2553-01-18

แพทย์กับธุรกิจขายตรง

แพทย์กับธุรกิจขายตรง :
ความเป็นปัจเจกบุคคล (Individual) กับความเป็นตัวแทนของสถาบัน (Public figure)

มนุษย์อยู่กันเป็นกลุ่ม มีระบบของสังคมที่สลับซับซ้อนมากกว่าสิ่งที่มีชีวิตอื่น
ใด รวมทั้งมีค่านิยมทางสังคม ศีลธรรม และวัฒนธรรมแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ มาก การตัดสินใจกระทำอะไร ผู้กระทำไม่อาจมองด้านเดียว เพียงแค่ในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคลได้ แต่ต้องพิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบว่า ผู้กระทำนั้นเป็นตัวแทนของสถาบัน (-ในที่นี้หมายถึงกลุ่มบุคคล-) อะไรบ้าง คำว่าตัวแทนสถาบันอาจแปลความได้หลายประการ แต่ในบทความนี้จะหมายถึงการที่บุคคลนั้นเป็นตัวแทน "public figure" ของหน่วยงานหรือองค์กรอันใดอันหนึ่ง
แพทย์เป็นอาชีพหนึ่งที่สังคมยกย่อง และให้เกียรติมาก และการให้เกียรติยกย่องนี้บางครั้งสังคมก็มี "ความคาดหวัง" ต่อบุคคลนั้นมากตามไปด้วย และ สังคมแยกไม่ออกระหว่างตัวบุคคลกับความเป็นวิชาชีพแพทย์ของบุคคลนั้น ดังนั้น แม้ในระหว่างการทำงานปกติ แพทย์คนนั้น ก็จะต้องระมัดระความประพฤติอยู่ตลอดเวลา จะทำตัวนอกรีตนอกรอยไม่ได้ ตัวเองจะปฏิเสธว่า...ไม่ใช่...ฉันไม่ได้เป็นตัวแทนของใคร...ก็คงไม่ได้ เพราะเราได้เข้ามาในวิชาชีพนี้แล้ว การกระทำอะไรก็ตาม ไม่ว่าเป็นการกระทำที่มีผลดี หรือไม่ดี ผลแห่งการกระทำนั้นจะสะท้อนไปถึงความเป็นตัวแทนของสถาบัน (public figure) ของวิชาชีพที่บุคคลนั้นเกี่ยวข้องอยู่เสมอ
เมื่อแพทย์และนิสิตแพทย์ขึ้นปฏิบัติงาน ทั้งในเวลา และนอกเวลา ทั้งในโรงพยาบาล และในวิถีชีวิตส่วนตัว เงาแห่งความเป็นสถาบันวิชาชีพแพทย์จะครอบเราอยู่ตลอดเวลา หากทำอะไรที่ดีงามเราก็ได้ดี และสถาบันวิชาชีพแพทย์ก็ได้ดีได้วย แต่สิ่งนั้นอาจไม่เป็นสิ่งที่สังคมกล่าวถึงมากนัก เพราะเป็นไปตามความคาดหวังของสังคมอยู่แล้ว แต่เมื่อไหร่ ที่แพทย์หรือนิสิตแพทย์ทำอะไรผิด สังคมจะมีปฏิกิริยาตอบสนองค่อนข้างมาก เพราะการกระทำนั้นไป กระทบภาพลักษณ์ของสถาบันวิชาชีพแพทย์และกระเทือนต่อความคาดหวังที่สังคมมีต่อวิชาชีพแพทย์ไปด้วย นิสิตแพทย์ที่แต่งกายไม่เรียบร้อยขึ้นปฏิบัติงาน มักอ้างว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะการขึ้นปฏิบัติงาน นิสิตได้ใช้เอกสิทธิ์ของสถาบันวิชาชีพแพทย์ ไม่ก้าวล้ำในเรื่องส่วนตัว (เช่น ซักประวัติ & ตรวจร่างกายผู้ป่วยทั้งในส่วนลับและส่วนแจ้ง) ไปทำให้เขาเจ็บตัว (เช่น เจาะเลือด, ผ่าตัด) นิสิตแพทย์และแพทย์สามารถทำได้ทุกอย่าง แม้ผู้ป่วยไม่รู้จักกับเรามาก่อน เพราะเขาเชื่อมั่นในสภาบันวิชาชีพแพทย์ และเขามองว่าเราแต่ละคนล้วน เป็นตัวแทน (public figure) ของสถาบันแพทย์ หากแพทย์คนใดประพฤติปฏิบัติตัวไม่เหมาะ ผลเสียไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบุคคลนั้น แต่กระทบไปที่คำว่า " คุณหมอ "ซึ่งเป็น สัญญลักษณ์ของสถาบันวิชาชีพ "แพทย์"ที่เราใช้เป็นสรรพนามนำหน้าชื่อเราไปด้วย
อย่างหลีกเลี่ยงมิได้
แพทย์จะไปดื่มเหล้าเมา กอดเสาไฟฟ้าอยู่ริมถนน ก็ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นสิ่งที่ไปกระทบถึงสถาบันวิชาชีพแพทย์จะไปทำอะไรที่ผิดศีลธรรม หรือ วัฒนธรรมอันดีงาม ก็ไม่เหมาะด้วยหลักการเดียวกัน ตลอดชีวิตนี้ นิสิตแพทย์ และแพทย์ทุกคนมีความอิสระเป็นตัวของตัวเองเพียงไม่ถึงครึ่ง อีกกว่าครึ่งของตัวเราจะมีเงาของความเป็นตัวแทน (public figure) ของวิชาชีพแพทย์ติดตามเราไปด้วยทุก ครั้ง
มันถอนไม่ออก ปฏิเสธไม่ได้ นอกจากบุคคลนั้นจะขอคืนปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตเท่านั้น
หากจะกล่าวเลยไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันก็คือ ปัจจุบันมีนิสิตแพทย์ และแพทย์จำนวนหนึ่งจากโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่โรงเรียนแพทย์ใหญ่ มีรายได้เสริมจากการทำธุรกิจขายตรง ขอเรียนว่า สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะหากว่ารายการสินค้าที่อยู่ในบัญชีของธุรกิจเหล่านั้น บางรายการมีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น แชมพูสระผม อาหารเสริม วิตามิน ครีมทาผิว เครื่องดื่มผสมสาร ก. ข. ค. ฯลฯ เป็นต้น หากแพทย์หรือนิสิตแพทย์เข้าไปเกี่ยวข้องโดยทำธุรกิจขายตรง ก็จะทำให้ผู้บริโภคคือ ประชาชนเกิดความสับสน ประชาชนไม่ได้มองแค่ว่า นาย ก. หรือ นาย ข. เห็นดีเห็นงามกับการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพอาหารเสริมนั้นๆ แต่เขาจะมองว่า "วิชาชีพแพทย์" ที่แฝงอยู่ในตัวนิสิตแพทย์ ก. หรือ นายแพทย์ ข. "เห็นชอบ" กับผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นแล้ว ความคิดคำนึงของประชาชนผู้บริโภคก็คือ ...แม้แต่ "คุณหมอ..." ก็เห็นชอบว่าสินค้ารายการนั้นมีประโยชน์จริงตามหลักวิชาแพทย์... ซึ่งเป็นการใช้เอกสิทธิ์ของ "วิชาชีพแพทย์" ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยปริยาย ทั้งๆ ที่ความจริงแพทย์หรือนิสิตแพทย์ผู้ทำการขายตรง ก็อาจไม่มีข้อมูลที่เป็น evidence-based medicine ที่ยืนยันได้ชัดเจน ปราศจากข้อสงสัยใดๆว่าอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่นิสิตแพทย์ ก. หรือ นายแพทย์ ข. เข้าไปดำเนินงานขายตรงนั้น มีผลดีกว่าการไม่ใช้ สิ่งที่บุคคลในวิชาชีพนำเสนอหลายสิ่งเป็นเพียงความเชื่อที่เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล (Opinion) มากกว่าเป็นความจริง (Fact) ที่ได้รับการพิสูจน์ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และสถิติอย่างถูกต้องแล้ว
บุคคลในวิชาชีพแพทย์ พยาบาล หรือทันตแพทย์ ไม่ควรไปเกี่ยวข้องเป็น นายแบบ-นางแบบโฆษณาให้กับสินค้าต่างๆที่เกี่ยวข้อง.(... หรือแม้แต่ไม่เกี่ยวข้อง...) กับสุขภาพของประชาชน เพราะประชาชนอาจมีความเข้าใจว่าความเห็น ของบุคคลนั้นที่นำเสนอ เป็นความเห็นที่เกิดจากองค์ความรู้ทางวิชาชีพที่ถูกต้อง ได้รับการยอมรับ จากสถาบันวิชาชีพแพทย์ที่คลุมตัวบุคคลนั้นอยู่ อาจถือได้ว่า การประพฤติดังกล่าว เป็นการ ใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ( abuse ) จากความเป็นสถาบันวิชาชีพแพทย์เพื่อประโยชน์ส่วนตน โดยปริยาย
ขอเน้นว่า ไม่ว่าแพทย์หรือนิสิตแพทย์จะทำอะไร จะคิดอะไรก็ตาม มีหลักพึงสังวรณ์ และต้องตอบคำถามให้ได้ 3 ข้อ
ข้อที่ 1 คือ ด้านนิติธรรม หมายความว่า ถูกหรือผิดกฎหมายหรือไม่?
ข้อที่ 2 คือ ด้านศีลธรรม คุณธรรม และศาสนา หมายความว่า ถูกต้องเหมาะสม
ตามหลักศาสนา หรือศีลธรรมของสังคมนั้นๆ หรือไม่?
ข้อที่ 3 คือ ด้านจริยธรรม และวัฒนธรรม หมายความว่า การกระทำนั้นเหมาะสมในแง่ความ ประพฤติ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ หรือไม่? การประกอบธุรกิจขายตรง ขายอาหารเสริม ขายฯลฯ ที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน อาจไม่ผิดกฎหมาย แต่หากมองว่า สิ่งนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ในเชิงคุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรมของวิชาชีพแพทย์ ? คำตอบก็คือ ไม่ถูกต้อง จะมองอย่างไรก็ไม่ถูกต้อง และเป็นเรื่องการมีผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจน
ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อเตือนสติแก่นิสิตแพทย์ และแพทย์ทั้งหลายว่า ตราบชั่วชีวิตนี้เราจะไม่มีความเป็นส่วนตัวมากนัก เพราะเราต่างเป็น public figure ของวิชาชีพแพทย์ การทำอะไรต้องระมัดระวังทั้งกาย-วาจา-ใจ เราได้รับการยอมรับจากสังคมสูงกว่าอาชีพอื่นๆ โดยอัตโนมัติก็จริง แต่ในทางกลับกันเราก็มีกฎเกณฑ์ที่ต้องประพฤติต้องระมัดระวังในการปฏิบัติสูงกว่าอาชีพอื่นๆ เช่นกัน เพราะสังคมคาดหวังจากบุคคลในวิชาชีพแพทย์นี้สูงมาก หากผิดจากความคาดหวังทีไร...เป็นเกิดเรื่องทุกที และเวลาเกิดเรื่อง ความไม่ดีจะไม่ลงมาที่ตัวเราเท่านั้น แต่มันกระทบไปที่สถาบันวิชาชีพแพทย์ทั้งหมดโดยปริยาย สถาบันวิชาชีพแพทย์ได้รับการยกย่องจากสังคมมานาน เพราะแพทย์รุ่นพี่ๆ ได้ประกอบคุณงามความดีมากมาย สั่งสมกันมา จึงเป็นหน้าที่ และความรับผิดชอบของแพทย์รุ่นปัจจุบันทุกคน จะต้องช่วยกันทะนุถนอม และรักษาไว้ ทำให้สถาบันวิชาชีพแพทย์นี้ดีขึ้น เพื่อส่งต่อไปให้รุ่นถัดไป
.............แพทย์ทุกคน เป็นตัวแทนของสถาบันวิชาชีพ ไม่ควรไปยุ่งกับธุรกิจการขายตรง
ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า
12 มกราคม 2553

รายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงทุจริตไทยเข้มแข็งกทสธ.

เผยรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงทุจริตไทยเข้มแข็งกระทรวงสาธารณสุขโดยละเอียด
Fri, 01/08/2010 - 21:13 | by thitinob

หลัง การเปิดโปงอย่างต่อเนื่องของชมรมแพทย์ชนบท โดยเฉพาะนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ ตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2552 เป็นต้นมาต่อกรณีงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 86,685.61 ล้านบาท ทำให้ความร้อนของการตรวจสอบจากสาธารณะนั้นเพิ่มอุณหภูมิไปทั้งกระทรวงและ รัฐบาล กดดันให้นายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่งตั้ง นพ.บรรลุ ศิริพานิช อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง

จากการทำหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวอย่างจริงจังแม้จะเงียบลึก แต่เมื่อผลการสอบสวนปรากฏสู่สาธารณะ ก็ได้สร้างความชัดเจนในกระบวนการเตรียมการทุจริตงบไทยเข้มแข็งว่าใครคิดจะทำ กันอย่างไร อีกทั้งยังชี้มูลชัดเจนว่า มี 4 นักการเมืองและ 8 ข้าราชการระดับสูงที่ต้องรับผิดชอบในการเตรียมการทุจริตในครั้งนี้ (ดังรายละเอียดตามไฟล์แนบทั้งหมด)

ผลการสอบสวนดังกล่าวเป็นเหตุให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย แห่งพรรคประชาธิปัตย์ต้องรับลาออกจากตำแหน่งไป ทว่ารัฐมนตรีช่วย นายมานิตย์ นพอมรบดี แห่งพรรคภูมิใจไทย ยังรีรอหวังจะอยู่ต่อและยังสร้างเงื่อนไขทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล แต่ด้วยแรงกดดันจากสาธารณะ เชื่อว่าไม่นานนี้คงไม่สามารถดื้อแพ่งต่อได้

การตรวจสอบอย่างเข้มแข็งอย่างหนักจากสาธารณะไม่ควรหยุดที่ การเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง หรือเปิดช่องหใเกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจของข้าราชการประจำ แต่ต้องไปไกลถึงการรื้อโครงการไทยเข้มแข็ง เพื่อจัดสรรทรัพยากรให้มีประโยชน์และคุ้มค่า นำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ ให้ประชาชนเข้าถึงระบบและการบริการสุขภาพอย่างเท่าถึงและเป็นธรรม

โดยภาคประชาชนจำนวนหนึ่งจะไม่ยอมให้ "ผลการสอบสวนฯ" นี้ เป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่มเข้าฉกฉวยผลประโยชน์จากความอ่ออนแอทางโครงสร้าง สังคมและ "การไร้สมรรถภาพการบริหารจัดการของกระทรวงสาธารณสุข" ดังนั้น ในวันที่ 11 มกราคม 2553 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอเชิญสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ เข้าร่วมฟังการเสวนาในกิจกรรม ราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 1/2553 “ถามหา มาตรฐาน จากทุจริตยา ถึง ไทยเข้มแข็ง?” เวลา 13.00 - 15.00 น. ห้องประชุม 1 (ชั้น 2) ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน (ตรงข้าม รพ.วชิระ) กรุงเทพฯ

วิทยากร ได้แก่

* น.พ. เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท
* รสนา โตสิตระกูล วุฒิสมาชิก
* ดร. นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้ดำเนินรายการ

* สาลี อ๋องสมหวัง มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค

รายละเอียดโทร. 02-668-9422


แนะนำเนื้อหาใกล้เคียง บริการโดย: Roti (alpha)

* รมว. สาธารณสุขลาออกหลังสอบทุจริตไทยเข้มแข็ง ส่วน รมช. กำลังดูท่าที
* คลังแจงกฎเหล็ก คุมเข้มทุจริตงบฯ ไทยเข้มแข็ง
* หากประเทศไทยเราไม่มีการทุจริตคอรัปชั่น
* สาธารณสุข เผยวัยรุ่นไทยตั้งท้องปีละกว่า 1 แสนคน
* 90 ปี การสาธารณสุขไทย เพื่อคนไทยสุขภาพดี

Attachment Size
Attachment Size
1.รายงานสอบสวนฉบับที่ 1_ภาพรวม.pdf 334.72 KB
2.บทสรุปผู้บริหารผลการสอบสวนสิ่งก่อสร้าง.pdf 91.34 KB
3.รายงานสอบสวนกรณีสิ่งก่อสร้าง.pdf 250.51 KB
4.บทสรุปผู้บริหารครุภัณฑ์การแพทย์.pdf 87.81 KB
5.รายงานสอบสวนครุภัณฑ์การแพทย์.pdf 190.82 KB
6.รายงานสอบสวนกรมการแพทย์.pdf 119.53 KB
7.รายงานสอบสวนรถพยาบาล800คัน.pdf 86.79 KB
8.บทสรุปผู้บริหารUVfan.pdf 101.63 KB
9.รายงานสอบสวนUVfan.pdf 317.53 KB
10.รายงานสอบซื้อรถตู้ให้รมว.สธ..pdf 74.97 KB

รายละเอียดตามนี้ http://www.thitinob.com/node/92