2553-01-03

จากกล่องทิชชู่ สู่คอรัปชั่นในวงการแพทย์

แพทย์กับธุรกิจยา
ประเด็นนี้น่าสนใจ ขออนุญาตคัดลอกเรื่องนี้ลงในวารสารคลินิกเดือน มี.ค 2552 มาเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น

จากกล่องทิชชู่ สู่คอรัปชั่นในวงการแพทย์บทความนี้นำมาจากเรื่องจริง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาแพทย์และแพทย์จบใหม่ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองรวมทั้งวงการแพทย์
ความเห็นและเหตุการณ์ในบทความนี้มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อตำหนิติติงผู้ใด องค์กรใด หรือ พาดพิงถึงผู้ใดให้เกิดความเสียหาย “คุณหมอคะ รับตัวอย่างยาและของฝากด้วยค่ะ” เป็นคำพูดที่ชินหู เมื่อเดินผ่านบู๊ทของบริษัทยาที่จัดในโรงเรียนแพทย์ ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 4 เพื่อนหลายคนเดินผ่านวนไปหลายรอบเพื่อรับปากกาและกล่องทิชชู่ฟรีก่อนจะเดินกลับหอพักนักศึกษาแพทย์ “เฮ้ยทำไมไม่ไปเดินช๊อปปิ้งล่ะ ได้ของฟรีเยอะแยะเลยนะ”เพื่อนถามด้วยความหวังดี “ยาตัวอย่างเยอะแบบนี้ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร”ผมตอบเพื่อให้ผ่านๆไป “อ้าว ก็เอายาไปแจกญาติๆที่บ้านก็ได้นี่” เพื่อนของผมตอบพร้อมสีหน้าที่ดูมีความสุขที่ได้ของฟรี ไม่ว่าจะได้ใช้หรือไม่ก็ตาม คงเป็นวัฒนธรรมของคนบนโลกนี้ ที่ได้อะไรฟรีก็เป็นสิ่งที่ดีเสมอ แต่คงยังตอบไม่ได้หรอกว่า gimmick เหล่านี้เป็นของฟรีจริงหรือไม่
จริงๆแล้วครอบครัวของผมอยู่ในวงการยา พ่อเคยเป็นเซลล์ขายยา จนมาเป็นเจ้าของร้านขายยา พ่อเคยเล่าให้ฟังว่าเซลล์เขาจะรู้กันหมดว่าไปเสนอขายยาที่ไหน มีหมอคนไหนเรียกเปอร์เซ็นต์ หมอคนไหนไม่เรียกเปอร์เซ็นต์ เพื่อจะได้คุยกับหมอได้ถูกว่าจะให้เปอร์เซนต์เท่าไหร่ แต่สมัยนั้นบริษัทของพ่อไม่มีนโยบายให้เปอร์เซ็นต์ ให้ได้แต่ยาตัวอย่าง ซึ่งหมอก็มักจะเอาไปใช้ที่คลินิกส่วนตัว ในสมัยนั้นเป็นเรื่องปกติ
การรับของแจกจากบริษัทยาน่าจะเป็นเรื่องปกติสำหรับผม แต่เป็นเพราะหนังสือ 2 เล่มที่ชื่อว่า “รักษาโรคหรือรักษาคน” และ “สาธารณสุขหรือสาธารณทุกข์” ของอาจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี อ่านแล้วทำให้รู้ว่า ถ้าเราจำและสั่งแต่ชื่อยา ด้วยชื่อการค้า ( trade name) จะทำให้คนไข้เสียเงินมากกว่าการสั่งชื่อยาด้วยชื่อสามัญ (generic name) ทำให้ตอนเรียนpharmaco ในปีที่ 3 ผมต้องพยายามจำชื่อสามัญให้มากที่สุด และตอนผมไปดูงานที่โรงพยาบาลชุมชนก็จะพยายามอ่านและจำชื่อสามัญด้วย เช่นกัน จนเป็นความเคยชินว่าต้องๆไม่ใช่ชื่อการค้าเด็ดขาด
และอีกอย่างที่ปลูกฝังให้ผมไม่ชอบรับของจากบริษัทยา เพราะอาจารย์สุทธิพงศ์ ลิมปิสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาในขณะนั้น ได้สั่งไม่ให้นักศึกษาแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีรับสปอนเซอร์จากบริษัทยาเด็ดขาด โดยอาจารย์บอกว่าทุกๆบาทที่บริษัทยาให้สปอนเซอร์ เขาจะเพิ่มราคายา ซึ่งจะมีผลต่อคนยากจนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ในชนบท รวมทั้งไม่ให้ขอสปอนเซอร์จากบริษัทที่ผลิตสินค้าที่จำเป็น ให้ขอสปอนเซอร์ได้เฉพาะจากบริษัทที่ผลิตสินค้าฟุ่มเฟือยเช่นน้ำอัดลม เพจเจอร์ เท่านั้น แม้เพื่อนบางคนจะไม่ชอบ แต่ตอนนี้เมื่อมานึกถึงอีกครั้ง ก็ต้องขอบคุณที่อาจารย์ปลูกฝังค่านิยมดีๆแบบนี้ให้กับนักศึกษาแพทย์อย่างผม
แม้ว่าในภายหลังการที่แพทย์สั่งยาในชื่อการค้าจะไม่มีผลต่อการสั่งซื้อยาราคาแพงจากบริษัทต้นตำรับในต่างประเทศ(Original)แล้วก็ตาม เนื่องจากโรงพยาบาลหลายแห่งได้ปรับระบบที่ห้องจ่ายยา โดยไม่ว่าแพทย์จะสั่งยาในชื่อใด ก็ให้จ่ายยาที่เป็นผลิตในประเทศ (Local made) แต่บริษัทยาก็คงยังไม่ยอมแพ้ ยังพยายามขายยาต่อให้ได้ โดยมีกลยุทธอันดุเดือด ที่ผมได้รับทราบจากเพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งยังคงจำได้ไม่ลืมเลือนจนทุกวันนี้
หลังจากที่ทำงานเป็นแพทย์ใช้ทุนนาน 4 ปี เพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งผมขอเรียกว่า ชัย (นามสมมุติ) ได้รับทุนไปเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทางในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง ชัยเล่าให้ฟังว่า ในวันปฐมนิเทศแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 มีหลายเรื่องที่พี่ๆแพทย์ประจำบ้านปีที่ 3 เล่าให้ฟังถึงการเตรียมตัวในการเรียน แต่มีเรื่องหนึ่งซึ่งเขารู้สึกแปลกใจ เพราะแพทย์รุ่นพี่สั่งว่า “เนื่องจากพวกเราจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอาหารว่างในช่วงประชุมวิชาการตอนเช้า เช่นข้าวต้ม ข้าวผัด ขนมจีบ ซาลาเปา จากบริษัทยา เพราะพวกเราคงกินข้าวเช้าไม่ทันแน่ ซึ่งบริษัทยาได้แจ้งว่าถ้าจะให้บริษัทสนับสนุนจำเป็นต้องมีการสั่งซื้อยาให้ได้ตามโควตาจำนวนหนึ่งต่อเดือน ซึ่งพวกเราจำเป็นต้องสั่งยาปฎิชีวนะตัวนี้ในชื่อการค้า ให้แก่คนไข้ที่เข้ารับการรักษา โดยตามระเบียบของโรงพยาบาล ถ้าพวกเราสั่งยาในชื่อการค้านั้น ห้องยาจะจ่ายยาให้เป็นยาตามชื่อสามัญที่ผลิตในประเทศ ถ้าพวกเราต้องการให้ได้ยาจากบริษัทต้นตำรับ ต้องมีการขีดเส้นใต้ที่ชื่อการค้านั้นด้วย ขอให้น้องๆทุกคนช่วยกันขีดเส้นใต้ในชื่อยาตัวนี้ด้วย” ชัยฟังเรื่องนี้ด้วยความงุนงง ปนตกใจ ว่าการเรียนแพทย์เฉพาะทางนั้นต้องทำอย่างนี้ด้วยหรือ พร้อมทั้งคิดในใจว่า “อาจารย์รับทราบด้วยหรือไม่เนี้ย” ชัยกังวลกับเรื่องนี้จนบ่นให้เพื่อนที่ไปเรียนด้วยกันฟัง เพื่อนก็ปลอบว่า “ก็ทำอย่างไรได้ พวกเราเป็นหมอต้องตื่นมาแต่เช้า มาราวน์วอร์ด ประชุมวิชาการ เอาเวลาที่ไหนไปกินข้าวล่ะ เราก็ต้องได้รับการดูแลบ้าง ไม่อย่างนั้นเราก็เป็นโรคกระเพาะสิ เป็นเรื่องปกติ ที่ไหนเขาก็ทำกัน” ชัยกังวลอยู่มาก ด้วยความที่เขาไม่เคย และถูกสั่งสอนมาให้ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องที่สุ่มเสี่ยงกับจริยธรรมแบบนี้
จนถึงวันจริงที่เขาต้องไปทำงานในวอร์ด ชัยเล่าให้ฟังว่า พี่แพทย์ประจำบ้านปีที่ 3 กำชับให้เขาสั่งยาปฏิชีวนะตัวหนึ่ง ซึ่งตามที่เขาเรียนมา ไม่เห็นว่าต้องสั่งยาปฏิชีวนะที่แรงแบบนี้ แต่เมื่อพี่สั่งเขาก็เขียนตาม แต่เขาก็ไม่เขียนเส้นใต้ชื่อยานั้น จนเมื่อพี่แพทย์ประจำบ้านเห็นจึงเตือนว่า “ทำไมไม่ขีดเส้นใต้ล่ะ จำไม่ได้หรือที่บอกไว้น่ะ” ผมยังจำคำพูดที่ชัยเล่าให้ผมฟังหลังจากเหตุการณ์นั้น ชัยเล่าว่า “เมื่อมองหน้ายายที่ป่วยอยู่เตียงนั้น ผมรู้ว่ายายคงมีฐานะไม่ดีนัก ค่ายาเข็มละ 100 กว่าบาท ฉีดวันละ 4 ครั้ง นาน 7 วัน ทั้งหมดคงหลายพันบาท ยายจะมีเงินจ่ายหรือไม่นะ ตอนที่ผมขีดปากกาใต้ชื่อยานั้นรู้สึกเหมือนผมกำลังเอามีดมากรีดเข้าไปกลางหัวใจของผมเลยทีเดียว”
ชัยเล่าต่อว่า เคยบ่นให้เพื่อนซึ่งเข้าไปเรียนก่อนหน้าเขาจนกลายเป็นแพทย์รุ่นพี่ฟังขณะที่นั่งอยู่ในห้องพักแพทย์ เพื่อนกลับบอกว่า “ถ้าเอ็งทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องเข้ามาห้องพักแพทย์เลย เพราะในห้องพักแพทย์นี้ นอกจากเพดานกับผนังแล้ว ทุกอย่างในห้องนี้เป็นของบริษัทยาหมด”
ชัยบอกผมว่า “สิ่งที่เขากลัวที่สุดคือ ถ้าวันหนึ่งขณะที่เขาขีดปากกาลงไปใต้ชื่อยานั้น แล้วเขาไม่รู้สึกเจ็บปวดดังเดิมล่ะ เขาจะทำอย่างไร”
ผมฟังชัยเล่า แล้วผมก็รู้สึก เจ็บปวดหัวใจไม่แพ้กัน แพทย์เราจำเป็นต้องทำเช่นนั้นจริงหรือ เราไม่มีทางเลือกอื่นหรือ เราเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตามหรือ ผมได้แต่ตั้งคำถามในใจ พร้อมปลอบใจชัยว่า เราต้องไม่ยอมแพ้ เราต้องไม่ยอมให้วงการแพทย์เราเป็นอย่างนั้น นายอยู่ที่นั่น นายทำอะไรไม่ได้ แต่ผมทำได้ และผมจะทำให้ดูแม้ว่าผมจะกำลังเรียนเป็นแพทย์ประจำบ้านสาขาระบาดวิทยาที่สำนักระบาดวิทยากระทรวงสาธารณสุข ผมก็หาเวลาบางช่วงที่ว่าง ไปยังโรงเรียนแพทย์แห่งนั้น และเดินไปที่ห้องคณบดี ทั้งที่ผมไม่ได้รู้จักท่าน และท่านก็ไม่รู้จักผม รออยู่นานพอดู แต่อาจารย์คณบดีก็ยอมให้ผมเข้าพบ ผมเล่าเรื่องนี้ให้ท่านฟัง พร้อมกับบอกว่าผมอยากให้ท่านแก้ปัญหา เพราะไม่อยากให้โรงเรียนแพทย์แห่งนี้ขึ้นชื่อว่าทำสิ่งที่ขัดต่อจรรยาบรรณในวิชาชีพแพทย์หลังจากนั้นไม่นาน ชัยก็เล่าให้ผมฟังว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในภาควิชานั้น อาจารย์ได้เรียกแพทย์ประจำบ้านปีที่ 3 เข้าไปพบ และบอกว่าไม่ให้บีบบังคับให้แพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 ทำเช่นนั้น และหาวิถีทางอื่นในการหางบประมาณในการเลี้ยงอาหารว่าง ชัยรู้ว่าอาจารย์รู้เรื่องทั้งหมดตั้งแต่แรกว่ามีการทำอย่างนี้ และสนับสนุนให้แพทย์ประจำบ้านทำอย่างนั้น
หลังจากนั้นชัยบอกว่ารุ่นพี่มองเขาแปลกๆ และบางคนบอกว่ารู้นะว่าเป็นเพราะเขาที่ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และพูดเหมือนรู้ด้วยว่าเป็นตัวผมที่เอาเรื่องนี้ไปบอกคณบดี แต่ชัยก็บอกว่า ถ้าเป็นแบบนี้เขาก็สบายใจ เพราะเขาจะอยู่ในภาควิชานี้แค่ปี 1 ปีต่อไปเขาต้องหมุนไปอยู่ภาควิชาที่เขาสมัครไปเรียนโดยตรง แต่เขาเป็นห่วงผม เพราะดูเหมือนผมอาจจะมีศัตรูเพิ่มขึ้น แต่ผมบอกว่าผมไม่กลัวหรอก เพราะผมไม่ได้ไปเรียนที่นั่น และพวกเขาก็คงทำอะไรผมไม่ได้ นอกจากจะเก็บความแค้นนั้นไว้ ซึ่งความแค้นนั้นคงจะเผาใจของเขามากกว่า
วงการแพทย์ กับบริษัทยาดูเหมือนเป็นของคู่กัน ที่พึ่งพิงอิงแอบกัน โดยมีหลายเรื่องราวที่แม้ว่าจะผิดจรรยาบรรณในวิชาชีพแต่ก็ยังมีการละเมิดกัน จนดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติ สมัยที่ผมยังเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 5 เคยมีพี่พยาบาลคนหนึ่งเขียนจดหมายมาเล่าให้รุ่นพี่ผมคนหนึ่งฟังว่า เธอทำงานในโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ซึ่งผู้อำนวยการรับเงินเปอร์เซ็นต์จากบริษัทยา ทำให้มีการสั่งยาบางตัวจำนวนมากแต่ใช้ไม่หมด จนยาหมดอายุไปก่อน
ในหนังสือ “ผิดเป็นครู” ซึ่งรวบรวมคดีที่ถูกสอบสวนโดยแพทยสภา มีคดีหนึ่งซึ่งมีหมอคนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอ และสั่งยาจำนวนมาก ก่อนไปเรียนต่อ และได้รับรถยนต์คันหนึ่งเป็นบรรณาการจากบริษัทยา ทิ้งยากองโตที่ใช้ไม่หมดและหนี้จำนวนมากไว้ให้กับโรงพยาบาล
หลายกรณีที่มีคนบอกว่า อาจารย์โรงเรียนแพทย์บางคนไปประชุมต่างประเทศบ่อยๆด้วยเงินบริษัทยา จัดประชุมอบรมวิชาการที่บอกว่ายาใหม่ตัวนั้นเป็นยาที่น่าใช้ด้วยเงินบริษัทยา มีเรื่องเล่าที่ไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ว่า หมอบางคนมักจะไปกินข้าวกับดีเทลยาผู้หญิงสาวสวยบ่อยๆ และอาจมีอะไรมากกว่านั้น ถ้ามีการสนับสนุนให้ยาใหม่เข้าไปอยู่ในบัญชียาโรงพยาบาล หรือมีการสั่งใช้ยาจำนวนมาก
จนมาถึงเรื่องราวที่ดังกระฉ่อนวงการแพทย์และสังคมไทย คือกรณีทุจริตยา 1,400 ล้านบาทที่ทำให้คุณรักเกียรติ สุขธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นติดคุก กรณีนั้นมีแพทย์หลายคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งเป็นคนชงเรื่อง ประสานงานให้ ดำเนินการต่างๆโดยความเชื่อที่ว่า มันก็เป็นอย่างนี้แหละ เราอยู่ในระบบที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ก็ต้องทำไป นักการเมืองนั่นแหละผิด แพทย์เราก็แค่ทำตามเขาไปก็เท่านั้น ถ้าเราไม่ทำ คนอื่นก็ทำ
จากเรื่องราวเล็ก จนถึงเรื่องคอรัปชั่นใหญ่ระดับประเทศ ทำให้ผมมานั่งคิดและสรุปเอาเองว่า ก็เพราะปากกาด้ามเล็กๆ และกระดาษทิชชูในกล่องที่มีชื่อการค้านั้นไม่ใช่หรือ ที่เป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้เรารู้สึกว่า ก็เราทำงานหนัก ก็เราทุ่มเทให้กับคนไข้ ค่าตอบแทนที่ได้ก็น้อยจนไม่คุ้มกันเลย ของจากบริษัทยาเล็กๆน้อยๆนั้นก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่แพทย์เราสมควรจะได้มิใช่หรือการรับสิ่งของเล็กๆที่ดูเหมือนไม่มีค่า ได้เติบโตมาจนถึงการรับของในห้องพักแพทย์ เปอร์เซ็นต์ยา อาหารว่าง รถยนต์ ดีเทลยา และทุจริตยา มันช่างเติบโตได้รวดเร็วนัก เมื่อเมล็ดของมันได้งอกในจิตใจของมนุษย์ที่มีความโลภเป็นปุ๋ยอันอุดม สมดุลระหว่างจริยธรรมแห่งวงการแพทย์และผลประโยชน์ของบริษัทยาจะยังเป็นสิ่งที่แพทย์เราต้องค้นหาและแก้ปัญหากันต่อไป ตราบเท่าที่เรายังหวังว่าวงการแพทย์จะเป็นวงการอันศักดิ์สิทธิ์ที่สังคมเชื่อถือ แต่สำหรับผมแล้วเรื่องราวเหล่านี้ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ได้มาฟรีๆ เมื่อเราได้ของบางอย่างมาฟรีๆ เราก็อาจต้องแลกด้วยการเสียของบางอย่างไปเช่นกัน และบางครั้งสิ่งที่ต้องเสียไปอาจจะไม่ใช่สิ่งของ แต่อาจเป็น ความเป็นแพทย์และความเป็นมนุษย์ของตัวเรานี่เอง