2552-12-29

ผลสอบ SP2 ฟัน “วิทยา-มานิต” เปิดช่องโกง ส่อพันฮั้วรถพยาบาล พ่วง ขรก.8 ราย

ผลสอบ SP2 ฟัน “วิทยา-มานิต” เปิดช่องโกง ส่อพันฮั้วรถพยาบาล พ่วง ขรก.8 ราย
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 28 ธันวาคม 2552 16:03 น.

เมื่อเวลา 14.00 น. นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานคณะกรรมการสอบสวนการทุจริตโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข แถลงผลการสอบสวนว่า ในภาพรวมการจัดตั้งงบประมาณของโครงการนี้ มีพฤติกรรม และพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า ส่อไปในทางที่ทำให้เกิดการทุจริตจริง

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การขอตั้งงบประมาณสิ่งก่อสร้าง ครุภัณฑ์การแพทย์ และรถพยาบาล มีความผิดพลาดมากมาย การกระจายตัวไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ราคาตั้งไว้สูงเกินจริง ซึ่งส่อเจตนาการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

ในส่วนของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นเหตุให้เกิดความบกพร่องผิดพลาด ส่อไปในทางที่ทำให้เกิดทุจริต แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ข้าราชการประจำ และนักการเมือง สำหรับข้าราชการประจำ ได้แก่ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข, พญ.ศิริพร กัญชนะ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, อดีตผู้อำนวยการกองแบบแผน และเจ้าที่ในกองแบบแผน ที่มีส่วนในการตั้งงบประมาณสิ่งก่อสร้างที่สูงเกินจริง, นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์

นพ.สุชาติ เลาบริพัตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารสาธารณสุขภูมิภาค, นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถือว่ามีความบกพร่องในหน้าที่, นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และนพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 6

ส่วนข้าราชการการเมือง ได้แก่ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากไม่สามารถปัดความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้บริหาร ถือว่ามีส่วนเปิดช่องทางให้มีการทุจริต

นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการไทยเข้มแข็ง แต่มีพฤติกรรมก้าวก่าย ล้วงลูก กดดัน ให้มีการจัดสรรงบประมาณเกินจำเป็น ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งตัวเองเป็น ส.ส.

นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีความเกี่ยวข้องในภาพรวมของโครงการไทยเข้มแข็ง และรถพยาบาลฉุกเฉิน และ นพ.กฤษฎา มนูญวงศ์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเกี่ยวโยงในเรื่องการจัดซื้อเครื่อง UV Fan

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ได้มีข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีมีการทบทวนโครงการไทยเข้มแข็งใหม่ทั้งหมด และให้มีการสอบสวน ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่รับราชการ และเกษียณราชการไปแล้ว ที่มีส่วนกระทำการเข้าข่ายความผิด เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง และในส่วนของนักการเมืองให้ปฏิบัติตามกฎเหล็ก 9 ข้อ ที่เคยมีการประกาศก่อนหน้านี้ ในเรื่องความสุจริตของนักการเมือง


http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000159467


“วิทยา” โต้ผลสอบ SP2 บอกแน่จริงต้องมีหลักฐาน ครวญโดนวางยา ทั้งที่ยังไม่จ่ายซักบาท
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 28 ธันวาคม 2552 19:10 น.

นายวิทยา แก้วภราดัย
“วิทยา” โต้ผลสอบไทยเข้มแข็งไม่สุจริต ยันบาทเดียวก็ยังไม่ได้จ่าย อย่ากล่าวหาลอยๆ แบบทางการเมือง ซัดตั้งข้อหาส่อทุจริตกล่าวหาร้ายแรงสุดในทางการเมือง บอกแน่จริงต้องมีหลักฐาน อ้างวันชี้แจงกรรมการฯพูดอีกอย่าง ยันไม่สร้างภาระให้กับนายกฯแน่ พร้อมย้ำสื่อเองต้องไม่กดดันให้ต้องยอมรับตามคณะกรรมการฯสอบด้วย เชื่อหลังจากนี้เกิดแรงเสียดทานกดดันให้ลาออกนี้ ถามรังเกียจอะไรถึงต้องการเขี่ยพ้น สธ. งงบอกไม่เคยล้วงลูกแต่ถูกวางยา เตรียมเข้าแจงนายกฯก่อนประชุมครม.อังคารนี้ ลั่นไม่ทำให้พรรค-นายกฯเสียหายแน่ ครวญตกเป็นจำเลยสังคม ลั่นถ้ากรรมการผิดก็ต้องรับผิดชอบด้วย

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีมีข้อร้องเรียนการทุจริตในโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข มูลค่ากว่า 8.67 หมื่นล้านบาทส่อทุจริตว่า ตรงนี้เป็นข้อแถลงที่ตนสงสัย เพราะวันที่ตนไปชี้แจง หมอบรรลุเองเป็นแจ้งกับตนว่า ตนไม่อยู่ในข่ายที่จะสงสัย และข้อเท็จจริงคำว่า ส่อไปในทางทุจริตหรือไม่สุจริตนั้น เป็นถ้อยแถลงที่ตนยืนยันว่า ผมเสียหายแน่ ข้อเท็จจริงก็คือ กระทรวงสาธารณสุขจัดทำโครงการไทยเข้มแข็ง เมื่อมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า โครงการนี้อาจจะมีบางรายการที่อาจจะมีการเตรียมการทุจริต ตนก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด บุคคลที่เป็นคณะกรรมการสอบคือคุณหมอบรรลุ และท่านพล.ต.อ.ประทินเอง ตนเป็นคนเสนอนายกรัฐมนตรีเป็นคนสอบ ระหว่างการสอบกระทรวงสาธารณสุขก็ยุติโครงการทั้งหมดนี้ เพราะฉะนั้น ไม่แน่ใจว่า รายละเอียดที่คณะกรรมการสอบ แล้วบอกว่าส่อไปในทางไม่สุจริตของตนคืออะไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการระบุว่ารัฐมนตรีเปิดช่องให้มีการทุจริต นายวิทยา กล่าวยืนยันว่า ยังไม่มีการทุจริต เพราะว่าไทยเข้มแข็งยังไม่ได้จ่ายซักบาท เมื่อถามต่อว่า ตอนนี้มีการเรียกร้องจากหมอบรรลุให้นายกฯใช้กฎเหล็ก 9 ข้อกับรัฐมนตรีว่า ความรับผิดชอบทางการเมืองต้องอยู่เหนือความรับผิดชอบทางกฎหมาย นายวิทยา กล่าวว่า ตนต้องการดูรายละเอียดว่า ตนเอื้อการทุจริตตรงไหน

“เพราะไม่ใช่กล่าวหาลอยๆ อย่างทางการเมือง ผมคิดว่า ผมมีความรับผิดชอบเพียงพอ และยืนยันกับพี่น้องประชาชนในเบื้องต้นว่า โครงการของกระทรวงสาธารณสุขบาทเดียวยังไม่ได้จ่ายไปเลย เพราะผมไม่อาจจะรู้ความในใจของใครว่า มีใครเตรียมการทุจริต เพราะการเตรียมการเป็นการเตรียมการในใจ คณะกรรมการรู้ถึงความในใจคนบางคนก็กรุณาบอก” นายวิทยา กล่าว

เมื่อถามว่า มีการระบุเกี่ยวกับโครงการหลายโครงการว่า ตั้งงบประมาณสูงเกินจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการก่อสร้าง ครุภัณฑ์ งบประมาณกระจุกตัวไม่ได้กระจายไปอย่างที่ควรจะเป็น นายวิทยา กล่าวว่า ต้องดูรายละเอียด ถ้าเป็นเรื่องของค่าก่อสร้างก็มีหน่วยงานของกระทรวงเป็นคนอ้างอิงในการตั้งขึ้นมา ไม่ใช่รัฐมนตรีหรือใครไปสั่งการได้ ทุกหน่วยงานมีการตรวจสอบ ยืนยันว่า ไม่ว่าราคาจะตั้งไว้ยังไงก็ตาม มันเป็นการตั้งโดยคณะกรรมการที่ร่วมกันรับผิดชอบ ส่วนวิธีการเวลาจัดซื้อจัดจ้าง มันต้องเป็นไปตามเกิดจากสภาพความเป็นจริง การทุจริตยังไม่เกิด ตนไม่อาจทายใจใครได้ว่า ใครจะทุจริต

ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่ถ้าปล่อยไปโครงนี้ คุณหมอบรรลุถึงกับระบุถึงขณะบอกว่า แทนที่ไทยจะเข้มแข็ง ประเทศชาติจะอ่อนแอ นายวิทยา กล่าวว่า ตนต้องการรายละเอียดว่าโครงการอะไร เมื่อถามต่อว่า จะเดินหน้าโครงการไปได้อย่างไร นายวิทยา กล่าวว่า ตนคิดว่ายังเดินหน้าโครงการไม่ได้ เพราะว่าต้องชี้ให้ชัดว่า เกิดอะไรขึ้น ในกระทรวงก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นทบทวนราคาทั้งหมด และกรรมการที่ตั้ง ก็เป็นตั้งแต่เป็นแพทย์ชนบทไล่ไปทุกคน ตนก็รอทบทวนให้เสร็จถึงจะอนุมัติโครงการ เมื่อถามว่า มีจุดตรงไหนที่คิดว่ารัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบ นายวิทยา กล่าวว่า ต้องการดูรายละเอียด เพราะคำว่า “ผมกระทำการส่อไปในทางไม่สุจริตเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมากในทางการเมือง ถ้าการทุจริตยังไม่เกิด คณะกรรมการกล้ากล่าวอ้างอย่างนั้น ผมคิดว่า ต้องมีหลักฐานให้ผม” นายวิทยา กล่าว


เมื่อถามว่า หมายถึงว่าวันนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคณะกรรมการฯ นายวิทยา กล่าวว่า ยืนยันว่า คำว่าส่อไม่สุจริตเป็นการกล่าวหารุนแรง เพราะการทุจริตยังไม่เกิด และได้ใช้ทุกมาตรการในการเริ่มต้นในการบริหารโครงการเช่น โครงการทุกโครงการในกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานใดได้หน่วยงานนั้นจะเป็นคนจัดซื้อจัดจ้างเอง จะไม่มีการโยกมาไว้ที่ส่วนกลางเพื่อให้ฝ่ายการเมืองไปล้วงลูก เพราะฉะนั้นยกตัวอย่างเราจะซื้อรถพยาบาล 800 คัน ทุกโรงพยาบาลจะเป็นคนจัดซื้อจัดจ้างเอง อันนี้ได้ให้การและยืนยันต่อคณะกรรมการฯชัดเจน เมื่อถามต่อว่า คิดว่าเรื่องนี้จะชี้แจงต่อนายกรัฐมนตรีอย่างไรบ้าง รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ขอดูรายละเอียดเอกสารที่คณะกรรมการฯชี้มาก่อน และตนก็พร้อมที่จะชี้แจงนายกรัฐมนตรีตลอดเวลา เพราะว่าเป็นคนเสนอตั้งคณะกรรมการสอบเรื่องนี้เอง ไม่มั่นใจตนไม่เสนอ โดยจะเข้าชี้แจงนายกรัฐมนตรีก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 29 ธ.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าเกิดไม่มีการับผิดชอบมันเหมือนกับว่าไม่รับฟังผลของคณะกรรมการฯที่ตั้งขึ้น นายวิทยา กล่าวว่า ตนขอรับฟังในรายละเอียด และยืนยันว่า วันที่ไปชี้แจงต่อกรรมการฯ ทางกรรมการพูดกับตนอีกอย่าง เมื่อถามต่อว่า จะใช้เวลาอีกนานแค่ไหนในการดูรายละเอียดและพิจารณา นายวิทยา กล่าวว่า เดี๋ยวได้อ่านครบหมดในวังอังคารที่ 29 ธ.ค.นี้ก็จะดำเนินการได้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องอ่านทั้ง 4 กว่าหน้าที่มอบให้กับนายกฯหรือไม่ นายวิทยา ย้อนถามว่า กี่หน้านะ ผู้สื่อข่าวบอกว่า มี 4,733 แผ่น นายวิทยา ย้อนถามว่า สรุปผลสอบนะ ผู้สื่อข่าวบอกว่า ใช่ ท่านจะดูทั้งหมดเลยไหม นายวิทยา ได้แต่หัวเราะ

“ผมยืนยันขั้นต้นว่า คำว่าไม่สุจริตคือต้องมีการทำให้เกิดความเสียหาย ความบกพร่องที่บอกว่า ผมบกพร่องด้วยอะไรก็ตาม ณ วันนี้ยืนยันให้ประชาชนสบายใจได้ว่า ยังไม่มีความเสียหายต่องบประมาณแผนดิน เมื่อคนในกระทรวงบอกว่า มีคนบางส่วนกระเตรียมการทุจริต ผมก็ตั้งคณะกรรมการฯและให้ทุกคนมาร่วมกันสอบ และสั่งยุติโครงการทุกโครงการ วันนี้ไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้ออกสตางค์ เพราะฉะนั้นคำว่าไม่สุจริตเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง ผมจะไม่ทำให้พรรคและรัฐบาลเสียหาย แต่ต้องการข้อเท็จจริงก่อน” นายวิทยา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะที่เป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ถ้าคิดในเชิงบริหารความรับผิดชอบต้องอยู่ตรงไหน นาบวิทยา กล่าวว่า คิดว่าถ้าไปรู้เห็นเป็นใจด้วยกับการทุจริต ถ้าเกิดข้าราชการ 2 แสนกว่าคนทุจริต แล้วบอกว่า ตนต้องทุจริตด้วย ตนเข้าใจว่าเป็นการพูดแบบการเมืองมาก สตางค์ทั้งหมด 8 หมื่นกว่าล้าน เราก็ตั้งหลักด้วยความระมัดระวังก็คือ จะไม่รวบโครงการทั้งหมดมาไว้ จะกระจาย มีคนรวมรับผิดชอบ จะกระจายให้ทุกคนรับผิดชอบ ทุกอำเภอที่ได้ร่วมกันรับผิดชอบ เมื่อมีข้อครหาว่า โครงการมีคนบางคนเตรียมทุจริต ก็สั่งยุติโครงการทั้งหมด และตั้งกรรมการฯทบทวน จนถึงคณะกรรมการฯชุดนี้

เมื่อถามว่า หมายถึงว่า ในความรับผิดชอบทั้งหมด รัฐมนตรีคิดว่าเท่านี้เพียงพอแล้วเท่าที่ทำมาในการสอบการทุจริต นายวิทยา กล่าวว่า ไม่อาจใช้มาตรการที่เข้มแข็งมากกว่านี้ได้ ใครก็ทำไม่ได้มากกว่านี้ เมื่อถามต่อว่า ที่ระบุว่าเป็นการกล่าวหาทางการเมืองที่ร้ายแรงเกินไป มีอะไรที่ทำให้มองแบบนั้น รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า คำว่าไม่สุจริต ตนก็ต้องการราละเอียดว่า ตนไม่สุจริตตรงไหน เพียงแต่มีใครบางคนเตรียมที่จะทุจริต แล้วตนไม่สุจริต อันนี้กล่าวหาตน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่อยู่ในตำแหน่งต่อไปโดยที่ยังไม่มีการตัดสินใจรับผิดชอบ จะกลายเป็นภาระไปกดดันนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า ตนไม่สร้างภาระกับนายกรัฐมนตรี และไม่อยากให้สื่อกดดันให้ตนต้องยอมรับตามคณะกรรมการฯทั้งหมด เพราะว่าวันนี้ทราบจากเพราะสื่อแจ้งข่าว เมื่อถามต่อว่า หวั่นหรือไม่ว่า จะเกิดแรงเสียดทานตามมาและแรงกดดันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ นายวิทยา กล่าวว่า เกิดแน่ และตนก็ต้องการคำตอบว่า “ทำไมเขารังเกียจไม่อยากให้ผมอยู่ในกระทรวงนี้ ที่นี้มันมีอะไรกันมากกว่านั้น” เมื่อถามว่า หมายความว่าได้ตั้งข้อสังเกตว่า มีปัญหาในส่วนของข้าราชการที่ต้องการเขี่ยการเมืองออกมาจากตำแหน่ง นายวิทยา กล่าวว่า มีความรู้สึกอย่างนั้น เมื่อถามว่า อะไรทำให้รู้สึกอย่างนั้น นายวิทยา กล่าวว่า ยืนยันว่า มาถึงวันนี้การทุจริตยังไม่ได้เกิด และกรรมการฯสอบตนไปก็บอกว่า ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เวลาผลสรุปออกมากับว่าเกี่ยวข้อง จึงอยากได้รายละเอียดว่า ใครเตรียมการทุจริต ถ้าตนไม่รู้อะไรซักอย่างแล้วมาบอกว่าตนไม่สุจริตเป็นการกล่าวหา

เมื่อถามว่า บอกได้หรือไม่ว่า กรรมการฯท่านไหนที่บอกว่าท่านไม่ได้อยู่ในข่ายที่จะมีปัญหาการทุจริต นายวิทยา กล่าวว่า ท่านประธานเอง และตนขอเทปบันทึกคำพูดของผมมา เมื่อถามต่อว่า คิดว่ามีเหตุผลอะไรที่ประธานบอกว่าท่านไม่ผิดแต่มาวันนี้บอกว่าผิด นายวิทยา กล่าวว่า หลักต้องตั้งต้นว่า ถ้ามีการทุจริตกันจริง ก็ต้องร่วมรับผิดชอบ ขณะนี้โครงการไทยเข้มแข็งยังไม่ได้ทุจริต มันมีบางโครงการที่ส่อไปในทางไม่สุจริต เราก็ยุติทั้งหมด เมื่อถามว่า บริหารงานมา 1 ปี มีปัญหาความขัดแย้งอะไรกับข้าราชการถึงขั้นมีการวางยา นายวิทยา กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะไม่เคยไปล้วงลูกงานราชการ เราให้เกียรติทุกคน ยืนยันไม่มีคิดอาจเอื้อมไปทุจริตโครงการไทยเข้มแข็ง ว่าตนไปเป็นเรื่องๆ เลย ถ้าตีอย่างนี้ตนก็ตอบไม่ได้ ผลสอบออกมาวันนี้ก็ยังประหลาดใจ พูดลอยๆ ทางการเมืองพูดได้ แต่พูดในทางปฏิบัติราชการถ้าตนบกพร่องก็ต้องบกพร่องถ้าหากจริง

“ทุกเรื่องยืนยันโครงการไทยเข้มแข็งทุกโครงการต้องยุติหมด และผมจะไม่ยกเลิกแม้แต่โครงการเดียว จนกว่าจะสอบได้ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ผมไม่มีหน้าที่ไปยกเลิกเฉยๆ และคงต้องคุยกับรมช.สาธารณสุข ผมมีหน้าที่อะไรต้องไปล้วง และคณะกรรมการฯได้นำเอกสารมายืนยันกับผมว่า ตอนหลังมีการยืนยันว่าไม่จริงในที่ประชุม ผู้เขียนเอกสารเองยืนยันว่าผมไม่เคยสั่ง ท่านประทินเป็นคนยื่นเอกสารให้ผมดูในที่ประชุมเอง เรื่องนี้ทุกคนต้องรับผิดชอบ และทุกคนต้องรับผิดชอบ ถ้าผมผิดบกพร่องผมรับผิดชอบ กรรมการผิดก็ต้องรับผิดชอบ เรื่องนี้ผมตกเป็นจำเลยสังคม ต้นทุนต่ำกว่านักการเมือง กล่าวแบบนี้ผมหนักใจและผมจะตกเป็นจำเลยสังคมทันที ”นายวิทยา กล่าว

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000159645

2552-12-28

ปากคำ"แพทย์"เหยื่อพริตตี้ กลยุทธ์ขายยาล้ำ"จริยธรรม"

ปากคำ"แพทย์"เหยื่อพริตตี้ กลยุทธ์ขายยาล้ำ"จริยธรรม"
27 ธันวาคม พ.ศ. 2552 10:08:00



"ปากกา กระดาษ กระดาษทิชชู " ติดป้ายยี่ห้อยาของบริษัทแห่งหนึ่งวางเรียงบนโต๊ะ ทำงานของแพทย์หนุ่ม ขณะที่ตัวเขาสาละวน เร่งรีบกับการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วย ตัวแทนบริษัทยาแห่งหนึ่ง ขอเข้าพบหลังทำงาน
ไม่นานหลังจากนั้นห้องทำงานของแพทย์หนุ่ม เริ่มมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่เอี่ยม ทีวี จอใหญ่ ดูทันสมัย รวมไปถึงอุปกรณ์การทำงานอื่นๆ ในห้องที่ล้วนมีที่มาจากการสนับสนุนของบริษัทยาแห่งหนึ่งทั้งสิ้น
"ผมปฏิเสธขนาดไม่ยอมรับแม้กระทั่งปากกาที่มาจากบริษัทยา" นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ แพทย์จากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ บอกด้วยน้ำเสียงหนักแน่น ว่าจะไม่ตกเป็นเหยื่อกลยุทธ์การขายยา ของบริษัทยาด้วยการ ขายตรงพร้อมของรางวัลให้แก่แพทย์

รายงานโดย ดวงกมล สจิรวัฒนากุล

ปัญหาการส่งเสริมการขายยาที่หมิ่นเหม่กับจริยธรรมแพทย์ กลายเป็นปัญหาซับซ้อน ซึ่งกลายมาเป็นวาระของสมัชชาสุขภาพที่ต้องมาร่วมถกเถียงเพื่อวางกรอบที่เหมาะสมระหว่าง การให้ของบริษัทและการรับของแพทย์
นพ.ประเสริฐ เล่าถึงกลยุทธ์การขายยาที่เขามีเคยประสบการณ์ จนกลายเป็นคนหนึ่งที่ปฏิเสธรับของจากตัวแทนบริษัทยาทุกชนิดเพื่อไม่ให้รู้สุกติดค้าง และเป็นอิสระในการตัดสินเลือกใช้ยา
เขาเล่าว่า กลยุทธ์การขายยาของตัวแทนบริษัทยา มีตั้งแต่ของขวัญ ไม่ว่าจะปากกา กระดาษ กระดาษทิชชู อุปกรณ์คอมพิวเตอร์จนถึงทีวี และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ในห้องพักแพทย์ต่างๆ มีการสนับสนุนจากบริษัทยาโดยตลอด แม้ว่า ตามหลักเกณฑ์ของขวัญที่ให้ไม่เกิน 3,000 บาท แต่ไม่มีความหมายเพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของ แต่เป็นการให้ต่อเนื่องตลอดเวลามากกว่า
แน่นอนการมอบของขวัญมักจะแฝงมากับผลประโยชน์การขาย และมีการบวกเพิ่มในราคายาที่จำหน่าย เช่นเดียวกับการสนับสนุนอาหารกลางวัน หากแพทย์ต้องการจัด luncheon การจัดหรือเชิญประชุมวิชาการทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นในหรือต่างประเทศ บริษัทยาไม่เพียงแต่สนับสนุนงบประมาณเท่านั้น แต่ยังให้การดูแลแพทย์เป็นอย่างดี สร้างความเคยชิน แต่สิ่งที่น่าวิตกที่สุด คือ แพทย์รุ่นน้อง นักศึกษาแพทย์ ต่างคิดว่าเป็นเรื่องของน้ำใจและเยื่อใยที่มีต่อกัน
“ผมเคยไปประชุมวิชาการแพทย์ด้านโรคหัวใจที่กรุงปราก ประเทศเชโกสโลวะเกีย ด้วยเงินทุนของผมเอง มีอาจารย์แพทย์เข้าร่วมจำนวนมาก และทุกคนต่างทักผมว่า มากับบริษัทยาอะไร ผมได้แต่ตอบว่าเปล่า” นพ.ประเสริฐ กล่าว
การให้จากบริษัทยา การสนับสนุนเงินทุนประชุมวิชาการให้กับแพทย์ กลายเป็น น้ำใจ ที่แสนธรรมดา ที่ก้าวล่วงเส้นแบ่งทางจริยธรรม ที่วงการแพทย์ต้องหันมาถกเถียงมากขึ้น ว่าเส้นบางๆ ที่เรียกว่า อะไรคือความเหมาะสม
นพ.ประเสริฐ บอกว่า ทางออกก็มีอยู่ โดยรัฐบาลและโรงพยาบาลต้องมีนโยบายการพัฒนาบุคลากรที่ชัดเจน และงบประมาณที่แพทย์พัฒนาวิชาชีพตนเองได้ ทั้งการจัดประชุมวิชาการแพทย์ และการให้งบเข้าร่วมประชุมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์รุ่นน้องๆ ทำให้ไม่ต้องขวนขวายจากบริษัทยา เช่นเดียวกับงบประมาณดูแลแพทย์ ห้องพักแพทย์ ซึ่งใช้เงินไม่มาก ไม่จำเป็นต้องรับของจากบริษัทเหล่านี้
ไม่เพียงการจู่โจมแพทย์เท่านั้น หากกลยุทธ์ส่งเสริมการขายที่บริษัทยายังรวมไปถึงการนำตัวอย่างยามาไว้ที่ห้องยา และให้ผู้ป่วยลองใช้ ซึ่งแพทย์ก็สั่งจ่ายด้วยความหวังดี แต่ปัญหาเกิดขึ้นหลังจากตัวอย่างยาหมด และมักเป็นข้อโต้เถียงในคณะกรรมการยาของโรงพยาบาลถึงความจำเป็นในการสั่งยาที่เป็นตัวอย่างยา ด้วยเหตุผลว่าผู้ป่วยต้องใช้ยาเหล่านี้ ดังนั้นจึงต้องไม่ให้มีตัวอย่างยาเข้ามาในห้องยา
นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า มี 3 กรณีที่เขายอมไม่ได้และเคยมีประสบการณ์ คือ 1.การรับค่าตอบแทนเป็นเงินสดจากบริษัทยาเพื่อแลกกับยอดขายยาในโรงพยาบาลที่สูงขึ้น ซึ่งเคยมีผู้แทนยาบางบริษัทนำซองเงินมอบให้เขาเพื่อให้สั่งยามาไว้ในโรงพยาบาล 2.เภสัชกรทำหน้าที่เป็นเซลขายยา (พริตตี้ขายยา) เพราะเป็นวิชาชีพไม่ใช่อาชีพต้องมีจรรยาบรรณ
และ 3.อาจารย์แพทย์บางคนเป็นต้นแบบในการตอบรับน้ำใจจากบริษัทยา แถมยังสอนเทคนิคเพื่อให้ยอดสั่งยาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่วิตกมากที่สุด ความเสียหายที่ตามมาก็จะประเมินค่าไม่ได้เพราะแพทย์รุ่นน้องจะเห็นเป็นเรื่องปกติและทำตาม
นพ.ประเสริฐ ยืนยันว่าเรื่องเหล่านี้จะต้องถูกแก้ไข หากต้องการจัดประชุมวิชาการเรื่องยา และถือเป็นเรื่องการพัฒนาบุคลากร ซึ่งโรงพยาบาลต้องชัดเจนทั้งเป้าหมาย และงบประมาณ อย่าทำให้แพทย์รุ่นน้องที่ต้องการพัฒนาตนเอง ต้องขวนขวายหาทุนที่จะพัฒนากันเอง
"เราไม่อยากเห็นการอบรมเป็นเพียงแค่การพักร้อนกินกาแฟ แต่เราอยากได้วิชาการ ส่วนการประชุมใน จังหวัดท่องเที่ยว แค่ทำเรื่องประชุมให้ชัด ท่องเที่ยวให้ชัด แต่ทุกวันนี้มีการจัดประชุมแต่ไม่ค่อยเข้าร่วมประชุม แต่จะเห็นรถ บริษัทยาจะไปจอดอยู่ที่สถานที่ท่องเที่ยวมากกว่า"
นพ.ประเสริฐ บอกว่า ควรมีกองทุนให้แพทย์ไปประชุมวิชาการต่างประเทศ ไปนำเสนองานวิจัยต่างประเทศ จะได้ไม่เกิดปัญหาและข้อครหาว่าไปเพราะได้รับการสนับสนุนจากบริษัทยา เพราะปัจจุบันยอมรับว่า การเดินทางไปต่างประเทศของแพทย์ โดยบริษัทยามีหนักข้อขึ้นทุกวัน จึงควรทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน
ประสบการณ์ของ นพ.ประเสริฐไม่แตกต่างจาก นพ.ชนินทร์ ลิ่มวงศ์ แพทย์ประจำสาขาวิชาเวชพันธุศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์และหน่วยอณูพันธุศาสตร์ สถานส่งเสริมการวิจัย คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ซึ่งเขาบอกว่า กลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทยา มีต้นแบบมาจากโรงเรียนแพทย์ เพราะฉะนั้น โรงเรียนแพทย์ควรเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาด้วย
"ที่ผ่านมาศิริราชพยายามแก้ไขปัญหาโดยกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายยาให้กับแพทย์ว่า จะต้องสั่งจ่ายเฉพาะยาที่มีอยู่ในห้องยาเท่านั้น และการสั่งนำเข้าหรือถอดรายการยาออกห้องยานั้น จะมีคณะกรรมการยาโรงพยาบาลดูแลอยู่ เข้มงวดมาก"
ในส่วนของเภสัชกร หากบริษัทยาใดต้องการเสนอยาใหม่ ให้ส่งเอกสารข้อมูลเท่านั้น ไม่มีการเจอซึ่งหน้า ยกเว้นกรณีการจัดอบรมความรู้ด้านยาใหม่ๆ ซึ่งโรงพยาบาลเป็นผู้จัด โดยเชิญผู้แทนยาจากบริษัทยามาให้ความรู้ โดยจะจัดขึ้นในทุกเดือน
นพ.ชนินทร์ กล่าวว่า การควบคุมเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะสำหรับแพทย์นั้นยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะแพทย์มีเวลาไม่แน่นอน แต่ที่แน่นอนคือแพทย์จะต้องเจอผู้แทนยา ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกเวลาราชการ ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนไม่สามารถบอกได้ แต่ข้อมูลที่ผู้แทนยานำเสนอนั้นอาจทำให้เกิดความอคติในการสั่งจ่ายยาของแพทย์ ถ้าข้อมูลที่ได้รับมาไม่รอบด้านเพียงพอ
"ส่วนการเดินทางไปประชุมวิชาการในต่างประเทศของแพทย์นั้น อยากให้ศิริราชมีนโยบายเปิดเผยข้อมูลของอาจารย์แพทย์ว่า ในแต่ละปีเดินทางไปประเทศอะไรมาบ้าง ปีละกี่ครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส แต่เรื่องนี้ถกในคณะกรรมการบริหารมา 5 ปีแล้ว ไม่มีใครทำได้ " นพ.ชนินทร์ บอก
นพ.ชนินทร์ เล่าแบบบ่นๆ ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นก็กลุ้มใจไม่แพ้ อ.ประเสริฐ จึงอยากกระตุ้นให้ช่วยเหลือกัน เพราะ ยาไม่เพียงแต่เป็นสินค้าที่ทำกำไร ดังนั้นนโยบายยา เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของผู้บริหาร
ขณะที่ ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ประเทศอื่นๆ ต่างประสบปัญหาเช่นกัน ดังนั้นก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลกจึงได้พัฒนาหลักเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาเพื่อให้ประเทศต่างๆ นำไปปฏิบัติ ขณะที่ประเทศไทยในเวทีการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้มีกระบวนการจัดทำ “ยุทธศาสตร์เพื่อยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม” ขึ้นแล้ว
"ที่ประชุมได้มอบให้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลางกระทรวงการคลัง จัดตั้งคณะกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วนที่ไม่มีส่วนได้เสียกับธุรกิจยาทั้งในและต่างประเทศเพื่อทำหน้าที่จัดทำหลักเกณฑ์ควบคุมการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม และพัฒนาเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ พร้อมทั้งให้มีการจัดทำระบบรายการส่งเสริมการขายของบริษัทยาผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ดังกล่าว"
ดังนั้น ถึงเวลาที่แพทย์ บริษัทจะต้องมียุทธศาสตร์ การส่งเสริมการขายยาที่ต้องมีเส้นแบ่งของจริยธรรม ซึ่งห้ามล่วงละเมิดซึ่งกันและกัน รวมไปถึง ปากกา ถ้วยกาแฟ บนโต๊ะทำงาน ต้องชัดเจนว่า กลยุทธ์การขายยา หรือ น้ำใจ ที่ให้กันและกัน
ไทยนำเข้ายา2แสนล้าน
ปัญหาค่าใช้จ่ายด้านยาในประเทศที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมากในระยะหลายปีที่ผ่านมา ปี 2548 มีมูลค่ายาขายปลีกสูงถึง 1.86 แสนล้านบาท และปี 2552 นี้อาจมากกว่า 2 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 42% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ กลับมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านยาเพียง 10-20% เท่านั้น และเมื่อมองย้อนกลับไปยังพบว่า อัตราการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านยายังสูงกว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ ระหว่างปี 2543-2548 ค่าใช้จ่ายด้านยามีอัตราเพิ่มอยู่ที่ร้อยละ 13-20 ขณะที่การเจริญเติบโตเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 2.2-7.1 เท่านั้น
เมื่อดูค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล ทั้งระบบสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และบัตรทอง (หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) พบว่า ระบบสวัสดิการข้าราชการมีค่าใช้จ่ายมากที่สุด ปี 2551 สูงถึง 5.49 หมื่นล้านบาท ดูแลคนเพียง 5 ล้านคน ขณะที่อีก 2 ระบบนั้น รวมกันแล้วมีค่าใช้จ่าย 98,700 คน ดูแลคนถึง 57 ล้านคน ซึ่งค่าใช้จ่ายระบบสวัสดิการข้าราชการที่พุ่งขึ้นนั้น สาเหตุสำคัญมาจาก “ค่ายา” โดยเฉพาะผู้ป่วยนอก ที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของการเบิกจ่าย
ด้วยเหตุนี้...ทาง “แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา” และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ติดตามวิเคราะห์หาสาเหตุการใช้ยาที่เพิ่มขึ้นของคนไทย สรุปได้ว่า
นอกจากการทุ่มโฆษณาทั้งทางตรงและการใช้โฆษณาแฝงเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ยาแล้ว (เฉพาะโฆษณาที่สู่ผู้บริโภคในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2549-2551 มีมูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท) ยังเกิดจาก “การส่งเสริมขายยาที่ขาดจริยธรรม” ส่งผลต่อการใช้ยาที่ฟุ่มเฟือยและเกินความจำเป็น
การส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมเป็นปัญหาซับซ้อน ใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อดึง “แพทย์” ซึ่งเป็นกลุ่มวิชาชีพช่วยเพิ่มยอดขายยา โดยตอบแทนด้วยผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม ที่หมิ่นเหม่ต่อจริยธรรมแพทย์ มี “ผู้แทนยา” ทำหน้าที่สร้างความสัมพันธ์กับแพทย์
อย่างเพื่อน อย่างพี่ อย่างน้อง ที่มีผลประโยชน์แอบแฝง ซึ่งผลการวิจัยในต่างประเทศสรุปชัดว่า หากผู้แทนยาบริษัทใดมีความสนิทสนมกับแพทย์มากกว่าผู้แทนยาจากบริษัทอื่น โอกาสที่แพทย์จะสั่งยาจากบริษัทของผู้แทนคนดังกล่าวย่อมมีมากตามไปด้วย
ที่ผ่านมาพบว่าค่าใช้จ่ายในการโฆษณายาของไทย มีมูลค่าสูงมาก โดยมีการโฆษณาจากหลายรูปแบบ ทั้งผ่านอินเทอร์เน็ต วิทยุชุมชน รายการสุขภาพ คอลัมน์ตอบปัญหาสุขภาพ และการโฆษณาแฝง รวมไปถึง การโฆษณายาสู่ผู้ประกอบวิชาชีพ
จึงไม่น่าแปลกใจ หากเห็นผู้แทนยาเหล่านี้เข้าออกโรงพยาบาลเดินตามแพทย์เป็นว่าเล่น บ้างถือถุงของขวัญ ของชำร่วย อาหารและขนมขบเคี้ยว นอกจากข้อมูลและตัวอย่างยา โดยเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงเรียนแพทย์ที่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน นั่นหมายถึงยอดในการสั่งจ่ายยาด้วย
การส่งเสริมการขายที่ขาดจริยธรรมในประเทศไทย ยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการควบคุม โดยที่ผ่านมา หลายกรณีที่การขายส่อไปในทิศทางที่ขาดจริยธรรมคือการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างแพทย์ และตัวแทนขายยา หรือภาษาแพทย์เรียกว่า การยิงยา เพื่อแลกกับการสั่งยาบางกลุ่มที่ไม่จำเป็นหรือยาราคาแพง
รายงานจากองค์การอนามัยโลก ที่ว่าด้วยการติดตามความโปร่งใสของระบบยา 4 ประเทศ พบว่า ความโปร่งใสของการขึ้นทะเบียนยา การคัดเลือกยา และการจัดหายา ของไทยยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีนัก และมีการกำหนดการที่จะตรวจสอบการส่งเสริมการขายยาในประเทศไทยอีกด้วย
ปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีกฎหมายการควบคุมการส่งเสริมการขายยาโดยตรง ส่วนกฎหมายที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอ และไม่ทันเหตุการณ์ ส่วนสภาพวิชาชีพแพทย์แม้มีเกณฑ์จริยธรรมและจรรยาบรรณ แต่ไม่ครอบคลุมเรี่องการส่งเสริมการขายยา หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมยา
นอกจากนี้กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการโฆษณายาที่ไม่ทันสมัย บทลงโทษที่ไม่แข็งแรง จึงถึงเวลาแล้วที่ประเทศจะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์การขายยาที่เหมาะสม เพราะการขายยาที่ไม่เหมาะสมไม่ได้มีปัญหาเฉพาะยาราคาแพง แต่ท้าทายปัญหาทางจริยธรรม ความน่าเชื่อถือที่มีต่อแพทย์ เภสัชกร และบุคลากรสาธารณสุข

--


กรณีต้องการอ่านการสานเสวนาย้อนหลัง โปรดไปที่กลุ่มสานเสวนานี้โดยคลิกที่
http://groups.google.co.th/group/thaiemp?hl=th หรือ http://groups.google.co.th/group/thaiemp/topics

2552-12-18

ธรรมาภิบาล'ยา'

ธรรมาภิบาล'ยา'
By thaipost
Created 13 Dec 2552 - 00:00
ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี

มันไม่ใช่แค่เรื่องของราคาแพง ไม่ใช่เรื่องของการใช้ไม่ถูกต้อง มันเป็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นแพทย์ด้วยว่าความไว้วางใจ ความเชื่อถือจะลดลงถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะฉะนั้นเรื่องของส่งเสริมการขาย เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราเรียกว่าธรรมาภิบาลระบบยา
วิธีส่งเสริมการขายของบริษัทยา ทั้งพาหมอทัวร์ต่างประเทศ หรือ ผู้แทนยา (detail) แต่งตัวใกล้เคียงพริตตีเข้าพบหมอในโรงพยาบาล เป็นที่รับรู้ของสังคมจนเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่มันได้กัดกร่อนระบบสาธารณสุขในเมืองไทยอย่างคาดไม่ถึง นอกจากทำให้เกิดการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม และสร้างความไม่เป็นธรรมในระบบสุขภาพแล้ว ผลกระเทือนที่สำคัญที่สุดคือ การสั่นคลอน 'จริยธรรม' ของวงการแพทย์ เพราะก่อให้เกิดการ 'ต่อรองผลประโยชน์' และปรากฏการณ์ที่เรียกว่า 'ยิงยา'

ในฐานะผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.นิยดา ได้นำเสนอประเด็นนี้สู่สาธารณะอยู่เนืองๆ แต่ด้วยผลประโยชน์มหาศาลระหว่างธุรกิจยากับบุคลากรทางการแพทย์ ความพยายามจึงยังไม่ค่อยเป็นผล

ครั้งนี้ ดร.นิยดา เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในกำหนดแนวทางการยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม หนึ่งประเด็นหลักที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะผลักดันสู่คณะรัฐมนตรี ดังนั้นจึงหวังว่าน่าจะได้เห็น 'เกณฑ์จริยธรรม' ในไม่ช้านี้
ศักดิ์ศรีถูกลดทอน

"การส่งเสริมการขายแบบขาดจริยธรรมมันทำให้การใช้ยามากขึ้น ใช้ไม่จำเป็น ใช้ไม่เหมาะสม คุณหมอมงคล ณ สงขลา ที่เป็นประธานคณะทำงานชุดนี้ ที่เราเสนอเรื่องเข้าไปประมาณเดือน พ.ค. ฟอร์มทีมกัน 6-7 หน่วยงาน เสนอ agenda ไปที่สมัชชาสุขภาพ วุ่นๆ อยู่ ก็เชิญหมอมงคลมา ท่านน่ารักมาก บอกเลยว่าเรื่องนี้ต้องจัดการ และมันไม่ใช่แค่เรื่องของราคาแพง ไม่ใช่เรื่องของใช้ไม่ถูกต้อง มันเป็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นแพทย์ด้วย ว่าความไว้ใจความเชื่อถือจะลดลงถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ และคุณหมอบอกถึงขั้นว่ามันมีคอรัปชั่นในเรื่องของการจัดซื้อด้วย เพราะฉะนั้น เรื่องส่งเสริมการขายมันเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราเรียกว่า 'ธรรมาภิบาลของระบบยา' ซึ่งธรรมาภิบาลของระบบยามันต้องดูหลายมิติ ตั้งแต่ส่งเสริมการขาย เรื่องของการวิจัย R&D เรื่องของการคัดเลือกบัญชียาหลัก เรื่องของการจัดหายา ส่งเสริมการขาย มันเป็นมิติหนึ่งของธรรมาภิบาลระบบยา"

"ที่จริงเราติดตามเรื่องนี้มานานแล้วตั้งแต่ปี 2531 อ.สำลี (ใจดี) เป็นผู้เชี่ยวชาญ ไปประชุมที่ไนโรบี ทำเรื่องเกณฑ์จริยธรรม องค์การอนามัยโลกเขาทำคู่มือเสร็จ เขาก็ไปเข้าที่ประชุมสมัชชาอมามัยโลก เขาก็รับรองเรื่องนี้มา พวกเราก็ตามขับเคลื่อนมาตลอด องค์การอนามัยโลกเองเขาก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ มีการติดตามมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงล่าสุดเขาเสนอถึงขั้นว่า เรื่องของส่งเสริมการขายควรจะต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายด้วย อันนี้คือล่าสุดที่เขาเสนอกันมา ถ้าจะว่าไปแล้วในสหรัฐอเมริกาก็มีความพยายามเยอะของการควบคุมเรื่องพวกนี้ โดยโรงพยาบาลและโดยกลุ่มแพทย์ออกกฎหมายมาหลายฉบับ ล่าสุดก็คือ Sunshine Act กำลังจะออก ก็จะควบคุมในเรื่องการให้รางวัลแพทย์ พาแพทย์ไปเที่ยว แจกของขวัญ เลี้ยงอาหาร ให้มีการควบคุมกันมากขึ้น ให้มีการเปิดเผยกันมากขึ้น"

หมายความว่าสามารถทำได้ แต่ว่าต้องรายงานอย่างโปร่งใส

"มันมีหลายแบบ เนื่องจากอเมริกามีกฎหมายแต่ละรัฐ บางรัฐบอกห้ามส่งเสริมการขายเลย บางรัฐบอกว่าคุณต้องแจ้ง ขณะที่บางประเทศอย่างอังกฤษเอง เขาก็เข้มงวดนะ พาไปเลี้ยงใหญ่โตไม่ได้เลย อย่างมากก็แค่ปากกา ขณะที่บ้านเราบอกว่าโดยจรรยาแพทย์ได้รับของหรือเงินไม่เกิน 3,000 บาท เดิมคุณหมอธีรวัฒน์เคยเสนอไว้ 500 บาท ถูกกลุ่มแพทย์ด่ากระเจิง ในที่สุดก็อยู่ที่ 3,000 เท่ากับข้าราชการ (การแก้ไขข้อบังคับจริยธรรมวิชาชีพของแพทยสภาในปี 2549 โดยระบุให้แพทย์รับของขวัญจากบริษัทยาได้เฉพาะเมื่อมีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท)"

"ประเด็นก็คือมันมีอยู่ 2 ส่วน คือส่วนที่ผู้บริโภคถูก convince เอง กับสอง-คือส่วนที่แพทย์ถูกกระตุ้น ส่วนผู้บริโภคก็แน่นอนที่เขาจะใส่ความเชื่อว่ายานอกดีกว่ายาใน ยาแพงดีกว่ายาถูก หรือรวมทั้งในต่างประเทศเองเขาก็จะ convince ว่าคุณต้องไปเอายาตัวนี้สิ สมมติยารักษาโรคนี้มันมีตัวยาหลายรูปแบบ หลายกลไกการออกฤทธิ์ เขาก็จะ convince ว่าตัวนี้ดีกว่าตัวโน้น ก็ทำให้ที่สหรัฐอเมริกาเองเขาก็โฆษณากับประชาชนได้เลย โรคหัวใจต้องกินตัวโน้นตัวนี้ เพราะฉะนั้นผู้บริโภคก็จะไปเรียกร้องกับหมอ หรือสอง-ในเมืองไทยยาหลายๆ ตัวซื้อเองได้ นั่นก็คือการไปกระตุ้นกับผู้บริโภค"

"ส่วนการไปกระตุ้นกับแพทย์ หลายคนมีการพูดว่ามันต้องมีสองมือประกบกัน ก็คือผู้เสนอ-บริษัทยา กับผู้สนองก็คือแพทย์ หรือเภสัชกร หรือคนที่จ่ายยาก็แล้วกัน เพราะว่ามันจะมีคนที่มีอำนาจจ่ายยาแตกต่างกัน แพทย์จะจ่ายได้ทุกอย่าง ถัดไปก็คือเภสัชกรจ่ายได้ในยาอันตรายต่างๆ ยาสามัญประจำบ้าน ยาควบคุมพิเศษต้องมีใบสั่งแพทย์ ยาอันตรายนี่ก็เยอะแล้ว พยาบาลก็มีสิทธิ์จ่ายยาได้จำนวนหนึ่ง ที่ร้านยาขอ ย.2 หรือ สอ.ที่โรงพยาบาลเขาก็มีสิทธิ์ที่จะแจกจ่ายได้จำนวนหนึ่ง ถัดไปก็คือเจ้าของร้านยา ซึ่งไม่ได้เป็นอะไรเลยแต่ก็ยังจ่ายได้ ซึ่งผิดกฎหมาย และบ้านเรายังมีร้านขายของชำต่างๆ นานา ก็ยังมีจ่ายได้อยู่ การส่งเสริมการขายก็ไปมุ่งพวกนี้แหละ ที่จริงมีมากกว่านั้นอีก แพทย์ ทันตแพทย์ด้วย ทันตแพทย์ก็จ่ายยาด้วย หรือสัตวแพทย์ ตอนนี้ส่งเสริมการกับสัตวแพทย์ด้วยนะ เยอะด้วย วันก่อนเดินทางไปเจอที่สุวรรณภูมิ เจอบอร์ดเลย pfizer animal's product แสดงว่าพาคนจำนวนหนึ่งไปประชุมหรือไปเที่ยว"

การพาทัวร์ดูเหมือนจะมีมานานแล้ว

"น่าจะมีมานานพอสมควร ซึ่งคำว่าพาทัวร์เขาจะใช้ไม่ได้ในปัจจุบัน แต่ว่าเขาก็ยังมีการทำอยู่ภายใต้ชื่อว่าไปประชุมวิชาการ วันนี้คุณหมอพิสนธิ์ (จงตระกูล) ก็บอกว่าไปประชุม 1 วัน เที่ยว 3 วัน ไป 1 คนก็พาผู้ติดตามไปได้อีกจำนวนหนึ่ง เดี๋ยวนี้บริษัทต่างๆ เข้มงวดขึ้น แต่ถ้าบริษัทไม่อยากทำ มันไม่มีบังคับ ซึ่งบ้านเราก็ไม่มีอะไรบังคับ เราเคยถึงขั้นถามบริษัทว่าคุณแถลงได้ไหมว่าคุณใช้จ่ายเงินไปเท่าไหร่ ถามว่าขนาดมูลค่ามันใหญ่ขนาดไหน ตอบไม่ได้ เพราะว่าหนึ่ง-ไม่ได้บังคับให้เขาต้องรายงาน สอง-เราเคยให้เขาแถลงมา เขาบอกว่าอย่างไรรู้ไหม มันยุ่งยากมาก คอมพิวเตอร์ทำไม่ได้หรอกว่าหมอคนไหนใช้อะไรไปเท่าไหร่ เป็นไปได้อย่างไรบริษัทใหญ่ขนาดนั้นทำแค่นี้ไม่ได้ แล้วจะไปคิดค้นอะไรได้ เขาก็ไม่ยอมแถลงมาให้เรารู้"

"นั่นคือแบบผิวเผินคือไปประชุมวิชาการ แต่ว่าถ้า serious ขึ้นมาอีกก็คือยิงยา คือถ้าหมอจ่ายได้ถึงเป้าก็จะพาไปโน่นไปนี่ มันไม่ใช่แค่หมออย่างเดียว องค์การเภสัชฯ ก็เป็น หรือบริษัทอื่นๆ ก็เป็น เช่น ร้านยา ถ้าซื้อยาถึงเป้าจะพาไปเที่ยวโน่นเที่ยวนี่ ร้านยามีแพทย์ก็ต้องมีแน่ๆ อาจจะเป็นการเชิญประชุมวิชาการ หรือถึงขั้นเขา offer โรงพยาบาลเลยถ้าโรงพยาบาลซื้อ 6 จะแถม 1 นะ แต่ว่าไม่ลดราคา หรืออาจจะแถมไปในรูปสวัสดิการ สมัยก่อนจะบวกเพิ่มไปในสวัสดิการ เพราะเงินสวัสดิการคือเงินที่โรงพยาบาลจะใช้ได้ค่อนข้างอิสระหน่อย"

จำได้ว่าหลายเดือนก่อน อ.นิยดา เคยจุดประเด็นเรื่อง detail แต่งตัวล่อแหลม เลยสงสัยว่าเดี๋ยวนี้ยังมีอยู่ไหม

"เดี๋ยวนี้ได้ข่าวว่าเขาเริ่มเข้มงวดกันมากขึ้น เริ่มจะมียูนิฟอร์ม เท่าที่รู้จดหมายที่เชิญพาไป หรือ offer อะไรต่างๆ เขาจะไม่มีหัวชื่อบริษัท เพื่อที่จะไม่ต้องมีหลักฐาน"

องค์การเภสัชกรรมก็เอากับเขาด้วยเหรอ

"ได้ยินข่าวเหมือนกันว่าองค์การฯ ก็พายี่ปั๊วไปเที่ยว อันนี้รู้แน่นอนว่ามี แต่ไปต่างประเทศด้วย สองก็มี detail ไป offer"

แล้วในส่วนสภาองค์การเภสัชกรรมมีเกณฑ์บังคับหรือไม่

"ไม่ได้บอกเป็นตัวเงิน เขามีข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณ เนื่องจากสภาเภสัชกรรม บทบาทคนละขั้วกับแพทย์ ส่วนใหญ่เป็นผู้แทนบริษัทยา ขณะเดียวกันก็เป็นผู้จ่ายยา ร้านยา"

"การ entertain หมอ เป็นแค่ part หนึ่ง หมอพิสนธิ์บอกเลยว่า รพ.พระมงกุฎฯ แผนกกระดูก ไปเช้าๆ จะเห็นอะไรเยอะเลย มีคนพูดตั้งแต่มันไม่ใช่แค่พาไปประชุมอย่างเดียว รับ-ส่งลูกให้ ถึงขั้นไปดูคอนโดฯ ให้ รับ-ส่งภรรยาและลูกไปไหนต่อไหน ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องของการประกอบวิชาชีพของการให้ข้อมูล ไป spoil เขาโดยไม่จำเป็น พวกนี้ก็เคยตัว และก็มีอีกที่เคยได้ยินอาจารย์ทั้งหลายแหล่บ่นมา ก็คือไปทำกับข้าวให้กินเลยที่โรงพยาบาล หรือไปเสิร์ฟกาแฟที่โรงพยาบาลทุกวัน เขามีแท็กติกถึงขั้นว่าหมอ resident ที่มาฝึกเขาประกบเลย ดูแลอย่างดี จัดหาของทุกอย่างให้ พอพวกนี้ไปอยู่โรงพยาบาล คุ้นเคยก็ตามไปให้สั่งซื้อ"
ระบบยาต้องโปร่งใส

ดร.นิยดา ระบุว่า นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างการส่งเสริมการขายที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรม แต่ยังมีประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ ที่ควรจะต้องคำนึงถึง

"มันไม่ใช่แค่เรื่องของการพาไปเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างเดียว มันมีเรื่องของการวิจัยที่ไม่ถูกต้อง เช่นกรณียาไวออกซ์ ทำไมมันถึงถูกถอน เพราะว่ามันเกิดอันตราย ทำไมถึงเพิ่งมารู้แทนที่จะรู้ตั้งแต่ตอนขึ้นทะเบียน เพราะว่าเขาให้ข้อมูลไม่หมด คือวิจัยๆ ไป 100 อย่าง ให้ข้อมูลนิดเดียว ส่วนที่เป็นอันตรายกั๊กเอาไว้ แต่พอถึงเวลาจริงๆ ไปขึ้นทะเบียน อย.อเมริกา เพิ่งรู้ว่าข้อมูลแอบซุกซ่อนเอาไว้ ก็มีการฟ้องร้องกันใหญ่โต นั่นก็คือการส่งเสริมการขายที่ไม่ถูกต้องแบบหนึ่ง คือไม่มีจริยธรรมในการให้ข้อมูลที่ดีกับ อย.เช่นข้อมูลอันตรายให้ไม่ครบถ้วน หรือเท่าที่เคยได้ยินมา บริษัทยาบริษัทหนึ่งในต่างประเทศไปให้หมอวิจัย พอหมอวิจัยมาแล้วพบว่าเป็นอันตราย บังคับหมอไม่ให้เผยแพร่ อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน และอีกกรณีเป็นเรื่องฮือฮาพอสมควร คุณหมอคนหนึ่งเป็น professor อยู่อังกฤษ ไปสมัครงานที่มหาวิทยาลัยโตรอนโต มหาวิทยาลัยก็บอกรับด้วยวาจา แต่พอถึงเวลาจริงๆ หมอคนนี้ก็ไปวิจารณ์ยาของบริษัทหนึ่ง ซึ่งเป็นคนให้สปอนเซอร์ใหญ่กับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ มหาวิทยาลัยก็ปฏิเสธเลยว่าคุณไม่ต้องมาทำแล้ว ไม่รับ หมอคนนี้ก็ฟ้องเลยว่ามหาวิทยาลัยถูกบงการโดยบริษัท"

"เรื่องถัดมาที่มีปัญหาในการส่งเสริมการขาย ก็คืองานวิจัยทำโดยบริษัทยา แต่เอาชื่อของหมอมาแปะ เขาเรียก ghost writer ก็มีกรณีฟ้องร้องกันอยู่ คนที่ทำการตลาดของบริษัทยาหลายๆ บริษัทเริ่มมาแฉว่า เคยจ่ายเงินคนนั้นคนนี้เพื่อเอายาขึ้นทะเบียน หรือเอา paper ผิดๆ ถูกๆ ของตัวเองไปให้ professor ดังๆ เขียนแล้วก็รับเงิน นั่นก็เป็นเรื่องที่มันมี case ในต่างประเทศ"

ถามว่าในเมืองไทยเคยมี case นี้เกิดขึ้นไหม

"บอกไม่ได้ เพราะว่าหน่วยที่ติดตามงานวิจัยในประเทศไทยยังหลวม หนึ่ง-เรายังไม่มีพระราชบัญญัติควบคุมการทดลองยาในมนุษย์ ยังไม่มีกฎหมายเป็นเรื่องเป็นราว หรือแม้กระทั่งการทดลองอะไรในมนุษย์ กฎหมายยังไม่ออก เขาก็พยายามทำกันอยู่นานแต่ยังไม่เสร็จสักที เพราะอย่างในต่างประเทศจะทดลองยาเขาจะเอา protocol ไปขึ้นทะเบียนกับ อย.ก่อนแล้วไปทดลอง ระหว่างนั้นต้องมีระบบ monitor ติดตามว่าถ้ายานี้เป็นอันตรายคุณจะต้องหยุดยา คุณจะต้องแจ้งข้อมูลให้ผู้ป่วยทราบ บ้านเราการควบคุมตรงนั้นยังไม่มาก ก็มีความพยายามของสภาวิจัยที่ติดตามเรื่องนี้อยู่ ที่จริงเรื่องนี้โดยส่วนตัวสนใจและติดตามอยู่ เพราะเรารู้มาว่าการทดลองยาหลายๆ ตัว ในประเทศไทยยังไม่มีจริยธรรมเท่าไหร่ เคยพบผู้ป่วยบางคน อยู่ในเวลาเดียวกันทดลองยา 2 ตัว ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเขาต้องตรวจสอบดูให้ดีที่สุด ทดลองยาไปไม่มีเลยเรื่องความปลอดภัย ประกันชีวิตมีให้เขาไหม ถ้าเขาป่วย เช่น วัคซีนเอดส์ ถ้าเขาเป็นเอดส์จากการทดลอง โดยหลักมันต้องเลี้ยงดูเขาไปตลอดชีวิต นี่บางคนบอกให้ยา 2 ปีแล้ว ไม่ให้อีกแล้ว ทดลองยาใหม่พอได้ผลไม่ให้ยา ให้แค่ 2 ปีเลิก หรือมันมีที่เกาหลี มีการทดลองยามะเร็งเม็ดเลือดขาวตัวหนึ่ง ทดลองอย่างดีจนเสร็จ ปรากฏว่าขายยาแพงมากในเกาหลีจนผู้ป่วยรับไม่ไหว ไม่มีปัญญาซื้อ หรือบางรายทดลองเสร็จไม่เอาไปขาย เพราะยานั้นเขาถือว่าตลาดไม่คุ้ม ซึ่งบ้านเราก็เคยมีเคสที่ไม่เอายามาขาย สมัย Abbott ที่เรากำลังรณรงค์ CL (Compulsory Licensing)กันเยอะๆ Abbott ทำอย่างไรรู้ไหม ระหว่างขึ้นทะเบียนขอถอนยาที่กำลังขึ้นทะเบียนเลย บอกไม่ขึ้นในประเทศไทย เท่ากับเราไม่มียาใช้"

"รวมทั้งเรื่องของ post marketing เช่น มียาออกสู่ตลาดแล้วต้องมีการติดตามความปลอดภัย post marketing ก็เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการขาย เช่น ปิดบัง ให้ข้อมูลไม่ครบ หรืองานวิจัย ซึ่งบางทีบริษัทยาให้งานวิจัย ก็จะไปจิ้มหมอเลยว่าให้หมอคนนี้ทำคนนั้นทำ หรือจะไปประชุมก็ระบุให้หมอคนนี้เลย ซึ่งโดยหลักแล้วไม่ควร ควรจะให้เป็นนโยบายของโรงพยาบาลจัดการมากกว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการบริจาค ก็มีที่เอายาเกือบหมดอายุแล้วไปบริจาค เรื่องของ export ฉันไม่ขึ้นทะเบียนประเทศ ฉันแต่ฉันไปขายประเทศคุณ เขาก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการขาย"

โดยส่วนตัวแล้ว อ.นิยดา บอกว่าขณะนี้กำลังโฟกัสไปที่การโฆษณาผ่านทางอินเทอร์เน็ต

"ตอนที่องค์การอนามัยโลกออกเกณฑ์นี้เรื่องอินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย กับอีกอย่างที่น่าสนใจแล้วยังไม่ได้แตะกันเยอะ คือเรื่องฉลากเอกสารกำกับยา นั่นก็คือเป็นส่วนหนึ่งของการให้ข้อมูลและเป็นการส่งเสริมการขายด้วย เช่นบริษัท A ขึ้นทะเบียนที่อเมริกาด้วยข้อบ่งใช้อย่างหนึ่ง มาขึ้นเมืองไทยด้วยข้อบ่งใช้อีกอย่างหนึ่ง หรืออาการไม่พึงประสงค์ของเขามี 5 อย่าง แต่ขายในเมืองไทยบอกแค่ 2 อย่าง อันนี้ก็เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน"

แม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะกำหนดจริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยามาตั้งแต่ปี ค.ศ.1988 แต่ถือว่าล้มเหลวในการผลักดันสู่การปฏิบัติ

"องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ทำการประเมิน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าเรารวมได้ เคยรวมกลุ่มกันในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีไทย, ลาว, เวียดนาม, อินโดนีเซีย เราเคยทำกับออสเตรเลียไปครั้งหนึ่ง โดยที่เราเอาเกณฑ์นี้มาจับดูว่าจริงๆ ในเกณฑ์พูดอะไรไว้บ้าง แต่นานแล้วตั้งแต่ปี 2004 ตอนนั้นก็พบว่าหนึ่ง-โฆษณาไม่เป็นไปตามเกณฑ์เลย และเราก็ดูเรื่องของการจัดประชุมว่ามันมีมูลค่าเท่าไหร่ สำรวจว่าสมัยนั้นมีการจดทะเบียนผู้เป็น detail ไหม ก็ได้เอามาแลกเปลี่ยน เราก็ไปสัมภาษณ์แพทย์ว่ารู้จักเกณฑ์จริยธรรมขององค์การอนามัยโลกมั้ย เกือบทั้งหมดไม่รู้จักเลย ไม่มีใครรู้จักเลยว่ามันมีเกณฑ์นี้อยู่ เพราะฉะนั้น เราก็บอกว่าอย่างนี้องค์การอนามัยโลกล้มเหลวแล้ว ตั้งเกณฑ์ออกมาแต่คุณไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์เลย หรือคุณไม่ให้แต่ละประเทศ implement เท่าไหร่"

"เราก็เลยมาจัดโครงการกระตุ้นให้ความเข้าใจมากขึ้น งานนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เราได้งบจาก สสส. ให้เงินเราในฐานะที่เรียกว่าปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ เป็นปัจจัยเสี่ยงรอง ปัจจัยเสี่ยงหลักก็จะมีเหล้ากับบุหรี่ ปัจจัยเสี่ยงรองก็มีตั้งแต่ยา อาหาร เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เราก็ถือว่ายาเป็นปัจจัยเสี่ยง เพราะอะไร เพราะถ้าเข้าไม่ถึงก็จะไม่ได้รับการรักษา สอง-กินมากไปก็เป็นอันตราย เสียสุขภาพแล้วยังเกิดอาการไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้นมาอีก และเราก็จับ issue เรื่องของปัจจัยเสี่ยงนี้ว่าไปดูเรื่องของ access เราไปดูเรื่องของการใช้ยาที่เหมาะสม เพราะถ้าใช้ยาที่เหมาะสมก็จะทำให้ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ และการยาใช้ยาที่เหมาะสมปัจจัยที่มีผลกระทบมากๆ คือเรื่องการส่งเสริมการขายยา ก็เลยมาจับเรื่องนี้ต่อ"

ล่าสุด องค์การอนามัยโลกประเมินผลความโปร่งใสระบบยาในเมืองไทยอย่างไรบ้าง

"ประเทศไทยตกต่ำ ปีนี้เรายิ่งตกต่ำกว่าเก่าอีก สองปีที่แล้วเราอยู่ลำดับที่ดีพอสมควร ปีนี้แย่ลง และคะแนนก็แย่ลงด้วย แม้ว่าเราจะดีกว่าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แต่เราก็ยังแพ้มาเลเซีย คือภาพลักษณ์ทางด้านคอรัปชั่นเราไม่ดีเท่าไหร่ อันนี้ก็เป็นตัวสะท้อนอันหนึ่ง แต่บ้านเราก็ยังมีความพยายามที่จะพัฒนา เช่น คุณหมอสยมพรที่ รพ.รามาฯ ท่านก็กระตุ้นให้เกิดคู่มือของการปฏิบัติระหว่างบุคลากรสาธารณสุขกับบริษัทยา ทำออกมาเป็น guide line เผยแพร่ออกมา"
คนไทยใช้ยาเว่อร์

ถามว่าการส่งเสริมการขาย ทำให้ยาตัวไหนบ้างที่ใช้มากเกินความจำเป็น

"เกือบทุกตัวเลยใช้เว่อร์ คือโฆษณาส่งเสริมมันมีหลายแบบ แบบหนึ่งก็คือคุณก็ให้เงินไปประชุม อีกอย่างก็คือบิดเบือนข้อมูล บอกว่ายา generic ไม่มีคุณภาพ ลงหนังสือพิมพ์คล้ายๆ ทำนองว่าให้ระวังยาเลียนแบบ ก็เป็นการบิดเบือน ก็มีปัญหาด้วยเหมือนกัน ทำให้มีการใช้ยาไม่เหมาะสม"

พบว่าในส่วนสวัสดิการข้าราชการมีมูลค่าการใช้ยาสูงมาก

"ก็ตอนนี้โรงพยาบาล 34 แห่ง ถูกบังคับให้จะต้องลดมูลค่าการใช้ยาลงมาประมาณครึ่งหนึ่ง คือเขามีการใช้ยามูลค่ามหาศาล ปีที่แล้ว 59,000 ล้าน ปีนี้ได้ข่าวว่าเกือบ 80,000 ล้าน ปีงบประมาณที่ผ่านมาข้าราชการใช้ยามหาศาล ไปตกหนักที่ผู้ป่วยนอก และส่วนใหญ่เป็นยาอะไร ยาแบรนด์เอย หรือใช้กันเยอะๆ เขาก็บอกว่าบางคนช็อปปิ้งก็มี หรือบางคนหมอก็จ่ายไปทีเดียว antibiotics ตั้งเยอะ หรือวิตามินที่ไม่จำเป็น เขาก็พบว่าในกลุ่มข้าราชการมีการใช้ไม่เหมาะสมเยอะมาก เช่น มีการวิจัยบอกเลยว่าการใช้ยา 'สแตติน' ซึ่งเป็นยาลดไขมันในเลือด ในข้าราชการใช้ผิดซะเยอะ งานวิจัยระบุว่าใช้ผิด 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่จำเป็นต้องใช้ก็ใช้"

คือมีตัวอื่นที่ราคาถูกกว่า และประสิทธิภาพการรักษาดีพอๆ กัน

"อันที่หนึ่ง-มียาตัวอื่นที่ถูกกว่านี้ และสอง-ขั้นตอนการรักษา อันนี้จะต้องกลับไปถามที่โรงเรียนแพทย์ในเรื่อง guide line ของการรักษาว่าอันที่หนึ่งจะให้ยากลุ่มที่แรงกว่า แพงกว่าได้ มันต้องมีการตรวจแล็บ บางคนไม่มีการตรวจแล็บเลย และข้อมูลที่ได้มากับตัวเองเลย เพราะมีผู้ป่วยมาหา เขาก็จะมาขอซื้อยาสแตติน ก็ถามว่าคุณซื้อไปทำไม เขาบอกหมอแนะนำให้กินป้องกัน คือไขมันยังไม่สูงนะ แต่กินป้องกันไปก่อน และยาพวกนี้คนที่กินรู้ไหมว่ามันมีผลต่อตับ ต่อไปมันน่าจะต้องมี guide line แล้วว่า เมื่อให้สแตตินไปเท่าไหร่ๆ คุณจะต้องตรวจตับแล้ว"

ยาตัวนี้ราคาแพงแค่ไหน

"มีหลายตัว ตัวที่ถูกที่สุดตั้งแต่ 1 บาทถึงหลายสิบบาท แล้วสแตตินก็เป็นกลุ่มที่ใช้มูลค่าสูง ยากลุ่มที่ใช้มูลค่าสูงเยอะๆ เช่นยาปฏิชีวนะ ใช้เยอะ ใช้ยาใหม่ๆ แพง นั่นก็เป็นปัญหาอีกอยางหนึ่งสำหรับยาปฏิชีวนะ คือยาใช้นานๆ แล้วมันดื้อ หรือใช้ไม่ถูกต้อง ใช้แรงมันก็เกิดออาการดื้อ เมื่อดื้อคุณจะหายาไม่ได้ คุณก็ต้องไปซื้อยาราคาแพง"

มูลค่าการใช้ยามหาศาล เมื่อเทียบกับประกันสังคมและ สปสช.ที่ต้องดูแลกว่า 50 ล้านคน

"เรามีตัวเลขเลย ข้าราชการ 5 ล้านคน ใช้ไป 6 หมื่นล้านบาท สปสช.บวกประกันสังคมตีซะว่า 50 ล้านคน คือ 10 เท่า แต่ใช้เงิน 2 เท่าเอง ข้าราชการใช้เงินมากกว่า 5 เท่า ตัวเลขมันออกมาแฉเลย มันจะมีสถิติการศึกษาการใช้ยาไม่เหมาะสมอยู่ประปราย การใช้ยาเหมาะสมคืออะไร ใช้เมื่อจำเป็น ถูกคนถูกขนาด และต้องราคาเหมาะสมด้วย"
แท็กติกโฆษณาแฝง

ข้อมูลการบริโภคยาของคนไทยในปี 2548 พบว่าสูงถึง 103,517 ล้านบาท ในราคาขายส่ง หรือประมาณ 186,331 ล้านบาทในราคาขายปลีก คิดเป็นร้อยละ 42.8 ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด ขณะที่ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว มีสัดส่วนมูลค่าการบริโภคยาอยู่ที่ร้อยละ 10-20 ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดเท่านั้น

ประเด็นนี้ อ.นิยดา ชี้ว่าอิทธิพลของการโฆษณา นับเป็นสาเหตุหนึ่งของการใช้ยามากเกินจำเป็นของคนไทย

"มูลค่าโฆษณาตรงสู่ประชาชนประมาณ 2,500 ล้านบาทต่อปี ในระยะ 2549-2551 นี่เฉพาะโฆษณาสู่ประชาชนนะ เขาไปเก็บจาก 7 สื่อ ทีวี วิทยุ บิลบอร์ด แมกกาซีน ฯลฯ ได้มูลค่า 2,500 ล้าน แต่อีกอันหนึ่งที่เขาอาจจะไม่ได้เก็บข้อมูลคือโฆษณาแฝง ตอนนี้เริ่มเข้ามาแล้ว ไม่ได้เขียนว่าเป็นโฆษณา"

ถึงตรงนี้ อ.นิยดา แอบนินทานอกรอบว่า ก่อนให้สัมภาษณ์เรามีโทรทัศน์ช่องหนึ่งเชิญไปออกรายการ แต่ปรากฏว่ามีอาหารเสริมโชว์ยี่ห้อหราวางบนโต๊ะตรงหน้าแขกรับเชิญและพิธีกร

"วางเป็นแผงเลย อาจารย์บอกขอเอาออกได้ไหม เขาก็เอาออกนะ"

โปรดิวเซอร์รายการคงลืมว่าเชิญใครมาเป็นแขกรับเชิญ

"นั่นน่ะสิ (หัวเราะ)"

"ตอนนี้โฆษณาแฝงเป็นเรื่องใหญ่ สคบ.กำลังยื้อใหญ่เลย คือ สคบ.จะยอมให้ปล่อยโฆษณาแฝง ขณะที่พวกเราบอกยอมไม่ได้ โฆษณาแฝงมันมีเรื่องยาเข้าไปด้วย โน่นนี่นั่นขึ้นมา"

นี่ยังไม่รวมในเคเบิลทีวีที่ไล่จับยาก

"ทั้งเคเบิล วิทยุชุมชน เต็มไปหมด ลองคิดดูว่าโฆษณาตรงสู่ประชาชน 2,500 ล้านบาท ถ้าส่งเสริมการขายกับบุคลากรทางการแพทย์ คุณคิดว่าเท่าไหร่"

ต้องมากกว่านั้นแน่นอน

"สมมติเท่าตัวก็ 5,000 ล้านบาท มันก็ไปบวกในต้นทุน และก็ทำให้ใช้ยาเกินจำเป็น และพอบริษัทยาใช้เงินตรงนี้เยอะ แทนที่จะรัฐเอาเงินไปทุ่มให้ความรู้เรา พอเขาไปใช้โฆษณาเยอะ เราก็ต้องไปทุ่มเรื่องให้ความรู้ มันก็เสียเงินโดยใช่เหตุ ต้องเสียงบประมาณค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพ"

ในต่างประเทศอย่างแคนาดาถือว่ามีระบบยาที่เข้มแข็ง เกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง

"แคนาดาน่าจะมีเป็นรัฐสวัสดิการพอสมควร และประชาชนของเขามีความรู้ในการเฝ้าระวังติดตามการใช้ยา อันที่สอง-เขามีนโยบายเรื่องควบคุมราคายา ยาเขาถูกมาก คนอเมริกาก็ยังข้ามไปซื้อ ซึ่งอันนี้ประชาชนอเมริกาน่าจะต้องฟ้องรัฐบาลอเมริกาที่มาจับเขา คือละเมิดสิทธิ์ที่เขาจะดูแลตัวเอง และรัฐไม่มีปัญญาจะสามารถทำให้ยาถูกลงได้ ประชาชนเขาไม่ได้เอามาขาย แต่เขาเอามาใช้มาแบ่งปันในกลุ่ม การซื้อมาใช้ไม่ควรจะไปจับเลยนะ

จะบอกได้ไหมว่า สหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างของระบบยาที่ล้มเหลว เพราะบริษัทยาเข้ามามีอิทธิพลกับการเมือง

"ใช่ ในคองเกรสมีล็อบบียิสต์ที่เป็นบริษัทยาเยอะมาก และบริษัทยาก็ให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองมาโดยตลอด"
ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์

หลังประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ระหว่าง 16-18 ธ.ค.นี้ คณะทำงานจะนำประเด็นนี้เสนอเป็นยุทธศาสตร์ต่อคณะรัฐมนตรี

"เราเสนออันที่หนึ่งคือ จะต้องให้มีเกณฑ์จริยธรรมกลางของประเทศ จะต้องให้มันเกิดขึ้นได้โดยความเห็นพ้องต้องกันของหน่วยงาน และสอง-จะต้องเข้าไปอยู่เป็นกฎหมาย และอันที่สาม-หน่วยงานที่เป็นผู้จ่ายเงิน กรมบัญชีกลาง ประกันสังคม สปสช.จะต้องมาคุยกันเรื่องการ monitor ติดตามการใช้ยา และส่งเสริมการขายมากกว่านี้ เพราะว่าเขาเป็นคนจ่ายเงิน เขาควรจะต้องไปดูผลที่ได้ วิธีการไปดูผลที่ได้เขาก็ต้องไปติดตามการใช้ให้มากขึ้น และสี่ต้องให้มีประชาชนมา monitor ปัญหาการส่งเสริมการขายและก็เอามาแฉ รัฐควรจะต้องจัดสรรเงินมาให้ประชาชนมา monitor ด้วย"

งานหนักอีกอย่างคือ ต้องปรับทัศนคติในการใช้ยาของคนไทยด้วย

"เราต้องสร้างทัศคติ และสร้างความเข้มแข็งด้วย ตอนนี้มีบางกลุ่มที่เขาเห็นปัญหาแล้วเขารวมตัวกัน ทีมพวกเราก็ไปกระตุ้นอยู่ เรามีเครือข่ายผู้บริโภคเข้มแข็ง โดยการประสานเชื่อมกับทางแผนงานคุ้มครองผู้บริโภค กระตุ้นให้เฝ้าระวัง คุณนิมิตร์ (เทียนอุดม) ตอนนี้ก็ประสานงานกับเราในการจัดทีมเฝ้าระวังมากขึ้น วันก่อนที่เราจัดรับฟังความเห็น มีน้องคนหนึ่งมาจากเชียงใหม่ แฉเลยว่าเนี่ยเขาจะต้องไปออกหน่วย ปรากฏว่ารถที่เขาจะเช่าไปถูกกว้านโดยบริษัทยาเพื่อจะเอาไป entertain หมอที่ไปประชุมวิชาการที่เชียงใหม่พอดี เขาเลยเห็นเลยว่ามันเป็นปัญหาจริงๆ"

ด้วยผลประโยชน์ที่มีผู้เกี่ยวข้องมากมายขนาดนี้ คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่มีเสียงคัดค้านจากบุคลากรการแพทย์

"คนที่เชียร์ก็มี ที่ต่อต้านเขาก็จะก่นว่า หนึ่ง-ยาแบรนด์น่ะดีกว่า ยาหลายตัวไม่มีคุณภาพ แต่เราจะบอกว่ามันคนละประเด็นกัน ถ้ายาไม่มีคุณภาพเราต้องกำจัดออก อย.ต้องมาทำหน้าที่ คุณต้องบอกให้ได้ว่ายาตัวไหนไม่มีคุณภาพ อย่าไปเหมารวมว่าไม่ดีหมด ฉันจะเอายามียี่ห้ออย่างเดียว-ไม่ได้ ประเทศไทยไม่มีเงินพอ เราใช้เงินไปตั้งปีละเท่าไหร่ เท่าที่ดูรายงาน อย. 186,000 ล้านต่อปี ค่ายา มหาศาล และปัจจุบันที่แย่ยิ่งกว่านั้น ยานำเข้าตอนนี้มากกว่ายาที่ผลิตในประเทศแล้วนะ เราซื้อมากขึ้น มีน้องคนหนึ่งเขาบ่นให้ฟังว่า อาจารย์คิดดูสิผมซื้อยา generic เป็นรถบรรทุก 1 คัน เป็นเงินเท่านั้นล้าน แต่ผมหิ้วยากล่องเล็กๆ มากล่องเดียว ราคาเท่ากันเลย ดูสิยานอกนิดเดียวเอง เข็มหนึ่งเป็นแสน อะไรอย่างนี้ แล้วจะทำอย่างไร มันก็ต้องอยู่ที่การศึกษาที่โรงเรียนแพทย์"

แน่นอนต้องได้ยินเข้าหูบ้างว่า "ทำกันมาอย่างนี้นานแล้ว เป็นเรื่องปกติ"

"แต่ว่าเราก็ยืนยันว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และก็เป็นทิศทางที่ทั่วโลกเขาทำกัน ทั้งองค์การอนามัยโลก ประเทศต่างๆ แนวโน้มมันออกมาแล้ว ประเทศเราไม่ได้มีทรัพยากรเยอะ เราไม่ใช่ประเทศรวยที่นึกอยากจะซื้อยาอะไรก็ซื้อได้หมด และบางทีการรักษาด้วยยาที่ใกล้เคียงกันได้ ไม่ต้องไปใช้ยา high ยาแค่นี้คุณก็รักษาได้ 80-90 เปอร์เซ็นต์ คุณจะไปใช้ยา high เพื่อให้ได้มา 92 เปอร์เซ็นต์ เกินมาหน่อยเดียวมันไม่มีความคุ้มค่า และก็มีการใช้ antibiotics เกินจำเป็น 85 เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน คือยาหวัดยาอะไรก็ใช้ปฏิชีวนะกันแหลกลาญ เขาบอกว่าอีกหน่อยอนาคตนิเวศน์วิทยาของโลกจะเสียเพราะปัญหาปฏิชีวนะ ดื้อยา"

แล้วท่าทีของบริษัทยาล่ะ

"เขาก็จะอ้างว่าของเขาดีแล้ว เกณฑ์เขามีอยู่แล้ว คุณไม่เห็นจะต้องมายุ่งเลย ที่จริงเขาก็อยู่ในทีมของ สช. เราก็เชิญเขามาร่วมด้วยนะ เขาก็จะอ้างว่าเขามีครบแล้ว แต่ PReMA มีสมาชิกกี่บริษัท บริษัทที่ไม่อยู่ใน PReMA บริษัทอื่นๆ นำเข้าอย่างเดียว ก็ตั้งเยอะ มาตรฐานพรีมาที่อเมริกากับเมืองไทยไม่เท่ากัน คุณก็ยังไม่ได้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกจริง บางอย่างในต่างประเทศเขาทำแต่กับไทยไม่ทำ เราเคยแย้งเรื่องนี้เขาก็บอกว่า เอ้าก็กฎหมายไทยไม่ได้ห้าม คือกฎหมายบ้านเราอ่อนแอ เราถึงพยายามผลักดันเรื่องนี้ การที่เราจะต้องใช้เงินมูลค่ามหาศาลไปทำไมกับเรื่องพวกนี้ บริษัทยาชอบอ้างว่าไปทำ R&D เยอะ ยาเลยแพง มีคนวิจัยหลายแห่งบอกว่า R&D ใช้น้อยกว่าส่งเสริมการขาย นั่นคือมูลค่าส่งเสริมการขาย บางคนบอกไม่เห็นเป็นอะไรเลย มันคือการตลาด แต่มันทำให้ยาแพงโดยไม่จำเป็น และคนเข้าไม่ถึง กับสอง-การส่งเสริมที่ไม่มีจริยธรรมที่มันแฝงเร้นอยู่ และคนตามไม่เจอตั้งเยอะแยะ มันควรต้องจัดการอย่างไร โดยเฉพาะคุณหมอมงคล ท่านกำชับเลยว่าต้องเขียนมาให้ชัดระหว่างผู้เสนอกับผู้สนอง ทั้งสองฝ่ายต้องมีความรับผิดชอบทั้งคู่ และมันมีการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาคอรัปชั่น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะคำว่าคอรัปชั่น ธนาคารโลกเขาให้คำจำกัดความว่า การทำอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์ส่วนตน ถือว่าเป็นคอรัปชั่นได้ องค์การอนามัยโลกก็เลยมาจับเรื่องธรรมาภิบาลระบบยามากขึ้น"

ถามว่าแพทยสภามีบทบาทกับเรื่องนี้มากแค่ไหน

"ก็เห็นอยู่ว่าแพทยสภาทำอะไร มาปกป้องพรรคพวกตัวเอง เพราะฉะนั้นระบบของเขาคือระบบตั้งรับ เขาทำหน้าที่เหมือนที่เราเรียกว่าสหภาพแพทย์ คือมาปกป้องผลประโยชน์ให้แพทย์ ตอนที่ อ.ธีรวัฒน์เสนอเรื่องรับของมูลค่าไม่เกิน 500 บาท ก็จัดประชุม พวกเราก็เข้าไปอัดหมอ หมอก็มาคัดค้านว่ากันใหญ่ และปรากฏการณ์ที่ออกมาก็เห็นๆ อยู่ว่าเป็นอย่างไร เราก็ต้องกระตุ้นไม่ให้เขามีบทบาทแค่ตั้งรับอย่างเดียว คุณต้องไป monitor หรือไปมีกระบวนการอะไรที่จะสร้างเสริมจริยธรรมเรื่องนี้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องโรงเรียนแพทย์ พ่อปูแม่ปูก็ต้องทำหน้าที่ให้มันดีขึ้น เพราะพวกนี้ทั้งหลายแหล่ก็เรียนจากโรงเรียนแพทย์นั่นแหละ ฉะนั้น ยาตัวไหนที่สามารถเข้าโรงเรียนแพทย์ได้ โรงพยาบาลทั้งหลายก็จะเชื่อถือ เพราะฉะนั้น กระบวนการคัดเลือกยาของโรงเรียนแพทย์ควรจะต้องทำเป็นแบบอย่าง จะขอชมเชยแห่งหนึ่งก็คือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รายการยาเขาเนี้ยบมาก generic เป็นส่วนใหญ่ แต่เขาผ่านการวิเคราะห์มาอย่างดีแล้วนะ เขามีระบบควบคุมแพทย์ เขามีวัฒนธรรมของการติดตามการใช้ยา ระบบเขาเข้มข้นมาก"

ความหวังในปีใหม่ 2553

ความหวังในปีใหม่ 2553
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ในวันปีใหม่เป็นธรรมเนียมที่เราจะกล่าวคำอวยพรให้แก่คนอื่น และในขณะเดียวกันก็คงตั้งความหวังว่าตนเองจะได้พบสิ่งที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ในกรณีของการทำงาน หลายๆคนก็คงจะเริ่มตั้งเป้าหมายว่าในปีใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นนี้ จะตั้งเป้าหมายในการทำงานอย่างไร เพื่อให้ตนเองสามารถทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายนั้นๆ แต่ในขณะเดียวกันในการทำงานต่างๆนั้นอาจจะมีอุปสรรคหรือข้อจำกัดที่อยู่นอกเหนือการควบคุมหรือศักยภาพท
ี่คนเราจะสามารถเอาชนะได้ คนเราจึงต้องตั้งความหวังหรือความต้องการที่จะทำให้สามารถเอาชนะอุปสรรคหรือข้อจำกัด ที่ตนเองไม่สามารถจะควบคุมหรือเอาชนะเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการได้
พรปีใหม่ที่ทุกๆคนอยากได้ก็คงจะไม่มีอะไรมากไปกว่า ความสุขสันติ บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขสงบ ให้รัฐบาล(ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม) สามารถบริหารบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟู มีเงินทอง พอใช้จ่ายใน
การพัฒนาและ ขับเคลื่อนประเทศ นักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างก็ร่วมมือกันทำงาน โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนมาก่อนผลประโยชน์ของ ใครคนใดคนหนึ่งหรือเฉพา
ะพรรคพวก ของตนเองเท่านั้น ถ้าใครได้ฟังพระราชดำรัสที่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส
ต่อพระบรมวงศานุวงศ์และ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และผู้นำประเทศ ที่ได้เข้าเฝ้าฯถวายพระพรเนื่องใน
วันเฉลิมพระชนมพรรษา แล้ว ก็คงจะตระหนักได้ดีว่าความสุขของพระองค์ท่านก็คือ ได้เห็นประชาชนมีความ สามัคคีและบ้านเมืองสงบสุขส่วนประชาชนทั่วไป ก็คงจะรักความสุขและเกลียดความทุกข์กันทั้งนั้น และผู้ที่จะช่วยทำให้ประชาชนมีความสุขได้ ก็คือคณะรัฐมนตรี และนักการเมือง ที่เป็นผู้นำในการบริหารบ้าน
เมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข มีความก้าวหน้าทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมืองและปากท้องของประชาชนได้กินอิ่ม ได้รับการสนับสนุนการดำรงชีวิตทั้งในทางสาธารณูปโภคและสวัสดิการสาธารณะที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีงานทำ มีรายได้จากค่าจ้างแรงงานตอบแทนอย่างเป็นธรรม คุ้มค่า
กับแรงงานที่ได้ทำ และมีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคในการดำรงชีวิตที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

คำอวยพรที่เราจะชอบยกขึ้นมาอวยพรให้แก่ญาติสนิทมิตรสหายนั้น ก็คงจะมีมากมายหลายแบบ แต่ก็มักจะประกอบไปด้วยพรอันประเสริฐ 4 ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ และในปัจจุบันก็อาจจะต่อด้วยคำว่า
ปฏิภาณ และธนสารสมบัติ ซึ่งเป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ ที่อยากจะมีความสุข ความสมหวัง ร่างกายแข็งแรง และมีเงินใช้ไม่ขาดมือ ซึ่งการที่จะมีเงินใช้ไม่ขาดมือนั้น ก็คงจะต้องเกิดจากการทำงานที่สะดวกสบายพอสมควรและ ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมตามความรู้ความสามารถ และความชำนาญในงานที่ทำ(เรียกว่ามีประสบการณ์ในการทำงานสูง) ซึ่งผู้ที่ทำงานในวิชาชีพอิสระหรือมีกิจการของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า ผู้ประกอบการรายใหญ่รายเล็กไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร ก็คงจะคาดหวังความสำเร็จของงาน และรายได้หรือผลประโยชน์ที่ดีจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง
แต่คงต้องยกเว้นชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนและเกษตรกร ที่แม้จะทำงานอาชีพของตนโดยอิสระ
ไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร แต่ก็ไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าของตนเองให้เหมาะสมกับน้ำพักน้ำแรงของตนได้
เพราะพ่อค้า หรือตลาดกลายเป็นผู้กำหนดราคาสินค้าและผลิตผลการเกษตรเสียเอง ทำให้เกษตรกรก็ยังยากจนอยู่ต่อไป

รัฐบาลต้องดูแลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ให้สมกับที่เป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งประเทศ
แต่สำหรับผู้ที่รับจ้างทำงานโดยมีรายได้เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างแบบที่เรียกว่า “มนุษย์เงินเดือน”นั้น ในแต่ละปีที่ผ่านไป ก็คงอยากจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น ยิ่งมีโบนัสพิเศษก็ยิ่งจะมีความสุขมาก ในแต่ละปี พอถึงปลายปีก็จะมีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำสำหรับลูกจ้าง(ที่ไม่มีฝีมือพิเศษ) รวมทั้งกำหนดว่าค่าแรงขั้นต่ำควรจะเพิ่มขึ้นเท่าไร โดยฝ่ายนายจ้างก็อยากจะจ่ายเพิ่มน้อยๆ(เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ของตน) ส่วนฝ่ายลูกจ้างก็อยากจะได้มากขึ้นให้พอมีเงินเลี้ยงตนเองและครอบครัวชนิดที่ว่ามี “สภาพคล่องทางการเงิน” ทั้งลูกจ้างและนายจ้าง ทั้งนี้ฝ่ายราชการหรือผู้บริหารประเทศก็ต้องทำหน้าที่เป็นคนกลางในการตกลงปรับเพิ่มค่าจ้าง ซึ่งปีนี้จะเพิ่มค่าจ้างเพียง 1- 9 บาทต่อวัน ซึ่งผู้เขียนไม่รู้เหมือนกันว่าเขาคิดกันอย่างไร
แต่ในสายตาผู้เขียนแล้ว รู้สึกว่าเงินเพิ่มวันละ 1- 9 บาทนี้ต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับภาวะเงินเฟ้อที่สินค้าอุปโภคบริโภคต่างก็ทยอยขึ้นราคาไม่มีวันหยุดนิ่งตลอดปี แต่ค่าแรงเพิ่มเพียงเล็กน้อยเพียงปีละไม่เกินสองครั้งเท่านั้น
และฝ่ายลุกจ้างก็ได้ออกมาโวยวายว่า เงินค่าจ้างที่ตกลงจะจ่ายพิ่มเพียงวันละ 1-9 บาทนี้
ผู้เขียนก็คิดว่า รัฐบาลควรลงมาบริหารจัดการให้ลูกจ้างมีรายได้อย่างเหมาะสมกับค่าครองชีพปัจจุบันด้วย

สำหรับข้าราชการ(รวมทั้งข้าราชการบำนาญ) ก็คงมีความหวังเหมือนประชาชนคนอื่นๆเหมือนกันว่า ในปีใหม่ที่จะถึงนี้ รัฐบาลจะปรับขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการและลูกจ้างราชการหรือไม่(รวมทั้งเงินบำนาญจะได้เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อหรือไม่)
ในขณะที่สวัสดิการต่างๆที่ทางรัฐบาลได้สัญญาว่าจะให้กับข้าราชการนั้น รัฐบาลก็แสดงท่าทีว่าจะลด “สิทธิสวัสดิการต่างๆของข้าราชการลงจากเดิม” และบางอย่างก็ถูกลดลงแล้วด้วย เช่นสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัวก็ถูกกรมบัญชีกลางสั่งให้โรงพยาบาล “งดสั่งยาบางชนิด”
ให้ข้าราชาร เงินค่าเล่าเรียนบุตรก็เบิกไม่ได้ โดยรัฐบาลอ้างว่า ให้เรียนฟรีแล้ว แต่เมื่อโรงเรียนเรียกเก็บเงินจากนักเรียนเพิ่ม พ่อแม่ก็ต้องควักเงินจ่ายให้โรงเรียนไปตามการเรียกร้องของโรงเรียน (ไม่เช่นนั้นลูกก็จะถูกครูทวงตลอด) แต่ไม่สามารถเอาใบเสร็จนี้ไปเบิกคืนได้ รวมทั้งเงินบำเหน็จบำนาญก็ลดลง เพราะรัฐบาลบังคับให้ข้าราชการต้องสะสมเงินเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งไปลงทุนแต่กลับขาดทุน เงินที่สะสมก็ลดลงและบำนาญก็ลดลงจากอัตราเดิม

การที่คนยังสมัครเข้ารับราชการทั้งๆที่ได้รับเงินเดือนน้อย ก็เพราะหลงเชื่อคำสัญญา (ระเบียบและสิทธิประโยชน/สวัสดิการข้าราชการ) แต่พอเป็นข้าราชการแล้ว รัฐบาลก็จะเลิก/ลด จ่ายสวัสดิการข้าราชการไปเลย โดยไม่คำนึงถึงว่า เมื่อตอนที่ข้าราชการเข้ามาเริ่มต้นรับราชการนั้น มีระเบียบไว้ว่าอย่างไร ฉะนั้นถ้ารัฐบาล “ลดสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการลงไปจากเดิม” ก็น่าที่ข้าราชการทั้งหลาย ควรจะต้องนำคดีไปฟ้องศาลปกครองให้ช่วยพิจารณาตัดสินให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการด้วย โดยเฉพาะข้าราชการแก่ๆทั้งหลายที่ต้องพึ่งพาอาศัยสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเมื่ออายุมากขึ้น

ในประเทศไทยเรานี้ มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชานสูงมาก คือคนรวยกระจุกอยู่เพียงไม่กี่ตระกูล แต่คนจนกระจายไปทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก มีคนเพียง 20เปอร์เซ็นต์ที่มีทรัพย์สมบัติถึง 69 เปอร์เซ็นต์ทั้งประเทศ ในขณะที่ประชาชนจนสุดอีก 20 เปอร์เซ็นต์มีทรัพย์สมบัติรวมกันแค่ 1เปอร์เซ็นต์รายได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้มวลรวมของชาติ นักเศรษฐศาสตร์สรุปว่าเนื่องจากระบบภาษีที่ไม่เป็นธรรม(1) คือภาษีทั่วไปสูง (ภาษีสินค้าอุปโภคและบริโภค) ซึ่งคนจนต้องใช้รายได้ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดของตน ในการจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค จึงทำให้คนจน ยิ่งจนเท่าไรก็ยิ่งต้องจ่ายภาษีเหล่านี้ในอัตราส่วนรายได้มากกว่าคนรวย นับได้ว่าเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างหนึ่ง


สำหรับข้าราชการและลูกจ้างในกระทรวงสาธารณสุขนั้น ส่วนหนึ่งถูกบังคับมาเป็นข้าราชการ เพราะถูกบังคับให้ทำสัญญาว่าได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาล( ทั้งๆที่ไม่ได้รับทุนการศึกษาเลยตามความหมายของกพ. เพราะฉะนั้นเมื่อเรียนสำเร็จการศึกษา ก็ต้องไปเป็นข้าราการตามสัญญา(ที่ไม่เป็นธรรมนั้น)
แต่บางวิชาชีพเช่นพยาบาล กลับไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ต้องเป็นลูกจ้าง โดยได้รับเงินเดือนน้อยเหมือนข้าราชการแต่ไม่ได้รับสวัสดิการเหมือนข้าราชการเลย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า รัฐบาลที่บริหารประเทศมีความพยายามที่จะลดจำนวนข้าราการลง เพื่อประหยัดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล โดยที่ไม่ศึกษาวิเคราะห์ให้ถ่องแท้ว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขนั้น นับวันจะต้องเพิ่มมากขึ้น มิใช่จะต้องลดลง ทั้งนี้ก็เพราะว่า การแพทย์เจริญขึ้น สามารถตรวจรักษาและผลิตยารักษาโรคยากๆที่แต่ก่อนไม่สามารถรักษาได้ ทำให้คนป่วยหาย/ทุเลาจากการเจ็บป่วยและมีอายุยืนนานขึ้น ทำให้มีโรคเรื้อรังมากขึ้น ต้องการการรักษาต่อเนื่องยาวนานขึ้น จึงต้องการบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น ไม่ใช่ลดลง
และยาที่ผลิตใหม่ๆก็ย่อมมีราคาแพงขึ้น แต่รัฐบาลจะต้องการลดราคาค่าสวัสดิการข้าราชการ ก็คงจะเป็นความต้องการที่สวนกระแสกับความเป็นจริงซึ่งดำรงอยู่
ฉะนั้น ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่มีมากกว่าข้าราชการกระทรวงอื่นๆนั้น มิได้มากจนเกินไป แต่ยังมีจำนวนไม่เพียงพอกับภาระงานที่ต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรแพทย์ ที่มีภาระในการตรวจรักษาผู้ป่วยตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ทุกวันตลอดปี จนทำให้บุคลากรแพทย์ต้องทำงานราชการถึง 120 ชั่วโมงต่อ 1 สัปดาห์ นับเวลาทำงานเป็น 3 เท่าของข้าราชการอื่นๆ และเป็นมาอย่างยาวนานแล้ว และก็จะเป็นอีกต่อไปถ้ายังไม่ได้รับการแก้ไข(2)

บุคลากรด้านการพยาบาลนั้นก็มีไม่เพียงพอที่จะให้การพยาบาลผู้ป่วยอย่างเพียงพอ พยาบาล 1 คนมีภาระดูแลให้การพยาบาลผู้ป่วยครั้งละหลายสิบคน บุคลากรอื่นๆที่มีความสำคัญในการทำงานให้บริการประชาชนในด้านสุขภาพ ก็ต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันเช่นเดียวกัน แต่เมื่อแพทย์/บุคลากรทางการแพทย์/หรือพยาบาลเกษียณอายุราชการ กพ.กลับยุบตำแหน่งนั้นไปตามตัวผู้เกษียณ พยาบาลจบใหม่มีพันธะต้องทำงานชดใช้ทุน กลับไม่มีอัตราบรรจุให้เป็นข้าราชการ ต้องทำงานเหมือนกันกับข้าราชการพยาบาลอื่นๆ แต่มีตำแหน่งเป็นเพียงลูกจ้าง ได้เงินค่าจ้างเท่ากันแต่ไม่มีสวัสดิการใดๆเหมือนข้าราชการ จึงทำให้พยาบาลลาออกจากการเป็นลูกจ้าง และไปทำงานเอกชน หรือไปทำงานต่างประเทศมากขึ้น
หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขนั้น เป็นหน่วยงานที่ต้องจัดบริการสาธารณะด้านสุขภาพแก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ มีทั้งศูนย์สุขภาพชุมชน สถานีอนามัย และโรงพยาบาลระดับต้น ระดับกลางและระดับสูง เพื่อรับรักษาโรคทั่วไป โรคที่ต้องการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์รวมทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นกลางและชั้นสูง ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ตามลำดับ
จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขเองพบว่า ประชาชนไปใช้บริการสาธารณะนี้ปีละ 170 ล้านครั้ง แต่มีแพทย์ทำหน้าที่อยู่เพียง 8,000 คนเท่านั้น(3)
จึงเห็นได้อย่าชัดเจนว่า จำนวนแพทย์ขาดแคลน เป็นอย่างมาก จนทำให้แพทย์มีเวลาตรวจผู้ป่วยเพียงคนละ 2-4 นาที ในขณะที่แพทย์มีเวลาทำงานถึงสัปดาห์ละ 120ชั่วโมง(2)
แพทย์ที่ทนงานหนักเรื้อรังไม่ไหว ก็ลาออก ไปแสวงหาสิ่งที่ดีในชีวิตสำหรับตนเองและครอบครัว ส่วนแพทย์ที่เสียสละตัวเองทำงานบริการสาธารณะอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข นั้นก็คงขาดขวัญและกำลังใจที่จะทำงานต่อไป เพราะนอกจากงานหนัก และต้องรีบเร่งทำงานแล้ว แต่แพทย์ยังต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดหรือประชาชนไม่พึงพอใจ เพราะจะทำให้ตนเองถูกฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้อีก(4)

ฉะนั้น บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างในระดับใด ก็คงมีความหวังอย่างแรงกล้าที่จะให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มองเห็นสาเหตุแห่งปัญหาที่ทำให้บุคลากรในกระทรวงต้องทำงานหนัก เงินเดือนน้อย และมีความอึดอัดคับข้องใจ ในเรื่องค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม จนต้องเดินขบวนกันทั้งพยาบาล แพทย์ และลูกจ้างทั่วไป(5)
และอยากให้ผู้บริหารประเทศ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงและอธิบดีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรแพทย์ การขยายตำแหน่งข้าราชการให้เพียงพอต่อภาระงานในการให้บริการสาธารณะ และการพิจารณากำหนดตำแหน่งและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม แก่บุคลากรทุกระดับ เริ่มจากบุคลากรระดับคนงาน ไปจนถึงบุคลากรระดับเชี่ยวชาญทุกสาขาวิชาชีพ

สำหรับผู้เขียนเอง ก็อดทนทำงานในกระทรวงสาธารณสุขมาจนเกษียณอายุราชการ เหมือนกับข้าราชการส่วนใหญ่ และผู้เขียนได้เฝ้าสังเกตถึงอัตราเงินเดือนข้าราชการ เปรียบเทียบ กับค่าครองชีพของประชาชนในแต่ละยุค (ราคาข้าวแกง 1 จาน)
พบว่าในปีพ.ศ. 2502 ผู้ที่เรียนสำเร็จปริญญาตรี เมื่อเริ่มเข้ารับราชการครั้งแรก ได้รับเงินเดือน 900 บาท ราคาข้าวแกงจานละ 1.50 บาท เงินเดือน 1 เดือนจะซื้อข้าวแกงได้ 600 จาน
ในปีพ.ศ. 2512ข้าราชการที่เรียนจบปริญญาตรี จะได้เงินเดือนเริ่มต้น 1,150 บาท ข้าวแกงราคาจานละ 2 บาทจะเห็นได้ว่า เงินเดือนข้าราชการ 1 เดือนจะซื้อข้าวแกงได้ 500 จาน
ในปีพ.ศ. 2540 ข้าราชการที่จบปริญญาตรีจะได้เงินเดือนเริ่มต้น 3,600 บาทในขณะที่ข้าวแกงราคาจานละ 15 บาท เงินเดือนข้าราชการ 1 เดือนจะซื้อข้าวแกงได้ เพียง 240 จาน
ส่วนในปีพ.ศ. 2550เงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรี เริ่มเดือนละ 7,600 บาทข้าวแกงราคาจานละ 30 บาท เงินเดือนข้าราชการ 1 เดือนจะซื้อข้าวแกงได้ 253 จาน(6)

จะเห็นว่า เงินเดือนข้าราชการถ้าคิดตามอัตราค่าครองชีพขั้นต่ำ (คือเทียบกับราคาข้าวแกงในสำนักงาน ที่อาจจะมีราคาถูกกว่าหรือเท่ากับราคาในท้องตลาด) จะพบว่ายิ่งนับวันที่บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้นเท่าใด แต่เงินเดือนของข้าราชการเมื่อเทียบกับราคาค่าครองชีพพื้นฐาน (ค่าอาหารกลางวัน 1 จาน) จะมีอัตราลดลงจากเดิมไปเรื่อยๆ และนับวันจะทิ้งห่างอัตราค่าครองชีพออกไปทุกวัน ถ้าคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ชาวบ้าน( ไม่ใช่นักวิชาการเศรษฐศาสตร์)

แล้วทำไมคนเรายังยอมรับราชการล่ะ ในเมื่อเงินเดือนก็แทบจะไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องให้กินอิ่ม และมีบ้านพักอาศัย? เพราะในแต่ละเดือนก็ต้องกินข้าวอย่างน้อยวันละ 3 มื้อ และยังต้องซื้อเสื้อผ้า เช่าบ้าน (อาศัยพ่อแม่อยู่ไปก่อน) ค่ายานพาหนะ หรือบางทีก็ต้องอุดหนุนจุนเจือพ่อแม่ผู้มีพระคุณ
จนทำให้ข้าราชการต้องไปหางานเป็นลำไพ่พิเศษ เพื่อหาเงินมาจุนเจือตนเองและครอบครัว เช่นเป็นครูก็ต้องไปรับจ้างสอนพิเศษ เป็นหมอหรือพยาบาลก็ต้องไปเปิดคลินิกหรือไปรับจ้างทำงานในโรงพยาบาลเอกชน เป็นทหาร ตำรวจก็อาจไปทำงานรักษาความปลอดภัยเอกชน หรืออาชีพอื่นก็อาจจะไปขับรถรับจ้าง ทำสวน ค้าขาย ฯลฯ
คำตอบจากข้าราชการส่วนมากว่า ทำไมจึงสมัครเข้ารับราชการ ก็คงจะได้รับคำตอบจากข้าราชการส่วนใหญ่ว่า อาชีพข้าราชการนั้น มีความมั่นคง มีสวัสดิการ และมีเกียรติ (ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์) และเมื่อแก่ตัวลง ก็ยังได้รับเงินบำเหน็จบำนาญพอประทังชีวิต และได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลเมื่อสังขารเสื่อมโทรมและเจ็บป่วย
ถึงเวลาลาโลกไป ก็ยังจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทางเพลิงศพ
คือข้าราชการยอมทำงานเงินเดือนน้อย เพราะหวังว่าจะได้รับผลประโยชน์อย่างอื่นมาชดเชย

แต่บัดนี้ รัฐบาลกำลังมองเห็นว่า จำนวนข้าราชการ รวมทั้งเงินเดือนและเงินที่ต้องจ่ายเป็นสวัสดิการข้าราชการและ
ครอบครัวนั้น เป็นภาระเพิ่มขึ้นมากต่องบประมาณแผ่นดิน จึงทำให้รัฐบาลพยายามจะลดจำนวนข้าราชการลง โดยตัดอัตราเดิมเมื่อข้าราชการเกษียณอายุราชการ และมีความพยายามที่จะลดเงินสวัสดิการบำนาญ (ตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ) ลดเงินสวัสดิการการรักษาพยาบาล(7) ซึ่งจะทำให้ข้าราชการที่ได้เข้ามาทำ ราชการแล้วยอมรับเงินเดือนน้อย แต่พอแก่ตัวลง รัฐบาลก็จะปัดความรับผิดชอบ ไม่ให้เงินสวัสดิการต่างๆเหมือนเดิม ทั้งๆที่ไม่ใช่ความผิดของข้าราชการ
ฉะนั้น ความหวังของข้าราชการในปีใหม่นี้ ก็คงจะหวังว่า รัฐบาลจะไม่ลิดรอนสิทธิ์สวัสดิการข้าราชการลงไป ในขณะที่ข้าราชการส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่เป็นผู้มีความรับผิดชอบ ในหน้าที่ ทำงานผลักดันนโยบาย ต่างๆ ของรัฐบาลให้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ทำให้รัฐบาลมีผลงานไปสรุปอวดผลงานต่อประชาชน และมีความหวังว่า รัฐบาลจะปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราการชั้นผู้น้อย ให้ได้รับเงินเดือนให้เหมาะสมกับอัตราเงินเฟ้อ เพื่อให้ข้าราชการมีเงินเดือนพียงพอที่จะเลี้ยงปากท้องตนเองและครอบครัว ให้เหมือนคำพังเพยในสมัยโบราณที่ว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง”
เพี้ยง! ขอให้ความหวังในการได้รับสิ่งดีๆในชีวิตของประชาชนทุกหมู่เหล่า จงสัมฤทธิ์ผลในปี2553 นี้ด้วยเทอญ

เอกสารอ้างอิง
1.ผาสุกชี้มาตรการคลัง-ปชต.ถูกทิศแก้ปัญหาสังคมไทยได้
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 16:06
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/policy/20091106/85190/%E0%B8%9C%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87-%E0%B8%9B%E0%B8%8A%E0%B8%95.%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89.html
2.ฉันทนา ผดุงทศและคณะ. ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข. วารสารวิชาการสาธารณสุข 2550: 16 (4) ; 493-502
3.ข่าวสารการแพทย์.วารสารวงการแพทย์: 2552 : 11 (302) : 6
4.สถิติการฟ้องร้องแพทย์ แพทยสภา
5.หมอ-พยาบาลครึ่งพันบุกสธ.สัญญาค่าตอบแทนhttp://www.komchadluek.net/detail/20090701/19040/%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B6%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%98.%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B8%99.html
6.ข้อมูลจริง สอบถามจากผู้สำเร็จปริญญาตรีที่สมัครเข้ารับราชการในแต่ละปีพ.ศ.ที่อ้างถึง
7. ‘กรณ์'ถกนายกฯรื้อระบบสวัสดิการข้าราชการ
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/finance/20090903/74446/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%96%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%AF%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3.html

การรวมกองทุนสุขภาพ

การรวมกองทุนสุขภาพ

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแห่งประเทศไทย

ในรอบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนปลายปีนี้คงไม่มีข่าวอะไร ที่โด่งดังที่สุดเกี่ยวกับสิทธิการรักษาพยาบาลของ ประชาชน 3 กลุ่ม มากไป กว่าข่าวที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนายกรัฐมนตรี ออกมาให้ข่าวว่าข้าราชการใช้เงินในการรักษา พยาบาล มากขึ้นทุกปและใช้เงินมากกว่ากองทุนอื่นอีก2กองทุนคือ กองทุนปะกันสังคมและกองทุนหลัก ประกันสุขภาพแห่งชาติ (1,2)

มีข่าวว่าคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช)และสำนักวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส) ได้ประชุมร่วมกันเพื่อหา ข้อสรุปและผลดีผลเสียของการรวมกองทุนทั้ง 3 ระบบ(3)โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อาจารย์ อัมมาร์ สยามวาลา กรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ให้ความเห็นว่า “ผมไม่มีความเห็นรวมกองทุน แต่ถามว่า การให้สิทธิ์ แบบเสรีนิยมในการรับบริการในระบบสวัสดิการข้าราชการเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะความเหลื่อมล้ำของ สิทธิการรักษาของ ประชาชนทั้ง 3 กลุ่มมาจากสวัสดิการข้าราชการ และหากปล่อยไว้ จะทำให้ต้นทุนรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น”(3)ในฐานะที่ผู้เขียนเป็น ผู้หนึ่งที่ได้รับสิทธิ์สวัสดิการข้าราชการและยังทำงานเกี่ยวข้องกับการบริการทางการแพทย์ที่ให้บริการประชาชนทั้ง 3 กลุ่ม ขอแสดงความคิดเห็นเรื่องค่าใช้จ่ายของแต่ละกองทุน รวมทั้งความเหลื่อมล้ำหรือไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมของประชาชนทั้ง 3 กลุ่ม รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาประชาชนทั้ง 3 กลุ่มนี้ แตกต่างกันเนื่องจากสาเหตุอะไร
ถ้ามาดูว่า กองทุนทั้ง 3นี้แตกต่างและมีที่มาที่ไปอย่างไร ก็จะขอสรุปให้พอเข้าใจดังนี้

1.กองทุนสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัว ถือเป็นสวัสดิการกองทุนแรกในประเทศไทย กองทุนนี้ ได้รับงบประมาณมาจากกรมบัญชีกลาง เป็นกองทุนปลายเปิด คือตั้งงบประมาณไว้รอการเบิกจ่าย โดยข้าราชการ และครอบครัว (สามี/ภรรยา บุตร พ่อแม่) สามารถเบิกเงินจากกรมบัญชีกลางกลับคืนมาเต็มราคาที่ได้จ่ายไปในการรักษาพยาบาล รวมทั้งจ่ายค่าห้องพิเศษ(ถ้าต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล)
ในปัจจุบันนี้ ข้าราชการสามารถไปทำสัญญาจ่ายตรงกับโรงพยาบาลได้ โดยที่ข้าราชการสามารถไปใ้ช้ ้บริการตรวจรักษา ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงิน โดยทางโรงพยาบาลจะไปเรียกเก็บเงินจากกรมบัญชีกลางโดยตรง
แต่กองทุนสวัสดิการข้าราชการนี้ ไม่ได้ให้สิทธิครอบคลุมการตรวจสุขภาพและการป้องกันโรค ซึ่งถือเป็นข้อผิดพลาดของ “วิธีคิด” ในการดูแลรักษาสุขภาพ เพราะตรวจสุขภาพและการป้องกันโรค ย่อมมีราคาถูกกว่าการรักษาเมื่อเกิดโรคแล้ว

กองทุนสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการนี้ ถือเป็นแรงจูงใจอันหนึ่งที่ทำให้คนทั่วไปยอมสมัครเข้ารับราชการทั้งๆ ที่ให้เงินเดือนต่ำกว่าไปทำงานเอกชน(ในขณะที่มีคุณวุฒิเท่าเทียมกัน) และเป็นเหมือนข้อสัญญาที่ผู้จะเข้ามารับราชการได้รับรู้ว่า ตนเองจะได้รับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง จากรัฐบาล เมื่อเข้ารับราชการแล้ว

2.กองทุนประกันสังคม (4)มีที่มาตามพ.ร.บ. ประกันสังคมพ.ศ.2533 กองทุนนี้ตั้งขึ้นเพื่อ ให้สวัสดิการแก่ ลูกจ้างภาคเอกชนที่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือนๆละ 5 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน สมทบกับนายจ้าง ส่วนรัฐบาลจะช่วย สมทบเพียง 2.75เปอร์เซ็นต์ โดยลูกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งหมด 7 อย่าง ตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 รวมทั้งการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยทั้งที่เกิดจากการทำงานหรือไม่ก็ได้

ต่อมาได้มีพ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทนพ.ศ. 2537 โดยให้นายจ้างเป็นผู้ออกเงินสมทบเข้าสู่กองทุนนี้ เพื่อใช้ใน การรักษาพยาบาลลูกจ้างที่ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการงาน

จึงทำให้กองทุนประกันสังคมนั้นจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนในกรณีเจ็บป่วยที่ ไม่ใช่เกิดจากการเกี่ยวเนื่อง จากการทำงาน และสิทธิอื่นๆรวมทั้งหมด 7 อย่าง

แต่สิทธิในการดูแลสุขภาพจากกองทุนประกันสังคมนั้น มีข้อจำกัดมากมาย ในการเลือกสถานพยาบาลและการส่งผู้ป่วยไปยัง โรงพยาบาลอื่น เพื่อจะได้รับการรักษาในระดับสูง(ป่วยหนักและโรคซับซ้อน) รวมทั้งข้อจำกัดในการเข้ารับการรักษา ทั้งใน กรณีผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในได้อย่างละไม่เกินปีละ 2 ครั้ง เบิกค่าทำฟันได้ในวงเงินจำกัด ไม่มีสิทธิได้รับยาบางอย่างตาม ข้อกำหนดของคณะกรรมการแพทย์ ของสำนักงานประกันสังคม ถ้าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้ยาเหล่านั้นมารักษา ผู้ป่วยและญาต ิต้องจ่ายเงินเองเท่านั้น

กองทุนนี้ เป็นกองทุนระบบปลายปิด คือเหมาจ่ายรายหัวปีละ 1,900 บาทต่อคน ให้โรงพยาบาลรับเงินไปหมด แล้วรักษาผู้ประกันตน เมื่อเจ็บป่วยอันมิใช่เกิดจากการทำงาน และไม่รวมการตรวจสุขภาพ(เมื่อยังไม่ป่วย) หรือการป้องกันโรค เช่นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ
ฉะนั้นถึงแม้ ผู้ประกันตนจะต้องมีส่วนร่วมจ่ายเงินของตนเองด้วย แต่ก็มีสิทธิได้รับบริการด้านสุขภาพเฉพาะบางอย่างเท่านั้น ตามที่มีกำหนดไว้ใน “หลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์”กรณีประสบอันตรายและเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ของสำนักงานประกันสังคม(5)

3. กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนนี้จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545(6) เป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นมาหลังจากมีกองทุนทั้ง2 ที่กล่าวมาแล้ว กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ มีแนวคิดว่า จะให้ประชาชนที่ ยังไม่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลจากกองทุนอื่นๆ สามารถมี “หลักประกัน” ในการที่จะได้รับการดูแลรักษาสุขภาพอย่างครบวงจร คือเริ่มตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจสุขภาพก่อนเจ็บป่วย การตรวจรักษาเมื่อเจ็บป่วย และการฟื้นฟู สุขภาพหลังการเจ็บป่วย

โดยกองทุนนี้ได้รับเงินงบประมาณค่ารักษาประชาชนเป็นเงินเหมาจ่ายรายหัวเริ่มต้นคนละ 1,200 บาทต่อคนต่อปี โดยให้ประชาชนร่วมจ่ายสมทบครั้งละ 30 บาทต่อครั้งในการไปรับการรักษาพยาบาล โดยให้ความคุ้มครองประชาชน 47 ล้านคน โดยมีประชาชนประมาณ 20 ล้านคนที่ยากจน ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ(ได้ฟรีหมด) โดยรัฐบาลจ่ายเงิน งบประมาณให้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช)ที่จะเป็นผู้จ่ายเงินเหมาจ่ายรายหัวนี้ให้แก่โรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญากับสปสช. โดยรัฐบาลและสปสช.ได้มีการประชาสัมพันธ์ว่า 30 บาทรักษาทุกโรค และในระยะหลังก็เรียกสั้นๆว่า “30บาท” และประชาชนได้รับแจกบัตรทองแสดงว่ามีสิทธิในกองทุนนี้ ฉะนั้นบางทีก็จะเรียกประชาชนกลุ่มนี้ว่า กลุ่มบัตรทอง

ถึงแม้ว่าต่อมาในยุคหลังการปฏิรูปการปกครอง นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะยกเลิกการจ่ายเงินสมทบของประชาชนครั้งละ 30 บาท ก็ยังมีการเรียกว่าเป็นโครงการ 30 บาทตามเดิม

แต่การเลิกเก็บเงินครั้งละ 30บาท นี้เอง ส่งผลให้ประชาชนกลุ่มที่มีสิทธิในกองทุนนี้ เป็นผู้ได้รับ “อภิสิทธิ์” เหนือประชาชนกลุ่มอื่นๆที่ใช้สิทธิ์สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ และสิทธิของผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม กล่าวคือ ไม่ต้องมีหน้าที่ร่วมรับผิดชอบจ่ายเงิน หรือดูแลรักษาสุขภาพของตนเองเลยแต่มีสิทธิในการได้รับบริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจร (6)ดังกล่าวแล้ว โดยประชาชนกลุ่มนี้ สามารถไปรับบริการทางการแพทย์ได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งทั้งผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในและ ประชาชนบัตรทองนี้ยังมีสิทธิเหนือประชาชนในกลุ่มอื่นอีกอย่างหนึ่งก็คือเมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลแล้วและเกิดผลร้ายหรือไม่พึงพอใจ ก็สามารถที่จะไปร้องเรียนขอเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ครั้งละไม่เกิน 200,000 บาท ตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุข ภาพฯ และเมื่อได้รับเงินช่วยเหลือแล้ว ก็ยังไม่ได้จำกัดสิทธิในการนำเรื่องไปฟ้องศาลอีก
สรุปแล้ว ประชาชนในกลุ่มบัตรทองทั้งหมด 47 ล้านคน ทั้งคนยากจน และไม่ยากจนต่างก็ได้รับสิทธิในการรักษา พยาบาลอย่างครบวงจร ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่ต้องจ่ายเงินสมทบใดๆ รักษาได้ทุกโรคตามที่กำหนดไว้ ในพ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 เป็นประชาชนที่มีสิทธิในการรับบริการด้านสุขภาพมากกว่าประชาชน ที่ใช้สิทธิ ิประกันสังคมและสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ และยังได้รับสิทธิในการได้รับค่าชดเชยเบื้องต้นจาก “ผลเสียหายจากการรักษาด้วย”

แต่การจัดสรรงบประมาณค่ารักษาประชาชนบัตรทองในแบบเหมาจ่ายรายหัวในระบบ 30บาทนี้ เป็นงบประมาณที่ขาดดุล เนื่องจากไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และยังต้องหักส่วนหนึ่งเป็นเงินเดือนข้าราชการอีกด้วย จึงส่งผลให้ โรงพยาบาลที่ ต้องรับรักษาประชาชนในระบบบัตรทอง ซึ่งส่วนมากคือโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขต้องประสบปัญหา การขาดสภาพ คล่องทางการเงิน(7) ต้องเอาเงินเก่าเก็บมาใช้จ่ายเพื่อจะยังสามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ และในปีพ.ศ. 2547 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกระเบียบใหม่ในการปรับขึ้นราคาค่าบริการทางการแพทย์ทุกประเภท เพื่อที่จะ “เพิ่มรายได้ของโรงพยาบาล”(8,9)เพื่อที่โรงพยาบาลจะยังมีรายได้เพียงพอในการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนทั่วไป

แต่ “เงินค่าบริการ” ที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้ โรงพยาบาลจะเรียกเก็บเอาจากที่ไหนได้ ในเมื่อกองทุนหลักประกันสุขภาพ ก็ไม่จ่ายเงินให้โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นตามอัตราที่รัฐบาลจ่ายมาให้ แต่สปสช.กลับมาบริหาร “เงิน”เหมาจ่ายรายหัวเอง ทำให้โรงพยาบาลได้รับเงินไม่คุ้มค่าใช้จ่ายในการให้บริหารประชาชนจริงๆ ทั้งๆที่ได้รับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นทุกปี(10)
ิิ ฉะนั้นอัตราค่าบริการของโรงพยาบาลที่ปรับขึ้นราคานี้ ก็จะเก็บได้จากกองทุนประกันสังคมและเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ของข้าราชการ จนทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึง 2 คน คือนายสมภพ สุสังกร์กาญจน์ และนายกรณ์ จาติกวณิช ได้ออกมาโวยวายว่าข้าราชการใช้เงินค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาลกว่ากองทุนอื่นๆ( 2,11)

อนึ่งการขึ้นราคาค่าบริการของกระทรวงสาธารณสุขนี้ ขึ้นราคาจากเดิมหลายเท่าตัว เพราะเมื่อก่อนที่จะมีกองทุนหลักประ กันสุขภาพ การให้บริการของโรงพยาบาลของรัฐ ถือว่าเป็นบริการสาธารณะที่รัฐบาลจะจัดให้ประชาชนในราคาถูก ถือว่าเป็น สวัสดิการที่รัฐบาลให้แก่ประชาชน แต่เมื่อประชาชนได้รับสวัสดิการผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว กองทุนฯควรจะต้อง จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของประชาชนให้แก่โรงพยาบาลตามต้นทุนค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลแต่เมื่อกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่ง
ชาติจ่ายเงินให้โรงพยาบาลต่ำกว่าราคาต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำงาน โรงพยาบาล( โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลของกระทรวง สาธารณสุข) ก็ต้องแก้ปัญหา “การขาดดุลรายรับและรายจ่าย”ของโรงพยาบาลโดยการปรับขึ้นราคาค่าบริการทุกชนิดและค่ายา ไม่เช่นนั้นโรงพยาบาลก็คงไม่มีเงินทุนมาให้บริการประชาชน หรือไม่มีเงินพอในการบริหารงาน และพัฒนาวิชาการรวมทั้งเทคโนโลย ีทางการแพทย์ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในทุกๆด้าน ดังจะเห็นได้จากการที่มีโรคอุบัติใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคเอดส์ ไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู ซึ่งต้องการใช้ยาที่พัฒนาใหม่ จึงทำให้ต้นทุนค่ายามีราคาแพงตามไปด้วย

นอกจากโรคใหม่ๆแล้ว โรคเก่าที่เคยเป็นปัญหาเรื้อรังไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือด แดงแข็งตัวอันจะนำไปสู่การเป็นอัมพฤกษ์/อัมพาต มะเร็งในอวัยวะต่างๆ ก็มีค่าใช้จ่ายในการรักษาแพงขึ้น เนื่องจากมีการผลิต และพัฒนายาใหม่ๆเพิ่มขึ้นมากมาย ทำให้ค่ายาแพงขึ้นมาก และเมื่อมียาที่มีสรรพคุณดีขึ้น ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยให้มีชีวิต ยืนยาวมากขึ้น ค่ารักษาพยาบาลและค่าบริการที่ผู้ป่วยต้องจ่ายก็ย่อมต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และไม่ต้องสงสัยว่า ค่ายาและ บริการต่างๆที่โรงพยาบาลของกระทรวงสธารณสุขปรับราคาเพิ่มขึ้นนี้ ต้องไปเก็บจากสวัสดิการข้าราชการ มากขึ้นเป็นเงาตามตัว อีกเช่นกัน เพราะเป็นกองทุนปลายเปิดและเงินที่เก็บได้จากสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการนี้ ก็ไปช่วยลดการขาดทุน ในการรักษาประชาชนบัตรทอง

เหมือนกับว่าโรงพยาบาลได้เงินค่ารักษาประชาชนบัตรทองไม่คุ้มทุน โรงพยาบาลก็ต้องไปหา “กำไร” มาจากกองทุนสวัสดิการ รักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อมาทำให้งบประมาณของโรงพยาบาลสมดุล
อนึ่งข้าราชการและครอบครัวยังมีสิทธิที่จะเข้านอนพักรักษาตัวในห้องพิเศษได้อีกด้วย ค่าห้องพิเศษของโรงพยาบาลของ กระทรวงสาธารณสุขก็เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว (และค่าห้องพิเศษนี้ เป็นรายได้ที่โรงพยาบาลเอามา เฉลี่ยใช้กับผู้ป่วยในโครงการ อื่นที่ได้รับงบประมาณขาดดุล)

จะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลของรัฐบาล พยายามที่จะหาเงินบริจาคมาสร้างตึกพิเศษเพื่อเป็นแหล่งเพิ่มพูน รายได้ของโรงพยาบาล ที่สำคัญอีกทางหนึ่งและค่าบริการต่างๆของโรงพยาบาลเหล่านี้ ก็สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้อีก ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการ บริหารโรงพยาบาลรวมทั้งโรงพยาบาลยังคิดค่าดำเนินการของโรงพยาบาลทุกอย่างที่เมื่อก่อนอาจจะไม่เคยคิดราคาเลย เช่นค่าทำบัตร ค่าธรรมเนียมวิชาชีพ ค่าบริการทันตกรรม ค่าบริการวิสัญญี ค่าบริการศัลยกรรมฯลฯ คือคิดราคาทุกรายการเหมือนกับ โรงพยาบาล เอกชน

การขึ้นราคาค่าบริการของโรงพยาบาลจึงเป็นสาเหตุให้งบประมาณสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการเพิ่มสูงขึ้นจนเห็น ได้ อย่างเด่นชัด ทำให้รัฐบาลโดยกรมบัญชีกลางมองเห็นว่า ข้าราชการและครอบครัวจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลแพงเกินประชาชน ในกองทุนอื่นๆ แต่ที่จริงแล้ว โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขทำตัวเหมือโรบินฮู้ด คือเอางบประมาณสวัสดิการรักษาพยาบาล ข้าราชการ(ไม่จำกัดค่าใช้จ่าย) มาช่วยลบการขาดทุนในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เหมือนโรบินฮุ้ด ที่ปล้นคนรวย ไปช่วยคนจน

ฉะนั้น ผู้เขียนจะขอสรุปสั้นๆว่า ค่ารักษาของข้าราชการเพิ่มมากขึ้นเพราะสาเหตุดังต่อไปนี้คือ

1.กระทรวงสาธารณสุขปรับขึ้นราคาค่าบริการของโรงพยาบาลทุกประเภท

2. เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้แพทย์สามารถใช้เทคโนโลยี ใหม่ๆที่มีราคาแพง ได้มากขึ้น เพื่อการตรวจรักษาโรคที่ครบถ้วนเหมาะสม เพื่อช่วยให้ประชาชนปลอดภัย เช่นสามารถทำ CT scan MRI ultrasoud mammogram และการตรวจพิเศษอื่นๆอีกมากมาย เช่นการส่องกล้องเพื่อตรวจอวัยวะภายใน รวมทั้งเทคโนโลยีใน การรักษาและผ่าตัดที่พัฒนามากขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่การทำศัลยกรรมโดยการใช้เลเซอร์และใช้กล้อง การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ต่างๆ รวมทั้งการรักษาโรคไตวายด้วยการล้างไต เพื่อรอคอยการเปลี่ยนไต เป็นต้น จึงทำให้ค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาผู้ป่วยสูง มากขึ้น
3. การพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์รวมทั้งยาและเวชภัณฑ์อื่นๆ รวมทั้งการผลิตอวัยวะเทียม ทำให้ต้นทุนค่ารักษาแพงขึ้น ถึงแม้จะมีการไปทำ CL ยามาเพื่อไปซื้อยาเลียนแบบมาบังคับใช้ให้แต่ละกองทุนต้องใช้ยาเหล่านั้น แต่ยาเหล่านั้นก็ยังมีราคา แพงพอๆกับยาต้นแบบ
นอกจากนั้น การที่กระทรวงสาธารณสุขบังคับให้โรงพยาบาลต้องสั่งยาจากองค์การเภสัชกรรม ที่ไม่ได้ผลิตยาเองทุกชนิด ทำให้โรงพยาบาลต้องซื้อยาราคาแพง เพราะต้องซื้อผ่านคนกลาง(องค์การเภสัช)อีกต่อหนึ่ง ทำให้ราคายาของโรงพยาบาลต้อง เพิ่มขึ้นอีกโดยไม่จำเป็น
4. เมื่อเทคโนโลยี เครื่องมือ เวชภัณฑ์ ดีขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ย่อมสามารถให้การรักษาพยาบาลดีขึ้นมาก ทำให้ สามารถรักษาชีวิตประชาชนให้ยืนยาวขึ้น เป็นภาวการณ์เจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องการการรักษาอย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น เป็นผลให้มี ีผู้สูงอายุมากขึ้น และผู้สูงอายุจะมีการเจ็บป่วยตามการเสื่อมของสังขาร จึงทำให้มีจำนวนประชาชน ไปใช้บริการทางการแพทย์ ์มากขึ้นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกองทุนใด จึงทำให้ค่ารักษาพยาบาลของประชาชนแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว

5. โรงพยาบาลไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าบริการรักษาพยาบาลเพิ่มจากกองทุนหลักประกันสุขภาพและกองทุนประกันสังคม (ที่อาจจะมีคนชราน้อยกว่ากองทุนอื่นเพราะเป็นผู้อยู่ในวัยทำงาน) แต่โรงพยาบาลก็ต้องให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเหล่านั้น ตามจริยธรรมวิชาชีพ ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนจากการรักษาผู้ป่วยเหล่านั้น

แต่โรงพยาบาลสามารถเรียกเก็บเงินเพิ่มได้จากประชาชนที่จ่ายเงินเองและกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ จึงเป็นการแสดงผลค่าใช้จ่ายที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่ดำรงอยู่
6. จากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้น ทำให้ผู้ควบคุมการใช้จ่ายเงินงบประมาณคือนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี มีความเข้าใจสาเหตุของปัญหาค่าใช้จ่ายกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการผิดไปจากสาเหตุที่แท้จริง

จึงคิดแก้ไขปัญหาไม่ตรงตามสาเหตุที่แท้จริง แต่พยายามจะมา “ตัดรอนสิทธิประโยชน์ของข้าราชการ” และเริ่มทำแล้ว เช่น ห้ามใช้ยาบางตัว หรือห้ามครอบครัวข้าราชการที่ทำงานเป็นลูกจ้างมาใช้สิทธิ์ครอบครัวข้าราชการด้วย(8)

การที่มีการกล่าวอ้างว่า ข้าราชการทุจริตเบิกยาไปขาย หรือแพทย์สั่งยาพิเศษหรือมากเกินไปนั้น ก็ควรไปดูแลแก้ไข ให้ตรงประเด็นของสาเหตุนั้นๆ
นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงสาธารณสุข ควรไปปรึกษาผู้รู้ให้ครบทุกด้าน ว่าปัญหาค่าใช้จ่ายในกองทุนสุขภาพใด ที่เป็นต้นเหตุแห่งค่าใช้จ่ายที่ตกเป็นภาระของโรงพยาบาล ก็ควรไปแก้ที่ตรงนั้น ไม่ใช่คลำไปทีละจุดเหมือนตาบอดคลำช้าง ต้องหาสาเหตุแห่งปัญหาในภาพรวมทั้งหมด แล้วจึงมาหาวิธีแก้ปัญหาให้ตรงจุด คือ “ดับที่สาเหตุแห่งปัญหา” จึงจะทำให้ปัญหาหมดไป เพื่อจะสามารถแก้ปัญหาในสิทธิด้านการรับบริการสุขภาพของประชาชนทุกคน ให้ได้รับความเสมอภาค และเป็นธรรม เช่นเดียวกัน
ถ้านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งสองกระทรวงไม่เชื่อว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพ(30 บาท) ให้เงินโรงพยาบาลไม่คุ้มทุน ก็โปรดสังเกตว่าโรงพยาบาลรัฐบาลหลายๆแห่งนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะทยอยเลิกรับรักษาประชาชน 30 บาท แม้แต่โรงพยาบาลเอกชนที่ได้เงินเหมาจ่ายรายหัว 30บาทเต็มราคา (ไม่ถูกหักเป็นเงินเดือนบุคลากรเหมือนโรงพยาบาล กระทรวงสธ.) ก็ยังไม่อยากรับผู้ป่วย 3 0 บาท
แต่ทำไมทั้งโรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชน ต่างก็อยากรับผู้ป่วยประกันตน ทั้งนี้ก็เพราะว่าค่าเหมาจ่ายราหัวของผู้ประกันตนนั้น ส่งให้โรงพยาบาลครบถ้วน ไม่ต้องถูกหักกันไว้ส่วนกลางเหมือนงบ 30 บาท และกลุ่มผู้ประกันตนอยู่ในวัยที่ไม่ป่วย บ่อยๆเพราะ ยังอยู่ในวัยฉกรรจ์(ทำงานอยู่) รวมทั้งมีข้อจำกัดมากมายในการรักษาพยาบาลผู้ประกันตน ทำให้โรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ประ กันตน ยังมีรายได้พอ “คุ้มทุน” หรือมีกำไรจากการรับรักษาผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคม

ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอเสนอให้นายกรัฐมนตรี แก้ปัญหา ความไม่เสมอภาค ไม่เป็นธรรม สำหรับประชาชนโดยการปฏิรูประบบ การบริการทางการ แพทย์แบบ “การแพทย์พอเพียง”(12) ตามปรัชญาและแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว เพื่อให้ประชาชนทุกคน มีสิทธิในการรับบริการด้านสุขภาพที่เสมอภาค เท่าเทียม เป็นธรรม ตามมาตรฐานทางการแพทย์ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อให้งบประมาณด้านการดูแลสุขภาพที่มาจากเงินภาษีของประชาชน ได้มีเพียงพอครอบคลุมประชาชนทุกหมู่เหล่า ทำให้โรงพยาบาลต่างๆสามารถให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนอย่าง มีประสิทธิ ภาพ ตามมาตรฐานการแพทย์ที่ดี ไม่ฟุ่มเฟือย แต่ก็ไม่ขาดแคลน รวมทั้งยังไม่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาวิชาการและ เทคโนโลยีทางการแพทย์ด้วย
และสิ่งที่สำคัญที่สุด โรงพยาบาลไม่ต้องแอบเอาเงินกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ไปแก้ปัญหาการขาดทุนจากกองทุน 30 บาทดังกล่าวแล้ว




เอกสารอ้างอิง

1. ---อดุลย์ วิริยเวชกุล, ช่องว่างด้านการได้รับบริการด้านสุขภาพของประชาชนไทยกลุ่มต่างๆ. บทบรรณาธิการวารสารวงการแพทย์ 2552; 11(.301) : 1

--- http://www.thaiclinic.com/doctorroom/ ความเห็นที่15 เรื่อง ระบบบริการด้านสุขภาพ 3 ระบบในประเทศไทย

2. ‘กรณ์'ถกนายกฯรื้อระบบสวัสดิการข้าราชการ

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/finance/20090903/74446/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%96%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%AF%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3.html



3. ดีเดย์ปีใหม่คุมค่ารักษาขรก. แนะปรับ 3 กองทุนสุขภาพ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 11 ธันวาคม 2552 : 14
4. เชิดชู อริยศรีวัฒนา. การประกันสุขภาพและการประกันสังคม.วารสารวงการแพทย์ : 2552 ; 11 (294) : 30-31
5. “หลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์”กรณีประสบอันตรายและเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ของสำนักงานประกันสังคม
6. พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545

2552-12-12

-ข่าวเด่นในรอบปี 2552 ของวงการแพทย์และสาธารณสุข

http://www.thaiclinic.com/cgi-bin/wb_xp/YaBB.pl?board=doctorroom;action=display;num=1260324818

ข่าวเด่นในวงการแพทย์และสาธารณสุขในรอบปี 2552
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
churdchoo@gmail.com

ใกล้จะสิ้นปี 2552 แล้ว มาดูว่าในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย มีข่าวเด่นที่เกี่ยวข้องกับวงการแพทย์และสาธารณสุขในรอบปี 2552 ที่ผ่านมา ข่าวเด่นในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าเป็น “ข่าวดี หรือข่าวร้าย” แต่หมายถึงข่าวที่มีคนรับทราบและพูดถึงกันมากๆในสื่อมวลชนหรือในแวดวงของผู้ที่ทำงานหรือเกี่ยวข้องในวงการแพทย์และสาธารณสุข
1.ข่าวแรกก็คงจะเป็นข่าวการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือที่เรียกกันในตอนแรกว่าไข้หวัดหมูหรือ swine flu ที่เริ่มต้นจากประเทศเม็กซิโกและระบาดไปทั่วโลก โดยในประเทศไทย ก็มีประชาชน เสียชีวิต 187 คน(1) โดยผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็คือผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหมือนผู้ป่วยในต่างประเทศคือผู้ที่มีโรคเรื้อรัง อ้วน หญิงมีครรภ์ สูงอายุและเด็กทารก สำหรับทั่วโลกนั้น องค์การอนามัยโลกได้สรุปว่ามีจำนวนผู้ป่วยมากถึงกว่า 526.060 คน เสียชีวิตอย่างน้อย 6,770 คน และมีรายงานการดื้อยา(2)Tamiflu ด้วย โดยการระบาดเริ่มจากเม็กซิโกในเดือนมีนาคม 2552 โดยในเดือนเมษายน ก็มีรายงานผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกา วันที่ 26 เมษายน สหรัฐได้ประกาศว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เป็น Public Health Emergency ในเดือนพฤษภาคมองค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าไข้หวัดใหญ๋สายพันธุ์ใหม่เป็นการระบาดระดับโลก (global epidemic)
ในเดือนมิถุนายน ดร. Dr. Margaret Chan, Director General of the World Health Organization (WHO), ประกาศว่าไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 นี้ได้ ในเดือนตุลาคม(วันที่ 24) ประธานาธิบดีโอบามาแห่งสหรัฐได้ประกาศว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็น National Emergency
ในเดือนกันยายน มีรายงานผู้ป่วยที่มีอัตราป่วยสูงสุดจากการconfirm lab.test ได้แก่ในสหรัฐ43,771 คนออสเตรเลีย 34,467 คน เม็กซิโก 19,634 คน เยอรมัน 15,219 คน อังกฤษ 13,019 คน ประเทศไทย 13,019 คน(2)
ส่วนประเทศที่มีอัตราส่วนผู้ป่วยต่อจำนวนประชากกรมากสุด 6 ประเทศแรกได้แก่ออสเตรเลีย 1 ใน 634 นิวซีแลนด์ 1 ใน1,080 ชิลี 1 ใน 1,391 แคนาดา 1 ใน 3,319 อังกฤษ 1 ใน4,705 ประเทศไทย 1 ใน 4,869
ส่วนประเทศที่มีอัตราผู้ป่วยตายสูงสุด(case fatality rate) 6 ประเทศแรกได้แก่ บราซิล 10.7% อาร์เจนตินา 6.4 % มาเลเซีย 4.6 % เวเนซูเอล่า 2.7% อินเดีย 2.5 % โบลิเวีย 1.5%
ในขณะที่อัตราตายโดยเฉลี่ยทั่วโลกคือ 0.3-0.5 % ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีอัตราตาย 1.2% เป็นอัตราตายที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลก
สำหรับในประเทศไทยนั้นมีข่าวในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2552 (1)นพ.ไพจิตร วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับสาธาณสุขจังหวัดทั่วประเทศเร่งรัดเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการแพร่ ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ระลอกใหม่ โดยตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตให้ได้น้อยกว่า 1 ใน 3 ของระลอกแรก
เนื่องจากในเป็นช่วงหน้าหนาว ทำให้ประเทศไทยเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ระลอก 2 เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย.นี้ไปจนถึงเดือน มี.ค.53 เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศหนาวเย็น อาจทำให้เกิดการระบาดซ้ำและกระจายเป็นวงกว้าง
สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทั่วโลก ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ โดยเป็นหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 6-9 เดือนประมาณ 7-10% องค์การอนามัยโลกรายงานล่าสุดเมื่อ 20 พ.ย. 2552 ทั่วโลกมีผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 526.060 ราย เสียชีวิตอย่างน้อย 6,770 ราย ส่วนไทยมีผู้เสียชีวิตสะสมทั้งสิ้น 187 ราย และอัตราป่วยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดแนวทาง (guidelines) ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ทั้งสายพันธุ์ใหม่และ seasonal flu(3) และมีการupdate การรักษาใหม่จการติดตามการรายงานโรคอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งได้มีคำแนะนำในการให้ประชาชนไปรับวัคซีนป้องกันทั้งseasonal flu และ swine flu โดยหลายๆประเทศได้เร่งรัดในการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่2009 รวมทั้งประเทศไทยเองด้วย

2. ข่าวประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้ออกมาเปิดโปงว่ามีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข(4) จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการจากภายนอกกระทรวงสาธารณสุขที่มีนพ.บรรลุ ศิริพาณิชเป็นประธานกรรมการ ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีผลการสอบสวนออกมาว่าอย่างไร
3.ข่าว “ม็อบเสื้อขาว” (5) หรือการชุมนุมของกลุ่มแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ จากโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาลทั่วไป ในนามกลุ่มสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ที่ได้นัดกันมาชุมนุมกันที่หน้ากระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 เพื่อเรียกร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้พิจารณาจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแก่แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปด้วย หลังจากที่นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เซ็นต์คำสั่งให้มีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแก่แพทย์โรงพยาบาลชุมชนในอัตราสูงสุดเดือนละ 70,000 บาท
ในกรณีนี้ปลัดกระทรวงได้พยายาม “สลายม็อบ” ทุกวิถีทาง โดยส่งผู้แทนมาเจรจากับพญ.พจนา กองเงินประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งได้สั่งยกเลิกการชุมนุมถึงสองครั้ง ทำให้สมาชิกไม่แน่ใจว่าจะมีการชุมนุมหรือเปล่า แต่ในที่สุดด้วยการยืนยันจากพญ.สุธัญญา บรรจงภาค ประชาสัมพันธ์ของสมาพันธ์และคณะบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆจากโรงพยาบาลนครปฐมและอีกหลายๆโรงพยาบาล ประมาณเกือบ 500 คน ก็มาชุมนุมเรียกร้องเพื่อขอความเป็นธรรมจากผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข
แต่ม็อบก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐมนตรีและปลัดกระทรวง แต่ได้ส่งผู้ตรวจราชการ โฆษกกระทรวงและประธานชมรมแพทย์ชนบทมาเจรจากับผู้นำม็อบแทน และตกลงว่าจะจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงให้แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ฯและโรงพยาบาลทั่วไป เพียงเดือนละ 10,000 -15,000 บาท ส่วนพยาบาลและบุคลากรอื่นก็จะจ่ายเพียงเท่ากับโรงพยาบาลชุมชนระดับ 1 เท่านั้น ทั้งๆที่เคยมี “ม็อบ” พยาบาลโรงพยาบาลชุมชนมาเรียกร้องกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสธ.แล้ว แต่ก็ไม่เพิ่มให้ตามที่กลุ่มวิชาชีพพยาบาลเรียกร้อง
ตอนนี้ได้ข่าวว่า กระทรวงสธ.สั่งให้งดจ่ายเงินนี้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในรพศ/รพท. เพราะกำลังถูกสตง.ทักท้วง/ตรวจสอบ
4.ข่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะพัฒนาสถานีอนามัย ให้เป็นโรงพยาบาลตำบล (6)โดยจะให้พยาบาลวิชาชีพเป็นหัวหน้า(ผู้อำนวยการโรงพยาบาล)ทำหน้าที่หลักคือ “ส่งเสริมสุขภาพ” แต่ตรวจรักษาผู้ป่วยได้ โดยการส่งเป็นinternet link ไปปรึกษาแพทย์ที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน ให้วินิจฉัยโรคโดยการดูรูปผู้ป่วยและฟังรายงานจากพยาบาลหรือซักประวัติผู้ป่วยทางไกล แล้วสั่งการรักษาจากทางไกล (Tele-medicine)
ข่าวนี้ก็น่ากลัวอยู่ไม่น้อย เนื่องจากการตรวจรักษาทางไกลคงจะทำให้หมอเสี่ยงต่อความผิดพลาดและการฟ้องร้อง หรือเสี่ยงต่อการถูกลงโทษทั้งทางแพ่ง(จ่ายค่าเสียหาย)และอาญา (ถูกจำคุก)

5.ข่าวการจ่ายเงินเดือนให้อาสาสมัครสาธารณสุขคนละ 500 บาทต่อเดือน(7) เพื่อต้องการให้อสม.ทำงานในเชิงรุกในการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน โดยมอบนโยบายเรื่องการส่งเสริมอนามัยแม่และเด็ก โดยให้ติดตามดูแลหญิงตั้งครรภ์และส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการให้อสม.ดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรังในชนบท
ข้อสังเกตของผู้เขียน ที่จริงแล้วความคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการจะส่งเสริมสุขภาพประชาชนและป้องกันการเจ็บป่วยนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมและควรทำให้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องมานานแล้ว
โดยพัฒนาให้อสม.ทุกคนมีความรู้ความสามารถในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและอุบัติเหตุ การเฝ้าระวังโรค การรักษาเบื้องต้น(ปฐมพยาบาล)อย่างถูกต้องเหมาะสมรวมทั้ง การรายงานโรคและการให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีความสามารถรับผิดชอบดูแลตนเองและครอบครัวได้ในกิจกรรมทั้งหมดข้างต้นดังกล่าว ก็จะช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพดี ไม่ต้องพึ่งพาบริการของสถานบริการสาธารณสุขมาก จนทำให้การบริการของบุคลากรทางการแพทย์ต้องล่าช้า เสี่ยงต่อความผิดพลาดและเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน เนื่องจากผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล(8)
รัฐมนตรีควรมอบนโยบายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ จัดการอบรมอสม.และ เจ้าหน้าที่อนามัย(หมออนามัย) เพื่อให้สามารถทำงานในเชิงรุก ในการดูแลรักษาสุขภาพประชาชน โดยเน้นที่การส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคและอุบัติเหตุการเฝ้าระวังโรค การรักษาเบื้องต้น(ปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องเหมาะสม)การรายงานโรคและการให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีความสามารถรับผิดชอบดูแลตนเองและครอบครัวได้ในกิจกรรมทั้งหมดข้างต้นดังกล่าว ก็จะช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพดี ไม่ต้องพึ่งพาบริการของสถานบริการสาธารณสุขมากมายเหมือนในปัจจุบันที่(9)มีผู้ป่วยไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลปีละ 140 ล้านครั้งในแผนกผู้ป่วยนอก และแผนกผู้ป่วยใน 9.4 ล้านครั้ง (ซึ่งถ้านอนในโรงพยาบาลเฉลี่ยคนละ 3 วัน ก็จะทำให้แพทย์ไปตรวจผู้ป่วยในถึง28.2 ล้านครั้งทำให้แพทย์ต้องตรวจผู้ป่วยปีละ 168 ล้านครั้งในปีพ.ศ. 2551) ในขณะที่มีแพทย์ทำการตรวจรักษาผู้ป่วยเพียง 8,000 คนในกระทรวงสาธารณสุข

6.ข่าวที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสธ.จะให้ประชาชนถือบัตรประชาชนใบเดียวแต่ไปรักษาโรคได้ทุกโรงพยาบาลแทนบัตรทอง (10)โดยไม่ต้องมีการส่งตัว(ใบ refer) ผู้ป่วยจากแต่ละโรงพยาบาลแต่อย่างใด ข่าวนี้ท่านวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต้องการให้ประชาชนมีความสะดวกสบาย อยากจะไปโรงพยาบาลไหนก็ได้ แต่ท่านไม่ทราบว่าข้อมูลการเจ็บป่วยของผู้ป่วยแต่ละโรงพยาบาลนั้น มันไม่ได้ online ทั่วประเทศ การที่ประชาชนเลือกไปโรงพยาบาลได้ตามใจชอบ จึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องเสียเวลาในการตรวจรักษาผู้ป่วยซ้ำซ้อนกันโดยไม่จำเป็น ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลนอยู่แล้ว (10)ยิ่งทำงานไม่ทันยิ่งขึ้น จนมีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล(9)
7.ข่าวโรงพยาบาลวชิรพยาบาลออกมาโวยวายว่า สปสช.จ่ายเงินให้โรงพยาบาลไม่พอใช้(11) ถึงแม้ว่าสปสช.จะของบประมาณค่ารักษาพยาบาลประชาชนเหมาจ่ายรายหัวได้เพิ่มขึ้นเป็น 2,002 ต่อคนต่อปี แต่สปสช.ก็ยังจ่ายเงินให้โรงพยาบาล(หรือหน่วยบริการสาธารณสุข)ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาประชาชนเหมือนเดิม โดยสปสช. “กันเงิน”งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวนี้ไว้ในสำนักงานของตนเองเรียกว่างบส่วนกลางและบริหารจัดการเอง ไม่ได้ให้ค่ารักษานี้แก่โรงพยาบาลตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545
8.ข่าวนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องการที่จะให้กระทรวงการคลังทบทวนเงิน(12)สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว ว่าทำไมจึงใช้งบประมาณมากขึ้นทุกปี ในขณะที่มีจำนวนคนน้อยกว่าประชาชนบัตรทอง(30 บาท)มาก แต่ค่าใช้จ่ายในการรักษาข้าราชการและครอบครัวเพิ่มขึ้นมากๆจนจะมากกว่าค่าใช้จ่ายในระบบ 30 บาทแล้ว
ในขณะเดียวกันก็มีข่าวว่ารัฐบาลจะให้โอนคู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตน ที่ปัจจุบันใช้สิทธิบัตรทอง โอนมาใช้สิทธิค่ารักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม(13) เพื่อลดจำนวนประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทอง
แต่ผู้บริหารกองทุนประกันสังคมก็บอกว่า จะโอนครอบครัวผู้ประกันตนมาก็ได้ แต่ต้องโอนเงินเหมาจ่ายรายหัวจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช)มาให้ด้วย ซึ่งนพ.วินัย สวัสดิวรเลขาธิการสปสช.รีบออกมาบอกว่าจะให้เงินค่าหัวมาเพียงคนละ 800 กว่าบาท(ในขณะที่รัฐบาลจ่ายค่าหัวให้คนละ 2,002 บาท) ทั้งนี้เลขาสปสช.อ้างว่าเพราะคู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตนนั้นอยู่ในวัยเด็กและหนุ่มสาว จึงไม่ควรได้ค่าหัวเท่ากับกลุ่มประชาชนบัตรทองที่มีคนแก่เป็นจำนวนมาก

สรุปแล้วในประเทศไทยนี้ มีประชาชนถูกแบ่งแยกสิทธิในการได้รับการบริการด้านสุขภาพ 3 ระบบ (14) คือข้าราชการและครอบครัว ประชาชนบัตรทอง 47 ล้านคน และลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน ที่ต้องจ่ายเงินของตนเองสมทบกับนายจ้างและรัฐบาลช่วยเพียง 2.75% ผู้ประกันตนจึงจะได้รับการรักษาพยาบาลที่มีสิทธิ์น้อยกว่าประชาชนบัตรทองที่ไม่ต้องจ่ายเงินเลย
ส่วนข้าราชการนั้นยอมทำงานเงินเดือนน้อยก็เพราะหวังในสวัสดิการการรักษาเมื่อเจ็บป่วย แต่ในปัจจุบันรัฐบาลกำลังลิดรอนสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลของข้าราชการ (15)เช่นไม่ให้จ่ายวิตามิน ทั้งๆที่วิตามินนั้นราคาถูกและสามารถป้องกันโรคได้ และรัฐบาลไม่ยอมให้ป้องกันโรคโดยการฉีดวัคซีน แต่รัฐบาลจะยอมรักษาอาการโรคที่ร้ายแรงจากการป่วยเพราะไม่ได้รับสิทธิในการฉีดวัคซีนเหล่านั้น
ส่วนประชาชนบัตรทอง 47 ล้านคน มีสิทธิทุกอย่างในการไปโรงพยาบาล โดยไม่ต้องจ่ายเงินหรือมีหน้าที่รับผิดชอบในพฤติกรรมที่ทำให้ตัวเองมีสุขภาพดีเลย( health promoting behavior) รวมทั้งยังไปใช้บริการที่โรงพยาบาลได้โดยไม่มีขอบเขตจำกัด โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น

นอกจากนั้น ยังมีข่าวอีกว่าจะมีการให้หลักประกันสุขภาแก่ สส.และสว. โดยให้ค่าเหมาจ่ายรายหัวคนละ 50,000 และ 20,000 บาทต่อคนต่อปีตามลำดับ (14)

สรุปแล้ว ประชาชนไทยไม่ได้รับสิทธิในการรับบริการทางด้านสุขภาพ อย่างเสมอภาค เท่าเทียม และเป็นธรรม เหมือนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 51
9. ข่าวใหญ่ปลายปีคือมีข่าวว่ากพร.(คณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ) ได้เสนอคณะรัฐมนตรี ให้ย้ายโรงพยาบาลศูนย์ไปอยู่กับโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย (16)โดยอ้างอิงจากการศึกษาวิจัย โดยที่รัฐมนตรี/ปลัดกระทรวง และข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขไม่ระแคะระคายเลยว่า มีคนจ้องจะเจาะยางกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็โชคดีที่นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกพร. และได้ข่าวว่า นายกฯมีความเห็นว่าควรจะยุบกพร.แทน (17)
แต่ข่าวที่กพร.เสนอครม.นี้ ก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาในวงกว้างในหมู่ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ว่าควรจะยุบกพร.มากกว่าจะย้ายโรงพยาบาลศูนย์ และเกิดความคิดเห็นว่า ควรจะแยกกระทรวงสาธารณสุขออกจากกพ. เนื่องจากกพ.ไม่สามารถจัดสรรตำแหน่งข้าราชการแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆให้เพียงพอกับการทำงานที่มีคุณภาพ และยังกำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือนไม่เหมาะสมกับภาระงานและความรับผิดชอบ ทำให้โรงพยาบาลต้อง “จ้าง” บุคลากรเพิ่มจากอัตราข้าราชการและ ข้าราชการลาออกมากๆทุกปี เพราะได้รับค่าจ้างในภาคเอกชนสูงกว่าการทำงานในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข และเมื่อข้าราชการเกษียณแล้วก็ยุบตำแหน่งนั้นไปตามตัว ทำให้ขาดแคลนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เป็นจำนวนมากทุกสาขา (18,19)

10. ข่าวตอนปลายปีก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข “ตาสว่าง” แล้ว จากการไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลชุมชน และได้พบเห็นว่าแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ ต้องรับภาระงาน “หนักเกินกำลัง” อย่างไร(16,17)
11. ข่าวเรื่องโรคที่ยังเป็นปัญหาในประเทศไทยได้แก่
11.1 ข่าวโรค พยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบของท่อน้ำดีทั้งชนิดฉับพลันและเรื้อรัง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีและตับ โดยมีสถิติจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดีปีละ 28,000 คน (มากกว่าการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 2009นำ โดยผู้เสียชีวิตมากที่สุดอยู่ใน 10 จังหวัดนั้น อยู่ในภาคอีสาน 9 จังหวัด ได้แก่สกลนคร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุดรธานี ยโสธร นครพนม อำนาจเจริญ และอีกจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือคือจังหวัดแพร่ (20)
โดยมีอัตราป่วย 80 คนต่อประชากร 100,000 คน ในเพศชาย และ 40 คนต่อประชากร 100,000 คน ในเพศหญิง แต่ละปีจะพบผู้ป่วยใหม่ปีละ 6,000 คน(20)
สำหรับมะเร็งตับชนิดเซลท่อน้ำดีนี้ พบมากที่สุดในภาคอีสานและมากที่สุดในโลกด้วย(20)
11.2 ข่าวการระบาดของโรคชิกุนกุนยาในปลายปีพ.ศ. 2551 ต่อเนื่องมาถึงปี 2552 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัด นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และ สงขลา โดยในเดือนมกราคม 2552มีรายงานผู้ป่วยใหม่ 5,534 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง(21)
11.3 คนไทยมีปัญหาโรคเครียด ร้อยละ 13 จากการสำรวจของกรมสุขภาพจิตในเดือนเมษายน

โดยสาเหตุความเครียดมาจาก ปัญหาการเงิน ครอบครัว การเจ็บป่วยของตนเอง และปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยวิธีที่ประชาชนส่วนหนึ่งเลือกใช้วิธีจัดการกับปัญหาโดย การดื่มสุราร้อยละ 8 สูบบุหรี่ร้อยละ6 เล่นการพนันร้อยละ 1 (22)
ประชาชนอีกส่วนหนึ่งใช้วิธีจัดการความเครียดโดยการดูทีวีหรือภาพยนตร์ ขอคำปรึกษาผู้รู้หรือผู้ใกล้ชิด ฟังเพลง ออกกำลังกาย และอยู่กับครอบครัว
ข่าวคนไทยป่วยเป็นโรคทางจิตและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลปีละ 1,300,000 ราย มากที่สุดคือโรคจิต โรควิตกกังวลอย่างละกว่า 360,000 ราย โรคซึมเศร้า 120,000 ราย(22)
ข้อสังเกตจากผู้เขียน คงจะมีผู้ป่วยทางจิตและผู้ที่มีปัญหาความเครียดอีกมากมาย ที่ไม่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลหรือได้รับการสำรวจ ตัวเลขที่อ้างนั้นคงเป็นเพียง “ยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำให้มองเห็นเท่านั้น”

11.4ตอนปลายปีมีข่าวว่านายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนประชาชนให้ระวังโรคในฤดูหนาว 6 โรค ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ หัด หัดเยอรมัน อีสุกอีใส และท้องร่วง โดยในปีที่ผ่านมาคือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 ถึงเดือนกุมภาพันธุ์ 2552 มีผู้ป่วยจาก 6 โรคนี้ทั่วประเทศถึง 545,980 ราย เสียชีวิต 353 ราย มากที่สุดร้อยละ 83 เป็นโรคท้องร่วง 455,010รายเสียชีวิต 32 ราย รองลงมาคือปอดบวม ป่วย 43,247 ราย เสียชีวิต 321 ราย อีก 4 โรคไม่มีผู้เสียชีวิต ได้แก่อีสุกอีใส 39,021 ราย ไข้หวัดใหญ่ 6.113 ราย โรคหัด 2,383 ราย และหัดเยอรมัน 215 ราย(23)
ข้อสังเกตจากผู้เขียน
โรคที่กล่าวถึง 6 โรคนี้ ที่ในปีนี้ต้องเพิ่มแน่ๆคือไข้หวัดใหญ่ทั้งพันธุ์ใหม่ พันธุ์เก่า ซึ่งหลายโรคที่รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวเตือนให้ประชาชนระวังโรคนั้น หลายโรคมีวัคซีนป้องกันได้แล้ว เช่น ไข้หวัดใหญ่ (ตามฤดูกาล ) ปอดบวม จากเชื้อ Hemohilus influenza b หรือวัคซีนป้องกัน invasive pneumococcal diseases ที่เป็นสาเหตุของโรคปอดบวม วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส วัคซีนป้องกันหัด หัดเยอรมัน คางทูม วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันท้องร่วงจากโรค โรต้าไวรัส ส่วนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย
วัคซีนป้องรวมกันหัด หัดเยอรมัน คางทูม นั้น กระทรวงสาธารณสุขให้แก่เด็กตอนอายุ 6 ขวบเท่านั้น ให้เฉพาะวัคซีนหัดตอนอายุ 9 เดือน การที่ยังมีรายงานผู้ป่วยหัด และหัดเยอรมัน แสดงถึงการที่ประชาชนได้รับวัคซีนไม่ทั่วถึง น่าที่กระทรวงจะต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนนำบุตรหลานไปฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง
และกระทรวงสาธารณสุขควรเริ่มให้วัคซีนรวมหัด หัดเยอรมัน และคางทูมเป็น 2 ครั้งคือ เมื่ออายุ 9 เดือนและ 6 ปี(ในขณะนี้ให้แค่วัคซีนป้องกันหัดอย่างเดียวเมื่ออายุ 9 เดือน)

ส่วนวัคซีนอื่นๆนั้น ประชาชนทั่วไปไม่สามารถรับบริการฟรีได้ เพราะเป็นวัคซีนราคาแพง แต่ต้นทุนวัคซีนก็ยังมีราคาถูกกว่าค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ยังไม่เพิ่มวัคซีนเหล่านี้เข้าไปในบัญชียาหลักแห่งชาติ ส่งผลให้ประชาชนยากจนไม่สามารถได้รับวัคซีนนี้ และเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยต่อไป ส่วนประชาชนที่มีเงินและมีความรู้เท่าทันโรค ก็สามารถ “ซื้อวัคซีน” เพื่อป้องกันโรคให้ตนเองและครอบครัวได้

รัฐบาลควรเพิ่มมาตรการในการป้องกันโรคให้ประชาชนมากขึ้น โดยสนับสนุนวัคซีนให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงให้มากขึ้น งบประมาณในการป้องกันโรคน่าจะถูกกว่างบประมาณในการรรักษาโรคแน่นอน

11.5 ข่าวการระบาดของโรค “ฉี่หนู” หรือ leptospirosis (24) ในฤดูฝน ที่มีผู้ป่วย(สถิติตั้งแต่มกราคมถึงกลางเดือนสิงหาคม 2552) มีผู้ป่วยโรคนี้แล้ว 1,835 ราย เสียชีวิต 3ราย โดยมีสถิติย้อนหลังในปี 2551 มีผู้ป่วยโรคนี้ ตลอดปี 4,210 รายและสียชีวิต 73 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 1.7

11.6 โรคเอดส์ มีอัตราการติดเชื้อรายใหม่ลดลง จากที่เคยมีปีละ 140,000 ราย เหลือปีละ 18,000 ราย โดยมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเพิ่มขึ้น(25)
โดยมีรายงานทั่วโลกว่ามีผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอดส์ทั่วโลกในปี 2550 33.2 ล้านคน เสียชีวิต 2.1 ล้านคน และคาดว่าจะมีวัยรุ่นอายุ 15-25 ปีจะมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 (26)
ในประเทศไทย มีผู้ป่วยเอดส์สะสม 345, 196 ราย เสียชีวิตแล้ว 93,034 ราย (26)

12. ข่าวความสำเร็จในวงการแพทย์ไทย
12.1 ข่าวนักวิจัยศิริราชพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างสำเร็จแห่งแรกในไทย (27)
12.2 ข่าวความสำเร็จในการทดลองวัคซีนโรคเอดส์ (28) ไทม์จัดอันดับวิจัยวัคซีนเอดส์ไทยติดอันดับทอปไฟว์โลก
นพ.ศุภชัย ฤกษ์งาม ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลองระยะที่ 3 ซึ่งผลการทลองวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ 31.2% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้คือไม่น้อยกว่า 50% กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการทดลองฯ ว่า ขณะนี้ถือว่าโครงการทดลองฯ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100% โดยจะต้องมีการศึกษาวิจัยต่อยอดเพิ่มอีก 2 โครงการย่อย คือ 1.ทดสอบหาความแตกต่างของภูมิคุ้มกันของกลุ่มอาสาสมัครที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ มีจำนวน 125 คน(ที่ทั้งได้รับวัคซีนจริงและสร้างเลียนแบบ) ว่ามีความแตกต่างที่เป็นผลจากวัคซีน โดยตรวจสอบจากตัวอย่างเลือดของอาสาสมัครที่ได้เจาะเก็บไว้ ซึ่งได้ตั้งคณะทำงานย่อย 4 กลุ่ม เพื่อตรวจสอบด้านต่างๆ ประกอบด้วย 1.ตรวจภูมิคุ้มกันจากเซลล์เม็ดเลือด 2.ตรวจจากน้ำเหลือง 3.ตรวจจากพันธุกรรม และ4.ตรวจสอบย้อนกลับไปในการทดลองในสัตว์ทดลอง โดยอยู่ระหว่างการร่างโครงงานวิจัย คาดว่าจะเริ่มทดลองได้ภายในกลางปีหน้า ใช้เวลาศึกษานาน 6 เดือนจึงจะแล้วเสร็จ

13.ข่าวเรื้อรังที่มีอยู่อย่างยาวนาน เป็นข่าวที่เป็นปัญหาคู่กับการประกาศใช้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พศ.2545 คือปัญหาเรื้อรังของกระทรวงสาธารณสุข(29)จากผลพวงของพ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่ก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างต่อเนื่องและกำลังรอการแก้ไขจากผู้บริหารประเทศที่มีวิสัยทัศน์ และความกล้าหาญที่จะพํฒนาระบบการบริการด้านสุขภาพและหลักประกันสุขภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน สามารถใช้งบประมาณจากเงินภาษีอากรของประชาชนให้มีประสิทธิผลสูงสุด เกิดความเสมอภาค เท่าเทียม เป็นธรรม มีมาตรฐานและประชาชนปลอดภัยและมีสุขภาพดี
14. ข่าวที่ขาดไม่ได้ในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย( เหมือนกินอาหารไทยแล้วต้องมีแกงเขียวหวานหรือน้ำพริกปลาทู) คือข่าวการฟ้องร้องแพทย์และข่าวประชาชนที่อยากจะให้มีการออกพ.ร.บ.คุ้มคองผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์/สาธารณสุขพ.ศ. .... มีการเสนอให้มีการแยกคดีทางการแพทย์ออกกมาเพื่อพิจารณาในศาลพิเศษ เช่นศาลสาธารณสุข(30) ทั้งนี้ เพื่อให้แพทย์ได้รับการพิจารณาคดีจากศาลอย่างเข้าใจ “ข้อเท็จจริงทางการแพทย์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าความเสียหายต่อประชาชนนั้น มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือจงใจกระทำผิดแล้ว แพทย์ก็ไม่สมควรจะถูกลงโทษทางอาญา
ส่วนการฟ้องร้องทางแพ่งนั้น ก็ควรจะกำหนดเพดานการชดใช้ค่าเสียหายต่อประชาชนตามสมควรแก่ความเสียหายเท่านั้น ไม่ใช่ต้องจ่ายค่าเสียหายกันจนแพทย์ล้มละลายไปเลย ทั้งๆที่เวลาแพทย์ทำงานก็คิดค่ารักษาไม่มากมายอะไร หรือแพทย์ได้ค่าจ้าง(เงินเดือน) เป็นหลักหมื่น แต่ต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นหลัก 100 ล้าน
ถ้าแพทย์ยังเสี่ยงต่อการถูกตัดสินจำคุกและเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง ในขณะที่อดทนทำงานเงินเดือนน้อยในภาคราชการและถูกบังคับชดใช้ทุนอย่างนี้ ก็คงจะทำให้เยาวชนไม่อยากเรียนแพทย์ และพ่อแม่ที่เป็นแพทย์เองบางคนนอกจากจะไม่ส่งเสริมให้ลูกเรียนแพทย์แล้ว ยังห้ามลูกไม่ให้สมัครเรียนแพทย์อีกด้วย แม้แต่อาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ก็ยังสังเกตว่า คะแนนของนักเรียนที่สอบเข้าเรียนแพทย์ตกต่ำลงกว่าเดิม หรือถ้าสังเกตข่าวการประกาศผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัย คะแนนสอบสูงสุดก็ย้ายไปอยู่ภาควิชาอื่น ไม่ใช่วิชาแพทย์
วงการแพทย์ก็คงจะหาคนดี คนเก่งมาทำงานยากขึ้น ประชาชนย่อมเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
15. ข่าวที่ศาลปกครองสูงสุด ได้อ่านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวคดีมาบตาพุด ที่สมาคมต่อต้านภาวะโรคร้อนและประชาชนชาวมาบตาพุด 43 คนได้ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ขอให้ศาลเพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเพิกถอนใบอนุญาตโครงการที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและพวกได้ให้ความเห็นชอบอนุมัติ อนุญาต จำนวน 76 โครงการ
ดังนั้น ศาลปกครองกลาง จึงได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 โดยสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรม จำนวน 76 โครงการ ที่กำลังดำเนินการในพื้นที่ตำบลมาบตาพุด อำเภอบ้านฉาง และบริเวณใกล้เคียงจังหวัดระยองไว้เป็นการชั่วคราวก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีและเจ้าของโครงการได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด
และศาลปกครองสูงสุดได้สั่งระงับการดำเนินการของ 65 โครงการ โดยให้ไปปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 มาตรา 67 ที่บัญญัติไว้ ก่อนการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชน จึงต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้(31)
ข้อสังเกตจากผู้เขียน ปัญหามลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรมที่จะส่งผลไปยังสุขภาพของประชาชน เป็นสิ่งที่มีมายาวนานคู่กับจังหวัดที่ม๊โรงงานอุตสาหกรรม เพราะรัฐบาลไม่ได้ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีการจำกัดกากหรือขยะจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เหมาะสม ก่อให้เกิดมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน
การตัดสินของศาลปกครองสูงสุดครั้งนี้ เป็นนิมิตหมายอันดีที่รัฐบาลจะต้องควบคุมมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เหมาะสม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน มิใช่คิดแต่เฉพาะด้านเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว
16. ข่าวสุดท้าย ปลายปี เป็นข่าวดีที่สุด ที่ทำให้ผลสำรวจของสำนักวิจัยเอแบคโพล แห่งมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (32)ได้เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,147 ครัวเรือน เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พบว่า ภายหลังรับชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว พบว่าประชาชนถึงร้อยละ 81.91 ระบุว่าตนเองมีพลังในการต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคต่างๆในชีวิตเพิ่มมากขึ้น
ผลสำรวจยังพบว่า จากการวัดความสุขของคนไทยด้วยคะแนนเต็ม 10 พบว่าระดับความสุขของคนไทยในวันที่ 5 ธันวาคม 2552 มีคะแนนสูงถึง 9.86 ซึ่งเป็นคะแนเกือบเต็ม
ขอถวายพระพร ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ
หมายเหตุ บทความนี้เขียนเสร็จในวันที่ 9 ธันวาคม 2552
เอกสารอ้างอิง :
http://www.ryt9.com/s/iq01/758530
http://www.informationisbeautiful.net/2009/swine-flu-latest-visualized/#more-503
http://cme.medscape.com/viewarticle/708032?src=top10&uac=113980PV
4.http://www.posttoday.com/breakingnews.php?id=70506 แฉคนปชป.-ภท.เอี่ยวทุจริตสธ.