค์การเภสัชกรรมก็เอากับเขาด้วยเหรอ

"ได้ยินข่าวเหมือนกันว่าองค์การฯ ก็พายี่ปั๊วไปเที่ยว อันนี้รู้แน่นอนว่ามี แต่ไปต่างประเทศด้วย สองก็มี detail ไป offer"

แล้วในส่วนสภาองค์การเภสัชกรรมมีเกณฑ์บังคับหรือไม่

"ไม่ได้บอกเป็นตัวเงิน เขามีข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณ เนื่องจากสภาเภสัชกรรม บทบาทคนละขั้วกับแพทย์ ส่วนใหญ่เป็นผู้แทนบริษัทยา ขณะเดียวกันก็เป็นผู้จ่ายยา ร้านยา"

"การ entertain หมอ เป็นแค่ part หนึ่ง หมอพิสนธิ์บอกเลยว่า รพ.พระมงกุฎฯ แผนกกระดูก ไปเช้าๆ จะเห็นอะไรเยอะเลย มีคนพูดตั้งแต่มันไม่ใช่แค่พาไปประชุมอย่างเดียว รับ-ส่งลูกให้ ถึงขั้นไปดูคอนโดฯ ให้ รับ-ส่งภรรยาและลูกไปไหนต่อไหน ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องของการประกอบวิชาชีพของการให้ข้อมูล ไป spoil เขาโดยไม่จำเป็น พวกนี้ก็เคยตัว และก็มีอีกที่เคยได้ยินอาจารย์ทั้งหลายแหล่บ่นมา ก็คือไปทำกับข้าวให้กินเลยที่โรงพยาบาล หรือไปเสิร์ฟกาแฟที่โรงพยาบาลทุกวัน เขามีแท็กติกถึงขั้นว่าหมอ resident ที่มาฝึกเขาประกบเลย ดูแลอย่างดี จัดหาของทุกอย่างให้ พอพวกนี้ไปอยู่โรงพยาบาล คุ้นเคยก็ตามไปให้สั่งซื้อ"
ระบบยาต้องโปร่งใส

ดร.นิยดา ระบุว่า นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างการส่งเสริมการขายที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรม แต่ยังมีประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ ที่ควรจะต้องคำนึงถึง

"มันไม่ใช่แค่เรื่องของการพาไปเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างเดียว มันมีเรื่องของการวิจัยที่ไม่ถูกต้อง เช่นกรณียาไวออกซ์ ทำไมมันถึงถูกถอน เพราะว่ามันเกิดอันตราย ทำไมถึงเพิ่งมารู้แทนที่จะรู้ตั้งแต่ตอนขึ้นทะเบียน เพราะว่าเขาให้ข้อมูลไม่หมด คือวิจัยๆ ไป 100 อย่าง ให้ข้อมูลนิดเดียว ส่วนที่เป็นอันตรายกั๊กเอาไว้ แต่พอถึงเวลาจริงๆ ไปขึ้นทะเบียน อย.อเมริกา เพิ่งรู้ว่าข้อมูลแอบซุกซ่อนเอาไว้ ก็มีการฟ้องร้องกันใหญ่โต นั่นก็คือการส่งเสริมการขายที่ไม่ถูกต้องแบบหนึ่ง คือไม่มีจริยธรรมในการให้ข้อมูลที่ดีกับ อย.เช่นข้อมูลอันตรายให้ไม่ครบถ้วน หรือเท่าที่เคยได้ยินมา บริษัทยาบริษัทหนึ่งในต่างประเทศไปให้หมอวิจัย พอหมอวิจัยมาแล้วพบว่าเป็นอันตราย บังคับหมอไม่ให้เผยแพร่ อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน และอีกกรณีเป็นเรื่องฮือฮาพอสมควร คุณหมอคนหนึ่งเป็น professor อยู่อังกฤษ ไปสมัครงานที่มหาวิทยาลัยโตรอนโต มหาวิทยาลัยก็บอกรับด้วยวาจา แต่พอถึงเวลาจริงๆ หมอคนนี้ก็ไปวิจารณ์ยาของบริษัทหนึ่ง ซึ่งเป็นคนให้สปอนเซอร์ใหญ่กับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ มหาวิทยาลัยก็ปฏิเสธเลยว่าคุณไม่ต้องมาทำแล้ว ไม่รับ หมอคนนี้ก็ฟ้องเลยว่ามหาวิทยาลัยถูกบงการโดยบริษัท"

"เรื่องถัดมาที่มีปัญหาในการส่งเสริมการขาย ก็คืองานวิจัยทำโดยบริษัทยา แต่เอาชื่อของหมอมาแปะ เขาเรียก ghost writer ก็มีกรณีฟ้องร้องกันอยู่ คนที่ทำการตลาดของบริษัทยาหลายๆ บริษัทเริ่มมาแฉว่า เคยจ่ายเงินคนนั้นคนนี้เพื่อเอายาขึ้นทะเบียน หรือเอา paper ผิดๆ ถูกๆ ของตัวเองไปให้ professor ดังๆ เขียนแล้วก็รับเงิน นั่นก็เป็นเรื่องที่มันมี case ในต่างประเทศ"

ถามว่าในเมืองไทยเคยมี case นี้เกิดขึ้นไหม

"บอกไม่ได้ เพราะว่าหน่วยที่ติดตามงานวิจัยในประเทศไทยยังหลวม หนึ่ง-เรายังไม่มีพระราชบัญญัติควบคุมการทดลองยาในมนุษย์ ยังไม่มีกฎหมายเป็นเรื่องเป็นราว หรือแม้กระทั่งการทดลองอะไรในมนุษย์ กฎหมายยังไม่ออก เขาก็พยายามทำกันอยู่นานแต่ยังไม่เสร็จสักที เพราะอย่างในต่างประเทศจะทดลองยาเขาจะเอา protocol ไปขึ้นทะเบียนกับ อย.ก่อนแล้วไปทดลอง ระหว่างนั้นต้องมีระบบ monitor ติดตามว่าถ้ายานี้เป็นอันตรายคุณจะต้องหยุดยา คุณจะต้องแจ้งข้อมูลให้ผู้ป่วยทราบ บ้านเราการควบคุมตรงนั้นยังไม่มาก ก็มีความพยายามของสภาวิจัยที่ติดตามเรื่องนี้อยู่ ที่จริงเรื่องนี้โดยส่วนตัวสนใจและติดตามอยู่ เพราะเรารู้มาว่าการทดลองยาหลายๆ ตัว ในประเทศไทยยังไม่มีจริยธรรมเท่าไหร่ เคยพบผู้ป่วยบางคน อยู่ในเวลาเดียวกันทดลองยา 2 ตัว ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเขาต้องตรวจสอบดูให้ดีที่สุด ทดลองยาไปไม่มีเลยเรื่องความปลอดภัย ประกันชีวิตมีให้เขาไหม ถ้าเขาป่วย เช่น วัคซีนเอดส์ ถ้าเขาเป็นเอดส์จากการทดลอง โดยหลักมันต้องเลี้ยงดูเขาไปตลอดชีวิต นี่บางคนบอกให้ยา 2 ปีแล้ว ไม่ให้อีกแล้ว ทดลองยาใหม่พอได้ผลไม่ให้ยา ให้แค่ 2 ปีเลิก หรือมันมีที่เกาหลี มีการทดลองยามะเร็งเม็ดเลือดขาวตัวหนึ่ง ทดลองอย่างดีจนเสร็จ ปรากฏว่าขายยาแพงมากในเกาหลีจนผู้ป่วยรับไม่ไหว ไม่มีปัญญาซื้อ หรือบางรายทดลองเสร็จไม่เอาไปขาย เพราะยานั้นเขาถือว่าตลาดไม่คุ้ม ซึ่งบ้านเราก็เคยมีเคสที่ไม่เอายามาขาย สมัย Abbott ที่เรากำลังรณรงค์ CL (Compulsory Licensing)กันเยอะๆ Abbott ทำอย่างไรรู้ไหม ระหว่างขึ้นทะเบียนขอถอนยาที่กำลังขึ้นทะเบียนเลย บอกไม่ขึ้นในประเทศไทย เท่ากับเราไม่มียาใช้"

"รวมทั้งเรื่องของ post marketing เช่น มียาออกสู่ตลาดแล้วต้องมีการติดตามความปลอดภัย post marketing ก็เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการขาย เช่น ปิดบัง ให้ข้อมูลไม่ครบ หรืองานวิจัย ซึ่งบางทีบริษัทยาให้งานวิจัย ก็จะไปจิ้มหมอเลยว่าให้หมอคนนี้ทำคนนั้นทำ หรือจะไปประชุมก็ระบุให้หมอคนนี้เลย ซึ่งโดยหลักแล้วไม่ควร ควรจะให้เป็นนโยบายของโรงพยาบาลจัดการมากกว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการบริจาค ก็มีที่เอายาเกือบหมดอายุแล้วไปบริจาค เรื่องของ export ฉันไม่ขึ้นทะเบียนประเทศ ฉันแต่ฉันไปขายประเทศคุณ เขาก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการขาย"

โดยส่วนตัวแล้ว อ.นิยดา บอกว่าขณะนี้กำลังโฟกัสไปที่การโฆษณาผ่านทางอินเทอร์เน็ต

"ตอนที่องค์การอนามัยโลกออกเกณฑ์นี้เรื่องอินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย กับอีกอย่างที่น่าสนใจแล้วยังไม่ได้แตะกันเยอะ คือเรื่องฉลากเอกสารกำกับยา นั่นก็คือเป็นส่วนหนึ่งของการให้ข้อมูลและเป็นการส่งเสริมการขายด้วย เช่นบริษัท A ขึ้นทะเบียนที่อเมริกาด้วยข้อบ่งใช้อย่างหนึ่ง มาขึ้นเมืองไทยด้วยข้อบ่งใช้อีกอย่างหนึ่ง หรืออาการไม่พึงประสงค์ของเขามี 5 อย่าง แต่ขายในเมืองไทยบอกแค่ 2 อย่าง อันนี้ก็เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน"

แม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะกำหนดจริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยามาตั้งแต่ปี ค.ศ.1988 แต่ถือว่าล้มเหลวในการผลักดันสู่การปฏิบัติ

"องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ทำการประเมิน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าเรารวมได้ เคยรวมกลุ่มกันในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีไทย, ลาว, เวียดนาม, อินโดนีเซีย เราเคยทำกับออสเตรเลียไปครั้งหนึ่ง โดยที่เราเอาเกณฑ์นี้มาจับดูว่าจริงๆ ในเกณฑ์พูดอะไรไว้บ้าง แต่นานแล้วตั้งแต่ปี 2004 ตอนนั้นก็พบว่าหนึ่ง-โฆษณาไม่เป็นไปตามเกณฑ์เลย และเราก็ดูเรื่องของการจัดประชุมว่ามันมีมูลค่าเท่าไหร่ สำรวจว่าสมัยนั้นมีการจดทะเบียนผู้เป็น detail ไหม ก็ได้เอามาแลกเปลี่ยน เราก็ไปสัมภาษณ์แพทย์ว่ารู้จักเกณฑ์จริยธรรมขององค์การอนามัยโลกมั้ย เกือบทั้งหมดไม่รู้จักเลย ไม่มีใครรู้จักเลยว่ามันมีเกณฑ์นี้อยู่ เพราะฉะนั้น เราก็บอกว่าอย่างนี้องค์การอนามัยโลกล้มเหลวแล้ว ตั้งเกณฑ์ออกมาแต่คุณไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์เลย หรือคุณไม่ให้แต่ละประเทศ implement เท่าไหร่"

"เราก็เลยมาจัดโครงการกระตุ้นให้ความเข้าใจมากขึ้น งานนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เราได้งบจาก สสส. ให้เงินเราในฐานะที่เรียกว่าปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ เป็นปัจจัยเสี่ยงรอง ปัจจัยเสี่ยงหลักก็จะมีเหล้ากับบุหรี่ ปัจจัยเสี่ยงรองก็มีตั้งแต่ยา อาหาร เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เราก็ถือว่ายาเป็นปัจจัยเสี่ยง เพราะอะไร เพราะถ้าเข้าไม่ถึงก็จะไม่ได้รับการรักษา สอง-กินมากไปก็เป็นอันตราย เสียสุขภาพแล้วยังเกิดอาการไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้นมาอีก และเราก็จับ issue เรื่องของปัจจัยเสี่ยงนี้ว่าไปดูเรื่องของ access เราไปดูเรื่องของการใช้ยาที่เหมาะสม เพราะถ้าใช้ยาที่เหมาะสมก็จะทำให้ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ และการยาใช้ยาที่เหมาะสมปัจจัยที่มีผลกระทบมากๆ คือเรื่องการส่งเสริมการขายยา ก็เลยมาจับเรื่องนี้ต่อ"

ล่าสุด องค์การอนามัยโลกประเมินผลความโปร่งใสระบบยาในเมืองไทยอย่างไรบ้าง

"ประเทศไทยตกต่ำ ปีนี้เรายิ่งตกต่ำกว่าเก่าอีก สองปีที่แล้วเราอยู่ลำดับที่ดีพอสมควร ปีนี้แย่ลง และคะแนนก็แย่ลงด้วย แม้ว่าเราจะดีกว่าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แต่เราก็ยังแพ้มาเลเซีย คือภาพลักษณ์ทางด้านคอรัปชั่นเราไม่ดีเท่าไหร่ อันนี้ก็เป็นตัวสะท้อนอันหนึ่ง แต่บ้านเราก็ยังมีความพยายามที่จะพัฒนา เช่น คุณหมอสยมพรที่ รพ.รามาฯ ท่านก็กระตุ้นให้เกิดคู่มือของการปฏิบัติระหว่างบุคลากรสาธารณสุขกับบริษัทยา ทำออกมาเป็น guide line เผยแพร่ออกมา"
คนไทยใช้ยาเว่อร์

ถามว่าการส่งเสริมการขาย ทำให้ยาตัวไหนบ้างที่ใช้มากเกินความจำเป็น

"เกือบทุกตัวเลยใช้เว่อร์ คือโฆษณาส่งเสริมมันมีหลายแบบ แบบหนึ่งก็คือคุณก็ให้เงินไปประชุม อีกอย่างก็คือบิดเบือนข้อมูล บอกว่ายา generic ไม่มีคุณภาพ ลงหนังสือพิมพ์คล้ายๆ ทำนองว่าให้ระวังยาเลียนแบบ ก็เป็นการบิดเบือน ก็มีปัญหาด้วยเหมือนกัน ทำให้มีการใช้ยาไม่เหมาะสม"

พบว่าในส่วนสวัสดิการข้าราชการมีมูลค่าการใช้ยาสูงมาก

"ก็ตอนนี้โรงพยาบาล 34 แห่ง ถูกบังคับให้จะต้องลดมูลค่าการใช้ยาลงมาประมาณครึ่งหนึ่ง คือเขามีการใช้ยามูลค่ามหาศาล ปีที่แล้ว 59,000 ล้าน ปีนี้ได้ข่าวว่าเกือบ 80,000 ล้าน ปีงบประมาณที่ผ่านมาข้าราชการใช้ยามหาศาล ไปตกหนักที่ผู้ป่วยนอก และส่วนใหญ่เป็นยาอะไร ยาแบรนด์เอย หรือใช้กันเยอะๆ เขาก็บอกว่าบางคนช็อปปิ้งก็มี หรือบางคนหมอก็จ่ายไปทีเดียว antibiotics ตั้งเยอะ หรือวิตามินที่ไม่จำเป็น เขาก็พบว่าในกลุ่มข้าราชการมีการใช้ไม่เหมาะสมเยอะมาก เช่น มีการวิจัยบอกเลยว่าการใช้ยา 'สแตติน' ซึ่งเป็นยาลดไขมันในเลือด ในข้าราชการใช้ผิดซะเยอะ งานวิจัยระบุว่าใช้ผิด 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่จำเป็นต้องใช้ก็ใช้"

คือมีตัวอื่นที่ราคาถูกกว่า และประสิทธิภาพการรักษาดีพอๆ กัน

"อันที่หนึ่ง-มียาตัวอื่นที่ถูกกว่านี้ และสอง-ขั้นตอนการรักษา อันนี้จะต้องกลับไปถามที่โรงเรียนแพทย์ในเรื่อง guide line ของการรักษาว่าอันที่หนึ่งจะให้ยากลุ่มที่แรงกว่า แพงกว่าได้ มันต้องมีการตรวจแล็บ บางคนไม่มีการตรวจแล็บเลย และข้อมูลที่ได้มากับตัวเองเลย เพราะมีผู้ป่วยมาหา เขาก็จะมาขอซื้อยาสแตติน ก็ถามว่าคุณซื้อไปทำไม เขาบอกหมอแนะนำให้กินป้องกัน คือไขมันยังไม่สูงนะ แต่กินป้องกันไปก่อน และยาพวกนี้คนที่กินรู้ไหมว่ามันมีผลต่อตับ ต่อไปมันน่าจะต้องมี guide line แล้วว่า เมื่อให้สแตตินไปเท่าไหร่ๆ คุณจะต้องตรวจตับแล้ว"

ยาตัวนี้ราคาแพงแค่ไหน

"มีหลายตัว ตัวที่ถูกที่สุดตั้งแต่ 1 บาทถึงหลายสิบบาท แล้วสแตตินก็เป็นกลุ่มที่ใช้มูลค่าสูง ยากลุ่มที่ใช้มูลค่าสูงเยอะๆ เช่นยาปฏิชีวนะ ใช้เยอะ ใช้ยาใหม่ๆ แพง นั่นก็เป็นปัญหาอีกอยางหนึ่งสำหรับยาปฏิชีวนะ คือยาใช้นานๆ แล้วมันดื้อ หรือใช้ไม่ถูกต้อง ใช้แรงมันก็เกิดออาการดื้อ เมื่อดื้อคุณจะหายาไม่ได้ คุณก็ต้องไปซื้อยาราคาแพง"

มูลค่าการใช้ยามหาศาล เมื่อเทียบกับประกันสังคมและ สปสช.ที่ต้องดูแลกว่า 50 ล้านคน

"เรามีตัวเลขเลย ข้าราชการ 5 ล้านคน ใช้ไป 6 หมื่นล้านบาท สปสช.บวกประกันสังคมตีซะว่า 50 ล้านคน คือ 10 เท่า แต่ใช้เงิน 2 เท่าเอง ข้าราชการใช้เงินมากกว่า 5 เท่า ตัวเลขมันออกมาแฉเลย มันจะมีสถิติการศึกษาการใช้ยาไม่เหมาะสมอยู่ประปราย การใช้ยาเหมาะสมคืออะไร ใช้เมื่อจำเป็น ถูกคนถูกขนาด และต้องราคาเหมาะสมด้วย"
แท็กติกโฆษณาแฝง

ข้อมูลการบริโภคยาของคนไทยในปี 2548 พบว่าสูงถึง 103,517 ล้านบาท ในราคาขายส่ง หรือประมาณ 186,331 ล้านบาทในราคาขายปลีก คิดเป็นร้อยละ 42.8 ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด ขณะที่ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว มีสัดส่วนมูลค่าการบริโภคยาอยู่ที่ร้อยละ 10-20 ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดเท่านั้น

ประเด็นนี้ อ.นิยดา ชี้ว่าอิทธิพลของการโฆษณา นับเป็นสาเหตุหนึ่งของการใช้ยามากเกินจำเป็นของคนไทย

"มูลค่าโฆษณาตรงสู่ประชาชนประมาณ 2,500 ล้านบาทต่อปี ในระยะ 2549-2551 นี่เฉพาะโฆษณาสู่ประชาชนนะ เขาไปเก็บจาก 7 สื่อ ทีวี วิทยุ บิลบอร์ด แมกกาซีน ฯลฯ ได้มูลค่า 2,500 ล้าน แต่อีกอันหนึ่งที่เขาอาจจะไม่ได้เก็บข้อมูลคือโฆษณาแฝง ตอนนี้เริ่มเข้ามาแล้ว ไม่ได้เขียนว่าเป็นโฆษณา"

ถึงตรงนี้ อ.นิยดา แอบนินทานอกรอบว่า ก่อนให้สัมภาษณ์เรามีโทรทัศน์ช่องหนึ่งเชิญไปออกรายการ แต่ปรากฏว่ามีอาหารเสริมโชว์ยี่ห้อหราวางบนโต๊ะตรงหน้าแขกรับเชิญและพิธีกร

"วางเป็นแผงเลย อาจารย์บอกขอเอาออกได้ไหม เขาก็เอาออกนะ"

โปรดิวเซอร์รายการคงลืมว่าเชิญใครมาเป็นแขกรับเชิญ

"นั่นน่ะสิ (หัวเราะ)"

"ตอนนี้โฆษณาแฝงเป็นเรื่องใหญ่ สคบ.กำลังยื้อใหญ่เลย คือ สคบ.จะยอมให้ปล่อยโฆษณาแฝง ขณะที่พวกเราบอกยอมไม่ได้ โฆษณาแฝงมันมีเรื่องยาเข้าไปด้วย โน่นนี่นั่นขึ้นมา"

นี่ยังไม่รวมในเคเบิลทีวีที่ไล่จับยาก

"ทั้งเคเบิล วิทยุชุมชน เต็มไปหมด ลองคิดดูว่าโฆษณาตรงสู่ประชาชน 2,500 ล้านบาท ถ้าส่งเสริมการขายกับบุคลากรทางการแพทย์ คุณคิดว่าเท่าไหร่"

ต้องมากกว่านั้นแน่นอน

"สมมติเท่าตัวก็ 5,000 ล้านบาท มันก็ไปบวกในต้นทุน และก็ทำให้ใช้ยาเกินจำเป็น และพอบริษัทยาใช้เงินตรงนี้เยอะ แทนที่จะรัฐเอาเงินไปทุ่มให้ความรู้เรา พอเขาไปใช้โฆษณาเยอะ เราก็ต้องไปทุ่มเรื่องให้ความรู้ มันก็เสียเงินโดยใช่เหตุ ต้องเสียงบประมาณค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพ"

ในต่างประเทศอย่างแคนาดาถือว่ามีระบบยาที่เข้มแข็ง เกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง

"แคนาดาน่าจะมีเป็นรัฐสวัสดิการพอสมควร และประชาชนของเขามีความรู้ในการเฝ้าระวังติดตามการใช้ยา อันที่สอง-เขามีนโยบายเรื่องควบคุมราคายา ยาเขาถูกมาก คนอเมริกาก็ยังข้ามไปซื้อ ซึ่งอันนี้ประชาชนอเมริกาน่าจะต้องฟ้องรัฐบาลอเมริกาที่มาจับเขา คือละเมิดสิทธิ์ที่เขาจะดูแลตัวเอง และรัฐไม่มีปัญญาจะสามารถทำให้ยาถูกลงได้ ประชาชนเขาไม่ได้เอามาขาย แต่เขาเอามาใช้มาแบ่งปันในกลุ่ม การซื้อมาใช้ไม่ควรจะไปจับเลยนะ

จะบอกได้ไหมว่า สหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างของระบบยาที่ล้มเหลว เพราะบริษัทยาเข้ามามีอิทธิพลกับการเมือง

"ใช่ ในคองเกรสมีล็อบบียิสต์ที่เป็นบริษัทยาเยอะมาก และบริษัทยาก็ให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองมาโดยตลอด"
ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์

หลังประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ระหว่าง 16-18 ธ.ค.นี้ คณะทำงานจะนำประเด็นนี้เสนอเป็นยุทธศาสตร์ต่อคณะรัฐมนตรี

"เราเสนออันที่หนึ่งคือ จะต้องให้มีเกณฑ์จริยธรรมกลางของประเทศ จะต้องให้มันเกิดขึ้นได้โดยความเห็นพ้องต้องกันของหน่วยงาน และสอง-จะต้องเข้าไปอยู่เป็นกฎหมาย และอันที่สาม-หน่วยงานที่เป็นผู้จ่ายเงิน กรมบัญชีกลาง ประกันสังคม สปสช.จะต้องมาคุยกันเรื่องการ monitor ติดตามการใช้ยา และส่งเสริมการขายมากกว่านี้ เพราะว่าเขาเป็นคนจ่ายเงิน เขาควรจะต้องไปดูผลที่ได้ วิธีการไปดูผลที่ได้เขาก็ต้องไปติดตามการใช้ให้มากขึ้น และสี่ต้องให้มีประชาชนมา monitor ปัญหาการส่งเสริมการขายและก็เอามาแฉ รัฐควรจะต้องจัดสรรเงินมาให้ประชาชนมา monitor ด้วย"

งานหนักอีกอย่างคือ ต้องปรับทัศนคติในการใช้ยาของคนไทยด้วย

"เราต้องสร้างทัศคติ และสร้างความเข้มแข็งด้วย ตอนนี้มีบางกลุ่มที่เขาเห็นปัญหาแล้วเขารวมตัวกัน ทีมพวกเราก็ไปกระตุ้นอยู่ เรามีเครือข่ายผู้บริโภคเข้มแข็ง โดยการประสานเชื่อมกับทางแผนงานคุ้มครองผู้บริโภค กระตุ้นให้เฝ้าระวัง คุณนิมิตร์ (เทียนอุดม) ตอนนี้ก็ประสานงานกับเราในการจัดทีมเฝ้าระวังมากขึ้น วันก่อนที่เราจัดรับฟังความเห็น มีน้องคนหนึ่งมาจากเชียงใหม่ แฉเลยว่าเนี่ยเขาจะต้องไปออกหน่วย ปรากฏว่ารถที่เขาจะเช่าไปถูกกว้านโดยบริษัทยาเพื่อจะเอาไป entertain หมอที่ไปประชุมวิชาการที่เชียงใหม่พอดี เขาเลยเห็นเลยว่ามันเป็นปัญหาจริงๆ"

ด้วยผลประโยชน์ที่มีผู้เกี่ยวข้องมากมายขนาดนี้ คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่มีเสียงคัดค้านจากบุคลากรการแพทย์

"คนที่เชียร์ก็มี ที่ต่อต้านเขาก็จะก่นว่า หนึ่ง-ยาแบรนด์น่ะดีกว่า ยาหลายตัวไม่มีคุณภาพ แต่เราจะบอกว่ามันคนละประเด็นกัน ถ้ายาไม่มีคุณภาพเราต้องกำจัดออก อย.ต้องมาทำหน้าที่ คุณต้องบอกให้ได้ว่ายาตัวไหนไม่มีคุณภาพ อย่าไปเหมารวมว่าไม่ดีหมด ฉันจะเอายามียี่ห้ออย่างเดียว-ไม่ได้ ประเทศไทยไม่มีเงินพอ เราใช้เงินไปตั้งปีละเท่าไหร่ เท่าที่ดูรายงาน อย. 186,000 ล้านต่อปี ค่ายา มหาศาล และปัจจุบันที่แย่ยิ่งกว่านั้น ยานำเข้าตอนนี้มากกว่ายาที่ผลิตในประเทศแล้วนะ เราซื้อมากขึ้น มีน้องคนหนึ่งเขาบ่นให้ฟังว่า อาจารย์คิดดูสิผมซื้อยา generic เป็นรถบรรทุก 1 คัน เป็นเงินเท่านั้นล้าน แต่ผมหิ้วยากล่องเล็กๆ มากล่องเดียว ราคาเท่ากันเลย ดูสิยานอกนิดเดียวเอง เข็มหนึ่งเป็นแสน อะไรอย่างนี้ แล้วจะทำอย่างไร มันก็ต้องอยู่ที่การศึกษาที่โรงเรียนแพทย์"

แน่นอนต้องได้ยินเข้าหูบ้างว่า "ทำกันมาอย่างนี้นานแล้ว เป็นเรื่องปกติ"

"แต่ว่าเราก็ยืนยันว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และก็เป็นทิศทางที่ทั่วโลกเขาทำกัน ทั้งองค์การอนามัยโลก ประเทศต่างๆ แนวโน้มมันออกมาแล้ว ประเทศเราไม่ได้มีทรัพยากรเยอะ เราไม่ใช่ประเทศรวยที่นึกอยากจะซื้อยาอะไรก็ซื้อได้หมด และบางทีการรักษาด้วยยาที่ใกล้เคียงกันได้ ไม่ต้องไปใช้ยา high ยาแค่นี้คุณก็รักษาได้ 80-90 เปอร์เซ็นต์ คุณจะไปใช้ยา high เพื่อให้ได้มา 92 เปอร์เซ็นต์ เกินมาหน่อยเดียวมันไม่มีความคุ้มค่า และก็มีการใช้ antibiotics เกินจำเป็น 85 เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน คือยาหวัดยาอะไรก็ใช้ปฏิชีวนะกันแหลกลาญ เขาบอกว่าอีกหน่อยอนาคตนิเวศน์วิทยาของโลกจะเสียเพราะปัญหาปฏิชีวนะ ดื้อยา"

แล้วท่าทีของบริษัทยาล่ะ

"เขาก็จะอ้างว่าของเขาดีแล้ว เกณฑ์เขามีอยู่แล้ว คุณไม่เห็นจะต้องมายุ่งเลย ที่จริงเขาก็อยู่ในทีมของ สช. เราก็เชิญเขามาร่วมด้วยนะ เขาก็จะอ้างว่าเขามีครบแล้ว แต่ PReMA มีสมาชิกกี่บริษัท บริษัทที่ไม่อยู่ใน PReMA บริษัทอื่นๆ นำเข้าอย่างเดียว ก็ตั้งเยอะ มาตรฐานพรีมาที่อเมริกากับเมืองไทยไม่เท่ากัน คุณก็ยังไม่ได้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกจริง บางอย่างในต่างประเทศเขาทำแต่กับไทยไม่ทำ เราเคยแย้งเรื่องนี้เขาก็บอกว่า เอ้าก็กฎหมายไทยไม่ได้ห้าม คือกฎหมายบ้านเราอ่อนแอ เราถึงพยายามผลักดันเรื่องนี้ การที่เราจะต้องใช้เงินมูลค่ามหาศาลไปทำไมกับเรื่องพวกนี้ บริษัทยาชอบอ้างว่าไปทำ R&D เยอะ ยาเลยแพง มีคนวิจัยหลายแห่งบอกว่า R&D ใช้น้อยกว่าส่งเสริมการขาย นั่นคือมูลค่าส่งเสริมการขาย บางคนบอกไม่เห็นเป็นอะไรเลย มันคือการตลาด แต่มันทำให้ยาแพงโดยไม่จำเป็น และคนเข้าไม่ถึง กับสอง-การส่งเสริมที่ไม่มีจริยธรรมที่มันแฝงเร้นอยู่ และคนตามไม่เจอตั้งเยอะแยะ มันควรต้องจัดการอย่างไร โดยเฉพาะคุณหมอมงคล ท่านกำชับเลยว่าต้องเขียนมาให้ชัดระหว่างผู้เสนอกับผู้สนอง ทั้งสองฝ่ายต้องมีความรับผิดชอบทั้งคู่ และมันมีการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาคอรัปชั่น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะคำว่าคอรัปชั่น ธนาคารโลกเขาให้คำจำกัดความว่า การทำอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์ส่วนตน ถือว่าเป็นคอรัปชั่นได้ องค์การอนามัยโลกก็เลยมาจับเรื่องธรรมาภิบาลระบบยามากขึ้น"

ถามว่าแพทยสภามีบทบาทกับเรื่องนี้มากแค่ไหน

"ก็เห็นอยู่ว่าแพทยสภาทำอะไร มาปกป้องพรรคพวกตัวเอง เพราะฉะนั้นระบบของเขาคือระบบตั้งรับ เขาทำหน้าที่เหมือนที่เราเรียกว่าสหภาพแพทย์ คือมาปกป้องผลประโยชน์ให้แพทย์ ตอนที่ อ.ธีรวัฒน์เสนอเรื่องรับของมูลค่าไม่เกิน 500 บาท ก็จัดประชุม พวกเราก็เข้าไปอัดหมอ หมอก็มาคัดค้านว่ากันใหญ่ และปรากฏการณ์ที่ออกมาก็เห็นๆ อยู่ว่าเป็นอย่างไร เราก็ต้องกระตุ้นไม่ให้เขามีบทบาทแค่ตั้งรับอย่างเดียว คุณต้องไป monitor หรือไปมีกระบวนการอะไรที่จะสร้างเสริมจริยธรรมเรื่องนี้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องโรงเรียนแพทย์ พ่อปูแม่ปูก็ต้องทำหน้าที่ให้มันดีขึ้น เพราะพวกนี้ทั้งหลายแหล่ก็เรียนจากโรงเรียนแพทย์นั่นแหละ ฉะนั้น ยาตัวไหนที่สามารถเข้าโรงเรียนแพทย์ได้ โรงพยาบาลทั้งหลายก็จะเชื่อถือ เพราะฉะนั้น กระบวนการคัดเลือกยาของโรงเรียนแพทย์ควรจะต้องทำเป็นแบบอย่าง จะขอชมเชยแห่งหนึ่งก็คือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รายการยาเขาเนี้ยบมาก generic เป็นส่วนใหญ่ แต่เขาผ่านการวิเคราะห์มาอย่างดีแล้วนะ เขามีระบบควบคุมแพทย์ เขามีวัฒนธรรมของการติดตามการใช้ยา ระบบเขาเข้มข้นมาก"

ความหวังในปีใหม่ 2553

ความหวังในปีใหม่ 2553
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ในวันปีใหม่เป็นธรรมเนียมที่เราจะกล่าวคำอวยพรให้แก่คนอื่น และในขณะเดียวกันก็คงตั้งความหวังว่าตนเองจะได้พบสิ่งที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ในกรณีของการทำงาน หลายๆคนก็คงจะเริ่มตั้งเป้าหมายว่าในปีใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นนี้ จะตั้งเป้าหมายในการทำงานอย่างไร เพื่อให้ตนเองสามารถทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายนั้นๆ แต่ในขณะเดียวกันในการทำงานต่างๆนั้นอาจจะมีอุปสรรคหรือข้อจำกัดที่อยู่นอกเหนือการควบคุมหรือศักยภาพท
ี่คนเราจะสามารถเอาชนะได้ คนเราจึงต้องตั้งความหวังหรือความต้องการที่จะทำให้สามารถเอาชนะอุปสรรคหรือข้อจำกัด ที่ตนเองไม่สามารถจะควบคุมหรือเอาชนะเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการได้
พรปีใหม่ที่ทุกๆคนอยากได้ก็คงจะไม่มีอะไรมากไปกว่า ความสุขสันติ บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขสงบ ให้รัฐบาล(ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม) สามารถบริหารบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟู มีเงินทอง พอใช้จ่ายใน
การพัฒนาและ ขับเคลื่อนประเทศ นักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างก็ร่วมมือกันทำงาน โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนมาก่อนผลประโยชน์ของ ใครคนใดคนหนึ่งหรือเฉพา
ะพรรคพวก ของตนเองเท่านั้น ถ้าใครได้ฟังพระราชดำรัสที่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส
ต่อพระบรมวงศานุวงศ์และ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และผู้นำประเทศ ที่ได้เข้าเฝ้าฯถวายพระพรเนื่องใน
วันเฉลิมพระชนมพรรษา แล้ว ก็คงจะตระหนักได้ดีว่าความสุขของพระองค์ท่านก็คือ ได้เห็นประชาชนมีความ สามัคคีและบ้านเมืองสงบสุขส่วนประชาชนทั่วไป ก็คงจะรักความสุขและเกลียดความทุกข์กันทั้งนั้น และผู้ที่จะช่วยทำให้ประชาชนมีความสุขได้ ก็คือคณะรัฐมนตรี และนักการเมือง ที่เป็นผู้นำในการบริหารบ้าน
เมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข มีความก้าวหน้าทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมืองและปากท้องของประชาชนได้กินอิ่ม ได้รับการสนับสนุนการดำรงชีวิตทั้งในทางสาธารณูปโภคและสวัสดิการสาธารณะที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีงานทำ มีรายได้จากค่าจ้างแรงงานตอบแทนอย่างเป็นธรรม คุ้มค่า
กับแรงงานที่ได้ทำ และมีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคในการดำรงชีวิตที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

คำอวยพรที่เราจะชอบยกขึ้นมาอวยพรให้แก่ญาติสนิทมิตรสหายนั้น ก็คงจะมีมากมายหลายแบบ แต่ก็มักจะประกอบไปด้วยพรอันประเสริฐ 4 ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ และในปัจจุบันก็อาจจะต่อด้วยคำว่า
ปฏิภาณ และธนสารสมบัติ ซึ่งเป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ ที่อยากจะมีความสุข ความสมหวัง ร่างกายแข็งแรง และมีเงินใช้ไม่ขาดมือ ซึ่งการที่จะมีเงินใช้ไม่ขาดมือนั้น ก็คงจะต้องเกิดจากการทำงานที่สะดวกสบายพอสมควรและ ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมตามความรู้ความสามารถ และความชำนาญในงานที่ทำ(เรียกว่ามีประสบการณ์ในการทำงานสูง) ซึ่งผู้ที่ทำงานในวิชาชีพอิสระหรือมีกิจการของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า ผู้ประกอบการรายใหญ่รายเล็กไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร ก็คงจะคาดหวังความสำเร็จของงาน และรายได้หรือผลประโยชน์ที่ดีจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง
แต่คงต้องยกเว้นชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนและเกษตรกร ที่แม้จะทำงานอาชีพของตนโดยอิสระ
ไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร แต่ก็ไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าของตนเองให้เหมาะสมกับน้ำพักน้ำแรงของตนได้
เพราะพ่อค้า หรือตลาดกลายเป็นผู้กำหนดราคาสินค้าและผลิตผลการเกษตรเสียเอง ทำให้เกษตรกรก็ยังยากจนอยู่ต่อไป

รัฐบาลต้องดูแลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ให้สมกับที่เป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งประเทศ
แต่สำหรับผู้ที่รับจ้างทำงานโดยมีรายได้เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างแบบที่เรียกว่า “มนุษย์เงินเดือน”นั้น ในแต่ละปีที่ผ่านไป ก็คงอยากจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น ยิ่งมีโบนัสพิเศษก็ยิ่งจะมีความสุขมาก ในแต่ละปี พอถึงปลายปีก็จะมีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำสำหรับลูกจ้าง(ที่ไม่มีฝีมือพิเศษ) รวมทั้งกำหนดว่าค่าแรงขั้นต่ำควรจะเพิ่มขึ้นเท่าไร โดยฝ่ายนายจ้างก็อยากจะจ่ายเพิ่มน้อยๆ(เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ของตน) ส่วนฝ่ายลูกจ้างก็อยากจะได้มากขึ้นให้พอมีเงินเลี้ยงตนเองและครอบครัวชนิดที่ว่ามี “สภาพคล่องทางการเงิน” ทั้งลูกจ้างและนายจ้าง ทั้งนี้ฝ่ายราชการหรือผู้บริหารประเทศก็ต้องทำหน้าที่เป็นคนกลางในการตกลงปรับเพิ่มค่าจ้าง ซึ่งปีนี้จะเพิ่มค่าจ้างเพียง 1- 9 บาทต่อวัน ซึ่งผู้เขียนไม่รู้เหมือนกันว่าเขาคิดกันอย่างไร
แต่ในสายตาผู้เขียนแล้ว รู้สึกว่าเงินเพิ่มวันละ 1- 9 บาทนี้ต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับภาวะเงินเฟ้อที่สินค้าอุปโภคบริโภคต่างก็ทยอยขึ้นราคาไม่มีวันหยุดนิ่งตลอดปี แต่ค่าแรงเพิ่มเพียงเล็กน้อยเพียงปีละไม่เกินสองครั้งเท่านั้น
และฝ่ายลุกจ้างก็ได้ออกมาโวยวายว่า เงินค่าจ้างที่ตกลงจะจ่ายพิ่มเพียงวันละ 1-9 บาทนี้
ผู้เขียนก็คิดว่า รัฐบาลควรลงมาบริหารจัดการให้ลูกจ้างมีรายได้อย่างเหมาะสมกับค่าครองชีพปัจจุบันด้วย

สำหรับข้าราชการ(รวมทั้งข้าราชการบำนาญ) ก็คงมีความหวังเหมือนประชาชนคนอื่นๆเหมือนกันว่า ในปีใหม่ที่จะถึงนี้ รัฐบาลจะปรับขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการและลูกจ้างราชการหรือไม่(รวมทั้งเงินบำนาญจะได้เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อหรือไม่)
ในขณะที่สวัสดิการต่างๆที่ทางรัฐบาลได้สัญญาว่าจะให้กับข้าราชการนั้น รัฐบาลก็แสดงท่าทีว่าจะลด “สิทธิสวัสดิการต่างๆของข้าราชการลงจากเดิม” และบางอย่างก็ถูกลดลงแล้วด้วย เช่นสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัวก็ถูกกรมบัญชีกลางสั่งให้โรงพยาบาล “งดสั่งยาบางชนิด”
ให้ข้าราชาร เงินค่าเล่าเรียนบุตรก็เบิกไม่ได้ โดยรัฐบาลอ้างว่า ให้เรียนฟรีแล้ว แต่เมื่อโรงเรียนเรียกเก็บเงินจากนักเรียนเพิ่ม พ่อแม่ก็ต้องควักเงินจ่ายให้โรงเรียนไปตามการเรียกร้องของโรงเรียน (ไม่เช่นนั้นลูกก็จะถูกครูทวงตลอด) แต่ไม่สามารถเอาใบเสร็จนี้ไปเบิกคืนได้ รวมทั้งเงินบำเหน็จบำนาญก็ลดลง เพราะรัฐบาลบังคับให้ข้าราชการต้องสะสมเงินเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งไปลงทุนแต่กลับขาดทุน เงินที่สะสมก็ลดลงและบำนาญก็ลดลงจากอัตราเดิม

การที่คนยังสมัครเข้ารับราชการทั้งๆที่ได้รับเงินเดือนน้อย ก็เพราะหลงเชื่อคำสัญญา (ระเบียบและสิทธิประโยชน/สวัสดิการข้าราชการ) แต่พอเป็นข้าราชการแล้ว รัฐบาลก็จะเลิก/ลด จ่ายสวัสดิการข้าราชการไปเลย โดยไม่คำนึงถึงว่า เมื่อตอนที่ข้าราชการเข้ามาเริ่มต้นรับราชการนั้น มีระเบียบไว้ว่าอย่างไร ฉะนั้นถ้ารัฐบาล “ลดสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการลงไปจากเดิม” ก็น่าที่ข้าราชการทั้งหลาย ควรจะต้องนำคดีไปฟ้องศาลปกครองให้ช่วยพิจารณาตัดสินให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการด้วย โดยเฉพาะข้าราชการแก่ๆทั้งหลายที่ต้องพึ่งพาอาศัยสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเมื่ออายุมากขึ้น

ในประเทศไทยเรานี้ มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชานสูงมาก คือคนรวยกระจุกอยู่เพียงไม่กี่ตระกูล แต่คนจนกระจายไปทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก มีคนเพียง 20เปอร์เซ็นต์ที่มีทรัพย์สมบัติถึง 69 เปอร์เซ็นต์ทั้งประเทศ ในขณะที่ประชาชนจนสุดอีก 20 เปอร์เซ็นต์มีทรัพย์สมบัติรวมกันแค่ 1เปอร์เซ็นต์รายได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้มวลรวมของชาติ นักเศรษฐศาสตร์สรุปว่าเนื่องจากระบบภาษีที่ไม่เป็นธรรม(1) คือภาษีทั่วไปสูง (ภาษีสินค้าอุปโภคและบริโภค) ซึ่งคนจนต้องใช้รายได้ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดของตน ในการจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค จึงทำให้คนจน ยิ่งจนเท่าไรก็ยิ่งต้องจ่ายภาษีเหล่านี้ในอัตราส่วนรายได้มากกว่าคนรวย นับได้ว่าเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างหนึ่ง


สำหรับข้าราชการและลูกจ้างในกระทรวงสาธารณสุขนั้น ส่วนหนึ่งถูกบังคับมาเป็นข้าราชการ เพราะถูกบังคับให้ทำสัญญาว่าได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาล( ทั้งๆที่ไม่ได้รับทุนการศึกษาเลยตามความหมายของกพ. เพราะฉะนั้นเมื่อเรียนสำเร็จการศึกษา ก็ต้องไปเป็นข้าราการตามสัญญา(ที่ไม่เป็นธรรมนั้น)
แต่บางวิชาชีพเช่นพยาบาล กลับไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ต้องเป็นลูกจ้าง โดยได้รับเงินเดือนน้อยเหมือนข้าราชการแต่ไม่ได้รับสวัสดิการเหมือนข้าราชการเลย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า รัฐบาลที่บริหารประเทศมีความพยายามที่จะลดจำนวนข้าราการลง เพื่อประหยัดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล โดยที่ไม่ศึกษาวิเคราะห์ให้ถ่องแท้ว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขนั้น นับวันจะต้องเพิ่มมากขึ้น มิใช่จะต้องลดลง ทั้งนี้ก็เพราะว่า การแพทย์เจริญขึ้น สามารถตรวจรักษาและผลิตยารักษาโรคยากๆที่แต่ก่อนไม่สามารถรักษาได้ ทำให้คนป่วยหาย/ทุเลาจากการเจ็บป่วยและมีอายุยืนนานขึ้น ทำให้มีโรคเรื้อรังมากขึ้น ต้องการการรักษาต่อเนื่องยาวนานขึ้น จึงต้องการบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น ไม่ใช่ลดลง
และยาที่ผลิตใหม่ๆก็ย่อมมีราคาแพงขึ้น แต่รัฐบาลจะต้องการลดราคาค่าสวัสดิการข้าราชการ ก็คงจะเป็นความต้องการที่สวนกระแสกับความเป็นจริงซึ่งดำรงอยู่
ฉะนั้น ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่มีมากกว่าข้าราชการกระทรวงอื่นๆนั้น มิได้มากจนเกินไป แต่ยังมีจำนวนไม่เพียงพอกับภาระงานที่ต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรแพทย์ ที่มีภาระในการตรวจรักษาผู้ป่วยตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ทุกวันตลอดปี จนทำให้บุคลากรแพทย์ต้องทำงานราชการถึง 120 ชั่วโมงต่อ 1 สัปดาห์ นับเวลาทำงานเป็น 3 เท่าของข้าราชการอื่นๆ และเป็นมาอย่างยาวนานแล้ว และก็จะเป็นอีกต่อไปถ้ายังไม่ได้รับการแก้ไข(2)

บุคลากรด้านการพยาบาลนั้นก็มีไม่เพียงพอที่จะให้การพยาบาลผู้ป่วยอย่างเพียงพอ พยาบาล 1 คนมีภาระดูแลให้การพยาบาลผู้ป่วยครั้งละหลายสิบคน บุคลากรอื่นๆที่มีความสำคัญในการทำงานให้บริการประชาชนในด้านสุขภาพ ก็ต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันเช่นเดียวกัน แต่เมื่อแพทย์/บุคลากรทางการแพทย์/หรือพยาบาลเกษียณอายุราชการ กพ.กลับยุบตำแหน่งนั้นไปตามตัวผู้เกษียณ พยาบาลจบใหม่มีพันธะต้องทำงานชดใช้ทุน กลับไม่มีอัตราบรรจุให้เป็นข้าราชการ ต้องทำงานเหมือนกันกับข้าราชการพยาบาลอื่นๆ แต่มีตำแหน่งเป็นเพียงลูกจ้าง ได้เงินค่าจ้างเท่ากันแต่ไม่มีสวัสดิการใดๆเหมือนข้าราชการ จึงทำให้พยาบาลลาออกจากการเป็นลูกจ้าง และไปทำงานเอกชน หรือไปทำงานต่างประเทศมากขึ้น
หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขนั้น เป็นหน่วยงานที่ต้องจัดบริการสาธารณะด้านสุขภาพแก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ มีทั้งศูนย์สุขภาพชุมชน สถานีอนามัย และโรงพยาบาลระดับต้น ระดับกลางและระดับสูง เพื่อรับรักษาโรคทั่วไป โรคที่ต้องการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์รวมทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นกลางและชั้นสูง ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ตามลำดับ
จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขเองพบว่า ประชาชนไปใช้บริการสาธารณะนี้ปีละ 170 ล้านครั้ง แต่มีแพทย์ทำหน้าที่อยู่เพียง 8,000 คนเท่านั้น(3)
จึงเห็นได้อย่าชัดเจนว่า จำนวนแพทย์ขาดแคลน เป็นอย่างมาก จนทำให้แพทย์มีเวลาตรวจผู้ป่วยเพียงคนละ 2-4 นาที ในขณะที่แพทย์มีเวลาทำงานถึงสัปดาห์ละ 120ชั่วโมง(2)
แพทย์ที่ทนงานหนักเรื้อรังไม่ไหว ก็ลาออก ไปแสวงหาสิ่งที่ดีในชีวิตสำหรับตนเองและครอบครัว ส่วนแพทย์ที่เสียสละตัวเองทำงานบริการสาธารณะอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข นั้นก็คงขาดขวัญและกำลังใจที่จะทำงานต่อไป เพราะนอกจากงานหนัก และต้องรีบเร่งทำงานแล้ว แต่แพทย์ยังต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดหรือประชาชนไม่พึงพอใจ เพราะจะทำให้ตนเองถูกฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้อีก(4)

ฉะนั้น บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างในระดับใด ก็คงมีความหวังอย่างแรงกล้าที่จะให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มองเห็นสาเหตุแห่งปัญหาที่ทำให้บุคลากรในกระทรวงต้องทำงานหนัก เงินเดือนน้อย และมีความอึดอัดคับข้องใจ ในเรื่องค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม จนต้องเดินขบวนกันทั้งพยาบาล แพทย์ และลูกจ้างทั่วไป(5)
และอยากให้ผู้บริหารประเทศ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงและอธิบดีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรแพทย์ การขยายตำแหน่งข้าราชการให้เพียงพอต่อภาระงานในการให้บริการสาธารณะ และการพิจารณากำหนดตำแหน่งและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม แก่บุคลากรทุกระดับ เริ่มจากบุคลากรระดับคนงาน ไปจนถึงบุคลากรระดับเชี่ยวชาญทุกสาขาวิชาชีพ

สำหรับผู้เขียนเอง ก็อดทนทำงานในกระทรวงสาธารณสุขมาจนเกษียณอายุราชการ เหมือนกับข้าราชการส่วนใหญ่ และผู้เขียนได้เฝ้าสังเกตถึงอัตราเงินเดือนข้าราชการ เปรียบเทียบ กับค่าครองชีพของประชาชนในแต่ละยุค (ราคาข้าวแกง 1 จาน)
พบว่าในปีพ.ศ. 2502 ผู้ที่เรียนสำเร็จปริญญาตรี เมื่อเริ่มเข้ารับราชการครั้งแรก ได้รับเงินเดือน 900 บาท ราคาข้าวแกงจานละ 1.50 บาท เงินเดือน 1 เดือนจะซื้อข้าวแกงได้ 600 จาน
ในปีพ.ศ. 2512ข้าราชการที่เรียนจบปริญญาตรี จะได้เงินเดือนเริ่มต้น 1,150 บาท ข้าวแกงราคาจานละ 2 บาทจะเห็นได้ว่า เงินเดือนข้าราชการ 1 เดือนจะซื้อข้าวแกงได้ 500 จาน
ในปีพ.ศ. 2540 ข้าราชการที่จบปริญญาตรีจะได้เงินเดือนเริ่มต้น 3,600 บาทในขณะที่ข้าวแกงราคาจานละ 15 บาท เงินเดือนข้าราชการ 1 เดือนจะซื้อข้าวแกงได้ เพียง 240 จาน
ส่วนในปีพ.ศ. 2550เงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรี เริ่มเดือนละ 7,600 บาทข้าวแกงราคาจานละ 30 บาท เงินเดือนข้าราชการ 1 เดือนจะซื้อข้าวแกงได้ 253 จาน(6)

จะเห็นว่า เงินเดือนข้าราชการถ้าคิดตามอัตราค่าครองชีพขั้นต่ำ (คือเทียบกับราคาข้าวแกงในสำนักงาน ที่อาจจะมีราคาถูกกว่าหรือเท่ากับราคาในท้องตลาด) จะพบว่ายิ่งนับวันที่บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้นเท่าใด แต่เงินเดือนของข้าราชการเมื่อเทียบกับราคาค่าครองชีพพื้นฐาน (ค่าอาหารกลางวัน 1 จาน) จะมีอัตราลดลงจากเดิมไปเรื่อยๆ และนับวันจะทิ้งห่างอัตราค่าครองชีพออกไปทุกวัน ถ้าคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ชาวบ้าน( ไม่ใช่นักวิชาการเศรษฐศาสตร์)

แล้วทำไมคนเรายังยอมรับราชการล่ะ ในเมื่อเงินเดือนก็แทบจะไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องให้กินอิ่ม และมีบ้านพักอาศัย? เพราะในแต่ละเดือนก็ต้องกินข้าวอย่างน้อยวันละ 3 มื้อ และยังต้องซื้อเสื้อผ้า เช่าบ้าน (อาศัยพ่อแม่อยู่ไปก่อน) ค่ายานพาหนะ หรือบางทีก็ต้องอุดหนุนจุนเจือพ่อแม่ผู้มีพระคุณ
จนทำให้ข้าราชการต้องไปหางานเป็นลำไพ่พิเศษ เพื่อหาเงินมาจุนเจือตนเองและครอบครัว เช่นเป็นครูก็ต้องไปรับจ้างสอนพิเศษ เป็นหมอหรือพยาบาลก็ต้องไปเปิดคลินิกหรือไปรับจ้างทำงานในโรงพยาบาลเอกชน เป็นทหาร ตำรวจก็อาจไปทำงานรักษาความปลอดภัยเอกชน หรืออาชีพอื่นก็อาจจะไปขับรถรับจ้าง ทำสวน ค้าขาย ฯลฯ
คำตอบจากข้าราชการส่วนมากว่า ทำไมจึงสมัครเข้ารับราชการ ก็คงจะได้รับคำตอบจากข้าราชการส่วนใหญ่ว่า อาชีพข้าราชการนั้น มีความมั่นคง มีสวัสดิการ และมีเกียรติ (ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์) และเมื่อแก่ตัวลง ก็ยังได้รับเงินบำเหน็จบำนาญพอประทังชีวิต และได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลเมื่อสังขารเสื่อมโทรมและเจ็บป่วย
ถึงเวลาลาโลกไป ก็ยังจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทางเพลิงศพ
คือข้าราชการยอมทำงานเงินเดือนน้อย เพราะหวังว่าจะได้รับผลประโยชน์อย่างอื่นมาชดเชย

แต่บัดนี้ รัฐบาลกำลังมองเห็นว่า จำนวนข้าราชการ รวมทั้งเงินเดือนและเงินที่ต้องจ่ายเป็นสวัสดิการข้าราชการและ
ครอบครัวนั้น เป็นภาระเพิ่มขึ้นมากต่องบประมาณแผ่นดิน จึงทำให้รัฐบาลพยายามจะลดจำนวนข้าราชการลง โดยตัดอัตราเดิมเมื่อข้าราชการเกษียณอายุราชการ และมีความพยายามที่จะลดเงินสวัสดิการบำนาญ (ตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ) ลดเงินสวัสดิการการรักษาพยาบาล(7) ซึ่งจะทำให้ข้าราชการที่ได้เข้ามาทำ ราชการแล้วยอมรับเงินเดือนน้อย แต่พอแก่ตัวลง รัฐบาลก็จะปัดความรับผิดชอบ ไม่ให้เงินสวัสดิการต่างๆเหมือนเดิม ทั้งๆที่ไม่ใช่ความผิดของข้าราชการ
ฉะนั้น ความหวังของข้าราชการในปีใหม่นี้ ก็คงจะหวังว่า รัฐบาลจะไม่ลิดรอนสิทธิ์สวัสดิการข้าราชการลงไป ในขณะที่ข้าราชการส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่เป็นผู้มีความรับผิดชอบ ในหน้าที่ ทำงานผลักดันนโยบาย ต่างๆ ของรัฐบาลให้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ทำให้รัฐบาลมีผลงานไปสรุปอวดผลงานต่อประชาชน และมีความหวังว่า รัฐบาลจะปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราการชั้นผู้น้อย ให้ได้รับเงินเดือนให้เหมาะสมกับอัตราเงินเฟ้อ เพื่อให้ข้าราชการมีเงินเดือนพียงพอที่จะเลี้ยงปากท้องตนเองและครอบครัว ให้เหมือนคำพังเพยในสมัยโบราณที่ว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง”
เพี้ยง! ขอให้ความหวังในการได้รับสิ่งดีๆในชีวิตของประชาชนทุกหมู่เหล่า จงสัมฤทธิ์ผลในปี2553 นี้ด้วยเทอญ

เอกสารอ้างอิง
1.ผาสุกชี้มาตรการคลัง-ปชต.ถูกทิศแก้ปัญหาสังคมไทยได้
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 16:06
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/policy/20091106/85190/%E0%B8%9C%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87-%E0%B8%9B%E0%B8%8A%E0%B8%95.%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89.html
2.ฉันทนา ผดุงทศและคณะ. ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข. วารสารวิชาการสาธารณสุข 2550: 16 (4) ; 493-502
3.ข่าวสารการแพทย์.วารสารวงการแพทย์: 2552 : 11 (302) : 6
4.สถิติการฟ้องร้องแพทย์ แพทยสภา
5.หมอ-พยาบาลครึ่งพันบุกสธ.สัญญาค่าตอบแทนhttp://www.komchadluek.net/detail/20090701/19040/%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B6%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%98.%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B8%99.html
6.ข้อมูลจริง สอบถามจากผู้สำเร็จปริญญาตรีที่สมัครเข้ารับราชการในแต่ละปีพ.ศ.ที่อ้างถึง
7. ‘กรณ์'ถกนายกฯรื้อระบบสวัสดิการข้าราชการ
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/finance/20090903/74446/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%96%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%AF%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3.html

การรวมกองทุนสุขภาพ

การรวมกองทุนสุขภาพ

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแห่งประเทศไทย

ในรอบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนปลายปีนี้คงไม่มีข่าวอะไร ที่โด่งดังที่สุดเกี่ยวกับสิทธิการรักษาพยาบาลของ ประชาชน 3 กลุ่ม มากไป กว่าข่าวที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนายกรัฐมนตรี ออกมาให้ข่าวว่าข้าราชการใช้เงินในการรักษา พยาบาล มากขึ้นทุกปและใช้เงินมากกว่ากองทุนอื่นอีก2กองทุนคือ กองทุนปะกันสังคมและกองทุนหลัก ประกันสุขภาพแห่งชาติ (1,2)

มีข่าวว่าคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช)และสำนักวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส) ได้ประชุมร่วมกันเพื่อหา ข้อสรุปและผลดีผลเสียของการรวมกองทุนทั้ง 3 ระบบ(3)โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อาจารย์ อัมมาร์ สยามวาลา กรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ให้ความเห็นว่า “ผมไม่มีความเห็นรวมกองทุน แต่ถามว่า การให้สิทธิ์ แบบเสรีนิยมในการรับบริการในระบบสวัสดิการข้าราชการเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะความเหลื่อมล้ำของ สิทธิการรักษาของ ประชาชนทั้ง 3 กลุ่มมาจากสวัสดิการข้าราชการ และหากปล่อยไว้ จะทำให้ต้นทุนรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น”(3)ในฐานะที่ผู้เขียนเป็น ผู้หนึ่งที่ได้รับสิทธิ์สวัสดิการข้าราชการและยังทำงานเกี่ยวข้องกับการบริการทางการแพทย์ที่ให้บริการประชาชนทั้ง 3 กลุ่ม ขอแสดงความคิดเห็นเรื่องค่าใช้จ่ายของแต่ละกองทุน รวมทั้งความเหลื่อมล้ำหรือไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมของประชาชนทั้ง 3 กลุ่ม รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาประชาชนทั้ง 3 กลุ่มนี้ แตกต่างกันเนื่องจากสาเหตุอะไร
ถ้ามาดูว่า กองทุนทั้ง 3นี้แตกต่างและมีที่มาที่ไปอย่างไร ก็จะขอสรุปให้พอเข้าใจดังนี้

1.กองทุนสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัว ถือเป็นสวัสดิการกองทุนแรกในประเทศไทย กองทุนนี้ ได้รับงบประมาณมาจากกรมบัญชีกลาง เป็นกองทุนปลายเปิด คือตั้งงบประมาณไว้รอการเบิกจ่าย โดยข้าราชการ และครอบครัว (สามี/ภรรยา บุตร พ่อแม่) สามารถเบิกเงินจากกรมบัญชีกลางกลับคืนมาเต็มราคาที่ได้จ่ายไปในการรักษาพยาบาล รวมทั้งจ่ายค่าห้องพิเศษ(ถ้าต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล)
ในปัจจุบันนี้ ข้าราชการสามารถไปทำสัญญาจ่ายตรงกับโรงพยาบาลได้ โดยที่ข้าราชการสามารถไปใ้ช้ ้บริการตรวจรักษา ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงิน โดยทางโรงพยาบาลจะไปเรียกเก็บเงินจากกรมบัญชีกลางโดยตรง
แต่กองทุนสวัสดิการข้าราชการนี้ ไม่ได้ให้สิทธิครอบคลุมการตรวจสุขภาพและการป้องกันโรค ซึ่งถือเป็นข้อผิดพลาดของ “วิธีคิด” ในการดูแลรักษาสุขภาพ เพราะตรวจสุขภาพและการป้องกันโรค ย่อมมีราคาถูกกว่าการรักษาเมื่อเกิดโรคแล้ว

กองทุนสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการนี้ ถือเป็นแรงจูงใจอันหนึ่งที่ทำให้คนทั่วไปยอมสมัครเข้ารับราชการทั้งๆ ที่ให้เงินเดือนต่ำกว่าไปทำงานเอกชน(ในขณะที่มีคุณวุฒิเท่าเทียมกัน) และเป็นเหมือนข้อสัญญาที่ผู้จะเข้ามารับราชการได้รับรู้ว่า ตนเองจะได้รับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง จากรัฐบาล เมื่อเข้ารับราชการแล้ว

2.กองทุนประกันสังคม (4)มีที่มาตามพ.ร.บ. ประกันสังคมพ.ศ.2533 กองทุนนี้ตั้งขึ้นเพื่อ ให้สวัสดิการแก่ ลูกจ้างภาคเอกชนที่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือนๆละ 5 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน สมทบกับนายจ้าง ส่วนรัฐบาลจะช่วย สมทบเพียง 2.75เปอร์เซ็นต์ โดยลูกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งหมด 7 อย่าง ตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 รวมทั้งการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยทั้งที่เกิดจากการทำงานหรือไม่ก็ได้

ต่อมาได้มีพ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทนพ.ศ. 2537 โดยให้นายจ้างเป็นผู้ออกเงินสมทบเข้าสู่กองทุนนี้ เพื่อใช้ใน การรักษาพยาบาลลูกจ้างที่ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการงาน

จึงทำให้กองทุนประกันสังคมนั้นจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนในกรณีเจ็บป่วยที่ ไม่ใช่เกิดจากการเกี่ยวเนื่อง จากการทำงาน และสิทธิอื่นๆรวมทั้งหมด 7 อย่าง

แต่สิทธิในการดูแลสุขภาพจากกองทุนประกันสังคมนั้น มีข้อจำกัดมากมาย ในการเลือกสถานพยาบาลและการส่งผู้ป่วยไปยัง โรงพยาบาลอื่น เพื่อจะได้รับการรักษาในระดับสูง(ป่วยหนักและโรคซับซ้อน) รวมทั้งข้อจำกัดในการเข้ารับการรักษา ทั้งใน กรณีผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในได้อย่างละไม่เกินปีละ 2 ครั้ง เบิกค่าทำฟันได้ในวงเงินจำกัด ไม่มีสิทธิได้รับยาบางอย่างตาม ข้อกำหนดของคณะกรรมการแพทย์ ของสำนักงานประกันสังคม ถ้าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้ยาเหล่านั้นมารักษา ผู้ป่วยและญาต ิต้องจ่ายเงินเองเท่านั้น

กองทุนนี้ เป็นกองทุนระบบปลายปิด คือเหมาจ่ายรายหัวปีละ 1,900 บาทต่อคน ให้โรงพยาบาลรับเงินไปหมด แล้วรักษาผู้ประกันตน เมื่อเจ็บป่วยอันมิใช่เกิดจากการทำงาน และไม่รวมการตรวจสุขภาพ(เมื่อยังไม่ป่วย) หรือการป้องกันโรค เช่นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ
ฉะนั้นถึงแม้ ผู้ประกันตนจะต้องมีส่วนร่วมจ่ายเงินของตนเองด้วย แต่ก็มีสิทธิได้รับบริการด้านสุขภาพเฉพาะบางอย่างเท่านั้น ตามที่มีกำหนดไว้ใน “หลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์”กรณีประสบอันตรายและเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ของสำนักงานประกันสังคม(5)

3. กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนนี้จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545(6) เป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นมาหลังจากมีกองทุนทั้ง2 ที่กล่าวมาแล้ว กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ มีแนวคิดว่า จะให้ประชาชนที่ ยังไม่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลจากกองทุนอื่นๆ สามารถมี “หลักประกัน” ในการที่จะได้รับการดูแลรักษาสุขภาพอย่างครบวงจร คือเริ่มตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจสุขภาพก่อนเจ็บป่วย การตรวจรักษาเมื่อเจ็บป่วย และการฟื้นฟู สุขภาพหลังการเจ็บป่วย

โดยกองทุนนี้ได้รับเงินงบประมาณค่ารักษาประชาชนเป็นเงินเหมาจ่ายรายหัวเริ่มต้นคนละ 1,200 บาทต่อคนต่อปี โดยให้ประชาชนร่วมจ่ายสมทบครั้งละ 30 บาทต่อครั้งในการไปรับการรักษาพยาบาล โดยให้ความคุ้มครองประชาชน 47 ล้านคน โดยมีประชาชนประมาณ 20 ล้านคนที่ยากจน ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ(ได้ฟรีหมด) โดยรัฐบาลจ่ายเงิน งบประมาณให้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช)ที่จะเป็นผู้จ่ายเงินเหมาจ่ายรายหัวนี้ให้แก่โรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญากับสปสช. โดยรัฐบาลและสปสช.ได้มีการประชาสัมพันธ์ว่า 30 บาทรักษาทุกโรค และในระยะหลังก็เรียกสั้นๆว่า “30บาท” และประชาชนได้รับแจกบัตรทองแสดงว่ามีสิทธิในกองทุนนี้ ฉะนั้นบางทีก็จะเรียกประชาชนกลุ่มนี้ว่า กลุ่มบัตรทอง

ถึงแม้ว่าต่อมาในยุคหลังการปฏิรูปการปกครอง นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะยกเลิกการจ่ายเงินสมทบของประชาชนครั้งละ 30 บาท ก็ยังมีการเรียกว่าเป็นโครงการ 30 บาทตามเดิม

แต่การเลิกเก็บเงินครั้งละ 30บาท นี้เอง ส่งผลให้ประชาชนกลุ่มที่มีสิทธิในกองทุนนี้ เป็นผู้ได้รับ “อภิสิทธิ์” เหนือประชาชนกลุ่มอื่นๆที่ใช้สิทธิ์สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ และสิทธิของผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม กล่าวคือ ไม่ต้องมีหน้าที่ร่วมรับผิดชอบจ่ายเงิน หรือดูแลรักษาสุขภาพของตนเองเลยแต่มีสิทธิในการได้รับบริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจร (6)ดังกล่าวแล้ว โดยประชาชนกลุ่มนี้ สามารถไปรับบริการทางการแพทย์ได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งทั้งผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในและ ประชาชนบัตรทองนี้ยังมีสิทธิเหนือประชาชนในกลุ่มอื่นอีกอย่างหนึ่งก็คือเมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลแล้วและเกิดผลร้ายหรือไม่พึงพอใจ ก็สามารถที่จะไปร้องเรียนขอเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ครั้งละไม่เกิน 200,000 บาท ตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุข ภาพฯ และเมื่อได้รับเงินช่วยเหลือแล้ว ก็ยังไม่ได้จำกัดสิทธิในการนำเรื่องไปฟ้องศาลอีก
สรุปแล้ว ประชาชนในกลุ่มบัตรทองทั้งหมด 47 ล้านคน ทั้งคนยากจน และไม่ยากจนต่างก็ได้รับสิทธิในการรักษา พยาบาลอย่างครบวงจร ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่ต้องจ่ายเงินสมทบใดๆ รักษาได้ทุกโรคตามที่กำหนดไว้ ในพ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 เป็นประชาชนที่มีสิทธิในการรับบริการด้านสุขภาพมากกว่าประชาชน ที่ใช้สิทธิ ิประกันสังคมและสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ และยังได้รับสิทธิในการได้รับค่าชดเชยเบื้องต้นจาก “ผลเสียหายจากการรักษาด้วย”

แต่การจัดสรรงบประมาณค่ารักษาประชาชนบัตรทองในแบบเหมาจ่ายรายหัวในระบบ 30บาทนี้ เป็นงบประมาณที่ขาดดุล เนื่องจากไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และยังต้องหักส่วนหนึ่งเป็นเงินเดือนข้าราชการอีกด้วย จึงส่งผลให้ โรงพยาบาลที่ ต้องรับรักษาประชาชนในระบบบัตรทอง ซึ่งส่วนมากคือโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขต้องประสบปัญหา การขาดสภาพ คล่องทางการเงิน(7) ต้องเอาเงินเก่าเก็บมาใช้จ่ายเพื่อจะยังสามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ และในปีพ.ศ. 2547 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกระเบียบใหม่ในการปรับขึ้นราคาค่าบริการทางการแพทย์ทุกประเภท เพื่อที่จะ “เพิ่มรายได้ของโรงพยาบาล”(8,9)เพื่อที่โรงพยาบาลจะยังมีรายได้เพียงพอในการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนทั่วไป

แต่ “เงินค่าบริการ” ที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้ โรงพยาบาลจะเรียกเก็บเอาจากที่ไหนได้ ในเมื่อกองทุนหลักประกันสุขภาพ ก็ไม่จ่ายเงินให้โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นตามอัตราที่รัฐบาลจ่ายมาให้ แต่สปสช.กลับมาบริหาร “เงิน”เหมาจ่ายรายหัวเอง ทำให้โรงพยาบาลได้รับเงินไม่คุ้มค่าใช้จ่ายในการให้บริหารประชาชนจริงๆ ทั้งๆที่ได้รับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นทุกปี(10)
ิิ ฉะนั้นอัตราค่าบริการของโรงพยาบาลที่ปรับขึ้นราคานี้ ก็จะเก็บได้จากกองทุนประกันสังคมและเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ของข้าราชการ จนทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึง 2 คน คือนายสมภพ สุสังกร์กาญจน์ และนายกรณ์ จาติกวณิช ได้ออกมาโวยวายว่าข้าราชการใช้เงินค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาลกว่ากองทุนอื่นๆ( 2,11)

อนึ่งการขึ้นราคาค่าบริการของกระทรวงสาธารณสุขนี้ ขึ้นราคาจากเดิมหลายเท่าตัว เพราะเมื่อก่อนที่จะมีกองทุนหลักประ กันสุขภาพ การให้บริการของโรงพยาบาลของรัฐ ถือว่าเป็นบริการสาธารณะที่รัฐบาลจะจัดให้ประชาชนในราคาถูก ถือว่าเป็น สวัสดิการที่รัฐบาลให้แก่ประชาชน แต่เมื่อประชาชนได้รับสวัสดิการผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว กองทุนฯควรจะต้อง จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของประชาชนให้แก่โรงพยาบาลตามต้นทุนค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลแต่เมื่อกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่ง
ชาติจ่ายเงินให้โรงพยาบาลต่ำกว่าราคาต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำงาน โรงพยาบาล( โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลของกระทรวง สาธารณสุข) ก็ต้องแก้ปัญหา “การขาดดุลรายรับและรายจ่าย”ของโรงพยาบาลโดยการปรับขึ้นราคาค่าบริการทุกชนิดและค่ายา ไม่เช่นนั้นโรงพยาบาลก็คงไม่มีเงินทุนมาให้บริการประชาชน หรือไม่มีเงินพอในการบริหารงาน และพัฒนาวิชาการรวมทั้งเทคโนโลย ีทางการแพทย์ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในทุกๆด้าน ดังจะเห็นได้จากการที่มีโรคอุบัติใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคเอดส์ ไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู ซึ่งต้องการใช้ยาที่พัฒนาใหม่ จึงทำให้ต้นทุนค่ายามีราคาแพงตามไปด้วย

นอกจากโรคใหม่ๆแล้ว โรคเก่าที่เคยเป็นปัญหาเรื้อรังไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือด แดงแข็งตัวอันจะนำไปสู่การเป็นอัมพฤกษ์/อัมพาต มะเร็งในอวัยวะต่างๆ ก็มีค่าใช้จ่ายในการรักษาแพงขึ้น เนื่องจากมีการผลิต และพัฒนายาใหม่ๆเพิ่มขึ้นมากมาย ทำให้ค่ายาแพงขึ้นมาก และเมื่อมียาที่มีสรรพคุณดีขึ้น ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยให้มีชีวิต ยืนยาวมากขึ้น ค่ารักษาพยาบาลและค่าบริการที่ผู้ป่วยต้องจ่ายก็ย่อมต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และไม่ต้องสงสัยว่า ค่ายาและ บริการต่างๆที่โรงพยาบาลของกระทรวงสธารณสุขปรับราคาเพิ่มขึ้นนี้ ต้องไปเก็บจากสวัสดิการข้าราชการ มากขึ้นเป็นเงาตามตัว อีกเช่นกัน เพราะเป็นกองทุนปลายเปิดและเงินที่เก็บได้จากสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการนี้ ก็ไปช่วยลดการขาดทุน ในการรักษาประชาชนบัตรทอง

เหมือนกับว่าโรงพยาบาลได้เงินค่ารักษาประชาชนบัตรทองไม่คุ้มทุน โรงพยาบาลก็ต้องไปหา “กำไร” มาจากกองทุนสวัสดิการ รักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อมาทำให้งบประมาณของโรงพยาบาลสมดุล
อนึ่งข้าราชการและครอบครัวยังมีสิทธิที่จะเข้านอนพักรักษาตัวในห้องพิเศษได้อีกด้วย ค่าห้องพิเศษของโรงพยาบาลของ กระทรวงสาธารณสุขก็เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว (และค่าห้องพิเศษนี้ เป็นรายได้ที่โรงพยาบาลเอามา เฉลี่ยใช้กับผู้ป่วยในโครงการ อื่นที่ได้รับงบประมาณขาดดุล)

จะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลของรัฐบาล พยายามที่จะหาเงินบริจาคมาสร้างตึกพิเศษเพื่อเป็นแหล่งเพิ่มพูน รายได้ของโรงพยาบาล ที่สำคัญอีกทางหนึ่งและค่าบริการต่างๆของโรงพยาบาลเหล่านี้ ก็สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้อีก ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการ บริหารโรงพยาบาลรวมทั้งโรงพยาบาลยังคิดค่าดำเนินการของโรงพยาบาลทุกอย่างที่เมื่อก่อนอาจจะไม่เคยคิดราคาเลย เช่นค่าทำบัตร ค่าธรรมเนียมวิชาชีพ ค่าบริการทันตกรรม ค่าบริการวิสัญญี ค่าบริการศัลยกรรมฯลฯ คือคิดราคาทุกรายการเหมือนกับ โรงพยาบาล เอกชน

การขึ้นราคาค่าบริการของโรงพยาบาลจึงเป็นสาเหตุให้งบประมาณสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการเพิ่มสูงขึ้นจนเห็น ได้ อย่างเด่นชัด ทำให้รัฐบาลโดยกรมบัญชีกลางมองเห็นว่า ข้าราชการและครอบครัวจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลแพงเกินประชาชน ในกองทุนอื่นๆ แต่ที่จริงแล้ว โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขทำตัวเหมือโรบินฮู้ด คือเอางบประมาณสวัสดิการรักษาพยาบาล ข้าราชการ(ไม่จำกัดค่าใช้จ่าย) มาช่วยลบการขาดทุนในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เหมือนโรบินฮุ้ด ที่ปล้นคนรวย ไปช่วยคนจน

ฉะนั้น ผู้เขียนจะขอสรุปสั้นๆว่า ค่ารักษาของข้าราชการเพิ่มมากขึ้นเพราะสาเหตุดังต่อไปนี้คือ

1.กระทรวงสาธารณสุขปรับขึ้นราคาค่าบริการของโรงพยาบาลทุกประเภท

2. เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้แพทย์สามารถใช้เทคโนโลยี ใหม่ๆที่มีราคาแพง ได้มากขึ้น เพื่อการตรวจรักษาโรคที่ครบถ้วนเหมาะสม เพื่อช่วยให้ประชาชนปลอดภัย เช่นสามารถทำ CT scan MRI ultrasoud mammogram และการตรวจพิเศษอื่นๆอีกมากมาย เช่นการส่องกล้องเพื่อตรวจอวัยวะภายใน รวมทั้งเทคโนโลยีใน การรักษาและผ่าตัดที่พัฒนามากขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่การทำศัลยกรรมโดยการใช้เลเซอร์และใช้กล้อง การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ต่างๆ รวมทั้งการรักษาโรคไตวายด้วยการล้างไต เพื่อรอคอยการเปลี่ยนไต เป็นต้น จึงทำให้ค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาผู้ป่วยสูง มากขึ้น
3. การพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์รวมทั้งยาและเวชภัณฑ์อื่นๆ รวมทั้งการผลิตอวัยวะเทียม ทำให้ต้นทุนค่ารักษาแพงขึ้น ถึงแม้จะมีการไปทำ CL ยามาเพื่อไปซื้อยาเลียนแบบมาบังคับใช้ให้แต่ละกองทุนต้องใช้ยาเหล่านั้น แต่ยาเหล่านั้นก็ยังมีราคา แพงพอๆกับยาต้นแบบ
นอกจากนั้น การที่กระทรวงสาธารณสุขบังคับให้โรงพยาบาลต้องสั่งยาจากองค์การเภสัชกรรม ที่ไม่ได้ผลิตยาเองทุกชนิด ทำให้โรงพยาบาลต้องซื้อยาราคาแพง เพราะต้องซื้อผ่านคนกลาง(องค์การเภสัช)อีกต่อหนึ่ง ทำให้ราคายาของโรงพยาบาลต้อง เพิ่มขึ้นอีกโดยไม่จำเป็น
4. เมื่อเทคโนโลยี เครื่องมือ เวชภัณฑ์ ดีขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ย่อมสามารถให้การรักษาพยาบาลดีขึ้นมาก ทำให้ สามารถรักษาชีวิตประชาชนให้ยืนยาวขึ้น เป็นภาวการณ์เจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องการการรักษาอย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น เป็นผลให้มี ีผู้สูงอายุมากขึ้น และผู้สูงอายุจะมีการเจ็บป่วยตามการเสื่อมของสังขาร จึงทำให้มีจำนวนประชาชน ไปใช้บริการทางการแพทย์ ์มากขึ้นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกองทุนใด จึงทำให้ค่ารักษาพยาบาลของประชาชนแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว

5. โรงพยาบาลไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าบริการรักษาพยาบาลเพิ่มจากกองทุนหลักประกันสุขภาพและกองทุนประกันสังคม (ที่อาจจะมีคนชราน้อยกว่ากองทุนอื่นเพราะเป็นผู้อยู่ในวัยทำงาน) แต่โรงพยาบาลก็ต้องให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเหล่านั้น ตามจริยธรรมวิชาชีพ ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนจากการรักษาผู้ป่วยเหล่านั้น

แต่โรงพยาบาลสามารถเรียกเก็บเงินเพิ่มได้จากประชาชนที่จ่ายเงินเองและกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ จึงเป็นการแสดงผลค่าใช้จ่ายที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่ดำรงอยู่
6. จากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้น ทำให้ผู้ควบคุมการใช้จ่ายเงินงบประมาณคือนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี มีความเข้าใจสาเหตุของปัญหาค่าใช้จ่ายกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการผิดไปจากสาเหตุที่แท้จริง

จึงคิดแก้ไขปัญหาไม่ตรงตามสาเหตุที่แท้จริง แต่พยายามจะมา “ตัดรอนสิทธิประโยชน์ของข้าราชการ” และเริ่มทำแล้ว เช่น ห้ามใช้ยาบางตัว หรือห้ามครอบครัวข้าราชการที่ทำงานเป็นลูกจ้างมาใช้สิทธิ์ครอบครัวข้าราชการด้วย(8)

การที่มีการกล่าวอ้างว่า ข้าราชการทุจริตเบิกยาไปขาย หรือแพทย์สั่งยาพิเศษหรือมากเกินไปนั้น ก็ควรไปดูแลแก้ไข ให้ตรงประเด็นของสาเหตุนั้นๆ
นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงสาธารณสุข ควรไปปรึกษาผู้รู้ให้ครบทุกด้าน ว่าปัญหาค่าใช้จ่ายในกองทุนสุขภาพใด ที่เป็นต้นเหตุแห่งค่าใช้จ่ายที่ตกเป็นภาระของโรงพยาบาล ก็ควรไปแก้ที่ตรงนั้น ไม่ใช่คลำไปทีละจุดเหมือนตาบอดคลำช้าง ต้องหาสาเหตุแห่งปัญหาในภาพรวมทั้งหมด แล้วจึงมาหาวิธีแก้ปัญหาให้ตรงจุด คือ “ดับที่สาเหตุแห่งปัญหา” จึงจะทำให้ปัญหาหมดไป เพื่อจะสามารถแก้ปัญหาในสิทธิด้านการรับบริการสุขภาพของประชาชนทุกคน ให้ได้รับความเสมอภาค และเป็นธรรม เช่นเดียวกัน
ถ้านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งสองกระทรวงไม่เชื่อว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพ(30 บาท) ให้เงินโรงพยาบาลไม่คุ้มทุน ก็โปรดสังเกตว่าโรงพยาบาลรัฐบาลหลายๆแห่งนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะทยอยเลิกรับรักษาประชาชน 30 บาท แม้แต่โรงพยาบาลเอกชนที่ได้เงินเหมาจ่ายรายหัว 30บาทเต็มราคา (ไม่ถูกหักเป็นเงินเดือนบุคลากรเหมือนโรงพยาบาล กระทรวงสธ.) ก็ยังไม่อยากรับผู้ป่วย 3 0 บาท
แต่ทำไมทั้งโรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชน ต่างก็อยากรับผู้ป่วยประกันตน ทั้งนี้ก็เพราะว่าค่าเหมาจ่ายราหัวของผู้ประกันตนนั้น ส่งให้โรงพยาบาลครบถ้วน ไม่ต้องถูกหักกันไว้ส่วนกลางเหมือนงบ 30 บาท และกลุ่มผู้ประกันตนอยู่ในวัยที่ไม่ป่วย บ่อยๆเพราะ ยังอยู่ในวัยฉกรรจ์(ทำงานอยู่) รวมทั้งมีข้อจำกัดมากมายในการรักษาพยาบาลผู้ประกันตน ทำให้โรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ประ กันตน ยังมีรายได้พอ “คุ้มทุน” หรือมีกำไรจากการรับรักษาผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคม

ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอเสนอให้นายกรัฐมนตรี แก้ปัญหา ความไม่เสมอภาค ไม่เป็นธรรม สำหรับประชาชนโดยการปฏิรูประบบ การบริการทางการ แพทย์แบบ “การแพทย์พอเพียง”(12) ตามปรัชญาและแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว เพื่อให้ประชาชนทุกคน มีสิทธิในการรับบริการด้านสุขภาพที่เสมอภาค เท่าเทียม เป็นธรรม ตามมาตรฐานทางการแพทย์ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อให้งบประมาณด้านการดูแลสุขภาพที่มาจากเงินภาษีของประชาชน ได้มีเพียงพอครอบคลุมประชาชนทุกหมู่เหล่า ทำให้โรงพยาบาลต่างๆสามารถให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนอย่าง มีประสิทธิ ภาพ ตามมาตรฐานการแพทย์ที่ดี ไม่ฟุ่มเฟือย แต่ก็ไม่ขาดแคลน รวมทั้งยังไม่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาวิชาการและ เทคโนโลยีทางการแพทย์ด้วย
และสิ่งที่สำคัญที่สุด โรงพยาบาลไม่ต้องแอบเอาเงินกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ไปแก้ปัญหาการขาดทุนจากกองทุน 30 บาทดังกล่าวแล้ว




เอกสารอ้างอิง

1. ---อดุลย์ วิริยเวชกุล, ช่องว่างด้านการได้รับบริการด้านสุขภาพของประชาชนไทยกลุ่มต่างๆ. บทบรรณาธิการวารสารวงการแพทย์ 2552; 11(.301) : 1

--- http://www.thaiclinic.com/doctorroom/ ความเห็นที่15 เรื่อง ระบบบริการด้านสุขภาพ 3 ระบบในประเทศไทย

2. ‘กรณ์'ถกนายกฯรื้อระบบสวัสดิการข้าราชการ

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/finance/20090903/74446/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%96%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%AF%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3.html



3. ดีเดย์ปีใหม่คุมค่ารักษาขรก. แนะปรับ 3 กองทุนสุขภาพ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 11 ธันวาคม 2552 : 14
4. เชิดชู อริยศรีวัฒนา. การประกันสุขภาพและการประกันสังคม.วารสารวงการแพทย์ : 2552 ; 11 (294) : 30-31
5. “หลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์”กรณีประสบอันตรายและเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ของสำนักงานประกันสังคม
6. พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545