2552-06-19

ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ (2009)

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
……………………..

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2552 ที่ห้องประชุมแพทยสภา อาคาร 6 ชั้น 7
ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา พร้อมด้วย ประธานราชวิทยาลัยต่าง ๆ แพทย์หญิงประสบศรี อึ้งถาวร อุปนายกแพทยสภา นาวาอากาศเอก(พิเศษ) นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา และกรรมการแพทยสภา ร่วมกันแถลงข่าว จากปรากฏการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จนทำให้บางโรงเรียนต้องปิดเรียน ประชาชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาการของโรค การปฏิบัติตัว หรือการฉีดวัคซีน ตลอดจนการเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรักษาเพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนกกับ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ไปกว่า 70 ประเทศ เป็นเวลาเกือบสองเดือน แพทยสภาและราชวิทยาลัยต่าง ๆ ได้รวบรวมข้อมูลพอจะสรุปถึงไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ดังนี้
ผู้ที่ติดเชื้อจะเกิดอาการและความรุนแรงเหมือนไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดตามฤดูกาล การ
ติดต่อเกิดจากการติดจากคนไปยังคน โดยการไอหรือจาม (เชื้อจากการไอหรือจามไปได้ไม่เกิน 1 เมตร )
ระยะฟักตัว 1 - 4 วัน อาจนานถึง 7 วัน
ระยะที่แพร่เชื้อ ก่อนมีไข้หนึ่งวันจนถึงมีอาการแล้ว 7 วัน
อาการของโรค เป็นไข้ ปวดศีรษะ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน รับประทานอาหารได้น้อยลง อาการหอบ ส่วนใหญ่หายเองใน 3-5 วัน
โรคแทรกซ้อน ที่สำคัญคือ ปอดบวม ไซนัสอักเสบ หูน้ำหนวก กล้ามเนื้ออักเสบ หัวใจอักเสบ ชัก ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
ผู้ที่มีโอกาสมีโรคแทรกซ้อนมากกว่าคนปรกติ คือ
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะต่ำกว่า 2 ปี
- ผู้สูงอายุเกิน 65 ปี
- หญิงมีครรภ์
-
คนที่มีโรค ปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคตับ โรคทางระบบประสาท โรคเลือด โรคเบาหวานอยู่ก่อน
- คนที่มีภูมิต้านทานต่ำหรือกินยากดภูมิต้านทานอยู่
- เด็กที่กินยาแอสไพรินอยู่
- คนที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชราหรือบ้านพักคนที่เป็นโรคเรื้อรัง
สิ่งที่ควรทำเพื่อลดการแพร่กระจายและลดการป่วยคือ
- ติดตามข้อมูลข่าวสาร
- ใช้กระดาษทิชชูปิดปากปิดจมูกเวลาไอหรือจาม เมื่อใช้แล้วควรทิ้งในถังขยะ
- ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หลังจากไอหรือจาม (ใช้แอลกอฮอลล์เช็ดก็ได้)
- หลีกเลี่ยงการสัมผัส ตา จมูก ปาก ถ้าจะสัมผัสต้องล้างมือก่อน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- ถ้าท่านป่วยเป็นไข้หวัดควรพักอยู่บ้านประมาณหนึ่งสัปดาห์
ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด ควรพักผ่อนอยู่ที่บ้าน กินยาแก้ไข้แก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ห้ามใช้ แอสไพรินในเด็ก ดื่มน้ำมากๆ แยกตัวเองในห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี หลีกเลี่ยง
การเข้าใกล้ผู้อื่น เมื่อมีการระบาดมากแบบในปัจจุบัน ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ เพราะผลการรักษาไม่แตกต่างกัน ยารักษาไวรัสโดยทั่วไปไม่จำเป็นเพราะโรคหายเองยกเว้นกลุ่มเสี่ยง และคนที่ต้องป่วยจนเข้าโรงพยาบาลหรือปอดบวม ผู้ป่วยควรไปโรงพยาบาลต่อเมื่อ มีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย กินน้ำและอาหารไม่ได้ อาเจียนมาก ซึม ชัก เด็กงอแงมาก เจ็บหน้าอก มึนงง สับสน อาการไข้หวัดดีขึ้นแล้วกลับมีไข้ขึ้นมาใหม่
ระบาดวิทยา จากข้อมูลในสหรัฐฯและเม็กซิโก ร้อยละ 75-80 เป็นในคนอายุต่ำกว่า 30 ปี ผู้มีอายุเกิน 60 ปี ประมาณหนึ่งในสามมีภูมิต่อโรคนี้ วัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบันไม่ป้องกันเชื้อโรคนี้ ในผู้สูงอายุเมื่อได้วัคซีนปัจจุบันบางรายอาจมีภูมิต่อเชื้อสายพันธุ์ใหม่ขึ้นเล็กน้อย
ข้อเสนอแนะ ประชาชนควรตระหนักถึงวิธีการป้องกัน แต่อย่าตระหนกจนเกินเหตุ
แพทย์อย่าฉวยโอกาส ทำให้ประชาชนแตกตื่น ตรวจหาเชื้อและใช้ยาโดยไม่จำเป็น การใส่หน้า กากตามท้องถนนไม่จำเป็น ควรใส่เฉพาะผู้ที่ป่วย ไอ หรือจาม หรือบุคคลที่เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย จากข้อมูลในต่างประเทศการปิดโรงเรียนไม่ช่วยนอกจากในห้องเรียนมีผู้ป่วยมากกว่าสองคนขึ้นไปอาจต้องปิดเฉพาะห้อง การทำความสะอาดในบ้านที่มีผู้ป่วย กระดาษทิชชูที่ใช้แล้วควรทิ้งลงขยะ แล้วล้างมือทำความสะอาด โต๊ะในห้องนอน ห้องน้ำ ของเล่นเด็กด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้ตามบ้านทั่วไป เสื้อผ้า จานชามสามารถซักและล้างเช่นเดียวร่วมกับผู้อื่นได้โดยใช้ผงซักฟอกและน้ำยาล้างชามทั่วไป