2552-11-18

บัตรประจําตัวแพทย์อัจฉริยะ MD CARD

เผยโฉมบัตรประจําตัวแพทย์อัจฉริยะ MD CARD
แพทยสภาพัฒนาระบบไอที ขจัดปัญหาแพทย์ปลอม
สร้างระบบ Doctor Life Database ติดตาม ชีวิตแพทย์ไทย

เนื่องจากในปัจจุบันสถานพยาบาลหลายแห่งมีความจำเป็นต้องรับแพทย์เวร นอกเหนือจากแพทย์ประจำที่ทำงานตามปกติ โดยการลงรับสมัครงานในที่ต่างๆ ที่ผ่านมาขบวนการตรวจสอบว่าผู้สมัครเป็นแพทย์จริงหรือไม่นั้น ยังมีช่องว่างจนเป็นเหตุให้ผู้ซึ่งมิใช่แพทย์สามารถแฝงตัวเข้ามาทำงานเป็นแพทย์ได้ จนกลายเป็นข่าวดังในหน้าหนังสือพิมพ์ซึ่งพาดหัวข่าวอย่างฟันธงไว้ว่า "หมอปลอม"เกลื่อนโรงพยาบาลเอกชน1 ประเด็นนี้ส่งผลให้แพทยสภาได้กำหนดนโยบายเชิงรุกโดยพยายามตรวจสอบอย่างเต็มที่ และล่าสุดคณะกรรมการแพทยสภาได้ออกข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยบัตรประจำตัวผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งเรียกย่อๆว่า MD CARD โดยหนึ่งในวัตถุประสงค์สำคัญของการเชิญชวนแพทย์ทั้งประเทศมาทำบัตรนี้ ก็คือใช้เพื่อเป็นหลักฐานทางราชการและใช้ในการตรวจสอบแพทย์ปลอมในอนาคต

น.อ.(พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ผู้ริเริ่มโครงการนี้กล่าวถึงที่มาของการจัดทำบัตรประจำตัว ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (อิเล็กทรอนิกส์) หรือ Medical Doctor identification Card ซึ่งเรียกย่อ ๆ ว่า MD CARD ว่า
“ข้อแรกจากภารกิจหลักของแพทยสภาคือการคุ้มครองประชาชนให้ได้รับการบริการที่ดีที่สุดจากแพทย์ ยุทธศาสตร์ของเราก็คือจะทำอย่างไรให้เขาได้รับการรักษาโดยแพทย์มาตรฐานจริงๆ ที่ผ่านการรับรองโดยแพทยสภา นั่นก็คือเราต้องขจัดแพทย์ปลอมออกจากระบบให้ได้ ด้วยการสร้างมาตรฐาน แยกแยะระหว่างแพทย์จริงและแพทย์ปลอม”

แพทยสภามุ่งจัดระบบเทคโนโลยีในการติดตามแพทย์ในประเทศไทย
“โจทย์ข้อต่อมาก็คือ แพทยสภาจะแก้ปัญหาระบบแพทย์ทั้งประเทศได้ ต้องใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริงเราจะทำอย่างไรจึงจะติดตามแพทย์ทั่วประเทศได้ว่าขณะนี้เขาปฏิบัติงานอะไรอยู่ที่ใด ทางออกอยู่ที่ เราต้องมีการจัดระบบเทคโนโลยีในการติดตามแพทย์ในประเทศไทยให้ได้ และสามารถปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นจริงได้ตลอดเวลา เพราะพบว่าปัจจุบันมีแพทย์อยู่กว่า 37,000 คน กระจายอยู่ในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งหมด 19 สังกัด 5 กระทรวง โดยมีแพทย์เพียง 1ใน 3 เท่านั้นที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยกระจายปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมากกว่า 820 แห่ง ส่วนอีก 2 ใน 3 อยู่ภายนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น กระทรวงศึกษาธิการ โดยอยู่ในคณะแพทยศาสตร์ 18 แห่ง ในภาพของอาจารย์ประมาณกว่า 4,000คนและแพทย์ประจำบ้านหรือนักเรียนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 4,000 คน นอกจากนั้นยังมีแพทย์ที่กระจายอยู่ในภาคโรงพยาบาลเอกชนอีกมากกว่า 300 แห่ง ซึ่งการที่แพทย์กระจายอยู่ตามสังกัดต่าง ๆ ทำให้การควบคุมดูแลเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก เพราะในแต่ละส่วนก็ย่อมมีสังกัดของตนเอง และมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ซึ่งในการจะติดตามความเคลื่อนไหว ก็ต้องมีการจัดการฐานข้อมูลใหม่ในระดับประเทศ ซึ่งภารกิจนี้ก็นำมาสู่การแก้ปัญหาโดยพัฒนาระบบฐานข้อมูลใหม่ขึ้นมา เพื่อให้แพทย์ทั้งหมดอยู่ในระบบ ที่สามารถติดตามได้ว่าเขาทำอะไร ปฏิบัติงานอยู่ที่ไหน สถานภาพเป็นอย่างไร เป็นแพทย์ทั่วไป หรือเรียนจบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว กี่สาขา ตลอดจนติดตามการกระจายในระบบประเทศในระบบ GIS นำไปสู่การศึกษาหน้าที่จำนวนภาระงาน ตลอดจนปัญหาคุณภาพชีวิตของตัวแพทย์ ความยั่งยืนในการทำงานในชนบทตามความต้องการของประชาชน เพื่อสร้างประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการทรัพยากรบุคคลากรแพทย์ สุดท้ายส่งผลไปสู่ประโยชน์สูงสุดในให้บริการประชาชน ที่เป็นหัวใจหลักของแพทยสภา”



วัตถุประสงค์ในการจัดทำบัตรประจำตัว
ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือ MD CARD

1. เพื่อใช้เป็นหลักฐานทางราชการเป็นบัตรประจำตัวของแพทย์ทุกคน ที่แสดงตนทั้งในและต่างประเทศ โดยมีทั้ง ชื่อภาษาไทยและอังกฤษ สอดคล้องกับพาสปอร์ท และเชื่อมโยงกับบัตรประชาชนในอนาคต
2 . เพื่อใช้ติดต่อทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ใช้ในการใช้บริการในระบบของแพทยสภา เช่น เก็บคะแนน CME สมัครเรียน สมัครสอบ บริการด้านกฎหมาย และจริยธรรม จะขยายไปยัง 18 คณะแพทยศาสตร์ และ 14 ราชวิทยาลัย-วิทยาลัยแพทย์ ในอนาคต
3. เพื่อใช้แสดงความเป็นแพทย์ ในการ สมัครงาน หรือใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ กับหน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กองการประกอบโรคศิลป์ , สนง.คณะกรรมการอาหารและยา, สาธารณสุขจังหวัด เป็นต้น
4. เพื่อใช้ในการตรวจสอบแยกแพทย์ปลอมกับแพทย์จริงของหน่วยงานอื่นๆเช่นตำรวจ หรือ สื่อมวลชน
5. เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงฐานข้อมูลที่ติดต่อกันระหว่างแพทย์ และแพทยสภา ในระบบ Electronic TMC และ Doctor Data Base ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเชื่อมระบบ GIS ในระบบ online ไปประมวลผลข้อมูลทรัพยากรแพทย์ ระดับประเทศ ติดตามแก้ปัญหาแพทย์ได้รวดเร็ว ใกล้ชิดและแม่นยำขึ้น
6. ใช้เป็น Digital Identification หลักของแพทย์ในระบบความปลอดภัยอนาคตของโรงพยาบาลต่างๆ ตลอดจนเข้าสู่ฐานข้อมูลคนไข้ เช่นในระบบ CDI, HL7 ระหว่าง สถานพยาบาล ในระบบกฎหมายใหม่ เพื่อความปลอดภัยของแพทย์เอง และป้องกันแพทย์ปลอมหรือบุคคลอื่นเข้าถึงฐานข้อมูลหรือสั่งการรักษาผู้ป่วย



ล้างจุดอ่อนของระบบที่แพทย์ไม่มีบัตร แสดงความเป็นแพทย์อย่างเป็นทางการ
นพ.อิทธพร กล่าวต่อไปว่า “ เราจะพัฒนาระบบจูงใจเพื่อให้แพทย์เข้ามาลงทะเบียนปรับปรุงข้อมูลที่แพทยสภา ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าจุดอ่อนของระบบเดิมคือในช่วง 40 ปี ที่ผ่านมา ในระบบราชการ แพทย์ไม่มีบัตรกลางอื่นๆที่จะแสดงความเป็นประชากรแพทย์อย่างเป็นทางการเลย ยกเว้น บัตรของหน่วยงานของตนเองที่มีมาตรฐานแตกต่างกันไป และ ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์หลายท่านก็ออกมาแล้วหลายปี และมีโอกาสที่จะผิดพลาดในการพิสูจน์กันเองได้ ดังนั้นเราจึงได้นำระบบบัตรดิจิทัลมาศึกษา และสรุปได้ว่าเราควรจะทำบัตรประจำตัวแพทย์ขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า Medical Doctor CARD ให้มีช่วงอายุระยะเวลาหนึ่ง และมีการต่ออายุได้ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของแพทย์ เช่นเดียวกับหลักสากลของการทำบัตรประจำตัวประชาชนหรือใบขับขี่ โดยบัตรนี้จะบรรจุข้อมูลเบื้องต้นที่จำเป็นของแพทย์ทั้งหมด”
รองเลขาธิการแพทยสภา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการจัดทำบัตรประจำตัว ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (อิเล็กทรอนิกส์) หรือ MD CARDนี้ แพทยสภาได้วางแผนการดำเนินงานไว้เมื่อ2 ปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากการกำหนดคุณสมบัติความปลอดภัยใหม่ของบัตร ทำให้บัตรตามแบบเดิมที่เคยใช้ประกาศมาตรฐานไว้ไม่สามารถใช้ได้ จึงต้องทำการยกเลิกบัตรต้นแบบเดิม และกำหนดมาตรฐานใหม่ ที่สอดคล้องกับการพิมพ์ระบบอิเล็คทรอนิคส์ และการใช้งานฐานข้อมูลอัจฉริยะ โดยต้องปรับตามคุณสมบัติต่าง ๆ ทั้ง Micro chip, IPI , Ultraviolet และระบบต่างๆ เพื่อความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งบัตรนี้มุ่งเน้นให้เป็นบัตรหลักที่ต้องรองรับด้วยกฎหมายด้วย จึงต้องออกเป็น “ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยบัตรประจำตัวผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๕๑” และได้ลงประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่ม๑๒๕ ตอนพิเศษ ๑๙๒ ง วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑ หน้า๙๙ เรียบร้อยแล้ว
“เรื่องนี้เราได้วางแผนไว้เมื่อสองปีที่แล้ววิเคราะห์ ปรับปรุงหลายสิบขั้นตอนจนสำเร็จ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากประกาศแล้ว ก็ถือว่าบัตรนี้เป็นบัตรประจำตัวทางราชการยอมรับบัตรหนึ่ง และเราก็ได้เข้าสู่ระยะการดำเนินการทันที โดยเริ่มจากการหาผู้สนับสนุนเทคโนโลยีขั้นสูง และอุปกรณ์ต่างๆ เพราะงบประมาณแพทยสภามีน้อยและจำกัด ในที่สุดแพทยสภาก็ได้รับบริจาคงบประมาณ กว่า 2 ล้านบาท จากหลายแหล่งในการวางระบบ เราค่อย ๆ พัฒนาทั้งระบบบัตร ฐานข้อมูล และพัฒนาเทคนิก และฝึกบุคคลากร ขณะเดียวกันก็ต้องทำการศึกษา วิเคราะห์แบบเดือนต่อเดือนว่าบัตรที่ออกมารุ่นแรกๆ ในช่วงทดลอง ตั้งแต่เดือนเมษายน2552 –ตุลาคม2552 จำนวน 2,300 ใบ มีปัญหาอย่างไร และปรับปรุงแก้ไขกว่า 6 ครั้ง จากข้อดี- ข้อด้อย- ข้อจำกัด ซึ่งพบว่ามีปัญหาจุกจิกมากในการเริ่มต้นครั้งแรกๆ ทั้งระบบเทคโนโลยี การดำเนินการ ความแม่นยำถูกต้อง ที่ใช้เวลามาก ในการปรับปรุง และแทบจะต้องรื้อระบบกว่าจะลงตัวแทบทั้งหมด จากวันแรก..จนขณะนี้คิดว่าพร้อมที่จะออกกระจายสู่วงกว้างอย่างเป็นทางการจึงได้เริ่มดำเนินการออกหน่วยทำบัตร โดยเฉพาะในงานประชุมวิชาการของแพทย์ และในอนาคตแพทยสภาก็จะสัญจรไปทำให้ในจังหวัดต่างๆเข้าถึงแพทย์ เพื่อให้แพทย์ได้ไปดูแลประชาชนต่อไป แต่ในระหว่างนี้หากแพทย์ท่านใดต้องการที่จะมีบัตรในครอบครอง ก็สามารถมาที่ทำบัตรที่ได้ที่สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา อาคาร 6 ชั้น 7 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยใช้ระยะเวลาไม่เกิน 5 นาที และสามารถรับบัตรกลับไปได้เลย โดยทางแพทยสภาได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการทำบัตรคงเก็บแต่เฉพาะค่าต้นทุนบัตรไมโครชิพ 200 บาทต่อใบเท่านั้น นอกจากนี้ ทางแพทยสภายังมีการออกให้บริการ MD CARD MOBILE SERVICE ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย โดยการออกให้บริการแต่ละครั้งควรมีแพทย์ไม่ต่ำกว่า 200 คน หากหน่วยงานใดสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-590-1886-8 กด 6” นพ.อิทธพร กล่าว

MD Card รูปแบบใหม่ทันสมัยและปลอดภัยจากการปลอมแปลงบัตร
ในด้านความปลอดภัยจากการปลอมแปลงบัตร รองเลขาธิการแพทยสภา ยืนยันว่าบัตรดังกล่าวมีความปลอดภัยมากที่สุดระดับหนึ่งในปัจจุบัน โดย
- Microchip ชนิด CPU Computer (Java Card) และฝังระบบลายนิ้วมือ ที่ไม่สามารถดึงออกมาได้ ด้วยระบบความปลอดภัยสูงสุด มีพื้นที่เก็บรูปขนาดเล็กและข้อมูลแพทย์ได้ สามารถลบทิ้งจากระบบได้หากบัตรหาย และมีการ online update ข้อมูลได้ มีการตรวจสอบอายุบัตรด้วยตนเอง แจ้งวันหมดอายุได้ และเทียบลายนิ้วมือได้ด้วยความแม่นยำใกล้เคียง 100% ในหลายมิติ (Multi-dimension) ด้วยความเร็วสูง โดยใช้เทคโนโลยีจากประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นบัตรประเภทเดียวกับบัตรประชาชนไทย ที่ใช้เก็บรหัส Finger Print Biometric ฝังใน Microchip ที่ทุกชิ้นมีรหัส ตรวจสอบได้
- หน้าบัตรพิมพ์ลาย ที่ออกแบบลายเส้นความปลอดภัย โดยบริษัท JULA SECURITY PRINTING ประเทศออสเตรีย ผู้ออกแบบธนบัตรให้ธนาคารแห่งประเทศไทย, Passport, บัตรประจำตัวประชาชนไทย ไม่ใช้การพิมพ์ แบบ OFFSET ลวดลายพิเศษที่ใช้ไม่สามารถปลอมแปลงได้ หากใช้แว่นขยายดูจะเห็นเป็น
เส้นซ้อนกันจำนวนมาก ไม่เป็น แถบสีตามจุดสำคัญต่างๆ มี ART WORK PLATE 12 ชุด (พิมพ์ด้านหน้า 5 ชุด ด้านหลัง 7 ชุด) ต่อ 1 ใบ และมี Serial Number กำกับทุกใบ พิมพ์ด้วยหมึก UV มองเห็นภายใต้แสง UV เช่นเดียวกับสมุดฝากเงินธนาคาร
-การพิมพ์ภาพผู้ถือบัตร ใช้เครื่องพิมพ์เทคโนโลยีจากประเทศเยอรมันนี(Digital Identification Solutions) ด้วยระบบ Reverse Thermal Transfer ที่ระบุหมายเลขเครื่องพิมพ์ ลงบนบัตรด้วย ทำให้ทราบว่าบัตร นี้ พิมพ์จาก เครื่องใด ใช้ระบบรหัสที่มองไม่เห็น เรียกว่า IPI (Invisible Personal Information for identification) ทั้งภาพ และ Ultra Violet ในขั้นตอนเดียว โดยพิมพ์ในเวลาราว 2 นาที ต่อ 1 บัตร โดยจะพิมพ์กลับหลังบนฟิล์ม แล้วจึงปิดทับบนบัตรพลาสติกที่มีไมโครชิพ ดังนั้นจึงไม่มีการลอกของสีทางด้านหน้าตลอดอายุงาน โดยมี Security Check ที่สำคัญ คือ
· การพิมพ์รูปผู้ถือบัตรเป็นสี่สีในช่องปกติ และพิมพ์เงา รูปเป็น Ultra Violet ในตอนกลางของบัตร ด้วยเทคโนโลยีของการทำ Thai Passport สามารถตรวจสอบได้โดยใช้แสง Ultraviolet
· สามารถพิมพ์ รหัส IPI (Invisible Personal Information for identification) ด้วยระบบUltraviolet วางทับบนรูป จะปรากฏทั้งเลขที่ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมและชื่อภาษาอังกฤษบนหน้าเจ้าของบัตร ซึ่งไม่สามารถพิมพ์ด้วยเครื่องธรรมดาได้ และหากลอกรูปไปติดก็ไม่สามารถทำได้ เพราะมองแยกได้ด้วย แสง Ultraviolet ที่ใช้ตรวจสอบ
· ข้อมูลความปลอดภัยใน Microchip เป็นระบบ Match On Card ด้วยการใช้รหัส Biometric จากการสนับสนุนของบริษัท Precise Biometrics USA ทั้งนี้มั่นใจได้ว่า ไม่มีการเก็บลายนิ้วมือใดๆในฐานข้อมูลเจ้าหน้าที่แพทยสภา เพราะลายนิ้วมืออยู่ในบัตรที่อยู่กับตัวแพทย์ ทั้งนี้แพทยสภาเคร่งครัดในเรื่องการรักษาความปลอดภัยของระบบฐานข้อมูลสมาชิกอย่างสูงสุด

ประโยชน์ของบัตร MD CARD

สำหรับประโยชน์ของบัตร MD CARD นพ.อิทธพร แสดงทัศนะว่า “ หลักเพื่อการคุ้มครองประชาชนและพัฒนาระบบข้อมูลวงการแพทย์ เริ่มจากการขจัดแพทย์ปลอม ในการรับสมัครแพทย์ของสถานพยาบาลต่าง ๆ บัตรนี้สามารถบอกได้ว่าคนที่จะไปสมัครเข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานของตนเป็นแพทย์จริง ๆ หรือไม่ ส่วนแพทย์ก็ได้ประโยชน์จากการถือบัตรนี้มากด้วยเช่นกัน เพราะนอกจาก จะสามารถยืนยันความเป็นแพทย์ในการที่จะเข้าไปปฏิบัติงานต่างๆ แล้วยังสามารถใช้เป็นบัตรหลักฐานทางราชการ ตามที่ทางข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ฯ การเรียกหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยใช้บุคคลเป็นประกัน ตามข้อ (๑๑)และ(๑๒) ที่ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๑๔ วรรคสอง (๓) สรุปว่าหากผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ และการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดเกิดจากประกอบวิชาชีพนั้น ให้ทำสัญญาประกันตนเองได้ในวงเงินไม่เกิน ๑๕ เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน…ซึ่งก็เป็นหลักประกันให้เพื่อนแพทย์ที่พกบัตรนี้ได้อุ่นใจในระดับหนึ่ง
นอกจากนี้บัตรยังอำนวยความสะดวกให้กับแพทย์ ในต่างประเทศ โดยรหัสของบัตร MD CARD จะตรงกับรหัสบัตรประชาชน และมีชื่อภาษาอังกฤษให้ตรงกับพาสปอร์ต ดังนั้นหากแพทย์ไทยไปต่างประเทศ ก็สามารถยืนยันได้ว่าท่านเป็นแพทย์ที่มาจากประเทศไทย สามารถใช้สิทธิ์ต่างๆ ในความเป็นแพทย์ ในต่างประเทศหลายแห่งได้ เช่น การเข้าร่วมประชุมวิชาการแพทย์, การรักษาคนไข้บนเครื่องบิน การซื้อยาในร้านขายยาในบางประเทศ รวมถึงการแสดงตัวยามไปร่วมกิจกรรมกับแพทย์ในต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นบัตรทางราชการใบแรกของประเทศไทยที่ทำได้เช่นนี้ โดยหน่วยงานต่างประเทศสามารถตรวจสอบข้อมูลกลับ online ได้ในอนาคต ”
ในด้านระบบต่าง ๆ ที่จะมารองรับบัตรอัจฉริยะใบนี้ นพ.อิทธพร กล่าวว่า “เนื่องจากตอนที่เราคิดจะทำ MD CARD เราได้มองต่อไปด้วยว่าระบบต้องง่าย แพร่หลายได้โดย เป็นสิ่งที่มีอยู่ของผู้ใช้เช่นโรงพยาบาลต่าง ๆ ไม่ควรจะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อรองรับการอ่านบัตรใบนี้ เราจึงใช้เครื่องอ่านที่เป็นระบบกลางของไมโครซอฟต์ ที่มีอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด และเป็นเครื่องเดียวกับที่อ่านบัตรประชาชน และบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะฉะนั้นหากโรงพยาบาลใดมีอุปกรณ์นี้อยู่ เขาก็จะสามารถอ่านบัตร MD CARD ได้เลย ส่วนตัวโปรแกรมก็ทางแพทยสภาก็จะสนับสนุนให้โดยไม่คิดมูลค่า และในขั้นตอนต่อไปหลังจากได้ทำบัตรให้แพทย์ทั่วประเทศแล้ว ก็จะเพิ่มบริการของแพทยสภาด้วยการเชื่อมต่อระบบเข้ามาที่แพทยสภา เป็น One Stop Service โดยสามารถเลือกรายการบริการจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ในฐานข้อมูล ณ จุดที่เขาต้องการได้เลย รวมถึงอนาคตจะมีการเชื่อมต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กองประกอบโรคศิลปะ เพื่อใช้ในการต่อทะเบียนคลินิกหรือซื้อยาอันตรายทั้งหลายได้ด้วย
ในอนาคตบัตรนี้จะเป็น Key ตัวแรกของการเข้าถึงระบบชั้นความลับต่างๆของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้านเวชระเบียนที่ถูกกฎหมาย ใช้เป็น Digital Identification หลักของแพทย์ในระบบ ความปลอดภัยของโรงพยาบาลต่างๆ ตลอดจนเข้าสู่ฐานข้อมูลคนไข้ เช่นในระบบ CDI(Cinical data interchange), Interoperation ระหว่าง สถานพยาบาล และ ระบบมาตรฐาน HL7 ของ Medical informatic ในระบบกฎหมายใหม่ เพื่อความปลอดภัยของแพทย์เอง และป้องกันผู้อื่นปลอมแปลงเป็นตัวท่าน และนำไปสู่การปรับปรุงฐานข้อมูลที่ติดต่อกันระหว่างแพทย์ และแพทยสภา ในระบบ Electronic TMC และ Doctor Data Base ที่พัฒนาเป็นระบบ GIS ในระบบ online ไปประมวลผลข้อมูลทรัพยากรแพทย์ ระดับประเทศ ติดตามแก้ปัญหาแพทย์ได้ใกล้ชิดขึ้นโดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งกับ รพ.เอกชนอีกแห่งหนึ่งในการทำระบบนำร่อง..
ท้ายสุดอนาคตเรายังมองการพัฒนาควบคู่ไปสู่บัตรสิทธิพิเศษของแพทย์ในสังคม เช่นในการสั่งซื้อสินค้าราคาพิเศษต่างๆ เครดิตเฉพาะแพทย์ ไปจนถึงส่วนลดในร้านอาหาร ร้านค้า บริการต่างๆ หรือในโอกาสพิเศษต่างๆในอนาคต ที่ร่วมกับทั้งร้านค้า สายการบิน สนามกอล์ฟ บริษัทยา ห้องสรรพสินค้า บริษัทประกัน และบัตรเครดิตต่างๆ เป็นต้น เพื่อสร้างความเป็นเอกสิทธิ์และสร้างคุณภาพชีวิตให้แพทย์ไทยต่อไป...”

ด้าน พ.อ.(พ.)นพ.กิฎาพล วัฒนกูล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาต่อเนื่องของแพทย์ (ศ.น.พ.) ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า “เรื่อง MD CARD ของแพทย์ อาจารย์ได้ข้อมูลโดยตรงจาก อาจารย์อิทธพร คณะเจริญ ต้องเรียนว่าเป็นเรื่องที่ดีครับ โดยเฉพาะกับวงการแพทย์เอง เพราะเป็นการ identify ตัวเองได้ดีกว่าบัตรใดๆ คือในบัตรนี้ จะมีรูปตัวแพทย์เจ้าของบัตร ซึ่งต้องมาถ่ายเอง และวิธีทำบัตรจะคล้ายกับการทำ Passport มีการ scan ลายนิ้วมือ ที่สำคัญมี microchip ฝังอยู่แบบบัตรประชาชนรุ่นใหม่ ซึ่งจะมีข้อมูลแพทย์เจ้าของ มีเลข 13 หลักแต่ทั้งหมดนี้จะมีระบบ security และมี serial number ทุกใบ ฉะนั้นปลอมแปลงไม่ได้”
นอกจากนี้แล้ว ข้อมูลในบัตรจะช่วยในการไปติดต่อกับส่วนราชการอื่นๆในกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้สะดวก เนื่องจากเชื่อมต่อข้อมูลกับแพทยสภาและราชวิทยาลัยต่างๆได้ด้วย บัตรนี้จะรองรับระบบแพทยสภาในอนาคต เป็นฐานข้อมูล ทางการแพทย์ การกระจายตัวของแพทย์สาขาต่างๆ รวมทั้ง ศ.น.พ. ก็จะให้แพทย์ตรวจคะแนน CME ของตนเองผ่านบัตรใบนี้ได้ด้วย ในส่วนสิทธิพิเศษต่างๆก็จะมีการพิจารณากันต่อไป ซึ่งคาดว่าน่าจะจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

นพ. วิโรจน์ ตระการวิจิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครธน หนึ่งในแพทย์ผู้ได้ทำบัตร MD CARD เรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ผมว่าเป็นเรื่องดี ประโยชน์ที่ได้ประการแรกคือการเก็บข้อมูลแพทย์ ผมว่าการทำทะเบียนแพทย์เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งทำให้แพทยสภามีข้อมูลว่ามีแพทย์อยู่จำนวนเท่าใด ตอนนี้ทำอะไรอยู่ บริเวณใดบ้าง อีกด้านหนึ่งคือการนำเอาข้อมูลไปใช้ เนื่องจากการเก็บข้อมูลนั้นมีการออนไลน์ในระบบฐานไอทีด้วย ซึ่งตรงนี้แพทยสภาสามารถนำก็สามารถนำเอาข้อมูลส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์ต่อได้ อาทิ นำไปใช้ในการส่งข้อมูลข่าวสารให้กับสมาชิก ให้ความรู้ต่างๆ โดยการทำ Knowledge Transfer ซึ่งอาจจะส่งผ่านอีเมล์ หรือข้อความทางมือถือ เนื่องจากในบางครั้งแพทย์จะไม่ค่อยสะดวกในการใช้โทรศัพท์ รวมทั้งการให้ข้อมูลที่จำเป็น เช่น ข่าวสารการประชุม สัมมนา เมื่อมีข้อมูลของแพทย์ก็จะทำให้สื่อสารกับแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว และทั่วถึงได้
นอกจากนี้ MD CARD ยังมีประโยชน์ในการป้องกันเรื่องแพทย์ปลอมอีกด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ที่ไม่ใช่แพทย์ทำการเปิดคลินิกรักษาคนไข้เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่พบบริเวณชานเมือง และต่างจังหวัด หากมีการให้ความรู้สิ่งเหล่านี้กับประชาชน เพื่อทำความเข้าใจ ซึ่งเมื่อประชาชนเกิดความไม่มั่นใจก็สามารถขอดูบัตรนี้ได้ หรือหากหน่วยงานภาครัฐต้องการตรวจสอบก็สามารถทำการตรวจสอบได้ง่าย ผมว่าเป็นเรื่องดี และประชาชนจะได้ไม่ถูกเอาเปรียบ
ทั้งนี้ นพ. วิโรจน์ ยังได้ฝากข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิของบัตร MD CARD ด้วยว่า “อยากให้เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับแพทย์ผู้ถือบัตรนี้ โดยเชื่อมโยงกับหน่วยงาน ห้างร้าน ที่จะสามารถช่วยสนับสนุนงานของแพทย์ได้ อาทิ มอบสิทธิประโยชน์กับร้านหนังสือต่างๆ เนื่องจากแพทย์ส่วนใหญ่มักจะซื้อหนังสือ ตำราแพทย์ต่างๆเป็นประจำอยู่แล้ว โดยมอบสิทธิให้แพทย์ซื้อได้ในราคาพิเศษ ทั้งนี้ยังเป็นแรงจูงใจให้แพทย์มาทำบัตรนี้มากขึ้นด้วย แต่ทั้งนี้การให้สิทธิพิเศษต่างๆก็ควรมอบให้ตรงกับความต้องการของแพทย์ด้วย”

พร้อมเดินหน้าริเริ่มระบบ Doctor Life Database ของไทย

“สำหรับแพทยสภา บัตรนี้จะทำให้สามารถจัดทำฐานข้อมูลแพทย์ใหม่ได้ง่ายขึ้น ซึ่งขณะนี้เราทำการปรับปรุงฐานข้อมูลล่าสุด 2010 โดยการออกแบบฐานข้อมูลใหม่ของแพทยสภาในการติดตามโดยใช้ชื่อว่า Doctor Life Database หมายความว่าเราจะดูแลแพทย์ตลอดชีวิต ตั้งแต่วันที่เขาจบการศึกษา จนกระทั่งเกษียณ ตลอดอายุไข โดยจะติดตามดูแลคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการทำงาน ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ภาระงาน ตลอดจนสิ่งต่าง ๆ ที่เขาควรจะได้รับ ขณะเดียวกันเราก็จะทำการระบบจัดสรรทรัพยากรเหล่านี้ใหม่เหมาะสมกับประเทศไทยในอนาคต และแพทยสภายังได้วางแผนว่าต่อไปจะมีการขยายฐานข้อมูลไปยังนักเรียนแพทย์ด้วย คือเราไม่ได้ดูแต่ Doctor Life แต่เราอยากดู Medical Student Life ด้วย เพื่อที่จะดูว่าในอีก 6 ปี ข้างหน้าเราจะมีแพทย์จบออกมาเท่าใด คุณภาพเช่นใด และนำฐานข้อมูลนี้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ และใช้พิจารณาว่าในประเทศไทยต้องการแพทย์สาขาใด จำนวนเท่าใด ซึ่งจะเกี่ยวโยงไปถึงการวางแผนที่นั่งเรียนในชั้นผู้เชี่ยวชาญต่อไป รวมถึงทิศทางการพัฒนาระบบแพทย์ไทยในเวทีโลกอนาคต และการติดตามมองปัญหา และส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตแพทย์ ให้ทำงานแบบมีความสุขภายใต้การดูแลของแพทยสภายุคใหม่ ท่ามกลางปัญหาสังคม กฎหมาย สื่อมวลชน ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และสิทธิมนุษยชน โดยจัดระบบให้เหมาะสม เราเชื่อว่าเมื่อแพทย์ที่มีคุณภาพชีวิตดี มีความสุข ในระบบที่เหมาะสมพอเพียง ย่อมส่งผลไปสู่การรักษาพยาบาลที่ประสบความสำเร็จ และมีคุณภาพ โดยมอบความสุขให้แก่ผู้ป่วยในที่สุดเช่นกัน...ดังคำขวัญทีมบริหารแพทยสภายุคนี้ คือ แพทยสภายุคใหม่ ยกคุณภาพชีวิตแพทย์ไทย โปร่งใส ใส่ใจประชาชน...นี่เป็นเพียงหนึ่งในนับสิบโครงการหลักของแพทยสภาในปัจจุบัน ” นพ.อิทธพร รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวสรุป
-------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง 1. หนังสือพิมพ์มติชน คอลัมน์ชีวิตคุณภาพ ฉบับวันที่ 04 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10707 หน้า 10

กก.สอบโกงSP2ลุย รพ.ราชบุรี พิรุธเปลี่ยนของบสร้างตึก 10 ชั้น "มานิต"แจ้นแจงการเมืองไม่มีเอี่ยว

กก.สอบโกงSP2ลุย รพ.ราชบุรี พิรุธเปลี่ยนของบสร้างตึก 10 ชั้น "มานิต"แจ้นแจงการเมืองไม่มีเอี่ยว

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์17 พฤศจิกายน 2552 19:19 น.



นายมานิต นพอมรบดี


"หมอบรรลุ -ประทิน" ลงพื้นที่สาวโกงไทยเข้มแข็ง ประเดิม รพ.ราชบุรี แห่งแรก ชี้ได้งบมากสุดแบบผิดปกติ ตั้งข้อสงสัยของบก่อสร้าง 2 ครั้ง เปลี่ยนจากตึก 5 ชั้น เป็นตึก 10 ชั้น แถมไม่มีลายเซ็นผู้ว่าฯ จ.ราชบุรี กำกับ เกรงเป็นหนังสือปลอม ส่วนตึกสงฆ์อาพาต ขอขยายเตียงเพิ่มทั้งที่ไม่จำเป็นขณะที่“มานิต” ร้อนตัวแจงอธิบายได้ นักการเมืองไม่มีเอี่ยว ไม่ได้สั่ง ยันไม่ได้มากดดัน

หมอบรรลุ ลงพื้นที่ราชบุรี ปิดห้องสอบเข้ม
เมื่อเวลา10.00 น. วันที่ 17 พฤศจิกายน นพ.บรรลุ ศิริพานิชประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยพล.ต.อ.ประทิน สันติประภพรองประธานคณะกรรมการฯ นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง นพ.นิวัตชัย สุจริตจันทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน กรรมการตรวจสอบฯ ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.ราชบุรี เพื่อตรวจสอบการเสนอของบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็งของโรงพยาบาลราชบุรี โดยมีนพ.บุญเรียง ชูชัยแสงรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี และนพ.จินดา แอกทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี เข้าให้ข้อมูลที่ห้องประชุมชั้น 2 ของอาคารอำนวยการ โดยให้ชี้แจงข้อมูลรายบุคคล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่คณะกรรมการฯ เดินทางถึงห้องประชุม มีชาวบ้านจำนวนกว่า 20 คนมารวมตัวกันและกรูเข้าไปยังห้องประชุม เนื่องจากต้องการให้คณะกรรมการฯ ทราบว่าต้องการอาคาร 10 ชั้น จากนั้น นพ.บรรลุ จึงได้กดไมโครโฟนและแจ้งว่า ผู้ใดที่ไม่เกี่ยวข้องขอเชิญออกจากนอกห้องประชุม เพราะหากใครที่ไม่ใช่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ขอเชิญออก

มานิต ตามเงียบ ยันไม่ได้มากดดัน
ต่อมาเวลา 10.45 น.นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เดินทางมายังโรงพยาบาลราชบุรีและเตรียมที่จะเดินทางเข้าไปยังห้องที่คณะกรรมการตรวจสอบฯ เข้าประชุม แต่ทราบจากสื่อมวลชนว่า นพ.บรรลุให้เฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่เป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ต้องการให้ข้อมูลเข้าในห้องประชุมเท่านั้น นายมานิตจึงตัดสินใจไม่เข้าไปยังห้องประชุมและเดินทางกลับทันทีหลังจากให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเสร็จเรียบร้อย

โดยนายมานิต กล่าวว่า การเดินทางมาในครั้งนี้ ไม่ต้องการที่จะกดดันการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบฯ และไม่ได้ถูกเชิญมาให้ปากคำ แต่มาดูแลความเรียบร้อยในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่เท่านั้น และอยากอธิบายว่างบประมาณที่ทางโรงพยาบาลขอนั้น มีที่มามีเหตุผลที่สามารถอธิบายได้ ว่าเป็นการเสนออย่างสมเหตุสมผล เช่น ตัวอาคารที่มีการสร้างมากว่า 20 ปี หรือสถานที่ที่ไม่เพียงพอต่อผู้ป่วย ทำให้ สสจ.และทางโรงพยาบาล อยากปรับปรุงและเพิ่มเติมเพื่อรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น ทำให้มีการของบประมาณเพิ่มเติมจากตึก 5 ชั้นเป็น 10 ชั้น เพื่อสร้างเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เพื่อดูแลโรคเฉพาะทาง และการขอสร้างหอพักเจ้าหน้าที่พยาบาลนั้น เพื่อสร้างความปลอดภัยกับบุคลากร เพราะปัจจุบันอาคารไม่เพียงพอทำให้ต้องเช่าหอพักภายนอกโรงพยาบาลแทน ซึ่งส่วนนี้ต้องดูแล

“หากคิดว่าผมจะมากดดันคณะกรรมการตรวจสอบฯ ในวันนี้ก็คงจะไม่เข้าไปชี้แจงอะไร เพราะไม่อยากให้คิดเช่นนั้น แต่ยืนยันว่าฝ่ายการเมืองไม่ได้เข้าไปยุ่งหรือจัดการอะไร เป็นเรื่องของพื้นที่ และโรงพยาบาลที่มีความต้องการ เพราะผมไม่ได้มีความรู้อะไรในเรื่องการสร้างโรงพยาบาลเพียงแต่เมื่อเห็นว่ามีการของบประมาณเพื่อสร้างศูนย์การแพทย์ ก็ได้กำชับว่าให้ดูแลให้มีเครื่องมือทางการแพทย์ให้พอเพียง ซึ่งก็ได้รับงบประมาณจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) มาส่วนหนึ่งในการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ด้วย”นายมานิต กล่าว

นายมานิต กล่าวต่อว่า สำหรับงบประมาณที่จังหวัดราชบุรีได้รับ ในช่วงเวลาที่มีตนดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเรื่องปกติที่จะมีการจับตามองว่าได้รับงบประมาณมากกว่าพื้นที่อื่น แต่ต้องนำจำนวนประชากรมาเปรียบเทียบด้วย ซึ่งนอกจากผู้ป่วยในจังหวัดราชบุรี ยังมีผู้ป่วยจากพื้นที่ใกล้เคียงในภาคตะวันตกเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งงบประมาณได้กระจายไปในโรงพยาบาลทั้ง 4 แห่งในจังหวัดไม่ได้อยู่ที่เดียว โดยราคาก่อสร้างอาคารก็เท่ากับพื้นที่อื่นเพราะนำแบบการสร้างอาคารมาจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เหมือนกัน และยังไม่ได้มีการทุจริตเกิดขึ้นแต่อย่างใด



นพ.บรรลุ ศิริพานิช


แถลงผลชี้ ปัญหาเพียบ
ต่อมานพ.บรรลุ ได้แถลงข่าวผลการประชุมว่า เหตุที่มาตรวจสอบที่ จ.ราชบุรี เนื่องจากมีปัญหาหลายประการ แต่ไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ทุกเรื่อง ในพื้นที่ จ.ราชบุรี มีโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปมากถึง 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลราชบุรี โรงพยาบาลโพธาราม โรงพยาบาลบ้านโป่ง และโรงพยาบาลดำเนินสะดวก และยังมีโรงพยาบาลชุมชนอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลราชบุรี มีความผิดปกติเรื่องการเสนอของบประมาณในส่วนของสิ่งก่อสร้าง โดยมีการเสนอเรื่องมา 2 ครั้งและมีการเปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญของสิ่งก่อสร้าง

นพ.บรรลุ กล่าวด้วยว่า จากเดิมมีการเสนอของบก่อสร้าง 4 รายการ เรียกลำดับตามความสำคัญ คือ 1.อาคารอุบัติเหตุและผู้ป่วยนอก 5 ชั้น 2.อาคารจอดรถ 7 ชั้น 3.อาคารโรคเฉพาะทาง ด้านหัวใจ มะเร็ง 10 ชั้น 4.อาคารสงฆ์อาพาต รวมทั้งสิ้น 800 กว่าล้านบาท แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญใหม่ โดยสลับเอาอาคารโรคเฉพาะทาง 10 ชั้น เป็นลำดับแรก ส่วนอาคารอุบัติเหตุและผู้ป่วยนอก 5 ชั้น ไปอยู่ลำดับที่ 3 แทน

“คณะกรรมการตรวจสอบฯ เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีความไม่ชัดเจนหลายประการ เช่น ผู้ว่าฯ ราชการจังหวัดราชบุรี ไม่ได้เซ็นลงนามในหนังสือเสนอของบประมาณครั้งที่ 2 ทำให้ไม่ทราบว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ ประกอบกับการเสนอของบครั้งแรก มีเหตุผลสมควร เพราะตึกอุบัติเหตุและผู้ป่วยนอก มีความสำคัญมีผู้ป่วยมาใช้จำนวนมาก แต่พอของบประมาณครั้งที่ 2 กลับเปลี่ยนขออาคารโรคเฉพาะทางแทน ซึ่งหากมีการก่อสร้างจริงจะต้องทุบตึกเอ็กซเรย์ ตึกสงฆ์อาพาตเดิม และตึกผู้ป่วยจิตเวชทิ้งไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการตรวจสอบฯ ต้องนำไปพิจารณาประกอบด้วย” นพ.บรรลุ กล่าว

นพ.บรรลุ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การเสนอขอสร้างตึกสงฆ์อาพาต ขนาด 114 เตียง ก็มีความผิดปกติ เพราะจากการตรวจสอบอาคารสงฆ์อาพาตเดิมที่มีอยู่แล้ว เป็นอาคารขนาด 24 เตียง แต่มีพระสงฆ์อาพาตนอนอยู่เพียง 16 เตียง จึงถือว่าเพียงพอแล้วเพราะเตียงไม่เต็ม ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดต้องของบประมาณการก่อสร้างมากขนาดนี้ จึงต้องมาหาคำตอบและก็ได้ข้อมูลส่วนหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องให้คณะกรรมการตรวจสอบฯ กลับไปทบทวนข้อมูลโดยละเอียดอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้การตรวจสอบมีความคืบหน้ากว่า 80% แล้ว โดยจะทำการตรวจสอบให้เร็วที่สุด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

เมื่อถามว่า ปกติการก่อสร้างอาคารใหม่จะต้องทุบอาคารเก่าหรือไม่ นพ.บรรลุ กล่าวว่า ปกติการก่อสร้างอาคารใหม่ จะต้องเก็บอาคารเก่าไว้ บ้านเมืองไม่ได้ร่ำรวยงบประมาณที่ได้มาก็ต้องกู้เงินมาก ประชาชนจะต้องใช้หนี้ต่อไป จึงจำเป็นต้องประหยัด ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ไม่ใช่มือใครยาวสาวได้สาวเอา

เมื่อถามว่า จะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบในจังหวัดอื่นๆ อีกหรือไม่ นพ.บรรลุ กล่าวว่า คงไม่สามารถเดินทางไปตรวจสอบในอีก 75 จังหวัด ซึ่งการตรวจสอบ จ.ราชบุรี เพราะเมื่อพิจารณางบประมาณเป็นรายจังหวัดแล้ว และคำนวณจากงบประมาณที่ได้เปรียบเทียบกับอัตราประชากร พบว่า จ.ราชบุรี ได้งบประมาณสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ

ต่อข้อถามว่า มีจังหวัดอื่นได้งบประมาณสูงผิดสังเกตอีกหรือไม่ นพ.บรรลุ กล่าวว่า มีเหมือนกันแต่ไม่มาก ไม่ถึง 10 จังหวัด ซึ่งการได้งบมากผิดสังเกต อาจจะเป็น 1,000 ล้านบาท หรือ 100 ล้านบาทก็ได้ ซึ่งในจังหวัดอื่นที่มีปัญหาก็จะไปตรวจสอบอีก

ต่อข้อถามว่า จะเชิญรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาให้ข้อมูลหรือไม่ นพ.บรรลุ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับประเด็นที่ต้องการจะทราบว่าเกี่ยวข้องกับใคร ก็จะเชิญมา แต่ถ้าไม่เกี่ยวข้องก็ไม่รู้จะเชิญมาทำไม

เมื่อถามต่อว่า ทราบหรือไม่ว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาที่โรงพยาบาลราชบุรีด้วย ถือเป็นการกดดันคณะกรรมการตรวจสอบหรือไม่ นพ.บรรลุ กล่าวว่า ไม่ทราบท่านจะมาชี้แจงผมทำไม ผมยังไมได้เชิญท่าน แต่ก็ไม่รู้สึกกดดัน ผมมาหาข้อเท็จจริงว่าอะไรควรไม่ควร ผมไม่ใช่ผู้มีวาสนาจะให้หรือไม่ให้อะไรก็ได้ ผมก็อายุเท่านี้แล้ว จะมากดดันอะไรผม ผมเป็นแค่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ประทิน ตั้งข้อสังเกต ไม่เห็นเอกสารสำคัญ
ขณะที่ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ รองประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯ กล่าวว่า ตามคำขอของทางจังหวัดได้มีคำขอในช่วง ม.ค.โดยของบประมาณในการสร้างตึก 5 ชั้น ราคา 187 ล้านบาทและอาคารที่จอดรถ 7 ชั้นราคา 63 ล้านบาท รวม 250 ล้านบาท แต่ในวันที่ 13 พ.ค.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรีทำหนังสือถึง ปลัดสธ. ของบในการสร้างอาคาร 5 ชั้น และอาคาร 10 ชั้นเพื่อเป็นศูนย์รักษาโรคเฉพาะทางพร้อมกับอาคารที่จอดรถรวม 400 กว่าล้านบาท หลังจากมาตรวจสอบโดยได้รับคำยืนยันจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรีว่าไม่เคยเห็นเอกสารที่เสนอของบประมาณกว่า 400 ล้านบาท

“เอกสารการเสนอขอมีการลงนามในชื่อของนายปราโมทย์ เข้มทวี เจ้าพนักงานรักษาราชการนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ก็ได้เชิญนายปราโมทย์มาให้ข้อมูลได้ชี้แจงว่า ที่ลงนามในหนังสือของบประมาณดังกล่าว เนื่องจากรองนพ.สสจ.ราชบุรีที่เป็นผู้ดูแลโครงการไทยเข้มแข็งไม่อยู่ ไปทำงานต่างจังหวัด จึงได้ลงนามแทน”พล.ต.อ.ประทิน กล่าว

พล.ต.อ.ประทิน กล่าวว่า ขณะที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรีให้ข้อมูลว่า ไม่เห็นเอกสารในการของบประมาณสร้างตึก 10 ชั้นที่ขอภายหลัง เห็นแต่เอกสารขอสร้างตึก 5 ชั้นที่ขอตั้งแต่ปี 2547 เท่านั้น เพราะแผนกผู้ป่วยนอกมีความจำเป็นกว่า แต่ สสจ. ราชบุรี กลับอนุมัติในการสร้างตึก 10 ชั้น ดังนั้นจึงต้องไปพิจารณาว่า สสจ.ราชบุรี ได้พิจารณาในการของบประมาณสร้างตึก 10 ชั้นได้อย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลรับปากว่าจะไปหาข้อมูลในส่วนนี้เพิ่มเติม

2552-11-16

ประกาศเกณฑ์วินิจฉัยสมองตาย

แพทยสภาเตรียมออกประกาศกฎเกณฑ์วินิจฉัยสมองตาย
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 13 พฤศจิกายน 2552 16:32 น.
แพทยสภาเตรียมออกประกาศหลักเกณฑ์วินิจฉัยสมองตายคาดบังคับใช้ได้ ธ.ค.นี้ ชี้เป็นแนวทางให้หมอกล้าวินิจฉัยสมองตายก่อนนำอวัยวะปลูกถ่ายให้ผู้รอบริจาคมีชีวิตใหม่ ขณะที่แพทย์ไม่ต้องกลัวถูกฟ้องร้อง รมว.ยุติธรรม แนะผลักดันเป็นกฎหมายเหตุข้อบังคับแพทยสภาบังคับเฉพาะแพทย์ไม่ครอบคลุมทนาย ผู้พิพากษา เร่งทำให้สังคมยอมรับ

วันที่ 13 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวในพิธีเปิดประชุมสัมมนากฎหมายทางการแพทย์เรื่อง “สมองตาย : การตายตามกฎหมายที่แพทย์วินิจฉัยและนักกฎหมายควรทราบ” ว่า ปัญหาการตายที่ทางการแพทย์เรียกว่าสมองตายมีการถกเถียงเป็นปัญหาทั้งในทางกฎหมายและวงการแพทย์มานานแล้ว และยังไม่ได้ข้อยุติเนื่องจากทางกฎหมายยังไม่ยอมรับว่าสมองตายถือเป็นการตายของบุคคล และถือว่าบุคคลนั้นยังหายใจและหัวใจเต้นอยู่เท่ากับยังมีชีวิตอยู่ เมื่อมุมมองยังไม่เป็นไปในทางเดียวกัน ทำให้แพทย์เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องและกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายได้

“อย่างไรก็ตาม ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม และประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการวินิจฉัยสมองตาย เป็นเพียงข้อบังคับที่ใช้ได้กับวิชาชีพแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ในภาพรวม กับทนาย ผู้พิพากษา หรือวิชาชีพอื่นได้ ดังนั้น แม้ว่าแพทย์จะปฏิบัติตามข้อบังคับแพทยสภาไม่ถือว่าผิดจริยธรรม แต่อาจผิดกฎหมายได้ แพทย์จึงไม่ได้ปลอดภัย 100% ดังนั้น แพทยสภาควรจะต่อยอด โดยการผลักดันให้เกิดกฎหมายเพื่อนำบังคับใช้ เพราะไม่ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เมื่อมีกฎหมายก็ต้องปฏิบัติตามและอยู่ภายใต้กฎหมาย” นายพีระพันธุ์ กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้อาจจะต้องมีการระดมความคิดเห็นทุกด้าน ทุกแง่ ทุกมุม ให้มากขึ้น เพื่อให้สังคม ทนาย บุคลากรทางด้านกฎหมายให้อีกฝ่ายยอมรับ เพราะหากมีการร้องเรียนเป็นคดีความขึ้น นำเรื่องเข้าพิจารณาในศาล ซึ่งการตีความเป็นการวินิจฉัยส่วนบุคคล ศาลชั้นต้นอาจวินิจฉัยว่าไม่ผิดกฎหมาย เมื่อญาติอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์อาจจะวินิจฉัยว่า ผิดกฎหมายและต้องสู้คดีไปถึงขั้นฎีกา แม้สุดท้ายแพทย์จะไม่ผิดเพราะทำตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา แต่ก็ถือว่าทำให้ต้องเสียเวลาในการต่อสู้คดี

นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อุปนายกแพทยสภา คนที่ 1 กล่าวว่า คณะกรรมการแพทยสภาได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายและเสนอกฎหมายรับรองการตาย โดยมีการกำหนดคำจำกัดความของการตายของบุคคล ไว้ในข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ว่าการตายของบุคคลหมายถึง บุคคลอยู่ในสภาวะที่ระบบการไหลเวียนเลือดและระบบการหายใจหยุดทำงานโดยไม่สามารถกลับคืนได้อีก หรืออยู่ในสภาวะสองตาย คือ การที่แกนสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไป โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2551 ทั้งนี้ได้มีการออกประกาศแพทยสภา เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการวินิจฉัยสมองตาย ซึ่งคณะกรรมการแพทยสภาได้พิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2552 โดยจะนำความคิดเห็นครั้งนี้ รวบรวมข้อมูลนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการแพทยสภาในเดือนธันวาคม เพื่อให้การรับรองและประกาศบังคับใช้ต่อไป

นพ.อำนาจ กล่าวต่อว่า สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการที่มีการปรับปรุง มีประเด็นสำคัญ เช่น การวินิจฉัยสมองตายจะทำได้ในสภาวะและเงื่อนไข เช่น ผู้ป่วยต้องไม่รู้สึกตัวและไม่หายใจ ซึ่งรู้แน่ชัดแล้วว่าไม่มีหนทางเยียวยาได้ โดยหลักเกณฑ์การตรวจต้องมีการทดสอบการไม่หายใจ โดยการหยุดเครื่องช่วยหายใจนานไม่น้อยกว่า 10 นาที สังเกตว่าไม่มีการเคลื่อนไหวของทรวงอกหรือหน้าท้อง และการวินิจฉัยสมองตายให้กระทำโดยองค์คณะของแพทย์ไม่น้อยกว่า 3 คน โดยผู้ทำการทดสอบและลงนามรับรองไม่กำหนดว่าจะต้องเป็นประสาทศัลยแพทย์หรือประสาทแพทย์แต่ให้แพทย์ที่ร่วมดูแลเป็นผู้ทำการทดสอบและลงนามรับรองได้ และมีการกำหนดระยะเวลาการตรวจซ้ำ 2 ครั้งห่างกันเป็นเวลาอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เป็นต้น

“ที่ผ่านมาการจำกัดความเรื่องการตายของบุคคลไม่เคยมีการบัญญัติในกฎหมาย มีเพียงกฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร์ที่กำหนดว่าผู้รับรองการตายคือแพทย์ ซึ่งแพทยสภาได้กำหนดให้แพทย์วินิจฉัยการตายโดยเกณฑ์สมองตายตั้งแต่ปี 2532 และมีการปรับปรุงในปี 2539 ซึ่งยังไม่ได้เป็นกฎหมาย ขณะที่ในต่างประเทศมีการบัญญัติกฎหมายนี้แล้ว ทั้งนี้ ประกาศฉบับนี้ เพื่อให้การวินิจฉัยการตายของแพทย์เป็นไปตามหลักสากลมากขึ้นและไม่ให้เกิดข้อโต้แย้งทางกฎหมาย รวมถึงให้ผู้ที่สมองตายได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง สามารถบริจาคอวัยวะนำไปปลูกถ่ายให้กับผู้รอรับการบริจาคต่อชีวิตให้กับผู้อื่น” นพ.อำนาจกล่าว

ด้าน นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ประกาศฯ ฉบับนี้มีเหตุมาจากการที่เคยมีกรณีการฟ้องร้องที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลวชิระสมุทรปราการ ที่นำไตของผู้สมองตายออกไปขณะที่ยังไม่ตายหรือไม่ ซึ่งการที่แพทย์จะฆ่าผู้ป่วยเพื่อนำอวัยวะไปเป็นไปไม่ได้เด็ดขาด แต่อาจเกิดความผิดพลาดขั้นตอนการดำเนินการไม่ถูกต้อง โดยแพทยสภาได้ลงโทษโดยยึดใบอนุญาต ซึ่งขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ในชั้นของศาลฎีกา อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์นั้นทำให้แพทย์ไม่กล้าที่จะนำอวัยวะของผู้สมองตายไปปลูกถ่ายอวัยวะให้กับผู้รับบริจาค ดังนั้น หากไม่ออกประกาศฯฉบับนี้ก็จะยังทำให้แพทย์มีความหวาดกลัวอยู่ และทำให้ผู้รอรับบริจาคที่ขึ้นทะเบียนมากว่า 2,000 คน และผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนอีกนับหมื่นก็อาจต้องเสียโอกาส ซึ่งการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น การปลูกถ่ายไตนั้น จะช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น ลดภาระการดูแลและค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนมาก

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000137263