2553-01-18

แพทย์กับธุรกิจขายตรง

แพทย์กับธุรกิจขายตรง :
ความเป็นปัจเจกบุคคล (Individual) กับความเป็นตัวแทนของสถาบัน (Public figure)

มนุษย์อยู่กันเป็นกลุ่ม มีระบบของสังคมที่สลับซับซ้อนมากกว่าสิ่งที่มีชีวิตอื่น
ใด รวมทั้งมีค่านิยมทางสังคม ศีลธรรม และวัฒนธรรมแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ มาก การตัดสินใจกระทำอะไร ผู้กระทำไม่อาจมองด้านเดียว เพียงแค่ในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคลได้ แต่ต้องพิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบว่า ผู้กระทำนั้นเป็นตัวแทนของสถาบัน (-ในที่นี้หมายถึงกลุ่มบุคคล-) อะไรบ้าง คำว่าตัวแทนสถาบันอาจแปลความได้หลายประการ แต่ในบทความนี้จะหมายถึงการที่บุคคลนั้นเป็นตัวแทน "public figure" ของหน่วยงานหรือองค์กรอันใดอันหนึ่ง
แพทย์เป็นอาชีพหนึ่งที่สังคมยกย่อง และให้เกียรติมาก และการให้เกียรติยกย่องนี้บางครั้งสังคมก็มี "ความคาดหวัง" ต่อบุคคลนั้นมากตามไปด้วย และ สังคมแยกไม่ออกระหว่างตัวบุคคลกับความเป็นวิชาชีพแพทย์ของบุคคลนั้น ดังนั้น แม้ในระหว่างการทำงานปกติ แพทย์คนนั้น ก็จะต้องระมัดระความประพฤติอยู่ตลอดเวลา จะทำตัวนอกรีตนอกรอยไม่ได้ ตัวเองจะปฏิเสธว่า...ไม่ใช่...ฉันไม่ได้เป็นตัวแทนของใคร...ก็คงไม่ได้ เพราะเราได้เข้ามาในวิชาชีพนี้แล้ว การกระทำอะไรก็ตาม ไม่ว่าเป็นการกระทำที่มีผลดี หรือไม่ดี ผลแห่งการกระทำนั้นจะสะท้อนไปถึงความเป็นตัวแทนของสถาบัน (public figure) ของวิชาชีพที่บุคคลนั้นเกี่ยวข้องอยู่เสมอ
เมื่อแพทย์และนิสิตแพทย์ขึ้นปฏิบัติงาน ทั้งในเวลา และนอกเวลา ทั้งในโรงพยาบาล และในวิถีชีวิตส่วนตัว เงาแห่งความเป็นสถาบันวิชาชีพแพทย์จะครอบเราอยู่ตลอดเวลา หากทำอะไรที่ดีงามเราก็ได้ดี และสถาบันวิชาชีพแพทย์ก็ได้ดีได้วย แต่สิ่งนั้นอาจไม่เป็นสิ่งที่สังคมกล่าวถึงมากนัก เพราะเป็นไปตามความคาดหวังของสังคมอยู่แล้ว แต่เมื่อไหร่ ที่แพทย์หรือนิสิตแพทย์ทำอะไรผิด สังคมจะมีปฏิกิริยาตอบสนองค่อนข้างมาก เพราะการกระทำนั้นไป กระทบภาพลักษณ์ของสถาบันวิชาชีพแพทย์และกระเทือนต่อความคาดหวังที่สังคมมีต่อวิชาชีพแพทย์ไปด้วย นิสิตแพทย์ที่แต่งกายไม่เรียบร้อยขึ้นปฏิบัติงาน มักอ้างว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะการขึ้นปฏิบัติงาน นิสิตได้ใช้เอกสิทธิ์ของสถาบันวิชาชีพแพทย์ ไม่ก้าวล้ำในเรื่องส่วนตัว (เช่น ซักประวัติ & ตรวจร่างกายผู้ป่วยทั้งในส่วนลับและส่วนแจ้ง) ไปทำให้เขาเจ็บตัว (เช่น เจาะเลือด, ผ่าตัด) นิสิตแพทย์และแพทย์สามารถทำได้ทุกอย่าง แม้ผู้ป่วยไม่รู้จักกับเรามาก่อน เพราะเขาเชื่อมั่นในสภาบันวิชาชีพแพทย์ และเขามองว่าเราแต่ละคนล้วน เป็นตัวแทน (public figure) ของสถาบันแพทย์ หากแพทย์คนใดประพฤติปฏิบัติตัวไม่เหมาะ ผลเสียไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบุคคลนั้น แต่กระทบไปที่คำว่า " คุณหมอ "ซึ่งเป็น สัญญลักษณ์ของสถาบันวิชาชีพ "แพทย์"ที่เราใช้เป็นสรรพนามนำหน้าชื่อเราไปด้วย
อย่างหลีกเลี่ยงมิได้
แพทย์จะไปดื่มเหล้าเมา กอดเสาไฟฟ้าอยู่ริมถนน ก็ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นสิ่งที่ไปกระทบถึงสถาบันวิชาชีพแพทย์จะไปทำอะไรที่ผิดศีลธรรม หรือ วัฒนธรรมอันดีงาม ก็ไม่เหมาะด้วยหลักการเดียวกัน ตลอดชีวิตนี้ นิสิตแพทย์ และแพทย์ทุกคนมีความอิสระเป็นตัวของตัวเองเพียงไม่ถึงครึ่ง อีกกว่าครึ่งของตัวเราจะมีเงาของความเป็นตัวแทน (public figure) ของวิชาชีพแพทย์ติดตามเราไปด้วยทุก ครั้ง
มันถอนไม่ออก ปฏิเสธไม่ได้ นอกจากบุคคลนั้นจะขอคืนปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตเท่านั้น
หากจะกล่าวเลยไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันก็คือ ปัจจุบันมีนิสิตแพทย์ และแพทย์จำนวนหนึ่งจากโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่โรงเรียนแพทย์ใหญ่ มีรายได้เสริมจากการทำธุรกิจขายตรง ขอเรียนว่า สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะหากว่ารายการสินค้าที่อยู่ในบัญชีของธุรกิจเหล่านั้น บางรายการมีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น แชมพูสระผม อาหารเสริม วิตามิน ครีมทาผิว เครื่องดื่มผสมสาร ก. ข. ค. ฯลฯ เป็นต้น หากแพทย์หรือนิสิตแพทย์เข้าไปเกี่ยวข้องโดยทำธุรกิจขายตรง ก็จะทำให้ผู้บริโภคคือ ประชาชนเกิดความสับสน ประชาชนไม่ได้มองแค่ว่า นาย ก. หรือ นาย ข. เห็นดีเห็นงามกับการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพอาหารเสริมนั้นๆ แต่เขาจะมองว่า "วิชาชีพแพทย์" ที่แฝงอยู่ในตัวนิสิตแพทย์ ก. หรือ นายแพทย์ ข. "เห็นชอบ" กับผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นแล้ว ความคิดคำนึงของประชาชนผู้บริโภคก็คือ ...แม้แต่ "คุณหมอ..." ก็เห็นชอบว่าสินค้ารายการนั้นมีประโยชน์จริงตามหลักวิชาแพทย์... ซึ่งเป็นการใช้เอกสิทธิ์ของ "วิชาชีพแพทย์" ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยปริยาย ทั้งๆ ที่ความจริงแพทย์หรือนิสิตแพทย์ผู้ทำการขายตรง ก็อาจไม่มีข้อมูลที่เป็น evidence-based medicine ที่ยืนยันได้ชัดเจน ปราศจากข้อสงสัยใดๆว่าอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่นิสิตแพทย์ ก. หรือ นายแพทย์ ข. เข้าไปดำเนินงานขายตรงนั้น มีผลดีกว่าการไม่ใช้ สิ่งที่บุคคลในวิชาชีพนำเสนอหลายสิ่งเป็นเพียงความเชื่อที่เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล (Opinion) มากกว่าเป็นความจริง (Fact) ที่ได้รับการพิสูจน์ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และสถิติอย่างถูกต้องแล้ว
บุคคลในวิชาชีพแพทย์ พยาบาล หรือทันตแพทย์ ไม่ควรไปเกี่ยวข้องเป็น นายแบบ-นางแบบโฆษณาให้กับสินค้าต่างๆที่เกี่ยวข้อง.(... หรือแม้แต่ไม่เกี่ยวข้อง...) กับสุขภาพของประชาชน เพราะประชาชนอาจมีความเข้าใจว่าความเห็น ของบุคคลนั้นที่นำเสนอ เป็นความเห็นที่เกิดจากองค์ความรู้ทางวิชาชีพที่ถูกต้อง ได้รับการยอมรับ จากสถาบันวิชาชีพแพทย์ที่คลุมตัวบุคคลนั้นอยู่ อาจถือได้ว่า การประพฤติดังกล่าว เป็นการ ใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ( abuse ) จากความเป็นสถาบันวิชาชีพแพทย์เพื่อประโยชน์ส่วนตน โดยปริยาย
ขอเน้นว่า ไม่ว่าแพทย์หรือนิสิตแพทย์จะทำอะไร จะคิดอะไรก็ตาม มีหลักพึงสังวรณ์ และต้องตอบคำถามให้ได้ 3 ข้อ
ข้อที่ 1 คือ ด้านนิติธรรม หมายความว่า ถูกหรือผิดกฎหมายหรือไม่?
ข้อที่ 2 คือ ด้านศีลธรรม คุณธรรม และศาสนา หมายความว่า ถูกต้องเหมาะสม
ตามหลักศาสนา หรือศีลธรรมของสังคมนั้นๆ หรือไม่?
ข้อที่ 3 คือ ด้านจริยธรรม และวัฒนธรรม หมายความว่า การกระทำนั้นเหมาะสมในแง่ความ ประพฤติ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ หรือไม่? การประกอบธุรกิจขายตรง ขายอาหารเสริม ขายฯลฯ ที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน อาจไม่ผิดกฎหมาย แต่หากมองว่า สิ่งนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ในเชิงคุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรมของวิชาชีพแพทย์ ? คำตอบก็คือ ไม่ถูกต้อง จะมองอย่างไรก็ไม่ถูกต้อง และเป็นเรื่องการมีผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจน
ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อเตือนสติแก่นิสิตแพทย์ และแพทย์ทั้งหลายว่า ตราบชั่วชีวิตนี้เราจะไม่มีความเป็นส่วนตัวมากนัก เพราะเราต่างเป็น public figure ของวิชาชีพแพทย์ การทำอะไรต้องระมัดระวังทั้งกาย-วาจา-ใจ เราได้รับการยอมรับจากสังคมสูงกว่าอาชีพอื่นๆ โดยอัตโนมัติก็จริง แต่ในทางกลับกันเราก็มีกฎเกณฑ์ที่ต้องประพฤติต้องระมัดระวังในการปฏิบัติสูงกว่าอาชีพอื่นๆ เช่นกัน เพราะสังคมคาดหวังจากบุคคลในวิชาชีพแพทย์นี้สูงมาก หากผิดจากความคาดหวังทีไร...เป็นเกิดเรื่องทุกที และเวลาเกิดเรื่อง ความไม่ดีจะไม่ลงมาที่ตัวเราเท่านั้น แต่มันกระทบไปที่สถาบันวิชาชีพแพทย์ทั้งหมดโดยปริยาย สถาบันวิชาชีพแพทย์ได้รับการยกย่องจากสังคมมานาน เพราะแพทย์รุ่นพี่ๆ ได้ประกอบคุณงามความดีมากมาย สั่งสมกันมา จึงเป็นหน้าที่ และความรับผิดชอบของแพทย์รุ่นปัจจุบันทุกคน จะต้องช่วยกันทะนุถนอม และรักษาไว้ ทำให้สถาบันวิชาชีพแพทย์นี้ดีขึ้น เพื่อส่งต่อไปให้รุ่นถัดไป
.............แพทย์ทุกคน เป็นตัวแทนของสถาบันวิชาชีพ ไม่ควรไปยุ่งกับธุรกิจการขายตรง
ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า
12 มกราคม 2553

รายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงทุจริตไทยเข้มแข็งกทสธ.

เผยรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงทุจริตไทยเข้มแข็งกระทรวงสาธารณสุขโดยละเอียด
Fri, 01/08/2010 - 21:13 | by thitinob

หลัง การเปิดโปงอย่างต่อเนื่องของชมรมแพทย์ชนบท โดยเฉพาะนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ ตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2552 เป็นต้นมาต่อกรณีงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 86,685.61 ล้านบาท ทำให้ความร้อนของการตรวจสอบจากสาธารณะนั้นเพิ่มอุณหภูมิไปทั้งกระทรวงและ รัฐบาล กดดันให้นายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่งตั้ง นพ.บรรลุ ศิริพานิช อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง

จากการทำหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวอย่างจริงจังแม้จะเงียบลึก แต่เมื่อผลการสอบสวนปรากฏสู่สาธารณะ ก็ได้สร้างความชัดเจนในกระบวนการเตรียมการทุจริตงบไทยเข้มแข็งว่าใครคิดจะทำ กันอย่างไร อีกทั้งยังชี้มูลชัดเจนว่า มี 4 นักการเมืองและ 8 ข้าราชการระดับสูงที่ต้องรับผิดชอบในการเตรียมการทุจริตในครั้งนี้ (ดังรายละเอียดตามไฟล์แนบทั้งหมด)

ผลการสอบสวนดังกล่าวเป็นเหตุให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย แห่งพรรคประชาธิปัตย์ต้องรับลาออกจากตำแหน่งไป ทว่ารัฐมนตรีช่วย นายมานิตย์ นพอมรบดี แห่งพรรคภูมิใจไทย ยังรีรอหวังจะอยู่ต่อและยังสร้างเงื่อนไขทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล แต่ด้วยแรงกดดันจากสาธารณะ เชื่อว่าไม่นานนี้คงไม่สามารถดื้อแพ่งต่อได้

การตรวจสอบอย่างเข้มแข็งอย่างหนักจากสาธารณะไม่ควรหยุดที่ การเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง หรือเปิดช่องหใเกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจของข้าราชการประจำ แต่ต้องไปไกลถึงการรื้อโครงการไทยเข้มแข็ง เพื่อจัดสรรทรัพยากรให้มีประโยชน์และคุ้มค่า นำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ ให้ประชาชนเข้าถึงระบบและการบริการสุขภาพอย่างเท่าถึงและเป็นธรรม

โดยภาคประชาชนจำนวนหนึ่งจะไม่ยอมให้ "ผลการสอบสวนฯ" นี้ เป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่มเข้าฉกฉวยผลประโยชน์จากความอ่ออนแอทางโครงสร้าง สังคมและ "การไร้สมรรถภาพการบริหารจัดการของกระทรวงสาธารณสุข" ดังนั้น ในวันที่ 11 มกราคม 2553 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอเชิญสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ เข้าร่วมฟังการเสวนาในกิจกรรม ราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 1/2553 “ถามหา มาตรฐาน จากทุจริตยา ถึง ไทยเข้มแข็ง?” เวลา 13.00 - 15.00 น. ห้องประชุม 1 (ชั้น 2) ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน (ตรงข้าม รพ.วชิระ) กรุงเทพฯ

วิทยากร ได้แก่

* น.พ. เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท
* รสนา โตสิตระกูล วุฒิสมาชิก
* ดร. นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้ดำเนินรายการ

* สาลี อ๋องสมหวัง มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค

รายละเอียดโทร. 02-668-9422


แนะนำเนื้อหาใกล้เคียง บริการโดย: Roti (alpha)

* รมว. สาธารณสุขลาออกหลังสอบทุจริตไทยเข้มแข็ง ส่วน รมช. กำลังดูท่าที
* คลังแจงกฎเหล็ก คุมเข้มทุจริตงบฯ ไทยเข้มแข็ง
* หากประเทศไทยเราไม่มีการทุจริตคอรัปชั่น
* สาธารณสุข เผยวัยรุ่นไทยตั้งท้องปีละกว่า 1 แสนคน
* 90 ปี การสาธารณสุขไทย เพื่อคนไทยสุขภาพดี

Attachment Size
Attachment Size
1.รายงานสอบสวนฉบับที่ 1_ภาพรวม.pdf 334.72 KB
2.บทสรุปผู้บริหารผลการสอบสวนสิ่งก่อสร้าง.pdf 91.34 KB
3.รายงานสอบสวนกรณีสิ่งก่อสร้าง.pdf 250.51 KB
4.บทสรุปผู้บริหารครุภัณฑ์การแพทย์.pdf 87.81 KB
5.รายงานสอบสวนครุภัณฑ์การแพทย์.pdf 190.82 KB
6.รายงานสอบสวนกรมการแพทย์.pdf 119.53 KB
7.รายงานสอบสวนรถพยาบาล800คัน.pdf 86.79 KB
8.บทสรุปผู้บริหารUVfan.pdf 101.63 KB
9.รายงานสอบสวนUVfan.pdf 317.53 KB
10.รายงานสอบซื้อรถตู้ให้รมว.สธ..pdf 74.97 KB

รายละเอียดตามนี้ http://www.thitinob.com/node/92

2553-01-03

จากกล่องทิชชู่ สู่คอรัปชั่นในวงการแพทย์

แพทย์กับธุรกิจยา
ประเด็นนี้น่าสนใจ ขออนุญาตคัดลอกเรื่องนี้ลงในวารสารคลินิกเดือน มี.ค 2552 มาเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น

จากกล่องทิชชู่ สู่คอรัปชั่นในวงการแพทย์บทความนี้นำมาจากเรื่องจริง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาแพทย์และแพทย์จบใหม่ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองรวมทั้งวงการแพทย์
ความเห็นและเหตุการณ์ในบทความนี้มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อตำหนิติติงผู้ใด องค์กรใด หรือ พาดพิงถึงผู้ใดให้เกิดความเสียหาย “คุณหมอคะ รับตัวอย่างยาและของฝากด้วยค่ะ” เป็นคำพูดที่ชินหู เมื่อเดินผ่านบู๊ทของบริษัทยาที่จัดในโรงเรียนแพทย์ ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 4 เพื่อนหลายคนเดินผ่านวนไปหลายรอบเพื่อรับปากกาและกล่องทิชชู่ฟรีก่อนจะเดินกลับหอพักนักศึกษาแพทย์ “เฮ้ยทำไมไม่ไปเดินช๊อปปิ้งล่ะ ได้ของฟรีเยอะแยะเลยนะ”เพื่อนถามด้วยความหวังดี “ยาตัวอย่างเยอะแบบนี้ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร”ผมตอบเพื่อให้ผ่านๆไป “อ้าว ก็เอายาไปแจกญาติๆที่บ้านก็ได้นี่” เพื่อนของผมตอบพร้อมสีหน้าที่ดูมีความสุขที่ได้ของฟรี ไม่ว่าจะได้ใช้หรือไม่ก็ตาม คงเป็นวัฒนธรรมของคนบนโลกนี้ ที่ได้อะไรฟรีก็เป็นสิ่งที่ดีเสมอ แต่คงยังตอบไม่ได้หรอกว่า gimmick เหล่านี้เป็นของฟรีจริงหรือไม่
จริงๆแล้วครอบครัวของผมอยู่ในวงการยา พ่อเคยเป็นเซลล์ขายยา จนมาเป็นเจ้าของร้านขายยา พ่อเคยเล่าให้ฟังว่าเซลล์เขาจะรู้กันหมดว่าไปเสนอขายยาที่ไหน มีหมอคนไหนเรียกเปอร์เซ็นต์ หมอคนไหนไม่เรียกเปอร์เซ็นต์ เพื่อจะได้คุยกับหมอได้ถูกว่าจะให้เปอร์เซนต์เท่าไหร่ แต่สมัยนั้นบริษัทของพ่อไม่มีนโยบายให้เปอร์เซ็นต์ ให้ได้แต่ยาตัวอย่าง ซึ่งหมอก็มักจะเอาไปใช้ที่คลินิกส่วนตัว ในสมัยนั้นเป็นเรื่องปกติ
การรับของแจกจากบริษัทยาน่าจะเป็นเรื่องปกติสำหรับผม แต่เป็นเพราะหนังสือ 2 เล่มที่ชื่อว่า “รักษาโรคหรือรักษาคน” และ “สาธารณสุขหรือสาธารณทุกข์” ของอาจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี อ่านแล้วทำให้รู้ว่า ถ้าเราจำและสั่งแต่ชื่อยา ด้วยชื่อการค้า ( trade name) จะทำให้คนไข้เสียเงินมากกว่าการสั่งชื่อยาด้วยชื่อสามัญ (generic name) ทำให้ตอนเรียนpharmaco ในปีที่ 3 ผมต้องพยายามจำชื่อสามัญให้มากที่สุด และตอนผมไปดูงานที่โรงพยาบาลชุมชนก็จะพยายามอ่านและจำชื่อสามัญด้วย เช่นกัน จนเป็นความเคยชินว่าต้องๆไม่ใช่ชื่อการค้าเด็ดขาด
และอีกอย่างที่ปลูกฝังให้ผมไม่ชอบรับของจากบริษัทยา เพราะอาจารย์สุทธิพงศ์ ลิมปิสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาในขณะนั้น ได้สั่งไม่ให้นักศึกษาแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีรับสปอนเซอร์จากบริษัทยาเด็ดขาด โดยอาจารย์บอกว่าทุกๆบาทที่บริษัทยาให้สปอนเซอร์ เขาจะเพิ่มราคายา ซึ่งจะมีผลต่อคนยากจนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ในชนบท รวมทั้งไม่ให้ขอสปอนเซอร์จากบริษัทที่ผลิตสินค้าที่จำเป็น ให้ขอสปอนเซอร์ได้เฉพาะจากบริษัทที่ผลิตสินค้าฟุ่มเฟือยเช่นน้ำอัดลม เพจเจอร์ เท่านั้น แม้เพื่อนบางคนจะไม่ชอบ แต่ตอนนี้เมื่อมานึกถึงอีกครั้ง ก็ต้องขอบคุณที่อาจารย์ปลูกฝังค่านิยมดีๆแบบนี้ให้กับนักศึกษาแพทย์อย่างผม
แม้ว่าในภายหลังการที่แพทย์สั่งยาในชื่อการค้าจะไม่มีผลต่อการสั่งซื้อยาราคาแพงจากบริษัทต้นตำรับในต่างประเทศ(Original)แล้วก็ตาม เนื่องจากโรงพยาบาลหลายแห่งได้ปรับระบบที่ห้องจ่ายยา โดยไม่ว่าแพทย์จะสั่งยาในชื่อใด ก็ให้จ่ายยาที่เป็นผลิตในประเทศ (Local made) แต่บริษัทยาก็คงยังไม่ยอมแพ้ ยังพยายามขายยาต่อให้ได้ โดยมีกลยุทธอันดุเดือด ที่ผมได้รับทราบจากเพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งยังคงจำได้ไม่ลืมเลือนจนทุกวันนี้
หลังจากที่ทำงานเป็นแพทย์ใช้ทุนนาน 4 ปี เพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งผมขอเรียกว่า ชัย (นามสมมุติ) ได้รับทุนไปเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทางในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง ชัยเล่าให้ฟังว่า ในวันปฐมนิเทศแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 มีหลายเรื่องที่พี่ๆแพทย์ประจำบ้านปีที่ 3 เล่าให้ฟังถึงการเตรียมตัวในการเรียน แต่มีเรื่องหนึ่งซึ่งเขารู้สึกแปลกใจ เพราะแพทย์รุ่นพี่สั่งว่า “เนื่องจากพวกเราจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอาหารว่างในช่วงประชุมวิชาการตอนเช้า เช่นข้าวต้ม ข้าวผัด ขนมจีบ ซาลาเปา จากบริษัทยา เพราะพวกเราคงกินข้าวเช้าไม่ทันแน่ ซึ่งบริษัทยาได้แจ้งว่าถ้าจะให้บริษัทสนับสนุนจำเป็นต้องมีการสั่งซื้อยาให้ได้ตามโควตาจำนวนหนึ่งต่อเดือน ซึ่งพวกเราจำเป็นต้องสั่งยาปฎิชีวนะตัวนี้ในชื่อการค้า ให้แก่คนไข้ที่เข้ารับการรักษา โดยตามระเบียบของโรงพยาบาล ถ้าพวกเราสั่งยาในชื่อการค้านั้น ห้องยาจะจ่ายยาให้เป็นยาตามชื่อสามัญที่ผลิตในประเทศ ถ้าพวกเราต้องการให้ได้ยาจากบริษัทต้นตำรับ ต้องมีการขีดเส้นใต้ที่ชื่อการค้านั้นด้วย ขอให้น้องๆทุกคนช่วยกันขีดเส้นใต้ในชื่อยาตัวนี้ด้วย” ชัยฟังเรื่องนี้ด้วยความงุนงง ปนตกใจ ว่าการเรียนแพทย์เฉพาะทางนั้นต้องทำอย่างนี้ด้วยหรือ พร้อมทั้งคิดในใจว่า “อาจารย์รับทราบด้วยหรือไม่เนี้ย” ชัยกังวลกับเรื่องนี้จนบ่นให้เพื่อนที่ไปเรียนด้วยกันฟัง เพื่อนก็ปลอบว่า “ก็ทำอย่างไรได้ พวกเราเป็นหมอต้องตื่นมาแต่เช้า มาราวน์วอร์ด ประชุมวิชาการ เอาเวลาที่ไหนไปกินข้าวล่ะ เราก็ต้องได้รับการดูแลบ้าง ไม่อย่างนั้นเราก็เป็นโรคกระเพาะสิ เป็นเรื่องปกติ ที่ไหนเขาก็ทำกัน” ชัยกังวลอยู่มาก ด้วยความที่เขาไม่เคย และถูกสั่งสอนมาให้ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องที่สุ่มเสี่ยงกับจริยธรรมแบบนี้
จนถึงวันจริงที่เขาต้องไปทำงานในวอร์ด ชัยเล่าให้ฟังว่า พี่แพทย์ประจำบ้านปีที่ 3 กำชับให้เขาสั่งยาปฏิชีวนะตัวหนึ่ง ซึ่งตามที่เขาเรียนมา ไม่เห็นว่าต้องสั่งยาปฏิชีวนะที่แรงแบบนี้ แต่เมื่อพี่สั่งเขาก็เขียนตาม แต่เขาก็ไม่เขียนเส้นใต้ชื่อยานั้น จนเมื่อพี่แพทย์ประจำบ้านเห็นจึงเตือนว่า “ทำไมไม่ขีดเส้นใต้ล่ะ จำไม่ได้หรือที่บอกไว้น่ะ” ผมยังจำคำพูดที่ชัยเล่าให้ผมฟังหลังจากเหตุการณ์นั้น ชัยเล่าว่า “เมื่อมองหน้ายายที่ป่วยอยู่เตียงนั้น ผมรู้ว่ายายคงมีฐานะไม่ดีนัก ค่ายาเข็มละ 100 กว่าบาท ฉีดวันละ 4 ครั้ง นาน 7 วัน ทั้งหมดคงหลายพันบาท ยายจะมีเงินจ่ายหรือไม่นะ ตอนที่ผมขีดปากกาใต้ชื่อยานั้นรู้สึกเหมือนผมกำลังเอามีดมากรีดเข้าไปกลางหัวใจของผมเลยทีเดียว”
ชัยเล่าต่อว่า เคยบ่นให้เพื่อนซึ่งเข้าไปเรียนก่อนหน้าเขาจนกลายเป็นแพทย์รุ่นพี่ฟังขณะที่นั่งอยู่ในห้องพักแพทย์ เพื่อนกลับบอกว่า “ถ้าเอ็งทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องเข้ามาห้องพักแพทย์เลย เพราะในห้องพักแพทย์นี้ นอกจากเพดานกับผนังแล้ว ทุกอย่างในห้องนี้เป็นของบริษัทยาหมด”
ชัยบอกผมว่า “สิ่งที่เขากลัวที่สุดคือ ถ้าวันหนึ่งขณะที่เขาขีดปากกาลงไปใต้ชื่อยานั้น แล้วเขาไม่รู้สึกเจ็บปวดดังเดิมล่ะ เขาจะทำอย่างไร”
ผมฟังชัยเล่า แล้วผมก็รู้สึก เจ็บปวดหัวใจไม่แพ้กัน แพทย์เราจำเป็นต้องทำเช่นนั้นจริงหรือ เราไม่มีทางเลือกอื่นหรือ เราเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตามหรือ ผมได้แต่ตั้งคำถามในใจ พร้อมปลอบใจชัยว่า เราต้องไม่ยอมแพ้ เราต้องไม่ยอมให้วงการแพทย์เราเป็นอย่างนั้น นายอยู่ที่นั่น นายทำอะไรไม่ได้ แต่ผมทำได้ และผมจะทำให้ดูแม้ว่าผมจะกำลังเรียนเป็นแพทย์ประจำบ้านสาขาระบาดวิทยาที่สำนักระบาดวิทยากระทรวงสาธารณสุข ผมก็หาเวลาบางช่วงที่ว่าง ไปยังโรงเรียนแพทย์แห่งนั้น และเดินไปที่ห้องคณบดี ทั้งที่ผมไม่ได้รู้จักท่าน และท่านก็ไม่รู้จักผม รออยู่นานพอดู แต่อาจารย์คณบดีก็ยอมให้ผมเข้าพบ ผมเล่าเรื่องนี้ให้ท่านฟัง พร้อมกับบอกว่าผมอยากให้ท่านแก้ปัญหา เพราะไม่อยากให้โรงเรียนแพทย์แห่งนี้ขึ้นชื่อว่าทำสิ่งที่ขัดต่อจรรยาบรรณในวิชาชีพแพทย์หลังจากนั้นไม่นาน ชัยก็เล่าให้ผมฟังว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในภาควิชานั้น อาจารย์ได้เรียกแพทย์ประจำบ้านปีที่ 3 เข้าไปพบ และบอกว่าไม่ให้บีบบังคับให้แพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 ทำเช่นนั้น และหาวิถีทางอื่นในการหางบประมาณในการเลี้ยงอาหารว่าง ชัยรู้ว่าอาจารย์รู้เรื่องทั้งหมดตั้งแต่แรกว่ามีการทำอย่างนี้ และสนับสนุนให้แพทย์ประจำบ้านทำอย่างนั้น
หลังจากนั้นชัยบอกว่ารุ่นพี่มองเขาแปลกๆ และบางคนบอกว่ารู้นะว่าเป็นเพราะเขาที่ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และพูดเหมือนรู้ด้วยว่าเป็นตัวผมที่เอาเรื่องนี้ไปบอกคณบดี แต่ชัยก็บอกว่า ถ้าเป็นแบบนี้เขาก็สบายใจ เพราะเขาจะอยู่ในภาควิชานี้แค่ปี 1 ปีต่อไปเขาต้องหมุนไปอยู่ภาควิชาที่เขาสมัครไปเรียนโดยตรง แต่เขาเป็นห่วงผม เพราะดูเหมือนผมอาจจะมีศัตรูเพิ่มขึ้น แต่ผมบอกว่าผมไม่กลัวหรอก เพราะผมไม่ได้ไปเรียนที่นั่น และพวกเขาก็คงทำอะไรผมไม่ได้ นอกจากจะเก็บความแค้นนั้นไว้ ซึ่งความแค้นนั้นคงจะเผาใจของเขามากกว่า
วงการแพทย์ กับบริษัทยาดูเหมือนเป็นของคู่กัน ที่พึ่งพิงอิงแอบกัน โดยมีหลายเรื่องราวที่แม้ว่าจะผิดจรรยาบรรณในวิชาชีพแต่ก็ยังมีการละเมิดกัน จนดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติ สมัยที่ผมยังเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 5 เคยมีพี่พยาบาลคนหนึ่งเขียนจดหมายมาเล่าให้รุ่นพี่ผมคนหนึ่งฟังว่า เธอทำงานในโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ซึ่งผู้อำนวยการรับเงินเปอร์เซ็นต์จากบริษัทยา ทำให้มีการสั่งยาบางตัวจำนวนมากแต่ใช้ไม่หมด จนยาหมดอายุไปก่อน
ในหนังสือ “ผิดเป็นครู” ซึ่งรวบรวมคดีที่ถูกสอบสวนโดยแพทยสภา มีคดีหนึ่งซึ่งมีหมอคนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอ และสั่งยาจำนวนมาก ก่อนไปเรียนต่อ และได้รับรถยนต์คันหนึ่งเป็นบรรณาการจากบริษัทยา ทิ้งยากองโตที่ใช้ไม่หมดและหนี้จำนวนมากไว้ให้กับโรงพยาบาล
หลายกรณีที่มีคนบอกว่า อาจารย์โรงเรียนแพทย์บางคนไปประชุมต่างประเทศบ่อยๆด้วยเงินบริษัทยา จัดประชุมอบรมวิชาการที่บอกว่ายาใหม่ตัวนั้นเป็นยาที่น่าใช้ด้วยเงินบริษัทยา มีเรื่องเล่าที่ไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ว่า หมอบางคนมักจะไปกินข้าวกับดีเทลยาผู้หญิงสาวสวยบ่อยๆ และอาจมีอะไรมากกว่านั้น ถ้ามีการสนับสนุนให้ยาใหม่เข้าไปอยู่ในบัญชียาโรงพยาบาล หรือมีการสั่งใช้ยาจำนวนมาก
จนมาถึงเรื่องราวที่ดังกระฉ่อนวงการแพทย์และสังคมไทย คือกรณีทุจริตยา 1,400 ล้านบาทที่ทำให้คุณรักเกียรติ สุขธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นติดคุก กรณีนั้นมีแพทย์หลายคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งเป็นคนชงเรื่อง ประสานงานให้ ดำเนินการต่างๆโดยความเชื่อที่ว่า มันก็เป็นอย่างนี้แหละ เราอยู่ในระบบที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ก็ต้องทำไป นักการเมืองนั่นแหละผิด แพทย์เราก็แค่ทำตามเขาไปก็เท่านั้น ถ้าเราไม่ทำ คนอื่นก็ทำ
จากเรื่องราวเล็ก จนถึงเรื่องคอรัปชั่นใหญ่ระดับประเทศ ทำให้ผมมานั่งคิดและสรุปเอาเองว่า ก็เพราะปากกาด้ามเล็กๆ และกระดาษทิชชูในกล่องที่มีชื่อการค้านั้นไม่ใช่หรือ ที่เป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้เรารู้สึกว่า ก็เราทำงานหนัก ก็เราทุ่มเทให้กับคนไข้ ค่าตอบแทนที่ได้ก็น้อยจนไม่คุ้มกันเลย ของจากบริษัทยาเล็กๆน้อยๆนั้นก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่แพทย์เราสมควรจะได้มิใช่หรือการรับสิ่งของเล็กๆที่ดูเหมือนไม่มีค่า ได้เติบโตมาจนถึงการรับของในห้องพักแพทย์ เปอร์เซ็นต์ยา อาหารว่าง รถยนต์ ดีเทลยา และทุจริตยา มันช่างเติบโตได้รวดเร็วนัก เมื่อเมล็ดของมันได้งอกในจิตใจของมนุษย์ที่มีความโลภเป็นปุ๋ยอันอุดม สมดุลระหว่างจริยธรรมแห่งวงการแพทย์และผลประโยชน์ของบริษัทยาจะยังเป็นสิ่งที่แพทย์เราต้องค้นหาและแก้ปัญหากันต่อไป ตราบเท่าที่เรายังหวังว่าวงการแพทย์จะเป็นวงการอันศักดิ์สิทธิ์ที่สังคมเชื่อถือ แต่สำหรับผมแล้วเรื่องราวเหล่านี้ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ได้มาฟรีๆ เมื่อเราได้ของบางอย่างมาฟรีๆ เราก็อาจต้องแลกด้วยการเสียของบางอย่างไปเช่นกัน และบางครั้งสิ่งที่ต้องเสียไปอาจจะไม่ใช่สิ่งของ แต่อาจเป็น ความเป็นแพทย์และความเป็นมนุษย์ของตัวเรานี่เอง