2552-08-24

ประวัติและพัฒนาการของเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน

ประวัติและพัฒนาการของเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน
เทคโนโลยีการสื่อสารก็คือ ศาสตร์และศิลป์ของการใช้เครื่องมือและการทำงานของเครื่องมือที่เกิดขึ้นหรือสร้างขึ้นเพื่อช่วยให้มนุษย์แลกเปลี่ยนข่าวสารกันได้โดยสะดวกรวดเร็ว เครื่องมือสื่อสารดังกล่าวอาจจำแนกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑. เครื่องมือที่เก็บรหัสภาษาเอาไว้ได้ในระยะเวลาที่ยาวนาน เช่น ภาพตามผนังถ้ำ หรือตัวอักษรในช่วงก่อนคริสตกาล มนุษย์สามารถประดิษฐ์ตัวอักษร และกระดาษเพื่อเก็บรหัสบางอย่างไว้ได้ ต่อมาพัฒนาเป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ แต่ในศตวรรษที่ ๒๐ มนุษย์สร้างเครื่องมือต่างๆที่สามรถบันทึกรหัสภาษาไว้ได้ในลักษณะของภาพถ่าย ภาพยนตร์ ภาพทัศน์ เครื่องมือที่มีความก้าวหน้าล่าสุดก็คือ คอมพิวเตอร์
๒. เครื่องมือส่งรหัสในระยะไกล (Telecommunications) เช่น ควันไฟ สัญญาณกระจกสะท้อนแสง ธง เป็นต้น ในศตวรรษที่ ๒๐ เครื่องมือส่งรหัสในระยะทางไกลได้พัฒนามาเป็นเทคโนโลยีที่ละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อนมาก เช่น สายเคเบิ้ลทองแดง สายใยแก้ว วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และดาวเทียม เป็นต้น

วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีในโลก

เทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบันถือว่าเป็นเทคโนโลยีในยุคที่ ๕ และกำลังจะก้าวไปอยู่ในยุคที่ ๖

เทคโนโลยีในยุคแรก คือช่วงประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ปี เครื่องมือสื่อสารที่นับว่าอยู่ในยุคนี้ก็คือ เครื่องมือพิเศษภายในร่างกายของมนุษย์ ที่สามารถส่งสารออกมาได้เป็นรหัสภาษาแทนความหมายในสมอง

เทคโนโลยียุคที่สอง เริ่มต้นประมาณเมื่อ ๕,๐๐๐ ปีที่แล้ว เมื่อมนุษย์สามารถผสมภาษาพูดกับภาษาภาพออกมาเป็นภาษาเขียน เท่ากับเริ่มรหัสภาพ (ตัวอักษร) ให้กับรหัสเสียง (คำพูด)

เทคโนโลยียุคที่สาม เป็นการสร้างรหัสภาษาพิมพ์ ในคริสตวรรษที่ ๑๕ ชาวเยอรมันชื่อ “กูเตนเบอร์ก” ได้ประดิษฐ์ตัวพิมพ์และแท่นพิมพ์ที่ใช้เรียงกันเป็นคำเป็นประโยค สะดวกต่อการผลิตรหัสภาษาครั้งละจำนวนมากๆ เพื่อใช้ส่งข่าวสารที่ต้องการออกไปให้หลายๆ คนได้รับแม้จะเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของภาษาเขียน แต่สิ่งประดิษฐ์ของกูเตนเบอร์กสามารถกระจายข่าวสารและอิทธิพลของภาษาเขียนให้กว้างไกลออกไปได้อย่างรวดเร็ว รหัสภาษาพิมพ์บันทึกเป็นสำเนาลงบนกระดาษหลายๆ ใบ ส่งไปให้ไกลที่สุดเท่าที่เส้นทางคมนาคมจะอำนวยให้ นั่นคือการเริ่มต้นของเทคโนโลยีที่เรียกว่า “การสื่อสารมวลชน”

เทคโนโลยียุคที่สี่ ยุคนี้เริ่มต้นเมื่อปลายคริสตวรรษที่ ๑๙ เมื่อ แซมมวล เอฟ บี มอร์ส ได้ค้นพบการส่งรหัสมอร์ส คือ จุด (.) และ ขีด (-) หรือเสียงสั้นเสียงยาว แทนตัวอักษร ดวยการส่งสัญญาณพลังแม่เหล็กไฟฟ้าให้วิ่งไปตามสายลวด และทดลองส่งข่าวสารครั้งแรกระหว่างเมืองวอชิงตันกับบัลติมอร์ ในปี ค.ศ. ๑๘๔๔ เราเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า “โทรเลข” โทรเลขในปัจจุบันดูว่ามีความสำคัญน้อยกว่าโทรศัพท์ แต่ความเจริญของโทรเลขเป็นจุดเริ่มต้นของยุคโทรคมนาคม หรือยุคแห่งเทคโนโลยีเลยทีเดียว
ในยุคที่ ๔ ถือว่าเป็นยุคที่มนุษย์ค้นพบคลื่นวิทยุที่ทำให้เป็นยุคของการสื่อสารโทรคมนาคมที่อาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือคืนความถี่วิทยุที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติในการเชื่อมโยงการตดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลกับการสื่อสารมวลชน และการสื่อสารองค์กรเข้าด้วยกันผ่านความแตกต่างทางเวลาและสถานที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Simultaneous Communication across Time and Space)

เทคโนโลยียุคที่ห้า ในยุคที่ ๕ เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมากมายจนเรียกได้ว่าเป็นยุคของคอมพิวเตอร์ เพราะตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๙ เป็นต้นมา คอมพิวเตอร์ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในการสื่อสารของมนุษย์เพิ่มขึ้นเป็นอเนกอนันต์ ทำให้วิทยาการต่างๆด้านการสื่อสารขยายตัวอย่างรวดเร็ว ได้มีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมากมาย เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ในสังคม เช่น การสื่อสารผ่านดาวเทียม วีดีโอเท็กซ์ โทรทัศน์ โทรศัพท์ เคเบิลทีวี ฯลฯ จากเทคโนโลยีใหม่ๆทางด้านการสื่อสารนี่เองที่ทำให้การสื่อสารของมนุษย์ไม่ว่าอยู่แห่งหนตำบลใดของโลก สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวกรวดเร็วใกล้เคียงการสื่อสารระหว่างบุคคลเข้าไปทุกที
เทคโนโลยีสื่อสารมวลชนที่สำคัญ ซึ่งจะกล่าวถึง ได้แก่ เทคโนโลยีการพิมพ์ เทคโนโลยีภาพยนตร์ เทคโนโลยีการสื่อสารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เทคโนโลยีเคเบิลและดาวเทียม และอินเตอร์เน็ต

๑. เทคโนโลยีการพิมพ์

จีนเป็นชาติแรกที่เริ่มการพิมพ์ขึ้น เมื่อ ๒๕๕ ปีก่อนคริสตกาล ในยุคแรกใช้การแกะสลักตราบนแผ่นหิน กระดูกสัตว์ และงา เพื่อประทับลงบนดินเหนียวหรือขี้ผึ้ง ซึ่งเป็นต้นตอของการพิมพ์แบบ เลตเตอร์เพรส (Letter Press)
ที่รู้จักกันในสมัยต่อมา จีนสามารถทำกระดาษได้ในปี ค.ศ. ๑๐๕ และคิดหมึกพิมพ์ได้ในปี ค.ศ. ๔๐๐ อีก ๕๐ ปีต่อมา จีนได้นำเอาตราที่แกะลงบนวัสดุต่างๆ มาจิ้มหมึกพิมพ์แล้วนำลงไปประทับบนกระดาษ คล้ายกับการประทับตรายางอันเป็นเทคนิคการคิดวิธีการพิมพ์ที่นำมาพัฒนาต่อจนถึงปัจจุบัน (อำไพ จันทร์จิระ, ๒๕๑๖)
จากวิธีการนี้จึงสรุปได้ว่า องค์ประกอบสำคัญของเทคโนโลยีการพิมพ์ในระยะแรกต้องประกอบด้วย แม่พิมพ์ หมึก และกระดาษ แต่วัสดุที่ใช้ในแต่ละประเทศอาจจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพและทรัพยาการธรรมชาติ เช่น พบว่ามีการทำแม่พิมพ์ที่แกะสลักลวดลายและตัวหนังสือ แล้วทาหมึกพิมพ์แล้วกดลงบนกระดาษเป็นการพิมพ์แบบบล็อกไม้ (Wood Block Printing) เพื่อพิมพ์ยันตร์ของลัทธิเต๋าในจีน ที่เกาหลีมีการค้นพบม้วนกระดาษพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุด และมีเนื้อดี ยาวถึง ๒๐ ฟุต มีอักษรจากแม่พิมพ์ไม้เป็นอักษรภาษาจีน เป็นข้อความเกี่ยวกับพระสูตรในพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังพบสิ่งพิมพ์ที่เป็นบทสวดมนตร์จำนวนถึงล้านแผ่นที่จักรวรรดิโชโตกุจัดพิมพ์ขึ้นในปี ค.ศ. ๗๗๐ บล็อกพิมพ์ที่ใช้ไม่อาจระบุว่าเป็นไม้หรือโลหะ สิ่งพิมพ์นี้มีตัวอย่างเหลอเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกาแลพิพิธภัณฑ์บริติชมิวเซียม ประเทศอังกฤษ การประดิษฐ์คดค้นเรื่องการพิมพ์ในประเทศจีนและกลุ่มประเทศตะวันออกนิยมใช้ประเภทบล็อกไม้เนื่องจากมีความสวยงามและภาษาจีนมีลักษณะเป็นตัวๆ การเรียงพิมพ์จึงทำได้ยากในระยะแรก
สำหรับในซีกโลกตะวันตก มีการคิดค้นกระดาษมาก่อนาหน้าการพิมพ์เป็นเวลานาน เมื่อเข้าสู่คริสตวรรษที่ ๑๕ หนังสือต่างๆ ที่มีอยู่ยังเป็นต้นฉบับตัวเขียน มีการใช้บล็อกในการพิมพ์ไพ่และคำสอนทางศาสนา โดยมีการนำตัวอักษรแต่ละตัวมาเรียงเป็นแถว แล้วพิมพ์แต่ละหน้า เมื่อเสร็จหนึ่งหน้า ก็ทำการเรียงหน้าใหม่ เช่นนี้เรื่อยไป ในปี ค.ศ. ๑๔๕๕ กุเตนเบอร์ได้จัดพิมพ์คัมภีร์ไบเบิ้ล ๕๒ บรรทัดที่เรียกว่า “Gutenberg Bible” ขึ้น เป็นการพิมพ์ที่สมบูรณ์ ได้รับการบันทึกว่าเป็นที่มาของการพิมพ์แบบแท่นพิมพ์ครั้งแรก Yunker Johann Gutenberg เป็นชาวเมืองสตราสบูกร์ เขาเป็นผู้คิดประดิษฐ์แท่นพิมพ์ขึ้น และสามารถนำตัวอักษรมาเรียงบนแท่นพิมพ์ จัดพิมพ์บนกระดาษได้สำเร็จที่เมืองไมน์ (Mainz) ประเทศเยอรมนี นอกจากนั้นยังมีการคิดประดิษฐ์แทนพิมพ์ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และต่อมา การพิมพ์ก็ได้แพร่หลายไปยังประเทศอิตาลี ประเทศอังกฤษ และประเทศอื่นๆ ปรากฏว่ามีการพิมพ์หนังสือกันมากที่เมืองเวนิส และผลิตสวยงามกว่าที่ผลิตได้ในเยอรมนีด้วย
องค์ประกอบสำคัญของการพิมพ์คือ กระดาษซึ่งมีการพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยอียิปต์ กระดาษเป็น “วัตถุแผ่นบางๆ ทำจากเศษผ้าหรือฟาง หรือใยเปลือกไม้ และหญ้าบางชนิด ใช้สำหรับเขียนหรือพิมพ์หนังสือ หรือห่อของอื่นๆ” คำว่ากระดาษ (Paper) ในภาษาอังกฤษ เพี้ยนมาจากคำว่า papyrus ซึ่งเป็นกระดาษที่ชาวอียิปต์ทำมาจากหญ้าปาปีรุสเมื่อสามพันปีก่อนคริสตกาล เป็นวัสดุที่คล้ายคลึงกับกระดาษในปัจจุบันมากที่สุด
ส่วนจีนได้คิดค้นการทำกระดาษโดยใช้เยื่อหรือเส้นใยพืช ใน ค.ศ. ๑๐๕ ไซลั่น ข้าในราชสำนักจีน เป็นผู้คิดค้นขึ้น ในอีก ๕๐๐ ปีต่อมาจึงได้แพร่หลายไปญี่ปุ่น และได้แพร่หลายไปยังตะวันตกโดยผ่านกองคาราวานตามเส้นทางผ่านเมืองแบกแดด ดามัสกัส อียิปต์ และโมร็อกโกถึงยุโรป มีการทำกระดาษจากผ้าหรือเศษผ้าจนมาถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ แต่ก็เป็นวิธีการที่สิ้นเปลืองมาก จึงมีการคิดทำกระดาษจากเศษไม้และเยื่อไม้ (Wood Pulp) โดยชาวอเมริกันและชาวเยอรมัน
กระดาษที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีหลายชนิด แบ่งออกเป็น กระดาษปรู๊ฟ (News Print) เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อไม้ปั่น มีราคาถูก คุณภาพต่ำ เก็บไว้นานจะกรอบและแดง ใช้สำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์ กระดาษปอนด์ (Bond Paper) ทำจากเยื่อผ้าขี้ริ้ว หรือผสมด้วยเยื่อเคมีซัลไฟด์ฟอกขาว เป็นกระดาษที่มีคุณภาพสูง และมีความหนาหลายขนาด เช่น ๗๐-๘๐ แกรม ใช้พิมพ์งานหนังสือ หรือหนา ๑๐๐-๑๒๐ แกรม ใช้พิมพ์เกียรติบัตรต่างๆ กระดาษแอร์เมล (Air Mail) เป็นกระดาษที่ทำด้วยเยื่อเคมี หรือโอเนียน สกิน (Onion Skin) เป็นแผ่นบางใช้เป็นกระดาษจดหมายส่งทางอากาศเพื่อให้มีน้ำหนักน้อย นอกจากนี้ยังมีกระดาษอีกหลายชนิดแล้วแต่งานที่ต้องการใช้ เช่น กระดาษเหนียว (Kraft Paper) มีสีน้ำตาล ใช้เป็นกระดาษห่อของ กระดาษอาร์ต (Art Paper) มีการเคลือบผิวให้เรียบมัน เพื่อใช้พิมพ์ภาพ กระดาษโปสเตอร์ (Poster Paper) เป็นกระดาษปอนด์ขาว ผิวกรดาษด้านหนึ่งเรียบ อีกด้านหนึ่งหยาบ
ตัวอักษรสำหรับใช้พิมพ์ก็มีการพัฒนามาจากตัวอักษรที่ทำด้วยดินของชาวจีน ต่อมาดัดแปลงทำเป็นอักษรพิมพ์ที่แกะด้วยไม้ ชาวเกาหลีทำอักษรจากโลหะได้เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ โดยทำจากทองแดงและแพร่หลายในจีนและญี่ปุ่น เชื่อกันว่าตัวอักษรโลหะที่กูเตนเบอร์กใช้ก็นำมาจากวิธีคิดแบบเดียวกัน และดัดแปลงแก้ไขจนมีลักษณะสมบูรณ์นำไปใช้กับแท่นพิมพ์ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรพิมพ์ของโลก (อำไพ จันทร์จิระ, ๒๕๑๖)
พัฒนาการของเทคนิคการพิมพ์พื้นฐานมี ๕ วิธี คือ การพิมพ์แม่พิมพ์ตัวนูน (Letter Press) การพิมพ์แม่พิมพ์ตัวแบน (Plano graphic Printing) การพิมพ์แม่พิมพ์ร่องลึก (Gravure) การพิมพ์แม่พิมพ์ลายฉลุ (Stencil) การพิมพ์ด้วยแสง (photographic Printing)
สำหรับการพิมพ์ในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๐๕ หรือ ค.ศ. ๑๖๖๒ ในสมัยพระนารายณ์มหาราช โดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศสนำเข้ามาพิมพ์คำสอนทางศาสนา และพิมพ์หนังสือไวยากรณ์ไทยและบาลี และพจนานุกรมไทย ได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในโรงเรียนที่เกาะมหาพราหมณ์ ในสมัยพระเจ้าตากสินมีการบันทึกไว้ว่า บาทหลวงคาทอลิกชื่อคาร์โนล ได้เข้ามาสอนศาสนา และตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่วัดซังตาครูซ ตำบลกุฎีจีน จังหวัดธนบุรี หนังสือที่พิมพ์ในสมัยนั้น ใช้ตัวอักษรโรมันในการพิมพ์หนังสือภาษาไทย ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้นมา การพิมพ์หนังสือก็ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีบาทหลวงชาวอเมริกันและคณะมิชชันนารีนิกายแบ็บติสต์นำเครื่องพิมพ์เข้ามาหลายแท่น และสั่งตัวพิมพ์เข้ามาทางพม่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ใน พ.ศ. ๒๓๗๑ มีการพิมพ์โดยใช้ตัวพิมพ์ภาษาไทย ที่หล่อที่กัลกัตต้า ประเทศอินเดีย พิมพ์ตำราไวยากรณ์ไทย ที่แต่งโดยร้อยเอก เจมส์ โลว์ นายทหารอังกฤษ ต่อมาคณะมิชชั่นนารีอังกฤษได้ซื้อตัวพิมพ์ภาษาไทยจากโรงพิมพ์ที่นครกัลกัตต้า มาก่อตั้งโรงพิมพ์ที่สิงคโปร์ ในปี พ.ศ. ๒๓๗๘ คณะมิชชั่นนารีจากอเมริกาได้เดินทางไปถึงสิงคโปร์ และได้นำแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์ภาษาไทยเข้ามายังประเทศไทยด้วย โดยมีนายแพทย์ แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า หมอบรัดเลย์ เป้ผู้ดำเนินการจัดพิมพ์และควบคุมการก่อตั้งโรงพิมพ์ งานพิมพ์ในระยะแรกคือการพิมพ์หนังสือสอนศาสนา ซึ่งเป็นของคณะหมอสอนศาสนาอเมริกัน
การพิมพ์ของไทยได้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงจัดตั้งโรงพิมพ์ในบริเวณพระบรมหาราชวัง ชื่อโรงอักษรพิมพการ มีช่างพิมพ์ที่เป็นคนไทยที่ได้รับการฝึกหัดจากช่างพิมพ์ชาวต่างประเทศที่จ้างมาชั่วคราวเพื่อฝึกช่างไทย โรงพิมพ์ดังกล่าวรับพิมพ์ทั้งงานพิมพ์ของหลวงทั้งภาษาไทยและอังกฤษ
จำนวนพิมพ์หนังสือจะพิมพ์ครั้งละ ๒๐๐-๓๐๐ เล่ม ซึ่งก็นับว่าเป็นจำนวนสูงพอสมควร เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรและผู้อ่านในสมัยนั้น (วัลลภ สวัสดิวัลลภ, ๒๕๓๒ : ๙๙) และที่จัดว่าเป็นของใหม่ในยุคสมัยนั้นคือ การพิมพ์หนังสือที่เย็บเข้าเล่มเป็นสมุด จากโรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ (สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ, ๒๕๔๒: ๑๙)
รัชกาลที่ ๕ มีการตั้งโรงเรียนทหารมหาดเล็ก หรือโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และตั้งโรงเรียนสำหรับสามัญชนตามวัดต่างๆ ทั้งในและนอกพระนคร เช่น โรงเรียนวัดมหรรณพาราม ทำให้ประชาชนมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนกันอย่างกว้างขวาง (ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต, ๒๕๔๑ : ๔๓) จึงมีการออกหนังสือพิมพ์ทั้งรายวัน ราย ๓ วัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน มีหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษและภาษาจีน และปลายรัชกาลมีนิตยสารสำหรับผู้หญิงชื่อ “นารีรมย์” จากเอกสารทางราชการปรากฏว่าในสมัยนี้มีหนังสือพิมพ์ออกทั้งหมด ๕๗ ฉบับ แต่ที่อายุยืนยาวมาถึงรัชกาลที่ ๖ มีเพียง ๑๗ ฉบับ และเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน เพียง ๖ ฉบับ (ลาวัลย์ โชตามระ, ๒๕๐๗)
รัชกาลที่ ๖ พลเมืองที่รู้หนังสือมีมากขึ้น คนเริ่มเห็นว่าการอ่านหนังสือพิมพ์เป็นการเปิดหูเปิดตา ขนาดของหนังสือพิมพ์ใหญ่ขึ้น และเพิ่มหน้ามากขึ้น แท่นพิมพ์เดินเครื่องด้วยไฟฟ้าไม่เหนื่อยแรงคน (ลาวัลย์ โชตามระ, ๒๕๐๗) อีกทั้งมีวรรณคดีสโมสรเกิดขึ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้กิจการพิมพ์ขยายตัว มีโรงพิมพ์ที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นหลายแห่ง เช่น โรงพิมพ์พิพรรฒธนากร โรงพิมพ์อักษรโสภณ โรงพิมพ์อักษรนิติ เป็นต้น การพิมพ์สมัยนี้มีความประณีตสวยงามมากขึ้น และมีการเข้าเล่มทำปกเดินทอง (วัลลภ สวัสดิวัลลภ, ๒๕๓๒)
รัชกาลที่ ๗-๘ เป็นช่วงที่ประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้วัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการพิมพ์ขาดแคลน ส่งผลให้สิ่งพิมพ์ที่ผลิตออกมามีคุณภาพต่ำและราคาแพง ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ หนังสือพิมพ์ราคาฉบับละ ๓-๕ สตางค์ มี ๒๕-๓๒ หน้า แต่ถึงช่วงสงครามมีเพียง ๒-๔ หน้า ราคา ๒๕-๕๐ สตางค์ (ลาวัลย์ โชตามระ, ๒๕๐๗)
ประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๖ มีการเปิดสอนวิชาการพิมพ์ในระดับอาชีวะศึกษา ที่โรงเรียนช่างพิมพ์ วัดสังเวช ต่อมาเปิดสอนในโรงเรียนอื่นอีกหลายแห่ง เช่น โรงเรียนสารพัดช่าง โรงเรียนดอนบอสโก ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ มีการเปิดสอนวิชาการพิมพ์ที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ในเวลาต่อมาก็มีการสอนวิชาเกี่ยวกับการพิมพ์เป็นวิชาประกอบในมหาวิทยาลัย เช่น ในแผนกบรรณารักษ์ศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ ในแผนกอิสระสื่อสารมวลชนและประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แผนกวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น (สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ, ๒๕๔๒: ๑๙)
ปัจจุบันกิจการการพิมพ์มรการพัฒนามาก มีการร่วมมือกันในกลุ่มผู้มีอาชีพด้านการพิมพ์ โดยจัดตั้งเป็นสมาคมต่างๆ ตามสายงานที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ อาทิ สมาคมการพิมพ์ไทย สมาคมส่งเสริมวิชาการพิมพ์ไทย สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมภาษาและหนังสือ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ฯลฯ ประกอบกับมีการสอนวิชาการพิมพ์ในระดับสูง และประชาชนหันมาใช้บริการการพิมพ์มากขึ้น จึงเป็นแรงเสริมให้กิจการพิมพ์ตื่นตัว มีการสั่งเครื่องพิมพ์ที่ทันสมัยจากต่างประเทศ มาใช้ เช่น เครื่องมือที่ใช้พิมพ์หนังสือพิมพ์ต่างๆ เป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูง ทำงานอัตโนมัติ มีความเร็วสูง สามารถพิมพ์ได้พร้อมกันทีเดียว ๒ หน้า และพิมพ์ ๒ สี และ ๔ สีได้ อีกทั้งสามารถตัดและพับกระดาษที่พิมพ์แล้ว ป้อนไปยังเครื่องเย็บเล่มเข้าปก และเจียนริมจนสำเร็จเป็นเล่มได้ (วัลลภ สวัสดิวัลลภ, ๒๕๓๒: ๑๐๓)

๒. เทคโนโลยีภาพยนตร์

ภาพยนตร์เกิดมาจากหลักการที่เรียกว่า “ภาพติดตา” (Persistence of Vision) เช่น นำแผ่นกระดาษวงกลมที่ผูกเชือกทั้ง ๒ ด้าน ซึ่งมีภาพด้านหนึ่งเป็นรูปกรง อีกด้านหนึ่งเป็นรูปนก เมื่อหมุนเชือกให้ภาพพลิกไปมาเร็วๆ จะเห็นภาพนกอยู่ในกรงได้ เครื่องเล่นชนิดนี้เรียกว่า Thaumatrope เครื่องเล่นอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า Zoetrope ประกอบด้วยชุดภาพที่ใส่อยู่ในกล่องทรงกลมซึ่งติดอยู่บนแกนหมุน เมื่อมองเข้าไปตามช่องแล้วหมุน จะเห็นรูปเคลื่อนไหวได้
หลักการ “ภาพติดตา” มีการค้นพบกันมาตั้งแต่สมัยกรีก นักดาราศาสตร์ชาวกรีกชื่อพ-โตเลมี รู้ว่าตาคนเราจะมีภาพติดตาอยู่ชั่วครู่หลังจากภาพที่มองเห็นหายไปแล้ว นักประดิษฐ์และนักทฤษฏีรุ่นหลังก็ต่างเชื่อว่า หากนำภาพเดียวหลายๆภาพที่ต่างกันเล็กน้อยมาเรียงต่อกัน แล้วทำให้เกิดความเคลื่อนไหวเร็วๆต่อเนื่อง ภาพติดตาจะทำให้เกิดภาพลวงตา ที่เสมือนหนึ่งภาพนิ่งเหล่านั้นเคลื่อนไหวได้ (Wilson & Wilson,1998)
โทมัส เอวา เอดิสัน ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องการประดิษฐ์คิดค้นหลอดไป เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการบุกเบิกเทคโนโลยีภาพยนตร์ด้วย เขาและผู้ช่วยของเขา วิลเลียม ดิกสัน ได้พัฒนากล้องที่เรียกว่า คิเนโตกราฟ (Kinetograph) จากหลักการของกล้องรูเข็ม แล้วใช้ฟิล์มเซลลูลอยด์ของจอร์จ อีสต์แมน ในการถ่ายทำ แล้วนำหนังที่ถ่ายได้มาฉายในเครื่องที่เรียกว่ากล้องคิเนโตสโคป (Kinetoscope) เป็นกล่องสูง ๔ ฟุตที่ดูได้ทีละคนคล้ายถ้ำมอง ในปี ค.ศ. ๑๙๘๔ โรงคิเนโตสโคปแห่งแรกเปิดฉายเป็นปฐมฤกษ์ที่นครนิวยอร์ก เรื่องที่ฉายชื่อ แอนนาเบล (Anabelle) ความยาว ๓๐ วินาที ผลิตโดยบริษัทเอดิสัน แต่การฉายดูทีละคนไม่ได้รับความนำยมเท่ากับเมื่อนำหนังมาฉายบนจอใหญ่ สามารถดูได้ทีละหลายๆคน ต่อมาการฉายภาพยนตร์ในโรงใหญ่จึงกลายเป็นมหรสพที่แพร่หลายนิยมกันของประชาชนทั่งโลก (ชลิดา เอื้อบำรุงจิต, ๒๕๔๐)
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ (ค.ศ. ๑๘๙๕) คือปีที่ถูกบันทึกว่าเป็นปีที่ภาพยนตร์ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยพี่น้องชาวฝรั่งเศสตระกูลลูมิแอร์ ออกัส และหลุยส์ นำประดิษฐ์กรรมใหม่ออกแสดงแก่สาธารณะ เขาได้ฉายหนัง หรือซิเนมาโตกราฟ (Cinematograph) ที่ร้านกาแฟในกรุงปารีสและเก็บค่าชมจากคนดูด้วย ในปี ค.ศ. ๑๘๙๖ โทมัส อาร์มาท์ และฟรานซิส เจนกินส์ ได้ร่วมกับเอดิสัน ประดิษฐ์เครื่องฉายภาพยนตร์ที่เรียกว่า วิตาสโคป (Vitascope) และนำออกฉายตามโรงละครที่แสดงละครย่อยและเต้นรำและร้านในย่านบันเทิง กลายเป็นการแสดงสลับระหว่างการเล่นละครสดกับการฉายหนัง และในที่สุดหนังก็เติบโตเข้ามาแทนที่ละคร
ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๐๒ ชาวฝรั่งเศสชื่อ จอร์จ เมลีเอส์ ได้นำเสนอความคิดเรื่องการทำเอฟเฟกต์สำหรับภาพยนตร์ เรื่องที่รู้จักกันดีคือเรื่อง การเดินทางไปโลกพระจันทร์ (A Trip to the Moon) เป็นหนังเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์และนักร้องกลุ่มหนึ่งยิงจรวดไปพระจันทร์ จรวดยิงถูกลูกตาของชาวโลกพระจันทร์ และเรื่องราวที่ชาวโลกต้องไปเผชิญกับชาวโลกพระจันทร์ เอฟเฟกต์ที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับคนดูในยุคนั้น เป็นภาพของโลกขึ้นสู่ขอบฟ้าของพระจันทร์ และชาวโลกพระจันทร์หายตัวกลายเป็นควัน
ในตอนนั้นยังไม่อาจกล่าวได้ว่ามีการเล่าเรื่องในหนังอย่างที่เราเข้าใจกัน จนกระทั่ง เอ็ดวิน พอร์ทเตอร์ ตากล้องคนหนึ่งของบริษัทเอดิสันได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง การปล้นรถไฟครั้งยิ่งใหญ่ (The Great Train Robbery) เขาพัฒนาวิธีการตัดต่อขึ้นมาใหม่เพื่อนำฉากต่างๆมาเรียงร้อยกันเข้าเป็นเรื่องเดียวกัน หนังเรื่องนี้มีความยาว ๑๒ นาที เป็นเรื่องการปล้นขบวนรถไฟ มีการต่อสู้ ไล่ล่ากันตลอดเรื่อง และกลายมาเป็นหนังต้นแบบของหนังแนวดรามาและหนังแนวคาวบอยตะวันตกของอเมริกัน สำหรับหนังเรื่องยาวอย่างเต็มรูปแบบ กล่าวกันว่าเป็นเรื่อง Birth of a Nation (เดิมชื่อ The Clansmen) ความยาว ๓ ชั่วโมง แม้ว่าหนังในยุคนั้นจะเป็นหนังเงียบ แต่เรื่องนี้มีการนำวงดนตรีออร์เคสตรามาบรรเลงเพลงประกอบตลอดทั้งเรื่อง Birth of a Nation เป็นเรื่องเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้สร้างมุ่งจะบันทึกประวัติศาสตร์ในรูปของภาพยนตร์ แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำรายได้ถึง ๑๘ ล้านเหรียญสหรัฐในสมัยนั้น หนังถูกวิจารณ์ว่ามีอคติในการสะท้อนภาพของทาสผิงดำในรัฐตอนใต้ ดี ดับเบิลยู กริฟฟิท ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ต่อมาได้พัฒนาเรื่องมุมกล้อง เช่น การถ่ายภาพใกล้มาก (Close Up) และการเพิ่มลักษณะการเร้าอารมณ์เข้ามา โดยวิธีการตัดต่อและการควบคุมความยาวในแต่ละฉาก ฉากที่ยาวมากๆ จะสร้างความตึงเครียดให้กับคนดู ส่วนฉากสั้นๆ จะสร้างความตื่นเต้น เร้าใจ และเขายังเป็นคนริเริ่มการใช้สถานที่จริงที่นอกเมืองลอสแองเจลลิสในการถ่ายทำภาพยนตร์ด้วย (Wilson & Wilson,1998)
ในยุคแรกที่ภาพยนตร์ยังไม่มีเสียงในฟิล์ม คนดูนิยมการเล่นดนตรีประกอบ เช่น เปียโน ออร์แกน หรือเล่นเครื่องดนตรี ๓ ชิ้น บางครั้งคนเล่าเรื่องจะออกมาเล่าเรื่องแสดงความเห็นในฉากต่างๆ หรือบางทีนักแสดงจะอ่านบทดังๆ อยู่หลังม่าน การค้นพบวิธีนำเสียงลงฟิล์มเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยชาวเยอรมัน ๓ คน พวกเขาพบว่าสามารถใช้แสงทำให้เกิดระบบเสียงในฟิล์มขึ้นมาได้
ในระหว่างสงคราม หนังข่าวและสารคดีเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาชวนเชื่อปลุกระดมความรักชาติ และเมื่อสิ้นสงครามหนังเป็นสื่อสารมวลชนที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง โรงภาพยนตร์เป็นแหล่งบันเทิงที่ราคาไม่แพง และเรื่องราวที่เสนอสะท้อนชีวิตผู้คนในหลากหลายแง่มุม เช่นเดียวกับคนทั่วโลก เมื่อหนังเริ่มเข้ามาสู่สังคมไทยเมื่อร้อยปีก่อน ก็ได้รับความนิยมจากประชาชนมากและคนไทยก็พัฒนาความสามารถในการสร้างภาพยนตร์ได้ในเวลาไม่นานต่อมา

๓. เทคโนโลยีการสื่อสารและวิทยุกระจายเสียง

ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ จักรวรรดินิยมในยุคโบราณ เช่น จักรวรรดิเปอร์เซีย กรีก และโรมัน ต่างพยายามคิดค้นหาวิธีสื่อสารในระยะไกลโดยใช้สัญญาณธง สัญญาณไฟ กระจกสะท้อนแสง ใช้ม้าเร็ว ฯลฯ กล่าวได้ว่าความต้องการสื่อสารให้ไกลเกินกว่ารัศมีของการมองเห็นด้วยตาและได้ยินด้วยหูออกไปให้ไกลที่สุด เป็นที่มาของอารยธรรมมนุษย์ที่ยกระดับขึ้นมาเรื่อยๆ จากการคิดประดิษฐ์ตัวอักษร ภาษา ประกาศ แจ้งความ สิ่งพิมพ์ การไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ และการสื่อสารนำสมัยล้ำยุคที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งในยุคนี้
เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคแรก คือ โทรเลขไฟฟ้า เป็นเทคโนโลยีชนิดแรก กำเนิดขึ้นในราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ หลังจากที่ แซมมวล มอร์ส (Samuel Morse) ได้ทดลองเป็นผลสำเร็จในปี ค.ศ. ๑๘๓๗ การส่งโทเลขทำได้รวดเร็วและประกันการส่งถึงมือผู้รับได้ดีกว่าการสื่อสารแบบอื่นๆที่มีอยู่ในขณะนั้น ในอังกฤษโทรเลขสายแรกเพื่อการติดต่อทางธุรกิจเกิดขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๓๘ โทรเลขเดินทางไกลขึ้นด้วยสายเคเบิลใต้น้ำที่ทอดไปเชื่อมกันเป็นเครือข่ายข้ามทวีปกับประเทศต่างๆ จักรภพอังกฤษเข้มแข็งเป็นปึกแผ่นขึ้นมาในยุคนี้ได้ก็เพราะสามารถสื่อสารด้วยโทรเลขระหว่างราชสำนักอังกฤษกับประเทศอาณานิคมทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว ฝรั่งเศสก็ใช้ความได้เปรียบของเทคโนโลยีทางด้านนี้ในการเข้ายึดครองดินแดนในทวีปแอฟริกาเช่นกัน
และในเอเชียเกือบทุกประเทศมีกิจการสื่อสารโทรเลขแล้วตั้งแต่ทศวรรษที่ ๑๘๗๐ การวางสายเคเบิลใต้น้ำต้องการเงินลงทุนสูงมาก รัฐบาลใช้วิธีร่วมทุนกับเจ้าของธุรกิจ และเจ้าของหนังสือพิมพ์ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้โทรเลขในการส่งข่าว อังกฤษครองความยิ่งใหญ่ในฐานะเจ้าของสายเคเบิลข้ามทวีปกว่าครึ่งของโลกจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกูกลิเอโม มาร์โคนี (Guglielmo Marconi) ได้ค้นพบวิธีส่งโทรเลขโดยไม่ต้องผ่านสาย ซึ่งเรียกว่า Electronic Telegraph หรือ Wireless Telegraph ก็ยิ่งเพิ่มความได้เปรียบให้แก่อังกฤษ เพราะบริษัท British Marconi Wireless Telegraph ที่รัฐบาลอังกฤษให้การหนุนหลังสามารถผูกขาดการรับส่งข่าวสารผ่านโทรเลขได้เกือบทั้งหมด
อิทธิพลของอังกฤษค่อยๆลดลงพร้อมกับบทบาทของสหรัฐอเมริกาที่พยายามเข้ามาควบคุมการสื่อสารระหว่างประเทศเอาไว้ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหรัฐอเมริกาไม่เพียงแค่ท้าทายอังกฤษทางด้านเคเบิลเท่านั้น ที่สำคัญบริษัท Bell Telephone Company ยังได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์เครื่องรับโทรศัพท์ที่ อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) เป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๗๗ ทำให้กิจการโทรศัพท์เจริญรุ่งเรืองในสหรัฐอเมริกาอย่างรวดเร็ว แต่การสื่อสารโทรศัพท์ข้ามทวีประยะไกลจะยังไม่เกิดจนกระทั่งมีการวางสายเคเบิลโทรศัพท์ใต้ทะเลเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๕๖ แล้ว

กำเนิดสื่อมวลชนยุคใหม่ จากวิทยุโทรเลข หรือ Wireless Telegraph ของมาร์โคนีซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากมายในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ได้ลงมือค้นคว้าทดลองเพื่อให้วิทยุสามารถส่งเสียงพูดเสียงดนตรีแพร่กระจายไปในอากาศออกไปรอบทิศทางให้ได้ การค้นคว้ารทดลองดำเนินไปอย่างเอาจริงเอาจังตลอดช่วง ๒ ทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ สถาบันทดลองวิทยุเกิดขึ้นมากมายในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่า “การกระจายเสียงวิทยุ” (Radio Broadcasting) ได้รับผลสำเร็จเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๐๒ ประชาชนที่มีเครื่องรับสามารถรับฟังได้ ห้างสรรพสินค้าต่างๆ พากันเปิดขายเครื่องรับ หนังสือพิมพ์ก็เริ่มโฆษณารายการวิทยุ (ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นสถานีวิทยุ) ที่มีการออกอากาศค่อนข้างประจำ กล่าวกันว่าสถานีวิทยุแห่งแรกของโลกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๑๙ ในฮอลแลนด์และแคนาดา แต่จากหลักฐานที่มีอยู่อ้างถึงสถานีวิทยุ KDKA ในสหรัฐอเมริกา ว่าเป็นสถานีแห่งแรกที่เปิดดำเนินการในปี ค.ศ. ๑๙๒๐ ส่วนในรัสเซียก็มีการออกอากาศในปี ค.ศ. ๑๙๒๒

สำหรับประเทศไทย บริษัทเอกชนได้เริ่มทำการทดลองส่งสัญญาณวิทยุโทรเลขขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ แต่การทดลองดังกล่าวไม่ประสพผลสำเร็จ จนกระทั่งเจ้านายเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงได้นำเครื่องวิทยุโทรเลขแบบมาร์โคนีมาใช้ถือเป็นการเริ่มต้นของพัฒนาการการสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ได้ทำการทดลองการสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุ ส่งเสียงพูดกับเสียงดนตรีด้วยเครื่องส่งวิทยุโทรศัพท์ขนาดเล็ก และกองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ก็ได้ทดลองส่งเยงดนตรีและเสียงพูด จากตึกกรมไปรษณีย์โทรเลข ปากคลองโอ่งอ่าง หน้าวัดราชบูรณะ ด้วยเครื่องส่งวิทยุโทรศัพท์ขนาดเล็กเช่นกัน ใช้ชื่อสถานีว่า ๔ พีเจ (HS 4 PJ) ในระยะแรกมีเครื่องรับวิทยุอยู่ประมาณ ๑๐ เครื่อง (เสงี่ยม – วัฒนา เผ่าทองสุข, ๒๕๒๖)
ตารางการจำแนกแถบคลื่นความถี่วิทยุ
ตามข้อบังคับของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) พ.ศ. ๒๔๙๐
ช่วงความถี่
ชื่อเรียก
ตัวย่อ
การใช้งาน
๓๐ - ๓๐๐ KHZ

ความถี่ต่ำ
Low Frequencies

LF
ส่งได้ในระยะใกล้ๆ
๓๐๐ - ๓,๐๐๐ KHZ

ความถี่ปานกลางMedium Frequencies

MF
คลื่นวิทยุในระบบเอเอ็ม (AM)
๓- ๓๐ MHZ
ความถี่สูง
High Frequencies
HF

ใช้ส่งวิทยุคลื่นสั้น วิทยุตำรวจ

๓๐ – ๓๐๐ MHZ
ความถี่สูงมาก
Very High Frequencies

VHF
ใช้ส่งวิทยุเอฟเอ็ม (FM) และส่งโทรทัศน์ระบบ VHF
๓๐๐ – ๓,๐๐๐ KHZ

ความถี่เหนือสูงUltra High Frequencies

UHF

ใช้ส่งโทรทัศน์ระบบ UHF, วิทยุของหน่วยราชการ, โทรศัพท์มือถือ
๓,๐๐๐ – ๓๐,๐๐๐ KHZ
ความถี่สูงพิเศษ
Super High Frequencies

SHF
ใช้ส่งโทรทัศน์ระบบไมโครเวฟ ดาวเทียมสื่อสาร เรดาร์ตรวจพายุสวนสำหรับกิจการทหาร
คลื่นวิทยุ (Radio Frequency) เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญเท่าเทียมหรือมากกว่าทรัพยากรอื่นๆ เช่น แร่ธาตุ น้ำมัน ป่าไม้ แม่น้ำลำธาร ภูเขา ทุกประเทศทั่วโลกมุ่งสงวน หรือทะนุถนอมทรัพยากรเหล่านี้ไว้ด้วยกันทั้งสิ้น นอกจากนี้ คลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency) ยังเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ประเทศตะวันตกอีกเช่นกันที่มองเห็นนัยสำคัญของเทคโนโลยีสื่อสารมวลชนตัวใหม่คือ “วิทยุ” มากกว่าใครอื่น ตลอดทศวรรษที่ ๑๙๒๐ กิจการวิทยุกระจายเสียงเติบโตอย่างรวดเร็วมากในประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก ในสหรัฐอเมริกามีผู้ขอใบอนุญาตระกอบการถึง ๖๐๐ ราย สถิติในปี ค.ศ. ๑๙๒๓ มีจำนวนเครื่องรับเกือบ ๑ ล้านเครื่อง สหรัฐอเมริกาซึ่งด้อยกว่าอังกฤษในด้านเทคโนโลยีโทรเลขและชุมสานเครือข่ายโทรเลขระหว่างประเทศอยู่ก่อน ตระหนักดีว่าหากเข้าไปควบคุมการใช้คลื่นความถี่วิทยุได้ จะได้เปรียบกว่ามาก เพราะคลื่นวิทยุเดินทางไปได้ทุกที่ ซ้ำยังไม่ต้องลงทุนวางสายเหมือนเคเบิลอีกด้วย
ในปี ค.ศ. ๑๙๐๖ ประเทศตะวันตก ๒๘ ประเทศ ได้พบกันที่ประชุมสหภาพวิทยุโทรเลขระหว่างประเทศ (International Radiotelegraph Union) ที่กรุงเบอร์ลิน เพื่อกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์เครื่องรับส่งวิทยุและมาตรการต่างๆที่จะลดปัญหาการรบกวนกันของคลื่นวิทยุ ในที่ประชุมครั้งนี้ ประเทศมหาอำนาจ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ยังถือโอกาสเป็นผู้กำหนดหลักการเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุเพื่อใช้งานระหว่างประเทศ โดยยึดหลักง่ายๆ/ ว่าใครก็ตามที่ยื่นความจำนงขอใช้งานต่อสหภาพวิทยุโทรเลขระหว่างประเทศก่อน ก็จะมีสิทธิ์ได้คลื่นไปก่อน เป็นหลักการ “First Come, First Serve” ด้วยเหตุนี้ ประเทศหรือกลุ่มทุนในประเทศที่มีความพร้อมกว่าทั้งทางด้านการเงินและด้านเทคโนโลยีจึงเป็นผู้ได้รับจัดสรรคลื่นอันมีอยู่อย่างจำกัดเหล่านั้นไป ประเทศขนาดเล็กและประเทศด้อยพัฒนาไม่มีสิทธิมีส่วน เพราะหลักการไม่ได้พูดถึงการสำรองหรือกันคลื่นจำนวนหนึ่งให้กับผู้ที่มาทีหลัง และเนื่องจากข้อตกลงต่างๆ ดังกล่าวล้วนทำกันในที่ประชุมระหว่างประเทศ จึงมีสถานะเป็น “กฎหมายระหว่างประเทศ” ไปโดยปริยาย
ในการส่งวิทยุกระจายเสียง (Radio Broadcasting) การส่งระบบ เอเอ็ม กับ เอฟเอ็ม เป็นการส่งกระจายเสียงที่ใช้กันทั่วไป คุณสมบัติที่สำคัญในด้านเสียง มีข้อแตกต่างและข้อดีข้อเสียคือ ระบบเอฟเอ็ม เสียงจะชัดเจนกว่าเอเอ็ม ทั้งนี้เนื่องจากเอฟเอ็มทำการส่งในแถบความถี่สูงมาก ส่วนเอเอ็มส่งในแถบความถี่ปานกลาง ธรรมชาติของคลื่นวิทยุในย่านความถี่สูงเสียงรบกวน (Noise) ที่เกิดขึ้นในอากาศจะเข้าไปแทรกในคลื่นเอฟเอ็มได้น้อยกว่าเอเอ็ม และข้อแตกต่างที่สำคัญก็คือ เอฟเอ็มใช้การผสมคลื่นทางความถี่ ส่วนเอเอ็มผสมคลื่นทางแอมปลิจูด หากมีเสียงรบกวนเข้าในเอฟเอ็ม เสียงรบกวนจะเกาะอยู่บนยอดของคลื่นวิทยุไม่สามารถจะแทรกเข้าไปควบคุมให้คลื่นวิทยุถี่บ้างห่างบ้าง และในเครื่องรับวิทยุเอฟเอ็ม มีวงจรตัดเสียงรบกวนที่ติดมาบนยอดคลื่นออก เรียกว่า “วงจรลิมิเตอร์” (Limiter) แต่ระบบการส่งกระจายเสียงเอเอ็มไม่สามารถทำได้ ดังนั้น เสียงรบกวนในเอฟเอ็มจึงมีน้อยกว่าในเอเอ็ม ในกรณีที่เอฟเอ็มมีความชัดเจนสูงคือ เอฟเอ็มใช้ช่องสัญญาณในการส่งกว้างมาก คือ ๒๐๐ กิโลเฮิรตซ์ ส่วนเอเอ็มใช้ช่องสัญญาณในการส่งเพียง ๑๐ กิโลเฮิรตซ์ การใช้ช่องสัญญาณกว้างทำให้สามารถส่งความถี่ของเสียงดนตรีสูงๆ ซึ่งเป็นความถี่ใกล้กับความถี่ ๑๕,๐๐๐ กิโลเฮิรตซ์ ได้ชัดเจนกว่าเอเอ็ม
ในด้านเกี่ยวกับการส่งได้เป็นระยะทางไกลๆ และครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายคลื่นเอเอ็มจะได้เปรียบกว่าเอฟเอ็ม เนื่องจากเอเอ็มใช้การแพร่คลื่นประเภทคลื่นพื้นดิน (Ground Wave) สัญญาณจะเดินจากสายอากาศเครื่องส่งไปยังเครื่องรับในลักษณะขนานไปกับผิวพื้นโลก หากใช้กำลังเครื่องส่งมากๆ จะไปได้ไกลยิ่งขึ้น ส่วนคลื่นเอฟเอ็มส่งไปไม่ได้ไกล เนื่องจากใช้การแพร่คลื่นประเภทคลื่นตรง (Direct Wave) การเดินทางของคลื่นจะมีลักษณะเกือบเป็นเส้นตรง เหมือนการมองของตาจึงทำให้คลื่นเดินทางไม่ไกล เมื่อเปรียบเทียบการลงทุนในการส่งข่าวสารรายการต่อจำนวนผู้ฟังแล้วคลื่นเอเอ็มจะได้เปรียบกว่าคลื่นเอฟเอ็ม
“เครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงเอเอ็ม หมายถึงเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงที่ใช้ในย่านความถี่ ๕๓๕ – ๑,๖๐๕ กิโลเฮิรตซ์” (ระเบียบ กบว. พ.ศ. ๒๕๒๐ ข้อ ๕) ในทางปฏิบัติในการส่งวิทยุกระจายเสียงจะเริ่มที่ประมาณ ๕๔๐ – ๑,๖๐๐ กิโลเฮิรตซ์ และกำหนดให้ความกว้างของช่องสัญญาณของสถานีหนึ่งๆ ไม่เกิน ๑๐ กิโลเฮิรตซ์ การส่งกระจายเสียงในแถบคลื่นนี้จะส่งได้ประมาณ ๑๐๕ ช่อง (๑,๖๐๐ – ๕๔๐) หากสังเกตบนหน้าปัดเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงเอเอ็ม แถบคลื่นปานกลางจะระบุตัวเลขไว้ ๒ แถว คือ แถวบนเป็นตัวเลขบอกความถี่ โยจะเริ่ม ๕๔๐ หรือ ๕๕๐ เรียงไปตามลำดับถึง ๑,๖๐๐ เนื่องจากบนหน้าปัดเครื่องรับวิทยุ พื้นที่เขียนมีจำกัด และเพื่อไม่ให้ตัวเลขยาวเกินไปโดยทั่วไปจึงนิยมเขียนแคตัวเลขจำนวนเต็มเท่านั้น โดยตัดเลข ๐ ท้ายออก เช่น ๖๐ หมายถึง ๖๐๐ กิโลเฮิรตซ์ หรือ ๑๕๐ หมายถึง ๑,๕๐๐ กิโลเฮิรตซ์ และตามปกติ ใต้จำนวนตัวเลขความถี่เหล่านี้จะบอกตัวเลขที่เสดงความยาวคลื่นควบคู่กันไปด้วยเสมอ ตัวเลขของความยาวคลื่น คือ อัตราส่วนของความเร็วคลื่น และความถี่วิทยุ ในปะเทศไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ มีสถานีวิทยุเอเอ็มอยู่ ๒๐๐ สถานี และในกรุงเทพฯ มี ๓๕ สถานี
การส่งวิทยุกระจายเสียงเอฟเอ็ม สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้กำหนดให้ช่องสัญญาณที่ใช้ส่ง หรือความกว้างแถบคลื่น (Band Width) ไว้เป็นสากล คือ ให้ใช้ช่องความกว้างของสัญญาณในการส่งได้ไมเกิน ๒๐๐ กิโลเฮิรตซ์ ซึ่งกว้างกว่าการส่งกระจายเสียงเอเอ็ม (๑๐ กิโลเฮิรตซ์) ดังนั้นในช่องความถี่ระหว่าง ๗๘ – ๑๐๘ เมกะเฮิรตซ์ ส่งเอฟเอ็มได้ถึง ๑๐๐ ช่อง สถานีวิทยุกระจายเสียงเอฟเอ็มที่ตั้งอยู่ห่างไกลกับรัศมีกำลังส่งที่ออกอากาศไปไม่ถึงอาจใช้ความถี่ช่องเดียวกันได้ ดังนั้น สถานีวิทยุกระจายเสียงเอฟเอ็ม ในประเทศหนึ่งๆ อาจมีมากกว่า ๑๐๐ สถานี สำหรับในประเทศไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ มีสถานีระบบเอฟเอ็ม ๒๘๘ สถานี และในกรุงเทพ มีสถานีวิทยุระบบเอฟเอ็ม ๔๑ สถานี แต่และสถานีห่างกัน .๕ MHZ
สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า วิทยุกระจายเสียงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจการเมืองอย่างแท้จริง ลาสเวลล์ (Lasswell) นักวิชาการด้านโฆษณาชวนเชื่อที่รู้จักกันดีเป็นผู้กล่าวว่า “ในภาวะสงครามจะพบความจริงว่า การระดมผู้คนและอาวุธยุทโปกรณ์เท่านั้นยังไม่พอ จะต้องระดมความคิดของผู้คนด้วย” ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลประเทศฯต่างๆ จึงทุ่มทุนมหาศาลในการขยายโครงข่ายวิทยุกระจายเสียงกำลังส่งสูงออกไปทั่วประเทศ และข้ามพรมแดนไปถึงประเทศอื่นๆ ให้ครองคลุมกว้างขวางมากที่สุด “สงครามผ่านคลื่นวิทยุ” จึงดำเนินไปอย่างดุเดือดรุนแรงมากตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และระหว่างการทำสงครามอุดมการณ์ในช่วงสงครามเย็นหลังจากนั้น

๔ เทคโนโลยีโทรทัศน์

ส่วนการแพร่ภาพทางโทรทัศน์นั้น กล่าวได้ว่าเริ่มขึ้นเกือบพร้อมกับการทดลองทางวิทยุ ด้วยเทคโนโลยีที่สืบต่อจากเทคโนโลยีทางด้านวิทยุนั่นเอง ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๘๔ ชาวเยอรมันชื่อ พอล นิพโคว์ (Paul Nipkow) ก็ได้สาธิตให้เห็นการทำงานของ “วิทยุภาพ” (Radio Vision) ซึ่งเป็นชื่อเรียกในครั้งแรก แต่เทคโนโลยีด้านภาพได้รับการพัฒนาช้ากว่า และหยุดชะงักไปในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ หลังสงครามแล้วก็ยังไม่ได้เริ่มต้นในทันทีเหมือนกับวิทยุ เพราะต้นทุนในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ค่อนข้างสูง และต้องรอเวลาให้มีผู้รับมากพอจึงจะคุ้มทุน จนถึงทศวรรษที่ ๑๙๓๐ การแพร่ภาพทางโทรทัศน์ที่แท้จริงจึงได้เกิดขึ้น
บรรษัทกระจายเสียงของอังกฤษ หรือ BBC (British Broadcasting Corporation) ได้เริ่มกิจการด้านโทรทัศน์ในปี ค.ศ. ๑๙๓๖ สหภาพโซเวียตเริ่มกิจการโทรทัศน์ในปี ค.ศ. ๑๙๓๘ สหรัฐอเมริกา ใช้เวลาในการปรับปรุงคุณภาพและตั้งมาตรฐานทางเทคนิคอยู่จนถึงปี ค.ศ. ๑๙๔๑ จึงได้เริ่มต้นขึ้น แต่กิจการของเกือบทุกประเทศก็ต้องหยุดชะงักไปในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ มาเร่งปรับปรุงและฟื้นตัวอย่างรวดเร็วอีกครั้งหนึ่งเมื่อสงรามโลกสงบ
คลื่นความถี่วิทยุสำหรับระบบการส่งวิทยุโทรทัศน์เป็นการส่งสัญญาณแพร่ภาพและเสียงด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Wave) จะโดยวิธีการส่งตามสาย (Cable Television) หรือไปในอากาศ (Broadcasting Television) ก็ตาม ระบบการออกอากาศโทรทัศน์เริ่มนับตั้งแต่กรรมวิธีการแปลงสัญญาณภาพที่กล้องถ่ายโทรทัศน์มองเห็นแปลงให้เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อจะได้ส่งผ่านเครื่องส่งออกอากาศหรือส่งไปตามสายเพื่อไปเข้าเครื่องรับ เมื่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปเข้าเครื่องรับเครื่องรับก็จะแปลงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าให้เป็นภาพอีกทีหนึ่ง การทำงานของภาคส่งสัญญาณและรับสัญญาณนี้จะต้องเป็นระบบเดียวกันจึงจะได้ภาพและเสียงที่สมบูรณ์
ในขั้นตอนการส่งภาพโทรทัศน์นั้น ใช้วิธีส่งด้วยกล้องโทรทัศน์ที่ปรับโฟกัสของเลนส์กล้องให้ชัดที่ตัวคน วัตถุ หรือฉากที่ต้องการถ่าย ซึ่งเรียกว่า Object ภาพที่ถ่ายผ่านเลนส์เข้าไปกระทบพื้นหน้าของหลอดรับภาพภายในกล้องโทรทัศน์ ซึ่งทำหน้าที่แทนฟิล์ม หลอดภาพนี้จะถ่ายทอดภาพที่ปรากฏอยู่ตรงข้างหน้าหลอดอกมาเป็นเส้นกวาดภาพ (Scan) ด้วยจุดสว่างเล็กๆ อย่างรวดเร็วมากเหมือนคนเรากวาดสายตาอ่านหนังสือเป็นบรรทัดๆ จากซ้ายไปขวา ระดับความกระจ่างของจุดเล็กๆ ในเส้นที่กวาดจากภาพจะเร็วมาก ซึ่งทำให้เรามองเห็นภาพต่อเนื่องกันไม่ขาดตอนเมื่อเราเรียกว่าระบบ ๕๒๕ เส้น ก็หมายถึง จำนวนเส้นที่เกิดจากการกวาด (Scan) ของภาพโทรทัศน์
ดังนั้นภาพที่เราเห็นอยู่บนจอโทรทัศน์ (หรือจอภาพยนตร์ก็เช่นกัน) ที่เห็นเคลื่อนไหวได้นั้น แม้ที่จริงประกอบด้วยภาพนิ่งจำนวนมากที่ปรากฏอยู่บนจออย่างต่อเนื่องภาพแล้วภาพเล่า ด้วยความเร็วสูงแต่เป็นคามเร็วที่คงที่ ถ้าเป็นภาพยนตร์จะมีภาพนิ่งปรากฏอยู่บนจอจำนวน ๒๔ ภาพต่อ ๑ วินาที ถ้าเป็นทีวีระบบ ๕๒๖ เส้น จะมีภาพนิ่งปรากฏอยู่บนจอโทรทัศน์ ๓๐ ภาพต่อ ๑ วินาที และถ้าเป็นทีวีระบบ ๖๒๕ เส้น จะมีภาพนิ่งปรากฏอยู่บนจอ ๒๕ ภาพต่อ ๑ วินาที
จำนวนภาพดังกล่าว ภาษาทางเทคนิคใช้คำว่า “เฟรม” เช่น ๒๕ เฟรม ๓๐ เฟรม และไม่นิยมเขียนคำว่า “วินาที” ลงไปด้วย ถ้าเห็นเขียนว่า ๖๒๕ เส้น ๒๕ เฟรม ก็หมายความว่า ใน ๑ เฟรม ประกอบด้วย ๖๒๕ เส้น และใน ๑ วินาที จะมีภาพ ๒๕ เฟรม
โดยทฤษฏีแล้ว จำนวนเส้นกวาดภาพยิ่งมีมากเท่าใด จะทำให้ภาพที่ปรากฏบนหลอดภาพเครื่องรับมีความคมชัดเจน คมชัด เห็นรายละเอียดมากขึ้นเท่านั้น และการกวาดภาพยิ่งมีความเร็วมากเท่าใด (หมายความว่ามีจำนวนเฟรมมาก/ต่อวินาที) ย่อมทำให้ภาพที่ปรากฏหลอดภาพมีความสั่นน้อยที่สุด คือ ภาพจะนิ่งสนิทและไม่กระพริบ


การแบ่งประเภทของระบบโทรทัศน์ ถ้าแยกแยะระบบโทรทัศน์โดยถือเอาความแตกต่างของจำนวนเส้นจะแบ่งได้ ๔ ระบบ คือ
๑.) ระบบ ๔๐๕ เส้น เป็นระบบที่เก่าแก่ที่สุด ชาวอังกฤษเป็นผู้คิดขึ้น และปัจจุบันยังมีใช้อยู่ในประเทศอังกฤษด้วย
๒.) ระบบ ๕๒๕ เส้น มีทั้งสีและขาวดำฒ็มใ ็
๓.) ระบบ ๖๒๕ เส้น มีทั้งสีและขาวดำ
๔.) ระบบ ๘๑๙ เส้น มีเฉพาะขาว-ดำ เท่านั้น
เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีผู้คิดระบบโทรทัศน์ใหม่ขึ้นอีกระบบหนึ่ง แต่กำลังอยู่ระหว่างการทดลอง คือระบบ ๑,๑๒๕ เส้น ซึ่งจะให้รายละเอียดของภาพดีกว่าระบบ ๖๒๕ เส้น หรือ ๕๒๕ เส้น ถึงประมาณ ๒ เท่า
ระบบโทรทัศน์ ทั้งสี และขาว-ดำ มีชื่อเรียกเฉพาะให้สั้นเข้าดังนี้
๑.) ระบบ ๕๒๕ เส้น ขาว-ดำ เรียกว่า ระบบ EIA (The electronic Industry Association Standard)
๒,) ระบบ ๕๒๕ เส้น สี เรียกว่า NTSC (National Television System Committee) ปัจจุบันมีใช้อยู่ใน ๓๔ ประเทศ เช่น พม่า โบลิเวีย แคนาดา คิวบา เอลซัลวาดอร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เป็นต้น
๓.) ระบบ ๖๒๕ เส้น ขาว-ดำ เรียกว่า ระบบ CCIR (Comite’ Condulatief Internationale des Radio Communication)
๔.) ระบบ ๖๒๕ เส้น สี มีชื่อเรียก ๒ ชื่อ คือ ระบบ PAL (Phase Alternation Line) เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีตะวันตก และระบบ SECAM ซึ่งชาวฝรั่งเศสเป็นผู้คิดขึ้น ทั้งสองระบบคิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งเป็นปีเดียวกัน
ระบบ PAL เป็นระบบที่ใช้อยู่ในประเทศไทย และมีใช้อยู่ใน ๕๘ ประเทศ เช่น อัฟกานิสถาน ออสเตรเสีย เบลเยี่ยม บรูไน สาธารณรัฐประชาชนจีน เดนมาร์ก เยอรมนีตะวันตก ฮ่องกง อินโดนีเซีย ไทย อิสราเอล มาเลเซีย ลิเบีย สิงคโปร์ สเปน แทนซาเนีย อังกฤษ ยูโกสลาเวีย แซมเบีย เป็นต้น
ระบบ SECAM มีใช้อยู่ใน ๓๓ ประเทศ เช่น อัลบาเนีย ซาอุดิอาระเบีย บัลแกเรีย อียิปต์ ฝรั่งเศส เลบานอน เฮติ ฮังการี อิหร่าน เกาหลีเหนือ โปแลนด์ เซเนกัล รัสเซีย เป็นต้น
ระบบการเผยแพร่รายการโทรทัศน์ สำหรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ใช้ในการส่งสัญญาณ ภาพและเสียงโทรทัศน์นี้มี ๕ ระบบผ่านคลื่นความถี่แต่ละย่าน ความถี่มีชื่อเรียกแต่ละตัวที่แตกต่างกันดังนี้
๑. ย่านความถี่สูงมาก (Very High Frequency) เรียกย่อๆ ว่า VHF อยู่ในย่านความถี่ ๓๐ – ๓๐๐ เมกะเฮิรตซ์ แบ่งออกเป็นช่อง ๑ – ๑๓ ช่อง (ช่อง ๑ไม่นิยมใช้ส่งเพราะมีความถี่ต่ำมาก) โดยปกติมีความถี่ออกอากาศระหว่าง ๔๘,๓๐๐ เมกะเฮิรตซ์ เป็นย่านความถี่ที่สามารถแพร่ภาพไปได้ในระยะไกลและชัดเจน แต่มีข้อเสียอยู่ตรงที่มีจำนวนช่องน้อย ประเทศไทยส่งสัญญาณในย่านความถี่นี้
๒.ย่านความถี่เหนือสูง (Ultra High Frequency) เรียกย่อว่า UHF อยู่ในย่านความถี่ ๓๐๐ – ๓,๐๐๐ เมกะเฮิรตซ์ แบ่งออกเป็นช่อง ๑๔ – ๘๓ ช่อง รวม ๗๐ ช่อง สามารถส่งสัญญาณไปได้ไม่ไกล ภาพจะไม่ชัดถ้ามีสิ่งกีดขวาง เป็นย่านความถี่ที่จัดไว้สำหรับสถานีทางการศึกษา ประเทศไทยยังไม่ใช้ย่านความถี่นี้ เครื่องรับรุ่นใหม่ส่วนมากจะสามารถรับสัญญาณในย่านความถี่นี้ได้
๓.ย่านความถี่โทรทัศน์ประกอบการสอน (Instructional Television Fixed Device) เรียกย่อว่า ITFD เป็นย่านความถี่ที่สงวนไว้สำหรับโทรทัศน์ประกอบการสอน โดยเฉาพะ อยู่ในย่านความถี่ ๓,๕๐๐ -๓,๕๖๐ เมกะเฮิรตซ์ เป็นการส่งภาพด้วยระบบไมโครเวฟ (Microwave) ระบบนี้ส่งอากาศและรับได้โดยใช้เครื่องรับพิเศษสามารถส่งรายการอกไปยังเครื่องรับของสถานศึกษาหลายๆรายการพร้อมกัน เพื่อแก้ปัญหาโปรแกรมการเรียนการสอนที่มีมากแต่ช่องโทรทัศน์มีจำกัด แต่จะต้องใช้อุปกรณ์พิเศษในการรับสัญญาณโทรทัศน์ ที่ส่งมาด้วยระบบไมโครเวฟ
๔. ย่านความถี่สูงพิเศษ (Super High Frequency) เรียกย่อว่า SHF เป็นการส่งสัญญาณในย่านความถี่สูงมาก คือ อยู่ในย่านความถี่ ๔,๐๐๐ – ๖,๐๐๐ เมกะเฮิรตซ์ ด้วยการแพร่ภาพจากที่สูง เช่น สถานีออกอากาศบนดาวเทียม หรือหอคอยสูง แต่จะนำสัญญาณนี้เข้าเครื่องรับโทรทัศน์ตามบ้านเลยไม่ได้ จะต้องใช้อุปกรณ์แปลงสัญญาณ SHF ให้อยู่ในย่านความถี่ หรือ UHF เสียก่อน สามารถออกรายการพร้อมกันได้ถึง ๘ – ๑๒ ช่อง SHF
๕. การส่งโทรทัศน์ตามสาย (Cable Television) หรือ Community Antonna Television เป็นการส่งสัญญาณภาพไปตามสายแกนร่วม (Coaxial Cable) ไปยังจุดที่ติดตั้งเครื่องรับ ถ้าเป็นชนิดที่ต่อในระบบที่ไม่ใหญ่โต เช่น จากห้องควบคุม (Control Room) ไปยังห้องเรียนต่างๆ เรียกว่า โทรทัศน์วงจรปิด (Closed Circuit Television) เรียกย่อว่า CCTV แต่ถ้าพัฒนาให้ใช้กว้างขวางเป็นระบบใหญ่ เช่น ส่งสัญญาณไปตามหมู่บ้านหรือชุมชนต่างๆ ด้วยสายเรียกว่า โทรทัศน์ตามสาย (Cable Television)

๕. เทคโนโลยีเคเบิลทีวี

เคเบิลทีวี คือ การส่งสัญญาณภาพและเสียง (Video & Audio) เพื่อให้มีการแพร่กระจายออกไปสู่ประชาชนจำนวนมากในลักษณะที่เรียกว่า narrowcasting ซึ่งต่างกับกรส่งสัญญาณของสถานีโทรทัศน์ที่ส่งเป็นลักษณะ broadcasting คือ การแพร่กระจายของสถานีโทรทัศน์เป็นไปในลักษณะที่กว้างขวางกว่าเพราะผู้รับที่มีเครื่องรับทั่วไปสามารถรับได้ ส่วนการส่งสัญญาณภาพและเสียงของเคเบิลทีวีนั้นมีลักษณะที่แคบกว่า เพราะจะส่งไปยังปลายทางที่เจาะจงเฉพาะผู้ที่เป็นสมาชิก ซึ่งจะต้องมีอุปกรณ์พิเศษที่ผู้ส่งติดตั้งไว้ให้ เพื่อรับคลื่นหรือสัญญาณเฉพาะเคเบิลทีวีเท่านั้น
หลักการของ CATV ก็คือ เมื่อสายอากาศภาครับ รับสัญญาณโทรทัศฯจากสถานีได้แล้ว (ก็คืออยู่ในรัศมีที่รับสัญญาณได้) ด้วยวิธีนี้เองทำให้ผู้ที่อยู่นอกรัศมีการส่ง เพราะความโค้งพื้นผิวโลก สามารถนับสัญญาณโทรทัศน์ได้โดยการพ่วงสาย จึงมักเรียกกันว่าเป็นโทรทัศน์ตามสายหรือเคเบิลทีวี นอกจากนี้ในระยะทางที่ไกลออกไปจนเกินศักยภาพของสายส่ง ก็สามารถติดตั้งเครื่องขยายสัญญาณ (R.F Amplifier) เพื่อทำให้สัญญาณสามารถส่งต่อไปได้อีก และเครื่อง R.F Amplifier นี้ สามารถแยกสายพ่วงอกไปได้อีกเป็นทอดๆ กรพ่วงกันเป็นทอดๆ นี้เกิดเป็นวงจรการถ่ายทอดสัญญาณตามสายพ่วงจากอากาศภาครับเสาเดียวไปยังเครื่องรับได้เป็นจำนวนมากและไกลออกไป
ระบบของเคเบิลทีวีนั้นสามารถแบ่งได้ออกเป็น ๒ ระบบ คือ
๑. ระบบสื่อสารสายเดี่ยว ซึ่งแบ่งย่อยออกไปได้อีก ๓ วิธี
๑.๑. วิธีเดินสายตรงจากศูนย์ผลิตรายการโทรทัศน์ไปยังชุมชนเพื่อบริการเฉพาะสมาชิก
๑.๒. การใช้ระบบดาวเทียมติดต่อระหว่างสถานีโทรทัศน์ไปยังชุมชนเพื่อบริการเฉพาะสมาชิก
๑.๓. วิธีการส่งคลื่นความถี่สูงมากๆกระจายจากสถานีเพื่อไปยังชุมชนที่เป็นสมาชิก โดยการติดตั้งเครื่องแปลงสัญญาณภาพให้
๒. ระบบสื่อสารสองทาง ซึ่งเป็นระบบสมาชิกที่สามารถติดต่อกับสถานีโดยตรง ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น ๓ วิธีเช่นเดียวกับระบบแรก และจากระบบการสื่อสารสองทางของเคเบิลทีวีที่เป็นผลพลอยได้ทำให้เกิดเทคโนโลยีชนิดใหม่เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วนั่นก็คือ วีดีโอเท็กซ์ (Video Text) หรือระบบสื่อสารข้อมูลทางเครื่องรับโทรทัศน์
ในเวลาต่อมาก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆจากการกระจายโทรทัศน์ตามสายมาเป็นกระจายสัญญาณโทรทัศน์แบบไม่ต้องใช้สายในระบบ RSTV (Radio Subscription Television System) คือ เป็นระบบส่งสัญญาณแบบไมโครเวฟความถี่ที่ใช้เป็นแบบ MMDS (Multi-channel Multipoint Distribution System) ออกอากาศรอบทิศทางโดยใช้ความถี่ ๒.๕ – ๒.๗ MHZ ความกว้างของแถบคลื่น ๒๐๐ MHZ กำลังเครื่องส่งของสัญญาณภาพ ๑,๐๐๐ วัตต์ของสัญญาณเสียง ๑๐ วัตต์ ครอบคลุมเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ต่อมาเมื่อสถานีไอบีซีรวมกิจการกับยูทีวีเป็นยูบีซี ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้ส่งเคเบิลทีวีด้วยระบบดาวเทียม Direct-to-Home (DTH) พร้อมๆกับทางเคเบิลสายใยแก้ว

๖. เทคโนโลยีดาวเทียม

การสื่อสารดาวเทียม (Satellite Communications) อาจจัดว่าเป็นนวัตกรรมซึ่งยอมรับโดยบุคคลที่มีอำนาจภายในระบบสังคม นวัตกรรมประเภทนี้เป็นผลพลอยได้จากวิวัฒนาการทางด้านวิศวกรรมสองแขนง ซึ่งเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา คือ วิวัฒนาการด้านจรวดและยานอวกาศ และวิวัฒนากานด้านอิเล็กโทรนิกส์ในความถี่ย่านไมโครเวฟ
จุดเริ่มต้นของการสื่อสารดาวเทียมอาจกล่าวได้ว่า เริ่มจากความคิดฝันของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ชื่อ อาเธอร์ ซี คล้าก (Arther C. Clarke) ซึ่งเขียนเรื่องลงในวารสาร Wireless World ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) เขาพยากรณ์ว่า ระบบสื่อสารโดยใช้ดาวเทียมเพียงสามดวง ที่โคจรรอบแกนหมุนของโลกด้วยอัตราความเร็วเดียวกับการหมุนของโลกด้วยอัตราเดียวกับการหมุนรอบแกนโลก ทำให้เปรียบเสมือนค้างนิ่งในท้องฟ้า ดาวเทียมทั้งสามดวงสามารถใช้เป็นสถานีทวนสัญญาณที่จะรับและส่งมายังจุดต่างๆบนพื้นผิวโลก
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ คำพยากรณ์ของอาเธอร์ ซี คล้าก ก็เริ่มเป็นจริงขึ้นมา เมื่อองกรณ์โทรคมนาคมระหว่างประเทศผ่านดาวเทียม หรือเรียกโดยย่อว่า “อินเทลแซท” (INTELSAT) ซึ่งเป็นองกรณ์ระว่างประเทศที่มีประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย ได้เริ่มส่งดาวเทียมเพื่อการสื่อ (Communications Satellite) ชื่อ INTELSAT – ๑ เข้าสู่วงโคจรดาวเทียม INTELSAT – ๑ นี้มีอายุการใช้งานประมาณ ๑ ปีครึ่ง และมีสมรรถนะในการับ-ส่งช่องสัญญาณเสียงได้เพียง ๒๔๐ ช่องสัญญาณ หลังจากนั้นการสื่อสารด้วยดาวเทียมระหว่างประเทศก็ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว
นับถึงต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ปริมาณวงจรโทรคมนาคมที่ติดต่อระหว่างประเทศผ่านดาวเทียม นับรวมได้ทั้งหมดประมาณ ๒๕,๐๐๐ วงจรเสียง ติดต่อระหว่างประเทศทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิกขององกรณ์อินเทลแซท รวมทั้งสิ้นประมาณ ๑๐๐ ประเทศ และอัตราการเพิ่มของสถานีดาวเทียมใหม่ๆ เพื่อติดต่อผ่านข่ายโทรทคมนาคมระหว่างประเทศขององ-กรณ์อินเทลแซทก็มีเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา
หลัง พ.ศ. ๒๕๑๓ ไม่กี่ปี ได้มีการออกแบบระบบสื่อสารดาวเทียม เพื่อกิจการโทรคมนาคมภายในประเทศแคนาดาได้เป็นครั้งแรก และได้มีการพัฒนาโดยการส่งดาวเทียมเพิ่มขึ้น ต่อมาได้มีประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สหภาพโซเวียตรัสเซีย อินโดนิเซีย อัลจีเรีย บราซิล มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ได้เอาระบบสื่อสารดาวเทียมไปใช้เพื่อการโทรคมนาคมภายในประเทศ ปรากฏว่าได้ผลน่าพอใจ
ประเทศอินโดนิเซียได้ส่งดาวเทียมชื่อ “PALAPA” ขึ้นสู่วงโคจรเพื่อให้บริการโทรคมนาคมภายในประเทศเมื่อต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ คลื่นวิทยุที่ส่งจากดาวเทียม “PALAPA” มิได้ครอบคลุมเฉพาะประเทศอินโดนิเซียเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมประเทศในกลุ่มอาเซียน คือ ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ด้วย ประเทศอินโดนิเซียจึงมีความสามารถที่จะให้ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนได้ใช้ประโยชน์จากระบบสื่อสารดาวเทียมนี้
เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์แอนด์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัทฮิวส์ คอมมิวนิเคชั่นอินเตอร์เนชั่นเนล (Hughes Communication International) และบริษัทแอดวานซ์ อิเล็กทรอนิกส์ซิสเต็มอินเตอร์เนชั่นเนล (Advanced Electronics Systems International) ซึ่งสองบริษัทนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทฮิวส์ แอร์คราฟท์ (Hughes Aircraft Company) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการออกแบบสร้างระบบดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติทั้งสองดวงให้แก่ประเทศไทย ดาวเทียม “ไทยคม ๑” จะอยู่ในตำแหน่งเส้นแวงที่ ๗๘.๕ ๐ ตะวันออก ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งเดียวกับกาวเทียม “ไทยคม ๒” โดยแต่ละดวงจะส่งสัญญาณที่มีขั้วของคลื่น (Polarization) ตรงกันข้าม เพื่อป้องกันการรบกวนกันเอง สำหรับเงินลงทุนในการว่าจ้างนั้นจะใช้เงินประมาณ ๒๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ ๕,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในการสร้างตัวดาวเทียมจำนวน ๒ ตัวรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการสถานีควบคุมภาคพื้นดินและค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมบุคลากรที่เป็นผู้ปฏิบัติงานด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อดาวเทียมสื่อสารดวงแรกนี้เป็นภาษาไทยว่าดาวเทียม “ไทยคม” ซึ่งมาจากคำว่า “ไทยคม (นาคม)” ส่วนชื่อพระราชทานภาษาอังกฤษ คือ “THAICOM (munication)”
บริษัทชินวัตร (Shinawatra Computer and Communication CO., Ltd.) หรือที่มีชื่อย่อว่า SC&C เป็นบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมขนาดใหญ่ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศแถบอินโดจีน โดยได้รับสัมปทานจากกระทรวงคมนาคม
ดาวเทียมที่ได้รับพิจารณาให้ใช้คือ ดาวเทียมรุ่น HS-๓๗๖ ซึ่งเป็นรุ่นที่มีน้ำหนักเบา โดยดาวเทียมไทยคมแต่ละดวงจะประกอบด้วยทรานสปอร์เตอร์ที่ใช้ในย่านความถี่ Ku-Band อีกจำนวน ๒ ทรานสปอร์เตอร์ โดยทรานสปอนเดอร์ความถี่ย่าน C-Band นั้น จะมีความกว้างแถบคลื่น ๓๖ MHZ พื้นที่ฟุตปริ๊นท์ของทรานสปอนเดอร์ความถี่ย่าน C-Band นี้ นอกจากจะมีลำคลื่นครอบคลุมประเทศไทยแล้วยังมีส่วนที่ครอบคลุมไปยังประเทศในแถบอินโดจีนทั้งหมด รวมทั้งประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และพื้นที่ฝั่งตะวันออกของประเทศจีน ส่วนทรานสปอนเดอร์ความถี่ย่าน Ku-Band จะมีความกว้างแถบคลื่น ๕๔ MHZ ดาวเทียมไทยคม ๑ และไทยคม ๒ จะมีอายุการใช้งานเป็นเวลาระหว่าง ๑๓ ถึง ๑๕ ปี โดยประมาณ โครงการดาวเทียมแห่งชาติโครงการแรกนี้ บริษัทชินวัตรฯ ได้รับการพิจารณาตัดสินให้ได้รับสัมปทานในการดำเนินกิจการจากกระทรวงคมนาคมเป็นเวลา ๓๐ ปี และหลังจากนั้นก็จะต้องตกเป็นสมบัติของรัฐต่อไป

๗. เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

วิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์สามารถแบ่งได้เป็น ๕ ยุคด้วยกัน คือ
ยุคที่หนึ่ง อยู่ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นยุคของคอมพิวเตอร์ที่ใช้หลอดสุญญากาศซึ่งใช้กำลังไฟฟ้าสูง จึงมีปัญหาเร่องความร้อนและไส้ขาดบ่อย แม้จะมีระบบระบายความร้อนที่ดีมาก การสั่งงานใช้ภาษาเครื่องซึ่งเป็นรหัสตัวเลขที่ยุ่งยากซับซ้อน เครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคนี้มีขนาดใหญ่โต เช่น มาร์ค วัน (MARK I), อีนิแอค (ENIAC), ยูนิแวค (UNIVAC)
ยุคที่สอง อยู่ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นยุคของคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทรานซิสเตอร์โดยมีแกนเฟอร์ไรท์เป็นหน่วยความจำ มีอุปกรณ์เก็บข้อมูลสำรองในรูปของส่อบันทึกแม่เหล็ก ส่วนทางด้านซอฟต์แวร์ก็มีการพัฒนาดีขึ้น โดยสามารถเขียนโปรแกรมด้วยภาษาระดับสูงซึ่งเป็นภาษาที่เขียนเป็นประโยคที่คนสามารถเข้าใจได้ เช่น ภาษาฟอร์แทรน ภาษาโคบอล เป็นต้น ภาษาระดับสูงนี้ ได้มีการพัฒนาและใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน
ยุคที่สาม อยู่ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นยุคของคอมพิวเตอร์ที่ใช้วงจรรวม (Integrated Circuit: IC) โดยวงจรรวมแต่ละตัวจะมีทรานซิสเตอร์บรรจุอยู่ภายในมากมาย ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์จะออกแบซับซ้อนมากขึ้น และสามารุสร้างเป็นโปรแกรมย่อยๆ ในการกำหนดชุดคำสั่งต่างๆ ทางด้านซอฟท์แวร์ก็มีระบบควบคุมที่มีความารถสูงทั้งในรูประบบแบ่งเวลาการทำงานให้กับงานหลายๆ อย่าง
ยุคที่สี่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นยุคของคอมพิวเตอร์ที่ใช้วงจรรวมความจุสูงมาก (Very Large Scale Integration: VLSI) เช่น ไมโครโปรเซสเซอร์ที่บรรจุทรานซิสเตอร์นับหมื่นนับแสนตัวทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กลงสามารถตั้งบนตะในสำนักงานหรือพกพาเหมือนกระเป๋าหิ้วไปในที่ต่างๆได้ขณะเดียวกันระบบซอฟท์แวร์ก็ได้พัฒนาขีดความสามารถสูงขึ้นมาก มีโปรแกรมสำเร็จให้เลือกใช้กันมาก ทำให้เกิดความสะดวกในการใช้งานอย่างกว้างขวาง
ยุคที่ห้า เป็นยุคของคอมพิวเตอร์ที่มนุษย์พยายามนำคอมพิวเตอร์เข้ามาเพื่อช่วยในการตัดสินใจและแก้ปัญหาให้ดียิ่งขึ้น โดยจะมีการเก็บความรอบรู้ต่างๆ เข้าไว้ในเครื่อง สามารถเรียกค้นและดึงความรู้ที่สะสมไว้มาใช้งานให้เป็นประโยชน์ คอมพิวเตอร์ยุคนี้เป็นผลจากวิทยาการด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent: AI) ประเทศต่างๆทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศในแถบทวีปยุโรป กำลังสนใจคว้าและพัฒนาด้านนี้กันอย่างจริงจัง

๘. เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต

อินเตอร์เน็ตมีจุดเริ่มต้นจากการวิจัยทางการทหารของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๗๐ ภายใต้ชื่อโครงการว่า ARPAnet (The Advance Research Project Agency) การวิจัยดังกล่าวเป็นการทดลองสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่สามารถจะทำงานส่งต่อข้อมูลไปได้ถึงแม้ว่าจะมีการขัดของทางเทคนิคหรือการล่มสลายของเครือข่ายภายในบางส่วน หากดูในบริบททาวประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่า ARPAnet ถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้บรรยากาศอันอึมครึมของสงครามเย็น (Cold War) ที่มีอาวุธนิวเคลียร์เป็นภัยคุกคามความรู้สึกนึกคิดของคนในยุคนั้น จุดประสงค์ของการสร้าง ARPAnet ก็เพื่อให้เป็นต้นแบบการสื่อสารทางคอมพิวเตอร์ที่ยืนยงคงทนต่อการโจมตีใดๆ ARPAnet อาศัยหลักการส่งต่อข้อมูลแบบแพ็กเก็ตสวิชชิง (Packet Switching) แบ่งข้อมูล (Data) ที่จะส่งไปในเครือข่ายเป็นส่วนย่อยเล็กๆ ใส่ซองที่เรียกว่า IP (Internet Protocol) Packet ซึ่งจะใส่ที่อยู่ของต้นทางของข้อมูลและปลายทางที่จะส่งข้อมูลไปถึงบนแต่ละซอง เครือข่ายอัจฉริยะ (Intelligent Network) ของอินเตอร์เน็ตจะมีเครือข่ายชื่อว่าเราท์เตอร์ (Router) ทำหน้าที่อ่านที่อยู่บนแต่ละซองแล้วจัดการแบ่งข้อมูลออกเป็นซองย่อยๆ นั้นไปตามเครือข่ายที่โยงใยติดต่อกัน โดยข้อมูล (Data) หนึ่งสามารถถูกแบ่งออกเป็นหลายๆ ซอง และแต่ละซองอาจใช้เส้นทางส่งลำเลียงที่แตกต่างกัน ทว่าในท้ายที่สุดจะทยอยมารวมกันที่ปลายทางโดยมีซอฟท์แวร์ TCP/PI (Transfer Protocol/Internet Protocol) ที่ติดตั้งอยู่ที่เซิร์ฟเวอร์ (Server) ที่ปลายทางเป็นตัวถอดรหัสให้ข้อมูลที่ส่งอยู่ใน IP Packet ออกมาเป็นข้อมูลรูปแบบเดิมที่ส่งมา ทั้งนี้ ตอนที่ข้อมูลถูกส่งมาก็จะใช้ TCP/PI ที่ Server ต้นทางเป็นตัวแปรรหัสให้ข้อมูลสามารถบรรจุได้ใน IP Packet ด้วย
ในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๘๐ อินเตอร์เน็ตเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยทำเรียกชื่อว่า อินเตอร์เน็ต ก็เพิ่งจะมาเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในกลางทศวรรษนี้นี่เอง ในช่วงนี้การใช้อินเตอร์เน็ตเป็นไปในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การสืบค้นข้อมูล การส่งแฟ้มเอกสาร การเข้าถึงฐานข้อมูลและนอกเหนือไปจาก e – Mail ซึ่งนิยมใช้กันมากที่สุด ก่อนหน้านั้นการเชื่อมเครือข่ายย่อยเข้ากับอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา และหน่วยราชการเป็นไปอย่างกว้างขวาง จึงมีการขยายเครือข่ายรากฐาน (Backbone) เพื่อรองรับการขยายตัวดังกล่าว โดยสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Science Foundation หรือ NSF) เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินบรรดาแวดวงคนภายในจึงเรียกอินเตอร์เน็ตว่า NSFNET
ในปี พ.ศ. ๑๙๙๑ มีเครือข่ายที่เชื่อมต่อกับ NSF Backbone อยู่กว่า ๓,๕๐๐ เครือข่าย ทั่วโลก โดยแต่ละเครือข่ายจะเป็นเอกเทศในการจัดหาเงินสนับสนุนและบริหารองกรณ์ภายในตลอดจนการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอื่น ในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ มีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ชื่อว่า Graphic Interface ซึ่งเป็นการปฏิวัติรูปแบบเนื้อหาบนอินเตอร์เน็ตจากตัวหนังสือ (Text) มาเป็นกราฟิก (Graphic) โดยโปรแกรม Graphic Interface ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า Hypertext ดังกล่าวใช้ชื่อ Mosaic และได้รับการพัฒนาขึ้นที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ Mosaic ได้กลายมาเป็นต้นแบบ เวิร์ดไวด์เว็บ (World Wide Web) ที่เป็นรูปแบบหลักการนำเสนอเนื้อหาบนอินเตอร์เน็ตปัจจุบัน
ทางด้านผู้ใช้นอกจากการใช้ในวงการวิจัยการทหารแล้ว นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักศึกษา เป็นกลุ่มผู้ใช้หลักในช่วงแรกๆ ของการพัฒนาการทางอินเตอร์เน็ต จึงไม่น่าแปลกใจว่าอินเตอร์เน็ตจะถูกมองว่าเป็นเครือข่ายของกลุ่มคนชั้นนำของสังคม (Elite Network) ระยะแรก อย่างไรก็ดีเมื่อการใช้ได้แพร่กรายไปกว้างขวางมากขึ้น กลุ่มทางสังคมอื่นๆ เป็นต้นว่า กลุ่มรณรงค์ทางการเมือง กลุ่มเรียกร้องสิทธิเสรีภาพต่างๆ กลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะเรื่อง (กลุ่มผู้บริโภคอาหารมังสวิรัติ กลุ่มนักเขียนเรื่องแฟนตาซีโป๊เปลือย หรือกลุ่มสนับสนุนอาวุธนิวเคลียร์) ก็ได้จัดตั้งเครือข่ายย่อยของกลุ่มตนเองขึ้นโดยในระยะที่อินเตอร์เน็ตยังเป็นตัวหนังสือ (Text) อยู่ จะสร้างเครือข่ายในรูปของกลุ่มข่าวสาร (News Group) โดยใช้โปรแกรมBulletin Broad System ด้วยเหตุนี้วัตถุประสงค์ในการใช้อินเตอร์เน็ตจึงขยายกว้างขวางครอบคลุมทุกหัวข้อความสนใจของมนุษย์ นอกเหนือจากการเป็นเครือข่ายเพื่อการศึกษาและวิจัยแล้ว
มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าก่อนอินเตอร์เน็ตจะพัฒนาสู่ระบบ WWW ผู้ใช้จำนวนมากมองว่าอินเตอร์เน็ตจะเป็นสื่อใหม่ที่นำไปสู่เสรีภาพและอิสระในการแสดงความคิดเห็นแบบที่สื่อเดิมๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ไม่สามารถทำได้มาก่อน เพราะลักษณะของเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในตอนนั้นมีลักษณะการข้ามพรมแดนและข้ามการควบคุมระดับชาติใดๆ อีกทั้งยังไม่เป็นการค้าหรือแสดงลักษณะมุ่งหวังกำไรทางธุรกิจใดๆ อย่างไรก็ดี ความคาดหวังดีกล่าวดูจะเลือนรางลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่ออินเตอร์เน็ตได้เปลี่ยนแปลงสู่รูปแบบเวิร์ดไวด์เว็บ เพราะธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเล็กหรือใหญ่ ระดับชาติหรือระดับข้ามชาติ ต่างก็มองอินเตอร์เน็ตว่าเป็นพื้นที่หรือสื่อใหม่ที่นำเสนอหรือเปิดช่องทางในการพาสินค้าและบริการไปสู่ผู้บริโภค เป็นการใช้เทคโนโลยี Hypertext ของเวิร์ดไวด์เว็บ ทำให้การแสดงสินค้าต่อผู้บริโภคทำได้อย่างหลากหลายและน่าดึงดูดใจ นอกจากนี้การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อการจัดระบบและสื่อสารข้อมูลเพื่อการค้าบนเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ (E - Commerce) ก็ช่วยส่งผลให้อินเตอร์เน็ตกลายเป็นเทคโนโลยีเพื่อการค้าไปโดยปริยาย
ถึงกระนั้นการใช้อินเตอร์เน็ตก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่การศึกษา การวิจัย การค้า หรือการสนองความสนใจเฉพาะของผู้ใช้เท่านั้น คนจำนวนมากที่ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อความบันเทิง เนื่องจากอินเตอร์เน็ตได้พัฒนาเป็นสื่อประสม (Multimedia) อย่างเต็มรูปแบบแล้ว ผู้ใช้จึงสามารถดาวน์โหลด (Download) ข้อมูลในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือ ภาพนิ่ง เสียง ภาพเคลื่อนไหวสู่คอมพิวเตอร์ส่วนตัวได้ วัยรุ่นส่วนมากนิยมดาวน์โหลดเพลงที่ชื่นชอบหรือภาพดารายอดนิยมจากอินเตอร์เน็ต นอกจากนั้นหลายคนยังใช้อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางในการแสวงหาความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่โดยผ่านโปรแกรมอย่าง ICQ (I seek you) Pirch IRC (Internet Relay Chat) และโปรแกรมสนทนาอื่นๆ เช่น Chat room และ Weboard ทั้งนี้ Weboard มีต้นแบบมาจากโปรแกรม BBS ที่กล่าวไปข้างต้น แต่ Weboard จะใช้ง่ายและรวดเร็วกว่า BBS


ที่มา: รองศาสตราจารย์ ดร. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ,รองศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูตร รณะนันทน์
คณะนิเทศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายการอ้างอิง

ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต, (๒๕๔๑). วรรณคดีวิจารณ์ไทย พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๔๕๓. ทอไหมสายน้ำ
๒๐๐ ปีวิจารณ์วรรณคดีไทย . กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด.
ชลิดา เอื้อบำรุงจิต. (๒๕๔๐) . ร้อยปีภาพยนตร์ในประเทศไทย สารคดี ฉบับ ๑๐๐ ปี
ภาพยนตร์ในประเทศไทย.
ลาวัลย์ โชตามระ. (๒๕๐๗). เรื่องอขงหนังสือพิมพ์ไทย. ละครกับฉาก . กรุงเทพฯ :
สำนักพิมพ์คลังวิทยา.
วัลลภ สวัสดิวัลลภ. (๒๕๓๒). หนังสือและการพิมพ์. กรุงเทพฯ : กรมการฝึกหัดครู.
สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ. (๒๕๔๒). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือ
สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา.
เสงี่ยม – วัฒนา เผ่าทองศุข. (๒๕๒๖). วิทยุในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๗ ถึง พ.ศ.
๒๕๒๖ อนุสรณ์ครบรอบ ๕๐ ปีของการแต่งงาน เสงี่ยม – วัฒนา เผ่าทองศุข.
กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์
อำไพ จันทร์จิระ. (๒๕๑๖). วิวัฒนาการการพิมพ์หนังสือในประเทศไทย. กรุงเทพฯ :
สำนักพิมพ์วรรณศิลป์.
Wilson, J., & Wilson, S.L.R. (1998). Chapter 8 Motion Pictures: Cultural Reflections.
Mass Media, Mass Culture: An Introduction. 4th ed. New York: McGraw – Hill.