2553-01-18

แพทย์กับธุรกิจขายตรง

แพทย์กับธุรกิจขายตรง :
ความเป็นปัจเจกบุคคล (Individual) กับความเป็นตัวแทนของสถาบัน (Public figure)

มนุษย์อยู่กันเป็นกลุ่ม มีระบบของสังคมที่สลับซับซ้อนมากกว่าสิ่งที่มีชีวิตอื่น
ใด รวมทั้งมีค่านิยมทางสังคม ศีลธรรม และวัฒนธรรมแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ มาก การตัดสินใจกระทำอะไร ผู้กระทำไม่อาจมองด้านเดียว เพียงแค่ในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคลได้ แต่ต้องพิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบว่า ผู้กระทำนั้นเป็นตัวแทนของสถาบัน (-ในที่นี้หมายถึงกลุ่มบุคคล-) อะไรบ้าง คำว่าตัวแทนสถาบันอาจแปลความได้หลายประการ แต่ในบทความนี้จะหมายถึงการที่บุคคลนั้นเป็นตัวแทน "public figure" ของหน่วยงานหรือองค์กรอันใดอันหนึ่ง
แพทย์เป็นอาชีพหนึ่งที่สังคมยกย่อง และให้เกียรติมาก และการให้เกียรติยกย่องนี้บางครั้งสังคมก็มี "ความคาดหวัง" ต่อบุคคลนั้นมากตามไปด้วย และ สังคมแยกไม่ออกระหว่างตัวบุคคลกับความเป็นวิชาชีพแพทย์ของบุคคลนั้น ดังนั้น แม้ในระหว่างการทำงานปกติ แพทย์คนนั้น ก็จะต้องระมัดระความประพฤติอยู่ตลอดเวลา จะทำตัวนอกรีตนอกรอยไม่ได้ ตัวเองจะปฏิเสธว่า...ไม่ใช่...ฉันไม่ได้เป็นตัวแทนของใคร...ก็คงไม่ได้ เพราะเราได้เข้ามาในวิชาชีพนี้แล้ว การกระทำอะไรก็ตาม ไม่ว่าเป็นการกระทำที่มีผลดี หรือไม่ดี ผลแห่งการกระทำนั้นจะสะท้อนไปถึงความเป็นตัวแทนของสถาบัน (public figure) ของวิชาชีพที่บุคคลนั้นเกี่ยวข้องอยู่เสมอ
เมื่อแพทย์และนิสิตแพทย์ขึ้นปฏิบัติงาน ทั้งในเวลา และนอกเวลา ทั้งในโรงพยาบาล และในวิถีชีวิตส่วนตัว เงาแห่งความเป็นสถาบันวิชาชีพแพทย์จะครอบเราอยู่ตลอดเวลา หากทำอะไรที่ดีงามเราก็ได้ดี และสถาบันวิชาชีพแพทย์ก็ได้ดีได้วย แต่สิ่งนั้นอาจไม่เป็นสิ่งที่สังคมกล่าวถึงมากนัก เพราะเป็นไปตามความคาดหวังของสังคมอยู่แล้ว แต่เมื่อไหร่ ที่แพทย์หรือนิสิตแพทย์ทำอะไรผิด สังคมจะมีปฏิกิริยาตอบสนองค่อนข้างมาก เพราะการกระทำนั้นไป กระทบภาพลักษณ์ของสถาบันวิชาชีพแพทย์และกระเทือนต่อความคาดหวังที่สังคมมีต่อวิชาชีพแพทย์ไปด้วย นิสิตแพทย์ที่แต่งกายไม่เรียบร้อยขึ้นปฏิบัติงาน มักอ้างว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะการขึ้นปฏิบัติงาน นิสิตได้ใช้เอกสิทธิ์ของสถาบันวิชาชีพแพทย์ ไม่ก้าวล้ำในเรื่องส่วนตัว (เช่น ซักประวัติ & ตรวจร่างกายผู้ป่วยทั้งในส่วนลับและส่วนแจ้ง) ไปทำให้เขาเจ็บตัว (เช่น เจาะเลือด, ผ่าตัด) นิสิตแพทย์และแพทย์สามารถทำได้ทุกอย่าง แม้ผู้ป่วยไม่รู้จักกับเรามาก่อน เพราะเขาเชื่อมั่นในสภาบันวิชาชีพแพทย์ และเขามองว่าเราแต่ละคนล้วน เป็นตัวแทน (public figure) ของสถาบันแพทย์ หากแพทย์คนใดประพฤติปฏิบัติตัวไม่เหมาะ ผลเสียไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบุคคลนั้น แต่กระทบไปที่คำว่า " คุณหมอ "ซึ่งเป็น สัญญลักษณ์ของสถาบันวิชาชีพ "แพทย์"ที่เราใช้เป็นสรรพนามนำหน้าชื่อเราไปด้วย
อย่างหลีกเลี่ยงมิได้
แพทย์จะไปดื่มเหล้าเมา กอดเสาไฟฟ้าอยู่ริมถนน ก็ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นสิ่งที่ไปกระทบถึงสถาบันวิชาชีพแพทย์จะไปทำอะไรที่ผิดศีลธรรม หรือ วัฒนธรรมอันดีงาม ก็ไม่เหมาะด้วยหลักการเดียวกัน ตลอดชีวิตนี้ นิสิตแพทย์ และแพทย์ทุกคนมีความอิสระเป็นตัวของตัวเองเพียงไม่ถึงครึ่ง อีกกว่าครึ่งของตัวเราจะมีเงาของความเป็นตัวแทน (public figure) ของวิชาชีพแพทย์ติดตามเราไปด้วยทุก ครั้ง
มันถอนไม่ออก ปฏิเสธไม่ได้ นอกจากบุคคลนั้นจะขอคืนปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตเท่านั้น
หากจะกล่าวเลยไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันก็คือ ปัจจุบันมีนิสิตแพทย์ และแพทย์จำนวนหนึ่งจากโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่โรงเรียนแพทย์ใหญ่ มีรายได้เสริมจากการทำธุรกิจขายตรง ขอเรียนว่า สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะหากว่ารายการสินค้าที่อยู่ในบัญชีของธุรกิจเหล่านั้น บางรายการมีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น แชมพูสระผม อาหารเสริม วิตามิน ครีมทาผิว เครื่องดื่มผสมสาร ก. ข. ค. ฯลฯ เป็นต้น หากแพทย์หรือนิสิตแพทย์เข้าไปเกี่ยวข้องโดยทำธุรกิจขายตรง ก็จะทำให้ผู้บริโภคคือ ประชาชนเกิดความสับสน ประชาชนไม่ได้มองแค่ว่า นาย ก. หรือ นาย ข. เห็นดีเห็นงามกับการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพอาหารเสริมนั้นๆ แต่เขาจะมองว่า "วิชาชีพแพทย์" ที่แฝงอยู่ในตัวนิสิตแพทย์ ก. หรือ นายแพทย์ ข. "เห็นชอบ" กับผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นแล้ว ความคิดคำนึงของประชาชนผู้บริโภคก็คือ ...แม้แต่ "คุณหมอ..." ก็เห็นชอบว่าสินค้ารายการนั้นมีประโยชน์จริงตามหลักวิชาแพทย์... ซึ่งเป็นการใช้เอกสิทธิ์ของ "วิชาชีพแพทย์" ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยปริยาย ทั้งๆ ที่ความจริงแพทย์หรือนิสิตแพทย์ผู้ทำการขายตรง ก็อาจไม่มีข้อมูลที่เป็น evidence-based medicine ที่ยืนยันได้ชัดเจน ปราศจากข้อสงสัยใดๆว่าอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่นิสิตแพทย์ ก. หรือ นายแพทย์ ข. เข้าไปดำเนินงานขายตรงนั้น มีผลดีกว่าการไม่ใช้ สิ่งที่บุคคลในวิชาชีพนำเสนอหลายสิ่งเป็นเพียงความเชื่อที่เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล (Opinion) มากกว่าเป็นความจริง (Fact) ที่ได้รับการพิสูจน์ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และสถิติอย่างถูกต้องแล้ว
บุคคลในวิชาชีพแพทย์ พยาบาล หรือทันตแพทย์ ไม่ควรไปเกี่ยวข้องเป็น นายแบบ-นางแบบโฆษณาให้กับสินค้าต่างๆที่เกี่ยวข้อง.(... หรือแม้แต่ไม่เกี่ยวข้อง...) กับสุขภาพของประชาชน เพราะประชาชนอาจมีความเข้าใจว่าความเห็น ของบุคคลนั้นที่นำเสนอ เป็นความเห็นที่เกิดจากองค์ความรู้ทางวิชาชีพที่ถูกต้อง ได้รับการยอมรับ จากสถาบันวิชาชีพแพทย์ที่คลุมตัวบุคคลนั้นอยู่ อาจถือได้ว่า การประพฤติดังกล่าว เป็นการ ใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ( abuse ) จากความเป็นสถาบันวิชาชีพแพทย์เพื่อประโยชน์ส่วนตน โดยปริยาย
ขอเน้นว่า ไม่ว่าแพทย์หรือนิสิตแพทย์จะทำอะไร จะคิดอะไรก็ตาม มีหลักพึงสังวรณ์ และต้องตอบคำถามให้ได้ 3 ข้อ
ข้อที่ 1 คือ ด้านนิติธรรม หมายความว่า ถูกหรือผิดกฎหมายหรือไม่?
ข้อที่ 2 คือ ด้านศีลธรรม คุณธรรม และศาสนา หมายความว่า ถูกต้องเหมาะสม
ตามหลักศาสนา หรือศีลธรรมของสังคมนั้นๆ หรือไม่?
ข้อที่ 3 คือ ด้านจริยธรรม และวัฒนธรรม หมายความว่า การกระทำนั้นเหมาะสมในแง่ความ ประพฤติ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ หรือไม่? การประกอบธุรกิจขายตรง ขายอาหารเสริม ขายฯลฯ ที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน อาจไม่ผิดกฎหมาย แต่หากมองว่า สิ่งนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ในเชิงคุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรมของวิชาชีพแพทย์ ? คำตอบก็คือ ไม่ถูกต้อง จะมองอย่างไรก็ไม่ถูกต้อง และเป็นเรื่องการมีผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจน
ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อเตือนสติแก่นิสิตแพทย์ และแพทย์ทั้งหลายว่า ตราบชั่วชีวิตนี้เราจะไม่มีความเป็นส่วนตัวมากนัก เพราะเราต่างเป็น public figure ของวิชาชีพแพทย์ การทำอะไรต้องระมัดระวังทั้งกาย-วาจา-ใจ เราได้รับการยอมรับจากสังคมสูงกว่าอาชีพอื่นๆ โดยอัตโนมัติก็จริง แต่ในทางกลับกันเราก็มีกฎเกณฑ์ที่ต้องประพฤติต้องระมัดระวังในการปฏิบัติสูงกว่าอาชีพอื่นๆ เช่นกัน เพราะสังคมคาดหวังจากบุคคลในวิชาชีพแพทย์นี้สูงมาก หากผิดจากความคาดหวังทีไร...เป็นเกิดเรื่องทุกที และเวลาเกิดเรื่อง ความไม่ดีจะไม่ลงมาที่ตัวเราเท่านั้น แต่มันกระทบไปที่สถาบันวิชาชีพแพทย์ทั้งหมดโดยปริยาย สถาบันวิชาชีพแพทย์ได้รับการยกย่องจากสังคมมานาน เพราะแพทย์รุ่นพี่ๆ ได้ประกอบคุณงามความดีมากมาย สั่งสมกันมา จึงเป็นหน้าที่ และความรับผิดชอบของแพทย์รุ่นปัจจุบันทุกคน จะต้องช่วยกันทะนุถนอม และรักษาไว้ ทำให้สถาบันวิชาชีพแพทย์นี้ดีขึ้น เพื่อส่งต่อไปให้รุ่นถัดไป
.............แพทย์ทุกคน เป็นตัวแทนของสถาบันวิชาชีพ ไม่ควรไปยุ่งกับธุรกิจการขายตรง
ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า
12 มกราคม 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น