2556-10-22

การดูแลสุขภาพของชายรักชาย พญ. ชัญวลี ศรีสุโข (chanwalee@srisukho.com) ประมาณการจากการสำรวจโดยสถาบัน วิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ.2550 พบว่ามีชายรักชายในประเทศไทย 1.3-3.2 ล้านคน (เฉลี่ย 2.3 ล้านคน) โดยมีจำนวนที่ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 189,626-474,064 คน สุขภาพของชายรักชายสัมพันธ์กับพฤติกรรมทางเพศ ซึ่งอาจไม่ค่อยได้รับการดูแล เนื่องจากความรู้ในการดูแลสุขภาพของชายรักชายไม่แพร่หลาย, การเข้าถึงการแพทย์สำหรับชายรักชายบางรายอาจไม่สะดวกนัก, ชายรักชายอาจเกรงบุคลากรทางการแพทย์มีอคติ, การเข้าพบแพทย์ตามลำพังยากสำหรับสิ่งแวดล้อมของโรงพยาบาลทั่วไป, และอาจมีปัญหาเศรษฐานะของชายรักชายบางรายที่ไม่เอื้อที่จะซื้อบริการทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ชายรักชายควรได้รับการดูแลสุขภาพซึ่งมีลักษณะพิเศษที่ควรจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ดังนี้ 1.มะเร็ง ชายรักชายมีความเสี่ยงสูงกว่าประชากรทั่วไปที่จะเป็นมะเร็งทวารหนัก สาเหตุคือเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวีชนิดเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งจากการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ร้อยละ 70 เป็นเอชพีวีชนิด 16, 18 การตรวจหามะเร็งทวารหนักระยะเริ่มแรก โดยการตรวจหาเซลล์มะเร็ง แบบการทำแป๊บสเมียร์ตรวจมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง แม้ได้ผลดี แต่ยัง ไม่ตกลงเป็นมาตรฐานการคัดกรองในชายรัก ชาย ดังนั้น ชายรักชายควรเฝ้าระวังอาการที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งทวารหนัก คือ มีเลือดออกจากทวารหนัก ปวดถ่วงทวารหนัก ถ่ายไม่สุด ถ่ายแล้วปวด ก้อนอุจจาระลีบเล็ก มีก้อนเนื้อที่ทวารหนัก หากมีอาการที่น่าสงสัยควรรีบไปพบแพทย์ การป้องกันมะเร็งทวารหนัก นอกจากการเฝ้าระวังอาการแล้ว แนะนำให้เพศชาย อายุ 9-26 ปี ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี ซึ่งป้องกันมะเร็งทวารหนักที่เกิดจากไวรัสเอชพีวี ได้ประมาณร้อยละ 70 2.โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แม้มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลายชนิดในชายรักชาย แต่ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกา แนะนำให้ชายรักชายที่ยังไม่มีอาการผิดปกติของโรคตรวจคัดกรองหาโรคเอดส์ ซิฟิลิส เชื้อหนองในเทียม และหนองในแท้ เป็นประจำ ซึ่งทั้งสี่โรคหากมีการสวมถุงยางอนามัยถูกวิธี และสวมทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้เอดส์ การคัดกรองเอชไอวีเอดส์ใช้วิธีตรวจเลือด ส่วนการป้องกันการติดเชื้อรายใหม่ใน ชายรักชายที่ได้ผลที่สุดคือ ไม่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อเอชไอวีเอดส์, รักเดียวใจเดียว, สวม ถุงยางอนามัย, และรับยาต้านไวรัสเอดส์เมื่อสัมผัสเชื้อก่อน 72 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบการสวมถุงยางอนามัยถูกวิธีและสวมทุก ครั้งในชายรักชาย ป้องกันเอดส์ได้ร้อยละ 80 เท่านั้นซิฟิลิส เชื้อซิฟิลิสไม่อาจติดต่อได้ หากผิวหนังของฝ่ายรับไม่มีแผล หากมีแผลหรือรอยฉีก เชื้อซิฟิลิสจึงจะเข้าไปในร่างกาย ระยะเวลาเพาะเชื้อ 1-8 สัปดาห์ เริ่มแรกจะเป็นตุ่มเล็กต่อมากลายเป็นแผลริมแข็งไม่เจ็บ หากไม่ได้รักษาอาจมีอาการออกผื่น ข้ออักเสบ เชื้อเข้าสู่ สมอง สู่หัวใจ จนอาจถึงอันตรายต่อชีวิต ถ้ายังไม่มีอาการใดๆ การคัดกรองซิฟิลิสใช้วิธีตรวจเลือดหนองในเทียม อาการของหนองในเทียม คืออาการของท่อปัสสาวะอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อหนองในแท้ ในผู้ชายมักมีอาการปัสสาวะแสบขัด ร้อนคันรูปัสสาวะ มีน้ำหรือหนองไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ หากสังเกตกางเกงในจะเห็นเปื้อนหนอง หากไม่รักษา หรือรักษาไม่ถูกต้อง เชื้อหนองในเทียมอาจลุกลามจนเกิด ลูกอัณฑะอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ มีผื่นตามตัว ในบางรายอาจมีอาการปวดข้อร่วมกับตาแดง ตามมาด้วยอาการเป็นหมัน ในกรณีที่ยังไม่มีอาการ การคัดกรองคือการนำสารคัดหลั่งจาก รูปัสสาวะมาย้อมหาเชื้อหรือเพาะเชื้อหนองในแท้ อาการเหมือนหนองในเทียม แต่ตรวจพบเชื้อโกโนเรียจากหนองที่รูปัสสาวะ หากไม่รักษา หรือรักษาไม่ถูกต้อง เชื้อหนองในแท้อาจลุกลามจนเกิดลูกอัณฑะอักเสบ ต่อม ลูกหมากอักเสบ ท่อปัสสาวะตีบตัน ในบางรายอาจมีอาการปวดข้อร่วมกับมีไข้ ตามมาด้วยอาการเป็นหมัน ในกรณีที่ยังไม่มีอาการ การคัดกรองคือการนำสารคัดหลั่งจากรูปัสสาวะมาย้อมหาเชื้อหรือเพาะเชื้อ 3.สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เสพสารเสพติด งานวิจัยพบว่าชายรักชายมีปัญหาเหล่านี้สูงกว่าประชากรทั่วไป ทำให้สุขภาพทรุดโทรม การดื่มเหล้า เสพสารเสพติด อาจทำให้มีการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ ไวรัส ตับอักเสบเอ บี ซี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกโรค จึงมีข้อแนะนำให้ชายรักชายที่ถูกข่มขืนไปพบแพทย์ และควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี (ไวรัสตับอักเสบซียังไม่มีวัคซีน) ทั้งหากเป็นไปได้ ชายรักชายควรละ ลดเลิกการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เสพสารเสพติด 4.สุขภาพจิต งานวิจัยบางชิ้นพบอาการผิดปกติทางจิตในชายรักชายมากกว่าประชากรทั่วไป ได้แก่ โรคซึมเศร้าและโรคไบโพล่าร์ (มีความผิดปกติทางอารมณ์สองขั้ว คือรื่นเริงและซึมเศร้า) เชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูด้วยความรุนแรงในครอบครัว ทำให้ชายรักชายเกิดความกลัว เครียด วิตกกังวล หากมีความผิดปกติทางจิต ควรพบจิตแพทย์เพื่อตรวจรักษา 5.ความรุนแรงในครอบครัว งานวิจัยพบว่าคู่ของชายรักชายกระทำความรุนแรงต่อกันไม่มากกว่าคู่ของชายรักหญิง แต่เชื่อว่าอาจเพราะข้อมูลที่มีไม่มากพอ ชายรักชายที่ถูกชายข่มขืนมักจะไม่แจ้งความ เนื่องจากความอาย ในชายรักชายบางคน การแจ้งความตามสิทธิอาจถูก ซ้ำเติมจากบุคคลอื่นๆ ในสังคม สรุป ชายรักชายเป็นประชากรที่มีจำนวนมากในทุกประเทศทั่วโลก เป็นเช่นเดียวกับประชากรทุกกลุ่มทุกเพศคือมีส่วนสร้างความเจริญให้ประเทศ การดูแลสุขภาพของชายรักชายจึงเป็นเรื่องที่รัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชายรักชายเองควรให้ความสำคัญไม่ละเลย ด้วยความปรารถนาดีจากพญ. ชัญวลี ศรีสุโข โฆษกแพทยสภา
ในหลวงกับการแพทย์ไทย http://www.youtube.com/watch?v=_LQPQg9KNWg
http://www.youtube.com/watch?v=Kcgb55qIcUg

แพทยสภา 45 ปี ภารกิจเพื่อประชาชน 9 ตุลาคม 2556




45 ปีแพทยสภา


             แพทยสภา จัดงานครบรอบ 45 ปี ในวันสถาปนา 9 ตุลาคม 2556 โดยฯพณฯ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดนิทรรศการ 45 ปี แพทยสภา และแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ กับการแพทย์ไทย” และนายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษ แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง“การแพทย์ไทยจะไปทางไหนในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)”

                        วันที่ 9 ตุลาคม 2556 เวลา 9.30 น. ณ ห้องประชุมโรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ฯพณฯ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ให้เกียรติ เป็นประธานเปิดนิทรรศการ 45 ปีแพทยสภา การดำเนินงาน การพัฒนาในช่วง 4 ทศวรรษ  พร้อมทั้งความเป็นมาหลักสูตรธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารทางการแพทย์ โครงการแพทย์อาสาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ครบรอบ 85 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ครบรอบ 80 พรรษาและการบันทึกสถิติโลก (Guinness World Record) เฉลิมพระเกียรติ เมื่อ 17 มีนาคม 2556 โดยนักศึกษา ปธพ.1 แพทยสภา และสถาบันพระปกเกล้า พร้อมทั้งผลงานวิชาการนักศึกษา 10 เรื่อง
                                    ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์  โลห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่าวันที่ 9 ตุลาคม 2556 ถือเป็นวันครบรอบสถาปนา 45 ปีของแพทยสภา ซึ่งแพทยสภา ถือกำเนิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 โดยวัตถุประสงค์ของแพทยสภาคือ
(1)   ควบคุมการประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ถูกต้องตามจริยธรรม
แห่งวิชาชีพเวชกรรม
(2)   ส่งเสริมการศึกษา   การวิจัย   และการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในทางการ
แพทย์
(3)   ส่งเสริมความสามัคคี  และผดุงเกียรติของสมาชิก
(4)   ช่วยเหลือ  แนะนำ  เผยแพร่  และให้การศึกษาแก่ประชาชน  และองค์กรอื่น
ในเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์และการสาธารณสุข

(5)   ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการแพทย์และการ
สาธารณสุข
(6)   เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทย
รวมทั้ง แพทยสภามีอำนาจหน้าที่คือ
(1)    รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
(2)    พักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
(3)    รับรองปริญญา  ประกาศนียบัตรในสาขาวิชาแพทยศาสตร์  หรือวุฒิบัตรใน
วิชาชีพเวชกรรมของสถาบันต่าง ๆ
(4)    รับรองหลักสูตรต่าง ๆ สำหรับการฝึกอบรมในวิชาชีพเวชกรรมของสถาบัน
ทางการแพทย์
(5)    รับรองวิทยะฐานะของสถาบันทางการแพทย์ที่ทำการฝึกอบรมใน (4)
(6)    ออกหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบ
วิชาชีพเวชกรรมสาขาต่าง ๆ และออกหนังสือแสดงวุฒิอื่น ๆ ในวิชาชีพเวชกรรม
                        งานของแพทยสภาที่ได้ดำเนินการมาและต้องทำต่อไปมีจำนวนมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของโลก และเรื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพแพทย์ต้องมีแพทยสภาร่วมอยู่ด้วยเสมอ แพทยสภาจึงต้องดูแลทั้งแพทย์และประชาชน สมดังคำขวัญแพทยสภาที่ว่า แพทยสภายุคใหม่    ยกคุณภาพแพทย์ไทย โปร่งใส ใส่ใจประชาชน
และในปีนี้มีสิ่งสำคัญซึ่งต่างจากทุกปีคือการที่ "แพทยสภา"ได้มีการพัฒนาองค์ความรู้แบบมีส่วนร่วม โดยใช้หลักธรรมาภิบาลตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จัดเป็นโครงการหลักสูตรธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารทางการแพทย์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้า เป็นอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะท่านเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในการจัดหลักสูตร ตามหลักคิดว่า แนวทางในการแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศในยุคต่อไปต้องเกิดขึ้นอย่างโปร่งใส บนพื้นฐานคุณธรรมและการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน

นายกแพทยสภา กล่าวต่อว่า แพทยสภา ร่วมกับ สถาบันพระปกเกล้า จัดอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตร
ธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารทางการแพทย์  รุ่นที่ 1 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2555 โดยมีผู้เข้ารับการอบรมที่
เป็นแพทย์ผู้บริหารทางการแพทย์สายสาธารณสุขในองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน  จำนวน 120
ท่าน
สำหรับหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารทางการแพทย์ รุ่นที่ 1  แพทยสภาในฐานะ
สภาวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มีภารกิจตั้งแต่กำกับดูแล
การผลิตนักศึกษาแพทย์ใน 21  คณะแพทยศาสตร์  ไปจนถึงควบคุมมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมกว่า 40,000 คน ในสาขาเชี่ยวชาญ 80 สาขา ภายใต้ 14 ราชวิทยาลัย
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ  ซึ่งต้องรับผิดชอบการตรวจรักษาผู้ป่วยกว่า 200 ล้านครั้งต่อปีในทุกภาคส่วน 
นอกจากความซับซ้อนทางวิชาการแพทย์ตามเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นแล้ว ความซับซ้อนทางด้านสังคมวิทยา
เศรษฐกิจและกฎหมายโดยเฉพาะด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  ด้านเศรษฐกิจทั้งใน
ระดับอาเซียนและระดับโลก  ด้านกฎหมายมหาชนซึ่งมีผลต่อการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งแพทย์และ
ผู้บริหารสายแพทย์มีความจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจต่อภาวะวิสัยทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อให้สมดุล ในการดูแลประชาชนในระบบสุขภาพ
ของประเทศภายใต้ทรัพยากรอันจำกัด
 ทั้งนี้แพทยสภาขอขอบคุณ สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะที่เป็นสถาบันศึกษาด้านการเมือง การปกครอง
กฎหมายและเศรษฐศาสตร์อันดับสูงสุดของประเทศภายใต้รัฐสภา ในฐานะที่เป็นสถาบันที่ผลิตผู้บริหาร
ระดับสูงหลากหลายสาขาและเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม  จึงถือเป็นโอกาส อันเหมาะสมที่ทั้งสองสถาบันจะได้
บูรณาการองค์ความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ แก่ผู้บริหารสายแพทย์และสาขาที่เกี่ยว
ข้อง เพื่อผลิตบุคลากรที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในการสร้างความเจริญพัฒนาของประเทศไทยต่อไป

นอกจากนี้แพทยสภา ได้ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า และกระทรวงสาธารณสุข  จัดโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบรอบ 85 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งนับเป็นเกียรติประวัติของแพทย์อาสาทุกท่านที่เข้าร่วมเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมแพทย์เฉพาะทางตาที่ออกบริการดูแลรักษาประชาชนจำนวนมากที่สุดครั้งแรกในโลก สร้างชื่อบันทึกลง สถิติโลกกินเนสบุ๊ค (Guinness Book World Record) ให้บริการตรวจตา 450 คน ใน 1 ชั่วโมง พร้อมด้วยทีมแพทย์อาสาสมัครอีกกว่า 300 ราย ซึ่งการออกหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ

 “The most eye tests performed in one hour were achieved to celebrate His Majesty the King's 85th and Her Majesty the Queen's 80th Birthday Anniversaries by The Medical Council of Thailand and King Prajadhipok's Institute, in Ayuddhaya, Thailand, on 17 March 2013”

ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ยังได้กล่าวแสดงความยินดีกับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารทางการแพทย์ (ปธพ.1)  ซึ่งจบการศึกษา แพทยสภาได้มอบเข็มเชิดชูเกียรติแพทยสภาให้กับผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น อดีตนายกแพทยสภา อดีตเลขาธิการแพทยสภา กรรมการแพทยสภา วาระปัจจุบัน และมอบเข็มเกียรติคุณ ปธพ. ให้กับ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า, รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า มอบโล่ นักศึกษาดีเด่น มอบเข็มเกียรติคุณ และเกียรติบัตรให้กับนักศึกษา ปธพ.1 จำนวน 120 ท่าน รวมทั้งมอบเกียรติบัตรให้กับผู้ให้การสนับสนุนหลักสูตรฯ
หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารทางการแพทย์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีเป้าประสงค์ที่จะสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของวงการแพทย์ไทย ซึ่งนานาอารย ประเทศได้ชื่นชมประเทศไทยในความสำเร็จทั้งด้าน Medical Hub และ  Universal Coverage อย่างไรก็ตามยังคงมีความท้าทายอีกมากในการพัฒนาวงการแพทย์วงการสาธารณสุขของประเทศไทย ให้เกิดความยั่งยืนและสมดุล หลักสูตรนี้จะเป็นเวทีที่ช่วยเสริมการพัฒนาดังกล่าว ภายใต้หลักการธรรมาภิบาล ซึ่งในรุ่น 1 นี้แพทยสภาได้รับเกียรติจากบุคคลสำคัญในบ้านเมือง ทั้งท่านอดีตนายกรัฐมนตรี ท่านชวน หลีกภัย และอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ท่านนายแพทย์ไพจิตร ปวะบุตร มาร่วมเป็นนักศึกษาในหลักสูตร นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารทางการแพทย์ระดับสูงจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนมาร่วมชั้นเรียนเป็นเวลา 5 เดือน    และในวันนี้ถือเป็นวันสำคัญที่นักศึกษาทั้ง 10 กลุ่ม จะได้ทั้งร่วมกันนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขไทยและสังคมต่อท่านสภานายกพิเศษ(รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข)เป็นครั้งแรก
หมายเหตุ : ผลการวิจัย (ฉบับย่อ)ที่ได้รับการรับรองจากสถาบันพระปกเกล้าแล้ว
                                    (มีเอกสารฉบับเต็มแจกผู้เข้าร่วมงานที่สนใจ และสื่อมวลชน)
กลุ่มวิชาการที่ 1             เรื่อง การศึกษาด้านอัตรากำลังแพทย์และพยาบาล : นโยบายและแนวทางแก้ไข
กลุ่มวิชาการที่ 2             เรื่อง การพิจารณาคดีจริยธรรมของแพทยสภา : ศึกษาคำพิพากษาศาลปกครอง
กลุ่มวิชาการที่ 3             เรื่อง การบริหารการจัดการทางแพทย์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
กลุ่มวิชาการที่ 4             เรื่อง ระบบการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสมกับระบบสุขภาพไทยที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน
กลุ่มวิชาการที่ 5             เรื่อง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อแพทย์ภาคเอกชนในการตัดสินใจไปทำงานในประเทศ
                                        ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
กลุ่มวิชาการที่ 6             เรื่อง บทบาทกระทรวงสาธารณสุขในด้านบริหารจัดการระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ
กลุ่มวิชาการที่ 7             เรื่อง การเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชนสำหรับบริการสาธารณสุขของประเทศไทย : กรณีศึกษาการเพิ่มบริการเครื่องมือแพทย์สมัยใหม่
กลุ่มวิชาการที่ 8             เรื่อง แนวทางของการจัดการบริการส่วนเอกชนในโรงพยาบาลของรัฐอย่างมีธรรมาภิบาลกรณีศึกษาโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ
กลุ่มวิชาการที่ 9              เรื่อง การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2545
กลุ่มวิชาการที่ 10            เรื่อง ธรรมาภิบาลสำหรับศูนย์กลางการแพทย์ระดับนานาชาติ




https://www.youtube.com/watch?v=Kcgb55qIcUg

2553-01-18

แพทย์กับธุรกิจขายตรง

แพทย์กับธุรกิจขายตรง :
ความเป็นปัจเจกบุคคล (Individual) กับความเป็นตัวแทนของสถาบัน (Public figure)

มนุษย์อยู่กันเป็นกลุ่ม มีระบบของสังคมที่สลับซับซ้อนมากกว่าสิ่งที่มีชีวิตอื่น
ใด รวมทั้งมีค่านิยมทางสังคม ศีลธรรม และวัฒนธรรมแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ มาก การตัดสินใจกระทำอะไร ผู้กระทำไม่อาจมองด้านเดียว เพียงแค่ในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคลได้ แต่ต้องพิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบว่า ผู้กระทำนั้นเป็นตัวแทนของสถาบัน (-ในที่นี้หมายถึงกลุ่มบุคคล-) อะไรบ้าง คำว่าตัวแทนสถาบันอาจแปลความได้หลายประการ แต่ในบทความนี้จะหมายถึงการที่บุคคลนั้นเป็นตัวแทน "public figure" ของหน่วยงานหรือองค์กรอันใดอันหนึ่ง
แพทย์เป็นอาชีพหนึ่งที่สังคมยกย่อง และให้เกียรติมาก และการให้เกียรติยกย่องนี้บางครั้งสังคมก็มี "ความคาดหวัง" ต่อบุคคลนั้นมากตามไปด้วย และ สังคมแยกไม่ออกระหว่างตัวบุคคลกับความเป็นวิชาชีพแพทย์ของบุคคลนั้น ดังนั้น แม้ในระหว่างการทำงานปกติ แพทย์คนนั้น ก็จะต้องระมัดระความประพฤติอยู่ตลอดเวลา จะทำตัวนอกรีตนอกรอยไม่ได้ ตัวเองจะปฏิเสธว่า...ไม่ใช่...ฉันไม่ได้เป็นตัวแทนของใคร...ก็คงไม่ได้ เพราะเราได้เข้ามาในวิชาชีพนี้แล้ว การกระทำอะไรก็ตาม ไม่ว่าเป็นการกระทำที่มีผลดี หรือไม่ดี ผลแห่งการกระทำนั้นจะสะท้อนไปถึงความเป็นตัวแทนของสถาบัน (public figure) ของวิชาชีพที่บุคคลนั้นเกี่ยวข้องอยู่เสมอ
เมื่อแพทย์และนิสิตแพทย์ขึ้นปฏิบัติงาน ทั้งในเวลา และนอกเวลา ทั้งในโรงพยาบาล และในวิถีชีวิตส่วนตัว เงาแห่งความเป็นสถาบันวิชาชีพแพทย์จะครอบเราอยู่ตลอดเวลา หากทำอะไรที่ดีงามเราก็ได้ดี และสถาบันวิชาชีพแพทย์ก็ได้ดีได้วย แต่สิ่งนั้นอาจไม่เป็นสิ่งที่สังคมกล่าวถึงมากนัก เพราะเป็นไปตามความคาดหวังของสังคมอยู่แล้ว แต่เมื่อไหร่ ที่แพทย์หรือนิสิตแพทย์ทำอะไรผิด สังคมจะมีปฏิกิริยาตอบสนองค่อนข้างมาก เพราะการกระทำนั้นไป กระทบภาพลักษณ์ของสถาบันวิชาชีพแพทย์และกระเทือนต่อความคาดหวังที่สังคมมีต่อวิชาชีพแพทย์ไปด้วย นิสิตแพทย์ที่แต่งกายไม่เรียบร้อยขึ้นปฏิบัติงาน มักอ้างว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะการขึ้นปฏิบัติงาน นิสิตได้ใช้เอกสิทธิ์ของสถาบันวิชาชีพแพทย์ ไม่ก้าวล้ำในเรื่องส่วนตัว (เช่น ซักประวัติ & ตรวจร่างกายผู้ป่วยทั้งในส่วนลับและส่วนแจ้ง) ไปทำให้เขาเจ็บตัว (เช่น เจาะเลือด, ผ่าตัด) นิสิตแพทย์และแพทย์สามารถทำได้ทุกอย่าง แม้ผู้ป่วยไม่รู้จักกับเรามาก่อน เพราะเขาเชื่อมั่นในสภาบันวิชาชีพแพทย์ และเขามองว่าเราแต่ละคนล้วน เป็นตัวแทน (public figure) ของสถาบันแพทย์ หากแพทย์คนใดประพฤติปฏิบัติตัวไม่เหมาะ ผลเสียไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบุคคลนั้น แต่กระทบไปที่คำว่า " คุณหมอ "ซึ่งเป็น สัญญลักษณ์ของสถาบันวิชาชีพ "แพทย์"ที่เราใช้เป็นสรรพนามนำหน้าชื่อเราไปด้วย
อย่างหลีกเลี่ยงมิได้
แพทย์จะไปดื่มเหล้าเมา กอดเสาไฟฟ้าอยู่ริมถนน ก็ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นสิ่งที่ไปกระทบถึงสถาบันวิชาชีพแพทย์จะไปทำอะไรที่ผิดศีลธรรม หรือ วัฒนธรรมอันดีงาม ก็ไม่เหมาะด้วยหลักการเดียวกัน ตลอดชีวิตนี้ นิสิตแพทย์ และแพทย์ทุกคนมีความอิสระเป็นตัวของตัวเองเพียงไม่ถึงครึ่ง อีกกว่าครึ่งของตัวเราจะมีเงาของความเป็นตัวแทน (public figure) ของวิชาชีพแพทย์ติดตามเราไปด้วยทุก ครั้ง
มันถอนไม่ออก ปฏิเสธไม่ได้ นอกจากบุคคลนั้นจะขอคืนปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตเท่านั้น
หากจะกล่าวเลยไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันก็คือ ปัจจุบันมีนิสิตแพทย์ และแพทย์จำนวนหนึ่งจากโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่โรงเรียนแพทย์ใหญ่ มีรายได้เสริมจากการทำธุรกิจขายตรง ขอเรียนว่า สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะหากว่ารายการสินค้าที่อยู่ในบัญชีของธุรกิจเหล่านั้น บางรายการมีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น แชมพูสระผม อาหารเสริม วิตามิน ครีมทาผิว เครื่องดื่มผสมสาร ก. ข. ค. ฯลฯ เป็นต้น หากแพทย์หรือนิสิตแพทย์เข้าไปเกี่ยวข้องโดยทำธุรกิจขายตรง ก็จะทำให้ผู้บริโภคคือ ประชาชนเกิดความสับสน ประชาชนไม่ได้มองแค่ว่า นาย ก. หรือ นาย ข. เห็นดีเห็นงามกับการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพอาหารเสริมนั้นๆ แต่เขาจะมองว่า "วิชาชีพแพทย์" ที่แฝงอยู่ในตัวนิสิตแพทย์ ก. หรือ นายแพทย์ ข. "เห็นชอบ" กับผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นแล้ว ความคิดคำนึงของประชาชนผู้บริโภคก็คือ ...แม้แต่ "คุณหมอ..." ก็เห็นชอบว่าสินค้ารายการนั้นมีประโยชน์จริงตามหลักวิชาแพทย์... ซึ่งเป็นการใช้เอกสิทธิ์ของ "วิชาชีพแพทย์" ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยปริยาย ทั้งๆ ที่ความจริงแพทย์หรือนิสิตแพทย์ผู้ทำการขายตรง ก็อาจไม่มีข้อมูลที่เป็น evidence-based medicine ที่ยืนยันได้ชัดเจน ปราศจากข้อสงสัยใดๆว่าอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่นิสิตแพทย์ ก. หรือ นายแพทย์ ข. เข้าไปดำเนินงานขายตรงนั้น มีผลดีกว่าการไม่ใช้ สิ่งที่บุคคลในวิชาชีพนำเสนอหลายสิ่งเป็นเพียงความเชื่อที่เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล (Opinion) มากกว่าเป็นความจริง (Fact) ที่ได้รับการพิสูจน์ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และสถิติอย่างถูกต้องแล้ว
บุคคลในวิชาชีพแพทย์ พยาบาล หรือทันตแพทย์ ไม่ควรไปเกี่ยวข้องเป็น นายแบบ-นางแบบโฆษณาให้กับสินค้าต่างๆที่เกี่ยวข้อง.(... หรือแม้แต่ไม่เกี่ยวข้อง...) กับสุขภาพของประชาชน เพราะประชาชนอาจมีความเข้าใจว่าความเห็น ของบุคคลนั้นที่นำเสนอ เป็นความเห็นที่เกิดจากองค์ความรู้ทางวิชาชีพที่ถูกต้อง ได้รับการยอมรับ จากสถาบันวิชาชีพแพทย์ที่คลุมตัวบุคคลนั้นอยู่ อาจถือได้ว่า การประพฤติดังกล่าว เป็นการ ใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ( abuse ) จากความเป็นสถาบันวิชาชีพแพทย์เพื่อประโยชน์ส่วนตน โดยปริยาย
ขอเน้นว่า ไม่ว่าแพทย์หรือนิสิตแพทย์จะทำอะไร จะคิดอะไรก็ตาม มีหลักพึงสังวรณ์ และต้องตอบคำถามให้ได้ 3 ข้อ
ข้อที่ 1 คือ ด้านนิติธรรม หมายความว่า ถูกหรือผิดกฎหมายหรือไม่?
ข้อที่ 2 คือ ด้านศีลธรรม คุณธรรม และศาสนา หมายความว่า ถูกต้องเหมาะสม
ตามหลักศาสนา หรือศีลธรรมของสังคมนั้นๆ หรือไม่?
ข้อที่ 3 คือ ด้านจริยธรรม และวัฒนธรรม หมายความว่า การกระทำนั้นเหมาะสมในแง่ความ ประพฤติ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ หรือไม่? การประกอบธุรกิจขายตรง ขายอาหารเสริม ขายฯลฯ ที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน อาจไม่ผิดกฎหมาย แต่หากมองว่า สิ่งนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ในเชิงคุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรมของวิชาชีพแพทย์ ? คำตอบก็คือ ไม่ถูกต้อง จะมองอย่างไรก็ไม่ถูกต้อง และเป็นเรื่องการมีผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจน
ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อเตือนสติแก่นิสิตแพทย์ และแพทย์ทั้งหลายว่า ตราบชั่วชีวิตนี้เราจะไม่มีความเป็นส่วนตัวมากนัก เพราะเราต่างเป็น public figure ของวิชาชีพแพทย์ การทำอะไรต้องระมัดระวังทั้งกาย-วาจา-ใจ เราได้รับการยอมรับจากสังคมสูงกว่าอาชีพอื่นๆ โดยอัตโนมัติก็จริง แต่ในทางกลับกันเราก็มีกฎเกณฑ์ที่ต้องประพฤติต้องระมัดระวังในการปฏิบัติสูงกว่าอาชีพอื่นๆ เช่นกัน เพราะสังคมคาดหวังจากบุคคลในวิชาชีพแพทย์นี้สูงมาก หากผิดจากความคาดหวังทีไร...เป็นเกิดเรื่องทุกที และเวลาเกิดเรื่อง ความไม่ดีจะไม่ลงมาที่ตัวเราเท่านั้น แต่มันกระทบไปที่สถาบันวิชาชีพแพทย์ทั้งหมดโดยปริยาย สถาบันวิชาชีพแพทย์ได้รับการยกย่องจากสังคมมานาน เพราะแพทย์รุ่นพี่ๆ ได้ประกอบคุณงามความดีมากมาย สั่งสมกันมา จึงเป็นหน้าที่ และความรับผิดชอบของแพทย์รุ่นปัจจุบันทุกคน จะต้องช่วยกันทะนุถนอม และรักษาไว้ ทำให้สถาบันวิชาชีพแพทย์นี้ดีขึ้น เพื่อส่งต่อไปให้รุ่นถัดไป
.............แพทย์ทุกคน เป็นตัวแทนของสถาบันวิชาชีพ ไม่ควรไปยุ่งกับธุรกิจการขายตรง
ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า
12 มกราคม 2553

รายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงทุจริตไทยเข้มแข็งกทสธ.

เผยรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงทุจริตไทยเข้มแข็งกระทรวงสาธารณสุขโดยละเอียด
Fri, 01/08/2010 - 21:13 | by thitinob

หลัง การเปิดโปงอย่างต่อเนื่องของชมรมแพทย์ชนบท โดยเฉพาะนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ ตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2552 เป็นต้นมาต่อกรณีงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 86,685.61 ล้านบาท ทำให้ความร้อนของการตรวจสอบจากสาธารณะนั้นเพิ่มอุณหภูมิไปทั้งกระทรวงและ รัฐบาล กดดันให้นายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่งตั้ง นพ.บรรลุ ศิริพานิช อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง

จากการทำหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวอย่างจริงจังแม้จะเงียบลึก แต่เมื่อผลการสอบสวนปรากฏสู่สาธารณะ ก็ได้สร้างความชัดเจนในกระบวนการเตรียมการทุจริตงบไทยเข้มแข็งว่าใครคิดจะทำ กันอย่างไร อีกทั้งยังชี้มูลชัดเจนว่า มี 4 นักการเมืองและ 8 ข้าราชการระดับสูงที่ต้องรับผิดชอบในการเตรียมการทุจริตในครั้งนี้ (ดังรายละเอียดตามไฟล์แนบทั้งหมด)

ผลการสอบสวนดังกล่าวเป็นเหตุให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย แห่งพรรคประชาธิปัตย์ต้องรับลาออกจากตำแหน่งไป ทว่ารัฐมนตรีช่วย นายมานิตย์ นพอมรบดี แห่งพรรคภูมิใจไทย ยังรีรอหวังจะอยู่ต่อและยังสร้างเงื่อนไขทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล แต่ด้วยแรงกดดันจากสาธารณะ เชื่อว่าไม่นานนี้คงไม่สามารถดื้อแพ่งต่อได้

การตรวจสอบอย่างเข้มแข็งอย่างหนักจากสาธารณะไม่ควรหยุดที่ การเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง หรือเปิดช่องหใเกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจของข้าราชการประจำ แต่ต้องไปไกลถึงการรื้อโครงการไทยเข้มแข็ง เพื่อจัดสรรทรัพยากรให้มีประโยชน์และคุ้มค่า นำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ ให้ประชาชนเข้าถึงระบบและการบริการสุขภาพอย่างเท่าถึงและเป็นธรรม

โดยภาคประชาชนจำนวนหนึ่งจะไม่ยอมให้ "ผลการสอบสวนฯ" นี้ เป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่มเข้าฉกฉวยผลประโยชน์จากความอ่ออนแอทางโครงสร้าง สังคมและ "การไร้สมรรถภาพการบริหารจัดการของกระทรวงสาธารณสุข" ดังนั้น ในวันที่ 11 มกราคม 2553 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอเชิญสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ เข้าร่วมฟังการเสวนาในกิจกรรม ราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 1/2553 “ถามหา มาตรฐาน จากทุจริตยา ถึง ไทยเข้มแข็ง?” เวลา 13.00 - 15.00 น. ห้องประชุม 1 (ชั้น 2) ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน (ตรงข้าม รพ.วชิระ) กรุงเทพฯ

วิทยากร ได้แก่

* น.พ. เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท
* รสนา โตสิตระกูล วุฒิสมาชิก
* ดร. นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้ดำเนินรายการ

* สาลี อ๋องสมหวัง มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค

รายละเอียดโทร. 02-668-9422


แนะนำเนื้อหาใกล้เคียง บริการโดย: Roti (alpha)

* รมว. สาธารณสุขลาออกหลังสอบทุจริตไทยเข้มแข็ง ส่วน รมช. กำลังดูท่าที
* คลังแจงกฎเหล็ก คุมเข้มทุจริตงบฯ ไทยเข้มแข็ง
* หากประเทศไทยเราไม่มีการทุจริตคอรัปชั่น
* สาธารณสุข เผยวัยรุ่นไทยตั้งท้องปีละกว่า 1 แสนคน
* 90 ปี การสาธารณสุขไทย เพื่อคนไทยสุขภาพดี

Attachment Size
Attachment Size
1.รายงานสอบสวนฉบับที่ 1_ภาพรวม.pdf 334.72 KB
2.บทสรุปผู้บริหารผลการสอบสวนสิ่งก่อสร้าง.pdf 91.34 KB
3.รายงานสอบสวนกรณีสิ่งก่อสร้าง.pdf 250.51 KB
4.บทสรุปผู้บริหารครุภัณฑ์การแพทย์.pdf 87.81 KB
5.รายงานสอบสวนครุภัณฑ์การแพทย์.pdf 190.82 KB
6.รายงานสอบสวนกรมการแพทย์.pdf 119.53 KB
7.รายงานสอบสวนรถพยาบาล800คัน.pdf 86.79 KB
8.บทสรุปผู้บริหารUVfan.pdf 101.63 KB
9.รายงานสอบสวนUVfan.pdf 317.53 KB
10.รายงานสอบซื้อรถตู้ให้รมว.สธ..pdf 74.97 KB

รายละเอียดตามนี้ http://www.thitinob.com/node/92